Monday, February 5, 2007

กรุณาอย่าผลักภาระที่ท่านจะต้องรับไว้เองให้ทางสาธารณะครับ

พื้นที่ทางเท้าสาธารณะควรจะถูกใช้เพื่อการสาธารณะเท่านั้น การที่ทางสาธารณะอยู่ติดกับพื้นที่ของเอกชน จึงมีหลายกรณีที่มีการบุกรุกเข้ามาใช้อย่างชั่วคราวโดยเอกชน ทั้ง ๆ ที่เอกชนควรจะรับเอาภาระนั้นเอาไว้เอง ซึ่งเอกชนสามารถลดต้นทุนทั้งทางพื้นที่และการบำรุงรักษา ทำให้เขามีต้นทุนในการผลิตสินค้าหรือบริการที่ต่ำลง ผู้บริโภคก็ได้ซื้อสินค้าหรือบริการที่ถูกลง แต่การกระทำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อประชาชนรายอื่นที่ต้องใช้ทางสาธารณะนั้น ๆ ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการใช้งาน ตัวอย่างเช่นสามรูปด้านล่าง

ทางเข้าด้านหลังของร้านค้าแห่งหนึ่งในสยามสแควร์ แทนที่จะออกแบบบันไดทางเข้าสู่อาคารให้อยู่ในพื้นที่ดินของที่ดินที่ตัวเองมีสิทธิอยู่ แต่กลับไม่ทำ แล้วเอาบันไดเหล็กสำเร็จรูปมาตั้งไว้บนทางเท้าสาธารณะ ทำให้ผู้สัญจรผ่านไปมามีพื้นที่ในการเดินเท้าลดลง ความสะดวกในการเดินเท้าก็ลดลง ถ้าใครเดินไม่ระวังมาเตะบันไดเหล็กอันนี้แล้วขาหัก หรือเลือดออก ทางร้านก็คงไม่รับผิดชอบ แถมยังจะเรียกค่าเสียหายจากคนเดินเท้าอีกด้วย

ธนาคารแห่งหนึ่ง ซึ่งสมควรจะมีที่จอดรถมอเตอร์ไซค์ที่เหมาะสมสำหรับผู้มาติดต่อ ซึ่งก็เป็นต้นทุนในการดำเนินการที่ธนาคารควรจะต้องแบกรับไป แต่กลับผลักภาระในการหาที่จอดรถมอเตอร์ไซค์นี้ ไปให้กับทางเท้าสาธารณะ ทำให้ทางเท้าแคบลงไปถนัดใจ คนที่เดินผ่านไปมาก็ไม่เห็นรู้สีกว่าตนเองเดือดร้อน ยอมเดินเท้าอย่างลำบากโดยไม่ปริปากบ่นสักคำ

ร้านส้มตำชื่อดังในสยามสแควร์ แทนที่จะจัดที่พักคอยที่อยู่ในตัวร้าน เพื่อรองรับลูกค้าที่มารอคิวรับประทานอาหารของเขา แต่กลับเอาพื้นที่พักคอยมาอยู่บนทางเท้า แม้ว่าพื้นที่นั่ง ที่เตรียมเบาะเอาไว้ให้ลูกค้านั่งจะอยู่ติดกับขอบนอกของอาคาร แต่การใช้พื้นที่ของมนุษย์เกิดกว่าเบาะที่นั่งอยู่แล้ว การกระทำดังกล่าว ทำให้ร้านค้ามีพื้นที่สำหรับรองรับลูกค้าเพื่อทำผลกำไรให้มากขึ้น แต่ผู้ที่แบกรับผลกระทบตรงนี้กลายเป็นสาธารณะชนผู้ใช้ทางเท้าสาธารณะ โดยที่ร้านค้าไม่ต้องเสียอะไรสักบาท