เรื่องความขัดแย้งระหว่างมาตรฐานที่ดีของเมืองกับผลตอบแทนทางการเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่เสมอ ว่าจะทำให้เมืองมีมาตรฐานที่ดีเป็นหลัก ซึ่งก็จะทำให้ผลตอบแทนทางการเงินมีความสำคัญน้อยกว่า หรือจะมุ่งให้มีผลตอบแทนทางการเงินที่ดี แต่เมืองมีมาตรฐานที่ไม่ดีนัก ตัวอย่างของความขัดแย้งนี้มีให้เห็นอยู่ทั่วไป
พื้นที่สยามสแควร์ ซึ่งเป็นย่าน Walking Street ที่มีคนมาเดินจับจ่ายซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก พื้นที่ส่วนที่เป็นทางเท้าในสยามสแควร์ก็มีแทบจะไม่พออยู่แล้ว จึงมีโครงการขยายพื้นที่ทางเท้าในซอยย่อยหลาย ๆ ซอย เพื่อให้มีพื้นที่ทางเท้ากว้างพอที่จะตอบสนองปริมาณการเดินเท้าจำนวนมาก และส่งเสริมให้มีบรรยากาศการเดินจับจ่ายซื้อสินค้าที่ดี นำไปสู่ชีวิตเมืองที่มีคุณภาพ และเป็นการออกแบบที่เข้าใจพฤติกรรมการใช้พื้นที่สยามของกลุ่มวัยรุ่น ที่มักจะมากกันเป็นกลุ่ม จึงต้องการทางเท้ากว้างเป็นพิเศษในการเดิน
แต่บนทางเท้าของซอยกลาง ในสยามสแควร์กลับทำเรื่องที่ขัดแย้งกับมาตรการขยายทางเท้า ด้วยการเอาที่นั่งมาตั้งไว้กลางทางเท้าที่แคบอยู่แล้ว เหลือพื้นที่ให้คนเดินได้เพียงสองคนสวนกันที่ด้านหน้าและด้านหลังของม้านั่ง ถ้ายิ่งมีคนนั่งอยู่แล้วเท้ายื่นออกมาก็ต้องเดินเรียงหนึ่ง ซึ่งการเดินได้เพียงสองคนขัดแย้งกับพฤติกรรมการใช้พื้นที่สยามสแควร์ที่มากันเป็นกลุ่ม คนจะมานั่งที่ม้านั่งเหล่านี้ก็ไม่ค่อยมี เพราะร้อนและช่วงเวลาที่มีการจราจรทางรถยนต์มาก ก็นั่งสูดควันพิษจากรถยนต์ไป
เมื่อพิจารณาต่อไปก็เริ่มเข้าใจว่าทำไมจึงมีม้านั่ง ก็เพราะมีโฆษณาบนม้านั่งนั่นเอง รับทรัพย์ค่าโฆษณากันเข้าไปเลย คุณภาพและมาตรฐานทางเท้าที่ถูกต้องจะเป็นอย่างไรก็ช่างมันเถอะครับ