กรุงเทพมหานครกำลังผลักดันให้เกิดโครงการรถ BRT หลายเส้นทาง ซึ่ง BRT จะมีลักษณะเป็นรถประจำทางปรับอากาศ วิ่งอยู่บนช่องจราจรกลางถนนชิดกับเกาะกลางถนน ทิศทางละหนึ่งช่องทาง โดยมีป้ายรถเมล์อยู่กลางถนน การเข้าถึงป้ายรถเมล์ต้องใช้สะพานลอยจากทางเท้าด้านข้างทั้งสองข้าง กรุงเทพมหานครโฆษณาว่าโครงการ BRT จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะมีระบบขนส่งมวลชนสาธารณะที่ดีขึ้น
จริง ๆ แล้วกรุงเทพฯ เคยมีช่องทางพิเศษสำหรับรถประจำทางบนถนนพหลโยธินและถนนพญาไทมาแล้ว แม้ว่าจะไม่เหมือนกับ BRT ทุกประการ แต่ก็อยู่บนหลักการเดียวกัน ป้ายบอกว่าช่องทางซ้ายสุดเป็นช่องทางพิเศษสำหรับรถประจำทางก็ยังคงอยู่ แต่โครงการนั้นไม่ประสบความสำเร็จ และต้องยกเลิกไปในเวลาเพียงไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากเปิดใช้ เพราะการออกแบบขัดกับหลักการสำคัญของ BRT นั่นคือ ห้ามนำช่องจราจรที่มีอยู่เดิมมาใช้ แต่ต้องสร้างทางวิ่งของ BRT เพิ่มเติมจากของเดิมที่มีอยู่ เพราะเมื่อถนนเส้นใดต้องการ BRT มาวิ่ง แสดงว่าถนนเส้นนั้นมีการจราจรที่หนาแน่นอยู่แล้ว การนำเอาช่องทางหนึ่งไปสำหรับรถประจำทางพิเศษโดยเฉพาะ ทำให้เหลือช่องทางสำหรับรถยนต์ส่วนตัวน้อยลงไปอีก ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรรุนแรงกว่าก่อนที่จะมี BRT เสียอีกปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ การป้องกันไม่ให้รถยนต์ส่วนตัวข้ามมาใช้ช่องทางของ BRT ด้วยรั้วหรือกำแพง เพราะช่องทางดังกล่าวมีเพียงรถประจำทางวิ่งได้เท่านั้น ทำให้มีการจราจรที่ไม่หนาแน่น ในขณะที่ช่องทางสำหรับรถยนต์ส่วนตัวติดขัด ทำให้เกิดการฝ่าฝืนเข้ามาใช้พื้นที่ที่ว่างอยู่ จะให้ตำรวจจราจรมายืนคอยควบคุมทั้งถนนก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่ที่เคยทำมาแล้วบนถนนพญาไทกลับไม่มีการกั้นไม่ให้รถยนต์ส่วนตัวเข้ามาวิ่งในช่องทางพิเศษ ทำให้โครงการดังกล่าวล้มเหลว แต่การกั้นด้วยรั้วหรือกำแพงก็ก่อให้เกิดปัญหาอีกประการหนึ่ง คือ เมื่อรถ BRT เกิดอุบัติเหตุหรือเสีย จะทำให้ไม่สามารถสัญจรในช่องทางพิเศษได้เลย เพราะ BRT มีช่องทางเดียวต่อทิศทาง รถจอดเสียคันเดียวก็เต็มแล้ว BRT คันอื่นจะแซงไปก็ไม่ได้ เพราะมีรั้วหรือกำแพงมากั้นไว้อีก