การก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์และองค์ประกอบต่าง ๆ ของเมืองเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเมืองให้ดีขึ้น การปรับปรุงต่าง ๆ ต้องใช้พื้นที่ที่มนุษย์เคยใช้ในกิจกรรมบางอย่างอยู่ก่อนแล้วมาเป็นพื้นที่ก่อสร้าง หลักการการพัฒนาเมืองที่ดีจะต้องแจ้งให้ผู้ที่ต้องการใช้พื้นที่ดังกล่าวทราบว่า เขาจะทำกิจกรรมนั้น ๆ ต่อไปได้อย่างไร ที่ไหน หรือเมื่อไหร่ เพื่อเป็นการหาพื้นที่ชดเชยให้ชั่วคราวระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งการให้คำแนะนำมักจะถูกละเลยและคิดว่าเป็นสิ่งไม่สำคัญอยู่เสมอ
การปรับปรุงทางเท้าใกล้ ๆ กับสำนักงานเขตปทุมวัน แม้ว่าจะอยู่ใกล้ผู้รับผิดชอบแท้ ๆ แต่กลับไม่มีการแนะนำหรือการเตรียมพื้นที่ชั่วคราวไว้ให้กับคนเดินเท้าใช้งานได้เลย แต่ที่จอดรถยังคงอยู่ได้เหมือนเดิม ซึ่งที่จอดรถนี้ควรถูกกันไว้เป็นพื้นที่ทางเท้าชั่วคราวในระหว่างการก่อสร้าง แต่ก็ไม่ได้รับการสนใจที่จะทำพื้นที่รองรับ ส่งผลให้คนเดินเท้าจะต้องออกไปเดินเสี่ยงตายอยู่กลางถนน แสดงให้เห็นว่า ในจิตใจคนไทยและผู้รับผิดชอบก็ยังคิดว่า ในการสัญจรบนถนนแล้ว รถยนต์มีสิทธิมากกว่าคนเดินเท้าอยู่นั่นเอง ซึ่งเป็นการเข้าใจผิดที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง เพราะ "ถนน" ตามหลักการแล้ว คือ เส้นทางสัญจร ไม่ว่าจะด้วยยานพาหนะประเภทใดก็ตาม (เท้าก็คือยานพาหนะประเภทหนึ่ง) แต่ใครจะเป็นใหญ่ที่สุดบน "ถนน" ขึ้นกับว่า "ถนน" นั้นอยู่ในย่านใด ถ้าเป็นย่านกลางเมือง ที่มีกิจกรรมใกล้ชิดกันและหนาแน่นอยู่ตลอดสองข้างทาง "ถนน" ก็ต้องตอบรับยานพาหนะ "เท้า" เป็นหลัก ไม่ใช่ว่ามี "ถนน" ที่ไหน รถยนต์เป็นใหญ่ที่นั่นแบบที่เป็นอยู่ในกรุงเทพฯ