ตามมาตรฐานสำหรับชุมชนขนาดใหญ่จะต้องมีน้ำสำรองในการดับเพลิงไม่น้อยกว่า ๑๐ ชั่วโมง หัวจ่ายน้ำดับเพลิงจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของความเป็นเมืองปลอดภัย ในเขตเมืองหนาแน่นจะต้องมีหัวจ่ายน้ำดับเพลิงทุกระยะไม่เกิน ๒๕๐ ฟุต เพราะในกรณีที่เกิดเพลิงไหม้ รถดับเพลิงจะสามารถใช้น้ำจากหัวดับเพลิงได้อย่างสะดวก หัวจ่ายน้ำดับเพลิงจะต้องเข้าถึงสะดวก และไม่มีอุปสรรคในการใช้งาน
แต่หัวจ่ายน้ำดับเพลิงในภาพ เมื่อก่อนคงจะตั้งอยูบนทางเท้าอย่างเหมาะสม แต่หลังจากที่มีการยกระดับทางเท้าขึ้นมา หัวจ่ายน้ำดับเพลิงหัวนี้ไม่สามารถใช้งานได้อย่างสะดวก เพราะถูกฝังแบบ Rest In Peace การจะเปิดหัวจ่ายน้ำเพื่อใช้งานจะต้องใช้เครื่องมือเปิดด้านข้าง ซึ่งเป็นเครื่องมือพิเศษ เพื่อป้องกันการถูกใช้งานในประโยชน์อื่นที่ไม่ใช่การดับเพลิง และป้องกันการรั่วซึม วิธีเปิดจะใช้หลักการของโมเมนต์ จึงต้องมีมือจับด้ามยาวเพื่อให้ออกแรงน้อย การฝังลงไปอยู่ในดินทำให้ไม่เหลือพื้นที่สำหรับหมุนเครื่องมือในการเปิด ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการนำน้ำมาใช้ในกรณีเร่งด่วนเพื่อการดับเพลิง น่าแปลกใจว่าความผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะเป็นความรับผิดชอบของภาครัฐที่มีกฎระเบียบและมาตรฐานชัดเจนอยู่แล้ว