Wednesday, February 21, 2007

ป้ายนำทางไปลงหลุม

ในกรณีที่มีการปรับปรุงพื้นผิวการจราจร หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่อยู่บนถนน ป้ายบอกทางชั่วคราวมีบทบาทสำคัญในการที่จะให้คำแนะนำกับผู้สัญจรให้สามารถเดินทางต่อไปได้อย่างสะดวก โดยจะแนะนำว่าควรเปลี่ยนเส้นทางไปในทิศทางใดจึงจะสามารถหลีกเลี่ยงอุปสรรคอันเกิดจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานได้ หลายประเทศได้มีมาตรฐานไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องมีป้ายขนาดเท่าใด อยู่ก่อนถึงบริเวณที่จะปรับปรุงหรือปิดพื้นที่เป็นระยะเท่าใด แต่ในประเทศไทย การให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นไปตามความพอใจของผู้รับเหมา และบางครั้งก็ยังให้ข้อมูลที่ผิดเสียอีก

การซ่อมแซมระบบประปาบนถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้าอารีย์ ป้ายสีส้มที่เป็นป้ายบอกให้คนเดินเท้าทราบว่าควรเดินอ้อมไปทางไหน เพื่อหลีกเลี่ยงจากบริเวณก่อสร้าง แต่ป้ายดังกล่าวกลับชี้ไปยังกองดินที่ขุดขึ้นมากจากการขุดท่อประปา ถัดออกไปอีกก็คือถนนพหลโยธินที่มีปริมาณรถหนาแน่นสูง ซึ่งคนเดินเท้าไม่สามารถใช้คำแนะนำจากป้ายดังกล่าวมาช่วยให้เดินเท้าต่อไปอย่างปลอดภัยได้ ลองคิดถึงว่าถ้ามีคนแก่ตาฝ้าฟางเดินผ่านแล้วเชื่อป้ายนำทางนี้ คุณปู่คุณย่าก็คงเดินชนกองดิน หรือเดินลงไปในถนนให้รถชนเล่นเป็นแน่