เนื่องจากการจราจรเป็นสิ่งที่ต้องเคลื่อนที่เป็นหลัก การประกาศหรือแนะนำส่วนใหญ่จึงต้องอยู่ในรูปของสัญญลักษณ์ ไม่สามารถใช้ตัวอักษรบรรยายได้ เนื่องจากต้องมองเห็นและเข้าใจได้ชัดเจนในเวลาอันสั้น เช่น ถ้าขอบทางเท้ามีสีขาวสลับแดงแปลว่าห้ามจอด ถ้าบนพื้นถนนมีตาตารางสีเหลืองแปลว่าห้ามหยุด เป็นต้น ซึ่งก็เป็นข้อบังคับทางการจราจรว่า ผู้ขับขี่ยานพาหนะจะต้องเข้าใจสัญญลักษณ์เหล่านั้น ไม่ว่าผู้ขับขี่จะมีการศึกษาในระดับใดก็ตาม และในการสอบเพื่อรับใบอนุญาตขับขี่ยานพาหนะ ก็จะต้องมีข้อสอบเกี่ยวกับสัญญลักษณ์จราจรอยู่ด้วยเสมอ
ภาพทั้งสองถ่ายที่มหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย แต่การมีการศึกษาในระดับอุดมศึกษาไม่ได้ทำให้นิสิตนักศึกษาที่นี่มีความเข้าใจสัญญลักษณ์จราจร แม้ว่าจะสอบใบขับขี่มาได้ก็ตาม มาตรการเพื่อป้องกันการจอดรถในบริเวณนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แม้ว่าจะพัฒนาสัญญลักษณ์ให้ชัดเจนขึ้นตามลำดับแล้วก็ตาม เริ่มตั้งแต่การทาสีขาวสลับแดงที่ขอบทางเท้า ก็ป้องกันการจอดรถไม่ได้ ต่อมาก็เอาแผงเหล็กที่มีข้อความว่า "ห้ามจอดตลอดเวลา ฝ่าฝืนล็อกล้อ" มาว่างก็ยังไม่เป็นผล สุดท้ายก็เลยเอาเชือกมาขึงไม่ให้จอด ก็ยังสามารถจอดข้าง ๆ เชือกกันได้อย่างสบาย ถ้ากฎจราจรเล็ก ๆ น้อย ๆ แค่นี้ยังฝ่าฝืนกัน ต่อไปเมื่อนิสิตนักศึกษาพวกนี้เรียนจบ ออกไปเป็นผู้ใหญ่ในสังคม เขาก็คงทำให้ประเทศชาติเจริญได้ดีทีเดียว