ตามหลักการแล้ว ศาสนาเป็นเรื่องของจิตใจ และมักจะถูกมองว่าเป็นขั้วตรงข้ามกับการพาณิชย์ที่เป็นเรื่องของเศรษฐกิจ เมื่อโลกเปลี่ยนวิธีการคิดจาก "ศาสนา-การเมือง" มาสู่โลกแห่ง "เศรษฐกิจ-การเมือง" ศาสนาถูกกันออกไปจากกระแสหลักทางความคิดของมนุษย์โดยมี "เศรษฐกิจ" เข้ามาแทนที่ ศาสนาจึงต้องปรับตนเองเข้าหาเศรษฐกิจมากขึ้น แต่ยังมีประเด็นการถกเถียงเรื่องความพอดีและสมดุลอยู่เสมอ
ตัวอย่างเช่น ที่วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ที่มีความต้องการที่จอดรถเพื่อมาทำธุระแถว ๆ นั้น พื้นที่ส่วนหน้าของวัดจึงถูกกันไว้เป็นที่จอดรถที่เก็บค่าบริการ ในมุมมองหนึ่ง การกระทำดังกล่าวเป็นลักษณะ win-win situation คือผู้สัญจรก็ win เพราะได้ที่จอดรถราคาถูกและไม่ต้องวนหาที่จอดไกลแบบในสยามสแควร์หรือในห้างต่าง ๆ ส่วนวัดเองก็ win เพราะได้เงินมาทำนุบำรุงวัดอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในอีกมุมหนึ่งมันเป็น lost-lost situation คือประชาชนก็ lost เพราะพื้นที่ศาสนาและจิตวิญญาณถูกปัจจัยทางเศรษฐกิจครอบงำไปเสียแล้ว ส่วนวัดก็ lost เพราะได้สูญเสียจริยธรรมไป การทำนุบำรุงศาสนาไม่ใช่การสร้างวัดที่สวยงาม แต่เป็นการทำนุบำรุงจิตใจของพระให้มั่นคงอยู่ในศีล และจะมีผลต่อไปถึงการทำนุบำรุงจิตใจของประชาชนอีกด้วย การมีที่จอดรถแบบเก็บเงินภายในวัด ทำให้วัดกลายเป็นที่ประกอบการพาณิชย์ ไม่ได้เป็นสถานที่ทางจิตวิญญาณตามหลักการ อีกทั้งยังสะท้อนเป็นนัยอีกว่า วัดจะเป็นที่พึ่งของมนุษย์ได้ก็ต่อเมื่อเขาจ่ายเงินให้วัดเท่านั้น