ดูแนวเส้นที่พื้น เส้นทึบสีน้ำตาลเข้ม คือแนวที่ออกแบบไว้ว่าด้านข้างชานชลาเป็นที่พักคอยรถไฟฟ้า ส่วนตรงกลางคือช่องทางเดิน แต่ในชั่วโมงเร่งด่วน คนจะยืนรอรถไฟฟ้าเกินแนวดังกล่าว
หลักฐานของการมีผู้โดยสารเกินกว่าที่ชานชลาจะรองรับได้เห็นได้ชัดจากภาพทั้งสอง ชานชลานี้เป็นชานชลาแบบอยู่ตรงกลาง และรถเทียบสองข้าง เพื่อให้การเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารจากรถคันหนึ่งไปสู่รถอีกคันหนึ่งเป็นไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว แต่ก็ยังต้องเว้นช่องตรงกลางของชานชลาสำหรับผู้โดยสารที่จะออกที่สถานีนี้ หรือเปลี่ยนรถในอีกระดับหนึ่งด้วย พื้นที่ตรงกลางสำหรับเป็นช่องทางเคลื่อนที่ (Circulation Path) นี้ คือ บริเวณใต้หลังคาโครงถัก ที่มีเพดานสูงที่สุดในภาพ ส่วนด้านข้างของช่องทางเดินนี้ทั้งสองข้างไปจนสุดด้านข้างชานชลาคือที่ยืนคอยรถแต่ละฝั่ง แต่เห็นได้ชัดว่า คนที่ยืนรอรถไฟฟ้าสายอ่อนนุชล้นพื้นที่พักคอยมายืนอยู่บนช่องที่ที่จะใช้เป็นทางเดิน ลองนึกถึงกรณีฉุกเฉิน ที่รถไฟฟ้าทั้งสองฝั่งมาช้าพร้อม ๆ กัน ผู้โดยสารที่ยืนรอทั้งสองฝั่งก็จะล้นมายืนเต็มทางเดิน ซึ่งจะไม่ได้มาตรฐานตามหลักของความปลอดภัยอย่างแน่นอน จริง ๆ แล้วจากเทคโนโลยีการจัดการสถานีและรถไฟฟ้าที่ BTS ใช้อยู่ สามารถคำนวณปริมาณคนที่อยู่ในสถานีได้แบบเวลาจริง (Real time) และสามารถจำกัดจำนวนผู้โดยสารที่รออยู่บนชานชลาให้ไม่เกินกว่ามาตรฐานที่ดีได้โดยง่าย แต่คงไม่มีใครสนใจจะทำเพราะขัดกับหลักการการตลาดในเรื่องความสะดวกสบายในการใช้บริการ คงต้องรอให้เกิดเหตุฉุกเฉินแล้วผิดพลาดกันเสียก่อน จึงจะหันมาสนใจความปลอดภัยสาธารณะกันได้