Wednesday, February 14, 2007

การล็อกล้อคือเครื่องมือในการแก้ปัญหาจราจรที่ดีหรือ??

เมื่อมีการฝ่าฝืนการห้ามจอดรถในที่ห้ามจอด มาตรการที่ผู้รักษากฎหมายมักจะนำมาใช้งานคือการล็อกล้อรถ เพื่อให้ผู้ขับขี่ต้องจ่ายค่าปรับในอัตราที่สูงกว่าการออกใบสั่งเพียงอย่างเดียว และทำให้ผู้ขับขี่เสียเวลามากขึ้น เพราะต้องรอเจ้าหน้าที่มาปลดล็อกล้อจึงจะออกรถไปได้

แต่มาตรการล็อกล้อเป็นเครื่องมือที่ดีในการแก้ไขปัญหาจราจรจริงหรือ ลองพิจารณาว่า ถ้ารถคันดังกล่าวจอดในที่ห้ามจอด นั่นหมายความว่าการที่มีรถจอดในพื้นที่ดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาจราจร รถคันอื่นไม่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวก ดังนั้น เมื่อเจ้าของรถกลับมาที่รถ ก็ควรจะรับใบสั่งแล้วสามารถเอารถออกไปได้ทันที เพื่อทำให้ปัญหาการจราจรติดขัดถูกแก้ไขไปอย่างรวดเร็ว แต่การล็อกล้อทำให้เจ้าของรถต้องรอเจ้าหน้าที่มาปลดล็อกล้อ จึงจะสามารถออกรถไปได้ ระหว่างที่รอเจ้าหน้าที่ ปัญหาการจราจรก็เสริมความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตามเวลาที่เพิ่มขึ้น เมื่อมองให้ลึกลงไปอีก สามารถตีความได้ว่า มาตรการล็อกล้อคือตัวสะท้อนถึงความล้มเหลวของระบบใบขับขี่และใบสั่ง ที่ไม่สามารถทำให้ผู้ทำผิดกฎจราจรถูกตัดแต้มหรือจ่ายค่าปรับตามโทษที่ทำผิดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตำรวจเองก็ยอมรับว่า ออกใบสั่งหรือยึดใบขับขี่ไปก็แค่เสียค่าปรับตามอัตราต่ำสุดแล้วก็จบกันไป ไม่ได้มีการตัดแต้มหรือบันทึกไว้เป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณาต่ออายุหรือระงับการใช้ใบขับขี่แต่อย่างใด มาตรการล็อกล้อจึงถูกนำมาใช้ อีกทั้งยังเป็นมาตรการที่ทำให้ตำรวจจราจรมีรายได้จากส่วนแบ่งค่าปรับเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก ปัญหาการจราจรในภาพรวมจะได้รับผลกระทบจากการล็อกล้อแค่ไหนก็ช่างมันเหอะ