Tuesday, June 19, 2007

อากาศแปรปรวน


เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ฝนตกตั้งแต่เช้ายันเย็น ซึ่งเป็นเรื่องแปลกสำหรับกรุงเทพฯ เลยไปถามคนที่อยู่กรุงเทพฯ มา ๕๐ กว่าปีแล้ว ก็ได้คำตอบว่า ปกติแล้วฝนในกรุงเทพฯ จะเป็นฝนฟ้าคะนอง แต่จะตกอย่างหนักแค่ช่วงเดียวแล้วก็หยุดไปเลย ไม่เคยมีแบบที่ตกปรอย ๆ ทั้งวันอย่างที่เป็นอยู่ในช่วงนี้ และไม่มีการตกแบบที่ฟ้าสว่างแบบนี้ เวลาฝนตกฟ้าจะมืดตลอด จากบทสนทนาดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า สภาพอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นปกติมาในอดีต หรือว่าชาวกรุงเทพฯ จะได้มีโอกาสเห็นหิมะในเมืองกันบ้างนะ

ฝ่าฝืนกันจนเป็นเรื่องปกติ

สำหรับคนไทย การฝ่าฝืนกฏจราจรไม่ใช่เรื่องผิดจริยธรรม แต่เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจและส่งเสริมบารมีของผู้ฝ่าฝืน ว่าเขามีความใหญ่โตและมีเส้นสายมากพอที่จะให้ผู้มีหน้าที่รักษากฏหมายเกรงกลัวเขาได้ ดังนั้น การฝ่าฝืนกฎจราจรจึงกลายเป็นเรื่องปกติในสังคมนี้


ตัวอย่างเช่น บริเวณใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพงย่านร้านรับส่งสินค้าของเอกชน จะพบรถเบนซ์คันนี้จอดตรงนี้อยู่ทุกวัน จอดมันตรงป้ายห้ามจอดนั่นแหละ คนที่ผ่านไปมา น้อยคนนักที่จะรู้สึกว่ารถคันนี้ทำผิดจริยธรรม แต่กลับคิดว่า เขาเก่งจริง ๆ ที่สามารถทำให้ผู้รักษากฎหมายไม่รักษาจริยธรรมและความยุติธรรมได้ ซึ่งเขาก็คงเก่งจริงแหละ เพราะจอดมันได้ทุกวัน คาดว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจคงกลัวรถเบนซ์ เพราะเมื่อคืนวาน ลูกชายอดีตนางสาวไทยขับรถเบนซ์ไล่ชนคนบนทางเท้าต่อหน้าตำรวจ เชื่อไหมว่า ความเห็นในเวบบอร์ดต่าง ๆ ออกมาเป็นเอกฉันท์ว่า เขาคงไม่ถูกดำเนินคดีหรอก เพราะเมื่อเขารวยพอที่จะขับรถเบนซ์ เขาก็คงรวยพอที่จะให้กฎหมายไม่สามารถลงโทษเขาได้

ไม่เป็นไรน่า แป๊บเดียวเอง

เนื่องจากกรุงเทพฯ มีพื้นที่ถนนเมื่อเทียบกับพื้นที่เมืองทั้งหมดน้อยกว่าปกติ ทำให้จำเป็นต้องห้ามจอดรถบนพื้นผิวการจราจร แต่กิจกรรมสองข้างทางที่เกิดขึ้นมาก่อนมาตรการห้ามจอดรถบนพื้นผิวการจราจรไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองให้เข้ากับการจราจรได้ จึงพบการฝ่าฝืนแบบที่บอกว่า "แป๊บเดียว" แต่เป็นประจำอยู่ตลอด
ตัวอย่างเช่น บนถนนบำรุงเมือง ย่านสวนมะลิ ซึ่งเป็นแหล่งขายเฟอร์นิเจอร์สำคัญของกรุงเทพฯ จึงมีความจำเป็นต้องมีการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่อยู่เสมอ เมื่อก่อนการจราจรยังไม่มีปัญหามากนัก ก็ยังอนุญาตให้จอดรถบนพื้นผิวการจราจรได้ แต่เมื่อมีความต้องการการเดินทางมากขึ้น พื้นผิวจราจรก็ต้องกลายเป็นพื้นที่ห้ามจอดรถเพื่อให้ใช้สำหรับการสัญจรเท่านั้น จึงเอาสีขาวแดงมาทาไว้ที่ขอบทางเท้า เพื่อเป็นสัญญลักษณ์ว่า "ห้ามจอด" แต่กิจกรรมการค้าขายเฟอร์นิเจอร์ไม่ได้ย้ายได้ง่ายอย่างการออกมาตรการจราจร ร้านค้าจึงคงอยู่ที่เดิมต่อไป แต่เมื่อไม่มีที่จอดขนส่งสินค้าอย่างถูกกฏหมายแล้ว ก็เลยต้องลักลอบฝ่าฝืนเอา โดยคิดว่า "แป๊บเดียว" แต่เอาเข้าจริงมันไม่ใช่ "แป๊บเดียว" เพราะต้องขนส่งสินค้าจำนวนมาก และยังต้องขนส่งวันละหลาย ๆ ครั้ง เพราะเป็นร้านค้าส่ง จึงส่งผลให้การจราจรติดขัดทีละ "แป๊บเดียว" อยู่ทั้งวัน

เศรษฐกิจพอเพียง กับมุมมองที่แตกต่าง

กระแส "เศรษฐกิจพอเพียง" กำลังมาแรง คนจำนวนมากกำลังพยายามตีความมันออกมาเป็นรูปธรรมที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่ตนเองสนใจ เช่น อุตสาหกรรมแบบพอเพียง สถาปัตยกรรมแบบพอเพียง สังคมที่พอเพียง ฯลฯ แต่ก็ยังไม่เห็นมีใครให้คำตอบที่ชัดเจนของคำนี้ออกมาเสียที ต่างคนก็ต่างตีความกันไปแล้วก็นำไปใช้ตามแต่ที่มุมมองของตนเองจะเห็นสมควร


เช่นเดียวกับท่านเจ้าของรถยนต์คันนี้ รูปร่างภายนอกถูกเสริมด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ดูเป็นรถแต่งซิ่ง แต่เมื่อมองไปที่กรอบทะเบียน กลับพบข้อความ "เศรษฐกิจพอเพียง" และ "เรารักในหลวง" ซึ่งในความเห็นของคนส่วนใหญ่ที่พบเห็นจะรู้สึกว่าเป็นความขัดแย้งกันที่ค่อนข้างชัดเจน ระหว่างความเป็นเศรษฐกิจพอเพียง กับการตกแต่งรถให้เป็นรถซิ่ง แต่ในมุมมองของท่านเจ้าของรถ เขาคิดว่าเป็นสิ่งที่สามารถอยู่ร่วมกันได้แบบ "นักซิ่งที่พอเพียง"

กรุงเทพฯ หลังฝนตก (อีกครั้ง)



ช่วงนี้ฝนตกบ่อย ๆ จึงมีฉากกรุงเทพฯ หลังฝนตกมาให้ดูกันสนุก ๆ ว่า การก่อสร้างพื้นที่สาธารณะในประเทศที่มีฝนตกมากอย่างในประเทศเรา ได้ทำการก่อสร้างตอบสนองกับผลกระทบของสภาพอากาศได้ดีเพียงใด พื้นที่สาธารณะจำนวนมากกลับไม่สามารถใช้งานได้ การที่พื้นที่สาธารณะไม่สามารถใช้งานได้หลังฝนตก ก่อให้เกิดปัญหาเมืองมากมาย เพราะพื้นที่ใช้สอยที่ถูกแบ่งพื้นที่เฉพาะเอาไว้แล้ว เช่น ทางเท้า ไม่สามารถใช้งานได้ ทำให้คนเดินเท้าต้องลงไปใช้พื้นที่เดียวกับรถยนต์ นำมาซึ่งความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเป็นอย่างยิ่ง แต่เรื่องเหล่านี้เหมือนไฟไหม้ฟาง คือพอเกิดน้ำท่วมใช้งานไม่ได้ก็ออกมาโวยวายกัน แต่พอน้ำระบายไปหมดก็ไม่มีใครสนใจอีกต่อไป

ช่างสรรหาที่ติดป้ายโฆษณาเหลือเกิน

ตามหลักการโฆษณาที่ดี คือทำอย่างไรก็ได้ให้กลุ่มเป้าหมายพบเห็นโฆษณาให้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้ และสำหรับเมืองที่ไร้ระเบียบอย่างกรุงเทพฯ เราจึงมักพบพฤติกรรมการโฆษณาในพื้นที่แปลก ๆ อยู่เสมอ

ตัวอย่างเช่น อาคารของการประปาแม้นศรี ซึ่งได้ย้ายที่ทำการออกไปแล้ว อาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์แห่งนี้จึงถูกละทิ้งและกลายเป็นฉากแห่งการโฆษณาที่สำคัญ จะเห็นได้ว่า มีการติดป้ายโฆษณาอยู่เต็มไปหมด แม้กระทั่งบริเวณที่ไม่คาดคิดอย่างเช่น บนท่อระบายน้ำฝนแนวตั้ง ซึ่งก็ยังอุตส่าห์ติดป้ายโฆษณาได้อีก แถมยังติดป้ายตามหลักการโฆษณาที่ดี คือให้หมายเลขโทรศัพท์มาแสดงอยู่ในมุมที่กลุ่มเป้าหมายจะเห็นได้ชัดเจนที่สุดเสียด้วย

เขาต้องเสี่ยงตายเพราะความมักง่ายของคุณ

ตามหลักการออกแบบถนนที่เป็นทางด่วน หรือเส้นทางที่ต้องรองรับยานพาหนะที่มีความเร็วสูง จะต้องทำให้มีการดูแล ซ่อมบำรุง และบำรุงรักษาให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะการที่มียานพาหนะความเร็วสูงวิ่งอยู่ตลอดเวลา ทำให้การมีคนหรือยานพาหนะมาจอดเพื่อบำรุงรักษาเส้นทางจะเป็นต้นเหตุแห่งความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุร้ายแรง

แต่ทางด่วนหรือทางยกระดับพิเศษในประเทศไทยกลับพบภาพเหล่านี้อยู่เสมอ จะต้องมีพนักงานเก็บขยะมาทำความสะอาดเส้นทางอยู่ทุกวัน เพราะมีคนมักง่ายทิ้งสิ่งของที่ไม่ต้องการลงบนทางพิเศษ ทำให้พนักงานเหล่านี้ต้องมาเสี่ยงชีวิตกับอุบัติเหตุจากยานพาหนะความเร็วสูง ชีวิตของเขาคงมีค่าไม่มากพอที่จะทำให้คนขับรถและผู้โดยสารหยุดคิดสักนิดก่อนจะทิ้งขยะออกจากรถของตนเอง ภายในรถของท่านสะอาดด้วยความเสี่ยงของพวกเขาเหล่านี้แหละ

ไม่แน่จริงนี่หน่า ๒

ตามท้ายรถขนส่งสินค้าต่าง ๆ เรามักพบหมายเลขโทรศัพท์ และข้อความที่ว่า "พนักงานขับรถไม่สุภาพ โปรดแจ้ง ..." ซึ่งเป้าหมายของป้ายนี้ มีไว้เพื่อขู่ให้คนขับรถคันนั้นพยายามรักษามารยาทในการขับขี่ให้ดีอยู่เสมอ มิฉะนั้นจะถูกเพื่อนร่วมทางที่พบเห็นพฤติกรรมไม่ดีโทรศัพท์ไปแจ้งเจ้านายของเขา ด้วยเหตุดังกล่าว พนักงานขับรถจึงมีวิธีที่จะป้องกันการถูกร้องเรียนด้วยการเอาหมายเลขบางตัวออกไปเสีย เพื่อให้ผู้ที่ต้องการจะโทรศัพท์ไปฟ้องเจ้านายของเขาไม่สามารถติดต่อได้อย่างสะดวก แต่เอาเลขออกหนึ่งตัวก็อาจจะต้องโทรศัพท์ถึงสิบครั้งจึงจะได้หมายเลขที่ถูกต้อง ซึ่งคงไม่มีใครอดทนทำถึงขนาดนั้นหรอกน่า แปลกดีเหมือนกัน กล้าขับรถแบบไม่มีมารยาทได้ แต่กลับไม่กล้าโดนเจ้านายด่าหรือหักเงิน

เพราะคำว่า "คิว" ไม่ใช่ภาษาไทย

เราพยายามรณรงค์และอบรมสั่งสอนเยาวชนของเราให้มีระเบียบวินัยและให้เห็นแก่ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัว แต่การเข้าแถวหรือที่เรียกกันเป็นภาษาปากว่า "คิว" (Queue) ไม่ใช่ภาษาไทยและไม่ใช่สันดานของคนไทย การละเมิดหรือแซงคิวจึงเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ

ที่พบเห็นกันอยู่เสมอก็คือ แถวรอเลี้ยวที่ทางร่วมทางแยกต่าง ๆ เรามักจะพบการ "แซงคิว" อยู่เสมอ แถมเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มักจะประจำอยู่ที่ป้อมตรงทางแยกทางร่วมเสมอก็มิได้ให้ความสนใจแต่อย่างใด จนกลายเป็นว่าสำหรับการสัญจรในเมืองไทยแล้ว ใครกล้าฝ่าฝืนกฏจราจรมากกว่าคนนั้นก็จะได้รับความสะดวกเพิ่มมากขึ้นมากเท่านั้น เพราะสันดานคนไทยไม่ได้คิดว่าการฝ่าฝืนกฏเป็นเรื่องผิด แต่เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบก็ไม่ได้สนใจเช่นกัน

ปล่อยปละละเลย

ยานพาหนะที่จะออกมาวิ่งบนถนนสาธารณะทุกคันจะต้องได้รับการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดี เพื่อให้สามารถใช้เส้นทางได้อย่างปลอดภัยทั้งกับตนเองและผู้อื่นที่ใช้เส้นทางร่วมกันอยู่ แต่ในความเป็นจริง การบำรุงรักษายานพาหนะถูกมองว่าอยู่ในความรับผิดชอบของเจ้าของรถ และมักจะไม่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบจนกว่าจะเกิดปัญหาหรืออุบัติเหตุขึ้นแล้วเท่านั้น

นี่คือตัวอย่างของยานพาหนะที่ไม่ได้รับการดูแลรักษาให้อยู่ในสภาพดี แต่กลับสามารถวิ่งอยู่บนถนนสาธารณะได้อย่างสง่าผ่าเผย และไม่มีผู้รับผิดชอบคนไหนสนใจความผิดปกตินี้เลย การที่รถผ่านการบรรทุกหนักหรือประสบอุบัติเหตุมาจนเสียศูนย์ ส่งผลให้เมื่อเวลาวิ่งด้วยความเร็วสูงจะไม่มีความมั่นคงอยู่ในระดับที่จะปลอดภัยแก่ตนเองและผู้อื่น ๆ แต่ในความนึกคิดของคนไทย นี่คือหน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าของรถ และจะเดือดร้อนกันก็ต่อเมื่อเกิดอุบ้ติเหตุขึ้นแล้ว

หมวกกันน็อคไม่ได้มีไว้ถือนะครับ

กฏหมายได้บังคับให้ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสารจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยเพื่อความปลอดภัยของพวกเขาเอง แต่การบังคับใช้กฎหมายนี้เป็นไปได้ยากเสียเหลือเกินเพราะคนไม่เห็นความสำคัญของความปลอดภัยของตนเอง และพยายามหลีกเลี่ยงการสวมหมวกนิรภัยทุกวิถีทาง



นี่คือตัวอย่างสำคัญของความพยายามในการหลีกเลี่ยงการสวมหมวกนิรภัยเพื่อความปลอดภัยของตนเอง ทั้ง ๆ ที่มีหมวกนิรภัยอยู่กับตัวแท้ ๆ แต่กลับไม่สวม ถือมันเอาไว้เพื่อป้องกันตำรวจจับเท่านั้น พอใกล้สี่แยกหรือบริเวณที่มีตำรวจก็จะยกหมวกขึ้นมาทำท่าว่าจะใส่อยู่แล้ว พี่ตำรวจมาจับทำไมล่ะ

เป็นเสียเองอีกแล้ว

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๐ ช่วงบ่ายแก่ ๆ ได้มีลมพายุรุนแรง ส่งผลให้แผ่นวัสดุมุงหลังคาที่สร้างเสร็จใหม่ ๆ ของคณะที่เกี่ยวกับการออกแบบอาคารในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยเปิดออกมาหนึ่งแถบ คนไทยส่วนใหญ่คงเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะลมพายุแรงมาก ป้ายโฆษณาในกรุงเทพฯ พังลงมาหลายที่ แต่ตามหลักวิศวกรรมแล้ว พายุฝนแค่นี้ไม่ได้เป็นปัญหาอะไรเลย เพราะต้องออกแบบความแข็งแรงเผื่อเอาไว้เรียบร้อยแล้ว จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า นี่คือคณะที่สอนเกี่ยวกับการออกแบบอาคารแท้ ๆ แต่กล้บมีการออกแบบที่ไม่มีความแข็งแรงพอที่จะรับแรงลมพายุซึ่งไม่ได้แรงผิดปกติอะไรมามายนักได้เลย จริง ๆ แล้วหลังคาแบบนี้ต้องผ่านการคำนวณทางวิศวกรรม เพราะต้องรับแรงลมทั้งแรงกดและแรงยก ลมแค่นี้รับแรงไม่ได้นี่คือเรื่องวิกฤติของระบบการศึกษาไทยแล้วหละ นี่ยังโชคดีที่แผ่นวัสดุมุงหลังคาไม่ได้ปลิวหลุดออกไปทำอันตรายต่อนักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เหตุการณ์แบบนี้ ถ้าเป็นบางประเทศวิศวกรผู้ควบคุมการก่อสร้างจะต้องถูกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเลยหละ

เพื่อที่จอดรถ ฉันทำได้ทุกวิถีทาง

การศึกษาเป็นประเด็นหลักในการพัฒนาประเทศ เพราะผู้มีการศึกษาจะมาทำหน้าที่ต่าง ๆ ในสังคม เพื่อให้สังคมมีการพัฒนาทั้งทางโลกและทางธรรม แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว กลับกลายเป็นว่า ผู้มีการศึกษานำความรู้และความสามารถที่มีไปใช้ในทางที่ผิด และเมื่อเป็นผู้มีการศึกษาดี ความผิดที่ทำก็จะยิ่งใหญ่ขึ้น ส่งผลกระทบมากขึ้น และที่สำคัญคือแนบเนียนมากขึ้นอีกด้วย


รถคันนี้จอดอยู่ในลานจอดรถเฉพาะของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สังคมยอมรับว่าเป็นสถาบันอุดมศึกษาอันดับหนึ่งของประเทศ ลานจอดรถนี้จัดไว้เฉพาะสำหรับอาจารย์เท่านั้น รถทุกคันที่จะเข้าจอดในลานนี้จะต้องมีตราติดรถยนต์เฉพาะ และเมื่อมองไปที่หน้ารถคันนี้ก็พบใบสั่งของทางมหาวิทยาลัยเสียบอยู่กับที่ปัดน้ำฝน ข้อความบนใบสั่งระบุไว้ว่า "เคยเตือนไปแล้วว่าผิดระเบียบมหาวิทยาลัย ตอนเข้ามีแต่ตอนจอดไม่มีสติกเกอร์มหาวิทยาลัย เตือนครั้งสุดท้าย" ผู้เขียนไม่สามารถสกัดความอยากรู้อยากเห็นของตนเองได้ จึงไปถามพี่ยาม ได้คำตอบว่า รถคันนี้ตอนเข้ามีสติกเกอร์ของอาจารย์ติดอยู่ แต่ตอนจอดกลับไม่มี พี่ยามที่ไม่ประสงค์ออกนามคาดว่า เจ้าของรถคันนี้คงเป็นลูกอาจารย์ ขับรถมามหาวิทยาลัยแล้วไม่มีที่จอด จะไปจอดแบบเสียสตางค์ก็ไม่ยอมเสีย ก็เลยร่วมกับบุพการีใช้วิธีเอาสติกเกอร์ของรถอีกคันมาติดไว้เพื่อให้เข้าจอดในลานนี้ได้ พอผ่านด่านของพี่ยามเข้าไปได้แล้ว ก็เอาสติกเกอร์ออกกลับไปคืนที่รถค้นเดิมเพื่อจะได้จอดรถได้มากกว่าที่เขาอนุญาต พี่ยามยังสำทับด้วยว่า ผมเดาไม่ผิดหรอก เป็นยามมาหลายปี เจอแบบนี้มาเยอะ ได้ฟังความแล้วรู้สึกสงสารประเทศไทย นี่ขนาดคนมีการศึกษาสูง เป็นความหวังของประเทศชาติว่าเขาจะทำในสิ่งที่ถูกที่ควร เพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีต่ออนุชนรุ่นต่อไป แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นอย่างที่เราคาดหวังเลย

งบซ่อมบำรุงและดูแลรักษาหายไปไหน

หน่วยงานของรัฐทั่วไปมักจะมีรถยนต์ประจำหน่วยงาน ซึ่งมีไว้สำหรับรับส่งเจ้าหน้าที่เพื่อไปทำธุระหรือราชการต่าง ๆ และก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องจัดสรรให้มีงบประมาณสำหรับบำรุงรักษายานพาหนะเหล่านั้นให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดีอยู่เสมอ

แต่รถของราชการคันนี้ กลับไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างที่ถูกที่ควร กลายเป็นรถสภาพโทรม ๆ คันหนึ่ง จริง ๆ แล้วหน้าที่ของรถยนต์ก็คือการขนส่งคนหรือสิ่งของให้ไปถึงจุดหมายเท่านั้น สภาพภายนอกคงไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ถ้านึกถึงว่างบประมาณปีหนึ่งที่อยู่ในหมวดการซ่อมบำรุงและดูแลรักษายานพาหนะก็มีอยู่ไม่ใช่น้อย เมื่อมีเงินในการบำรุงรักษาตามมาตรฐานที่ดีแล้ว ทำไมยังปล่อยให้รถของราชการเป็นสภาพนี้ได้ล่ะ

กรุงเทพฯ หลังฝนตก

เมื่อช่วงสายของวันพุธที่ ๒๐ มิถุนายน ฝนตกกระจายไปทั่วกรุงเทพฯ แม้ว่าฝนจะตกไม่หนักมากนัก แต่ก็ทิ้งร่องรอยเอาไว้ให้วิพากษ์ได้มากทีเดียว




ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติของกรุงเทพฯ ไปเสียแล้ว ว่าหลังจากฝนตกลงมาจะมีน้ำท่วมขังอยู่ในบริเวณพื้นที่สาธารณะทั้งหลาย เช่น ถนนและทางเท้า แต่ตามหลักวิศวกรรมการทางที่ถูกต้องแล้ว จะต้องมีการทำระดับลาดเอียงและการระบายน้ำที่เหมาะสม ให้สามารถระบายน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะการที่มีน้ำขังบนผิวจราจรจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เช่นเดียวกันกับการมีน้ำขังอยู่บนทางเท้า ก็ทำให้สภาพทางเท้าลื่นไม่เหมาะกับการสัญจรของประชาชน แต่สภาพระดับที่ไม่ได้มาตรฐานที่ดีอย่างนี้กลับไม่ได้รับความสนใจที่จะแก้ไขจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบแต่อย่างใด ปล่อยให้ประชาชนเอาชีวิตและสวัสดิภาพมาเสี่ยงกับความไม่รับผิดชอบของภาครัฐ

ไม่กลัวอันตรายกันบ้างเลย

ตามหลักการของการเป็นเมืองที่ดี การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของพลเมืองในพื้นที่สาธารณะจะต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ ๒ ประการ คือ ปลอดภัย และ สะดวก โดยความปลอดภัยจะมีความสำคัญเป็นลำดับแรก เพราะการกระทำการใด ๆ ในพื้นที่สาธารณะย่อมมีผลกระทบต่อผู้อื่นด้วยเช่นกัน


สองภาพนี้ก็ถ่ายในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยอีกเช่นกัน นักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้จะออกไปเป็นผู้นำแนวความคิดและทิศทางของสังคม แต่กลับโดยสารรถสามล้อเครื่องเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ซึ่งเป็นอันตรายกับตนเอง แถมยังหอบหิ้วป้ายขนาดใหญ่ไว้บนหลังคา โดยใช้มือหลาย ๆ มือช่วยกันจับไว้ อันนี้เป็นอันตรายกับผู้อื่น เพราะเมื่อรถวิ่งเร็วขึ้น ลมที่มาปะทะรถก็แรงขึ้น ป้ายนั้นอาจจะหลุดมือของนักศึกษาเหล่านี้ แล้วไปฟาดหัวของคนทีสัญจรอยู่บนเส้นทางเดียวกันได้ แสดงว่า การศึกษาที่สูงขึ้นมิได้เพิ่มพูนความรับผิดชอบต่อสังคมให้มากขึ้นได้เลย อีกทั้งรถสามล้อคันนี้สามารถขับผ่านยามของมหาวิทยาลัยได้โดยไม่ถูกตักเตือนแต่อย่างใด

รู้ปัญหาแต่ไม่แก้ไข

เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า นกพิราบเป็นพาหะนำโรคหลายชนิด แต่ด้วยความที่คนไทยมีลักษณะโอบอ้อมอารี และมีความเมตตาทั้งต่อคนและสัตว์ ทำให้นกพิราบยังคงเป็นสัตว์ที่อยุ่ในเมืองและปะปนกับวิถีชีวิตของคนไทยได้อย่างน่าเป็นห่วงต่อความปลอดภัยในสุขภาพ



ตัวอย่างเช่น ในโรงอาหารแห่งหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย ก็ยังคงมีนกพิราบมาทานอาหารร่วมกับนักศึกษาได้โดยไม่มีใครเห็นว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพแต่อย่างใด ที่น่าตกใจก็คือ นี่เป็นโรงอาหารของคณะที่มีหน้าที่ผลิตบัณฑิตที่จะมาออกแบบสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดีให้กับคนไทยเสียด้วย แม้แต่สภาพแวดล้อมของนักศึกษาเองยังเป็นอย่างนี้ จึงไม่แปลกใจแต่อย่างใดที่สภาพแวดล้อมทางกายภาพของประเทศไทยจึงมีปัญหาทั้งด้านความสะดวกและความปลอดภัยอยู่จนถึงทุกวันนี้ และไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้นได้อย่างไร

ที่น่าตกใจกว่าข้อสังเกตด้านบน ก็คือได้มีอาจารย์อีกคณะหนึ่ง ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน ได้ทำการศึกษาถึงอันตรายของมูลนกพิราบเอาไว้แล้ว ว่าเป็นพาหะของโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ http://www.chula.ac.th/chula/th/news/news270450b.html แถมยังโพสไว้ในหน้าแรกของเวบไซด์ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เสียด้วย แต่คนภายในมหาวิทยาลัยกลับไม่สนใจคำเตือนนี้เลยแม้แต่น้อย หรือว่าเขาเยื่อหุ้มสมองอักเสบกันไปหมดแล้วนะ

ไม้ร่ม นกเกาะ

เป็นเรื่องปกติของมนุษย์ที่จะพยายามหาสภาพแวดล้อมที่สะดวกสบายกับตัวเอง สำหรับเมืองที่มีอากาศร้อนอย่างกรุงเทพฯ เรามักพบพฤติกรรมในการเลือกตำแหน่งที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะ ที่จะทำให้มนุษย์สามารถหลีกเลี่ยงการปะทะกับสภาพอากาศร้อนโดยตรงอยู่ทั่วไป

ตัวอย่างเช่น ป้ายรถประจำทางตรงทางลงจากสถานีรถไฟฟ้าราชเทวี จะมีพฤติกรรมการหาตำแหน่งที่ยืนของมนุษย์ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อไม่ให้ตนเองต้องปะทะกับแดดโดยตรง เราจึงพบการยืนเรียงเดี่ยวที่อาศัยร่มเงาของสะพานลอยเป็นตัวอ้างอิง

อีกพฤติกรรมหนึ่งที่น่าสนใจ คือการใช้หลังคาของบันไดทางขึ้นลงสถานีรถไฟฟ้าเป็นร่มเงาเพื่อป้องกันตนเองจากแสงแดด ทั้งสองภาพนี้คือพฤติกรรมที่นักออกแบบจะต้องให้ความสนใจเป็นอันดับแรก เพื่อจะได้สามารถออกแบบพื้นที่ได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมของมนุษย์

Saturday, June 16, 2007

นั่นไม่เงินของพี่นะครับ แต่มันเป็นเงินภาษีประชาชน

เรามักพบเห็นชื่อของนักการเมืองปรากฏอยู่บนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่อยู่ในตำแหน่งที่ประชาชนจะเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ศาลารอรถประจำทางในต่างจังหวัด ก็จะระบุชื่อ สส. หรือนักการเมืองท้องถิ่นที่มีความสามารถเอางบประมาณมาสร้างศาลานั้นได้ ถ้าเป็นในกรุงเทพฯ ก็จะเป็นเก้าอื้พักคอยตามที่ต่าง ๆ หรือจะเป็นรูปผู้ว่าราชการกทม. จูงมือเด็กในชุดนักเรียนด้วยหน้าตายิ้มแย้ม เปี่ยมด้วยความสำนึกในบุญคุณท่านผู้ว่าฯ ที่กรุณาจูงมือฉันถ่ายรูป


แต่อยากให้ประชาชนทุกคนระลึกไว้เสมอว่า เงินที่นำมาก่อสร้างหรือจัดซื้ออุปกรณ์หรือโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้น ไม่ใช่เป็นเงินของนักการเมืองที่ประทับชื่อไว้บนอุปกรณ์ แต่เป็นเงินภาษีประชาชนที่พวกเราทุกคนจ่ายเพื่อให้ภาครัฐจัดซื้อ จัดสร้าง หรือซ่อมบำรุงอุปกรณ์สาธารณะให้มีสภาพที่ดีเหมาะกับการเป็นชุมชนมนุษย์ที่ดี ดังนั้น อุปกรณ์เหล่านั้นจึงมาจากเงินของพวกเราทุกคน ไม่ว่าจะได้มาโดยการจัดสรรให้ตามปกติ หรือนักการเมืองเขามี power ไปแย่งของคนอื่น ๆ มาได้ก็ตามที นักการเมืองพวกนี้พยามยามที่จะ "ทวงบุญคุณ" โดยบอกว่า เพราะกระผม/ดิฉัน พวกคุณจึงมีศาลาพักคอยรถประจำทาง หรือเก้าอี้นั่งพักรอรถเมล์ใช้งานนะ ใครเจอพวกเขาเหล่านี้ ช่วยเอารูปที่ผมถ่ายนี้ไปบอกเขาด้วยว่า เงินของประชาชนนะครับ กรุณาใส่ชื่อประชาชนที่เสียภาษีอย่างถูกต้องตามกฏหมายให้ครบทุกคนด้วย อย่าเอาหน้าเพียงคนเดียว

ผลกระทบที่ไม่เคยรับรู้

รถตู้นับเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีส่วนช่วยให้การสัญจรในกรุงเทพฯ มีความสะดวกขึ้น แต่การจัดการเส้นทาง ป้ายหยุดรถ และการให้บริการของรถตู้กลับไม่ได้มีการวางแผนให้ประสานกับระบบขนส่งสาธารณะแบบอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพในองค์รวมมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อน และทำให้การสัญจรในภาพรวมมีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น

ถ้าใครเดินผ่านจุดจอดรถตู้ฝั่งตรงข้ามห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง จะพบสิ่งน่าแปลกใจอยู่สองประการ อันที่หนึ่งคือ การประกาศราคาและจุดหมายในการเดินทาง เช่น "ท่าน้ำสี่พระยาสิบบาทขึ้นเลยครับ" นี่คือการแข่งขันที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางการจราจร เพราะรถตู้ตั้งราคาแข่งกับรถประจำทางปรับอากาศ (รถ ปอ.) ซึ่งดูเผิน ๆ น่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่ในสภาพการจราจรที่เลวร้ายอย่างในกรุงเทพฯ การแข่งขันแบบนี้ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการให้บริการ ทั้งรถ ปอ. และรถตู้ต่างต้องวิ่งบนเส้นทางเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่เส้นทางนั้นก็มีการจราจรที่ติดขัดมากอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่วางแผนร่วมกันแล้วแบ่งหน้าที่กันทำไปคนละเส้นทาง ประการที่สอง คือ ภาครัฐมีมาตรการที่ขัดแย้งกันเอง เพราะในมุมหนึ่งภาครัฐอนุญาตให้รถตู้จอดตรงนี้ แต่ภาครัฐเองก็ไม่ได้เตรียมพื้นที่ทางพักคอย และบริการสนับสนุนกับการเป็นท่ารถ เช่น พื้นที่สำหรับร้านค้า เอาไว้เลย ซึ่งขัดแย้งกับวิถีปกติของการเป็นท่ารถ ที่จะต้องมีคนมายืนคอยขึ้นรถและลงรถ และระหว่างที่คอยก็ต้องมีบริการพื้นฐานในร้านค้าเอาไว้อำนวยความสะดวกด้วย ก็เลยกลายเป็นว่า ร้านค้าและพื้นที่พักคอยต้องมาใช้ทางเท้าซึ่งแคบอยู่แล้ว แถมยังเป็นบริเวณที่มีคนสัญจรผ่านไปมาอีกด้วย

ถังรับน้ำรั่วหรือถังขยะ



ถ้าใครผ่านบนสถานีรถไฟฟ้าสยาม ด้านทางเชื่อมต่อกับศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ จะพบกระป๋องพลาสติกสีเขียวใบหนึ่งตั้งอยู่อย่างสง่าผ่าเผยมาหลายวันแล้ว พอเดินเข้าไปดูใกล้ ๆ ก็พบว่า เป็นถังเอนกประสงค์ คือใช้ประโยชน์อยู่สองอย่าง หนึ่งคือเป็นถังขยะ มีขวดน้ำพลาสติกหลายใบอยู่ในนั้น และสองใช้เป็นถังรับน้ำรั่วที่หยดลงมาจากเพดาน น่าสงสัยว่า น้ำรั่วมาหลายวันแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้แก้ไขเสียที ทำให้ถังใบนี้ต้องมายืนเสี่ยงภัยต่อการโดนเตะจากคนที่สัญจรผ่านไปมา เพราะเป็นบริเวณที่มีการเปลี่ยนทิศทางมากมาย ทำให้คนสนใจแต่ทิศทางที่จะไป ไม่ได้สนใจว่าจะมีอุปสรรคเตี้ย ๆ อยู่บนพื้นหรือเปล่า ถ้าคนมาเตะแล้วบาดเจ็บรถไฟฟ้าเขาก็คงจ่ายค่าชดเชยให้ แต่ถ้าถังพลาสติกบาดเจ็บ คงไม่มีใครสนใจมันหรอก

Thursday, June 14, 2007

รถป้ายแดง ปัญหาที่ไม่มีใครคิดจะแก้ไขอย่างจริงจัง

เคยเขียนไว้แล้วในบทความหนึ่ง ว่ารถป้ายแดงไม่สามารถวิ่งบนท้องถนนได้เพราะยังไม่เสียภาษีค่าใช้ถนน แล้วถ้าเจอคนที่ขับรถป้ายแดงสักสามปี ก็หมายความว่าเขาไม่จ่ายค่าบำรุงการใช้ถนนเลยน่ะสิ ก็เลยนั่งคิดต่อไปถึงวิธีแก้ปัญหา ปรากฏว่ามันยุ่งยากมากจริง ๆ เพราะปัญหาหลักอยู่ที่กรมการขนส่งทางบกเอง ที่ดันมีมาตรการขัดแย้งกันเอง เพราะในมุมหนึ่ง รถป้ายแดงวิ่งไม่ได้เพราะผิดกฎหมาย แต่กรมการขนส่งทางบกกลับให้มีการประมูลป้ายทะเบียนเลขสวย นั่นหมายความว่า กรมการขนส่งทางบกก็ทำให้รถป้ายแดงไม่สามารถไปจดทะเบียนทันทีที่ซื้อรถได้ แต่กลับต้องวิ่งป้ายแดงรอจนถึงกำหนดเวลาประมูลทะเบียนรถ แถมยังต้องรออีกสองอาทิตย์หลังประมูลเพื่อทำเอกสารป้ายให้เสร็จ กลายเป็นว่ามาตรการของหน่วยงานเดียวกันขัดแย้งในตัวมันเอง

จริง ๆ แล้วมาตรการไม่ให้รถป้ายแดงออกมาวิ่งบนท้องถนนทำได้ง่ายมาก แต่กลับไม่มีใครคิดที่จะแก้ไขกันอย่างจริงจัง ในหลาย ๆ ประเทศ เขาไม่มีป้ายแดงเลย มีแต่ทะเบียนจริงเท่านั้น มาตรการง่าย ๆ ก็คือ ควบคุมที่ผู้ขายรถยนต์ กำหนดให้ผู้ขายรถยนต์ไม่อนุญาตให้ผู้ซื้อเอารถออกจากโชว์รูมได้ ถ้าไม่เอาป้ายทะเบียนจริงมาติด ถ้าเจอรถป้ายแดงวิ่งอยู่บนถนน ก็ตามไปจับเจ้าของโชว์รูมด้วย มาตรการง่าย ๆ แค่นี้ แต่ไม่มีใครคิดจะทำ คงเป็นเพราะเจ้าของบริษัทรถยนต์มีอำนาจมากกว่าสาธารณชนนั่นเอง

Wednesday, June 13, 2007

ช่างหัวฉันได้ไหม

ประเด็นที่มักจะถกเถียงในการพัฒนาพื้นที่อยู่เสมอ ๆ ก็คือสิทธิและเสรีภาพในการพัฒนาพื้นที่เอกชน ซึ่งเจ้าของที่ดินแต่ละรายมักจะคิดว่าตนเองมีสิทธิโดยสมบูรณ์ในการพัฒนาที่ดินที่ตนเองเป็นเจ้าของ แต่ในความเป็นจริงแล้ว การพัฒนาที่มีผลต่อความปลอดภัยไม่เพียงแต่สาธารณะเท่านั้น แต่การกระทำที่เสี่ยงต่อความปลอดภัยของตนเองก็ไม่ชอบด้วยกฏหมายเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น เจ้าของที่ดินที่แสดงอยู่ในภาพ ได้อนุญาตให้มีการสร้างป้ายโฆษณาอยู่ในแปลงที่ดินของตนเอง แต่ก็ยังคงมีบ้านพักอาศัยอยู่ในรั้วเดียวกัน แถมยังอยู่ใต้ป้ายโฆษณาใหญ่ยักษ์นั้นพอดี ตามกฏหมายแล้ว ป้ายขนาดใหญ่ก็นับเป็นอาคารอีกด้วยเช่นกัน และนับขอบเขตของป้ายที่ระยะยื่นไกลที่สุด นั่นหมายความว่า พื้นที่ดินนี้มีอาคารสองหลัง ที่ต้องทำตามกฏหมายควบคุมอาคารว่ามีอาคารสองหลังอยู่ในแปลงที่ดินเดียวกัน และต้องมีระยะห่างระหว่างอาคารตามกฏหมายด้วย แต่เอกชนเจ้าของที่ดินมักจะคิดว่าเป็นสิทธิโดยชอบธรรมว่าที่ดินของเขา เขาจะทำอะไรก็ได้ในเขตที่ดินของเขาเอง จะสร้างป้ายขนาดใหญ่ให้มันซ้อนกับอาคารเดิมก็ได้

ป้องกันตนเอง

ตามหลักการแล้วการปกป้องสวัสดิภาพของประชาชน และการรักษาความปลอดภัยสาธารณะเป็นหน้าที่ของภาครัฐ โดยมีเงินสนับสนุนจากภาษีของเอกชน ซึ่งจะช่วยให้เอกชนไม่ต้องมารับผิดชอบการรักษาความปลอดภัยและสวัสดิภาพของตนเอง เพราะการกระทำดังกล่าวต้องใช้อำนาจทางกฎหมายและถ้าทำในขอบเขตที่ใหญ่กว่าจะคุ้มค่าทางต้นทุนมากกว่า


เรามักจะพบภาพเหล่านี้ได้โดยทั่วไป เหมือนกับเป็นเรื่องปกติ ที่ตึกแถวจะต้องทำลูกกรงเพื่อป้องกันขโมย หน้าต่างต้องติดเหล็กดัด และบ้านต้องมีรั้วสูง มีเหล็กแหลมและเศษแก้วเพื่อป้องกันตนเอง ปรากฏการณ์นี้สะท้อนถึงความล้มเหลวของผู้รักษาความปลอดภัยของภาครัฐ จนเอกชนต้องปกป้องตนเองเพราะความเชื่อถือของภาครัฐมีต่ำเหลือเกิน

ทำไมต้องก้มหัว

เจ้าของอาคารและส่วนประกอบอาคาร เช่น ต้นไม้ มีหน้าที่ดูแลรักษาสมบัติของตนเองให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่รบกวนความสะดวกและความปลอดภัยของสาธารณชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับไม่เป็นอย่างนั้น และตัวการที่ก่อปัญหากับสาธารณชนมากที่สุดก็คือหน่วยงานของรัฐ เพราะถืออภิสิทธิ์ว่าตนเองเป็นเจ้านายของประชาชน


ตัวอย่างเช่น หน้ามหาวิทยาลัยที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย แต่เขากลับปล่อยให้ต้นไม้ที่อยู่ในรั้วของมหาวิทยาลัยแตกกิ่งก้านสาขามาถึงสะพานลอย ก่อให้เกิดความไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยในการสัญจรของสาธารณชน เพราะต้องก้มหัวเพื่อหลบหลีกกิ่งก้านของต้นไม้นั้น ทั้ง ๆ ที่มหาวิทยาลัยเป็นผู้นำแนวทางและแนวความคิดในสังคม แต่ก็กลับปล่อยปละละเลยเรื่องพื้นฐานอย่างนี้เสียเอง ใครเดินผ่านไปมาบริเวณก็ก่นด่า ส่งผลเสียต่อภาพพจน์ของสถาบันการศึกษานี้เองเสมอ ๆ แต่ผู้บริหารคงไม่ทราบ เพราะเขาไม่เดินหรอก นั่งรถติดแอร์เย็นสบายกันเสมอ จึงไม่เคยรู้ปัญหาของสาธารณชนเอาเสียเลย เพราะวิถีชีวิตของเขาไม่ได้มีไว้เพื่อสาธารณชนแต่อย่างใด

เสียดายเงิน

มีโครงการหรือมาตรการจำนวนมาก ที่เมื่อนำมาปฏิบัติแล้วไม่ประสบความสำเร็จ องค์ประกอบทางกายภาพของโครงการเหล่านั้นก็ถูกละทิ้งเอาไว้เป็นขยะของเมือง ไม่ได้รับการปรับแต่งให้นำกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง

ตัวอย่างเช่น โครงการ "ช่องเดินรถประจำทาง" บนถนนสายหลักในกรุงเทพฯ เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นโครงการที่ไม่สำเร็จโดยสิ้นเชิง และใช้งานได้ไม่ถึงเดือนก็ต้องยกเลิก เพราะดันเอาถนนเดิมที่รถติดอยู่แล้วมาตัดออกหนึ่งช่องจราจรให้รถประจำทางวิ่งได้เท่านั้น (โครงการรถ BRT ควรดูไว้เป็นกรณีศึกษา) เมื่อโครงการไม่ประสบความสำเร็จ ก็ควรจะเอาโครงสร้างเช่น ป้ายและเสาออกไปเสีย หรือเอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ไม่ปล่อยทิ้งไว้ให้เป็นขยะ แถมยังเป็นที่สับสนแก่คนที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่อีกด้วย ถ้าเป็นนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม คงต้องประกาศหาคนรับผิดชอบแล้วหละมั้ง

แผ่นดินนี้เราจอง

เคยเขียนและแสดงภาพประกอบมาหลายครั้งแล้ว ถึงการจับจองพื้นที่สาธารณะมาเป็นสมบัติส่วนตัว ทั้ง ๆ ที่พื้นที่สาธารณะเป็นของทุกคนในสังคม ไม่ใช่เป็นของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ยังมีภาพมาให้เขียนอยู่เสมอ ๆ

ภาพนี้ถ่ายบริเวณทางเท้าถนนบรรทัดทอง ช่วงใกล้แยกที่ตัดถนนเพชรบุรี ที่ต้องภาพการจับจองทางเท้าสาธารณะมาเป็นสมบัติส่วนตัวให้ดูอีกครั้ง ก็เพราะรถเบนซ์คันนี้จอดตรงนี้ทุกวัน เจ้าของรถคงอาศัยหรือทำงานอยู่ในอาคารพาณิชย์แถวนั้นแหละ ก็เลยจับจองเอาทางเท้าสาธารณะเป็นของตัวเองอย่างถาวร ท่านเจ้าของรถครับ ท่านมีเงินขนาดซื้อรถเบนซ์ ก็ช่วยกรุณาออกเงินหาที่จอดที่ไม่รบกวนความสะดวกและความปลอดภัยของสาธารณชนบ้างได้ไหมครับ ส่วนเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเรื่องพื้นที่สาธารณะในบริเวณนี้ มีอะไรมาอุดปากท่าน ทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้รักษาความเรียบร้อยของสาธารณะอยู่หรืออย่างไรครับ รถคันนี้จึงจอดอยู่ได้ทุกวัน

Monday, June 4, 2007

ทำไมต้องจอดรถในที่ห้ามจอด

ในกรุงเทพฯ เรามักพบเห็นการฝ่าฝืนหรือลักลอบจอดรถในที่ห้ามจอดอยู่เสมอ แต่ผู้ขับขี่ยานพาหนะก็จะรู้ว่า เขาจำเป็นต้องจอดตรงนั้นแหละ ทำไมจึงต้องมาห้ามเขาจอดด้วยล่ะ

ภาพนี้ถ่ายบริเวณก่อนขึ้นสะพานพระราม๘ จากฝั่งธนบุรี เห็นได้ว่า มีป้ายห้ามจอดอยู่ แต่กลับมีรถยนต์จอดอยู่ ทำให้ช่องทางที่มีน้อยอยู่แล้วยิ่งแคบลงไปอีก ส่งผลให้การจราจรติดขัด แต่จะไปโทษคนที่จอดรถอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะหน่วยงานของรัฐได้ออกมาตรการที่ขัดแย้งกันเอง เพราะหน่วยงานของรัฐได้อนุญาตให้ตึกแถวข้างถนนก่อสร้างขึ้นมาโดยไม่มีที่จอดรถได้ ซึ่งโดยปกติแล้วตึกแถวก็จะประกอบการพาณิชย์ มีคนมาติดต่อมากมายด้วยรถยนต์ส่วนตัว แล้วก็เป็นหน่วยงานของรัฐอีกเหมือนกันที่มาออกกฏห้ามจอดรถตรงหน้าตึกแถว ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันในหลักการของหน่วยงานของรัฐ แล้วผลเสียก็มาตกกับเมืองและเอกชน น่าสงสัยมาก ว่าทำไมหน่วยงานของรัฐสองแห่งจึงไม่ตกลงกันให้เรียบร้อยเสียก่อน แล้วไม่ให้ประชาชนต้องมาเดือดร้อนกับมาตรการที่ขัดแย้งกันของหน่วยงานของรัฐด้วยล่ะ

สภาพของระบบสาธารณะสะท้อนสภาพทางสังคม

มีคำกล่าวว่า ถ้าอยากรู้ว่าสภาพสังคมนั้น ๆ เป็นอย่างไร ก็ให้ดูจากสภาพของพื้นที่หรือสิ่งของสาธารณะเป็นสำคัญ ถ้าสังคมนั้นมีความเท่าเทียมกันในหมู่พลเมือง สภาพของพื้นที่หรือสิ่งของสาธารณะก็จะสะท้อนให้เห็นความเท่าเทียมกันออกมา หรือถ้าสังคมนั้นให้ความสำคัญกับความปลอดภัย พื้นที่หรือสิ่งของสาธารณะก็จะมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูง ซึ่งเราก็สามารถจะเข้าใจสังคมไทยได้จากสภาพของสิ่งของสาธารณะเช่นกัน

รถประจำทางสาธารณะคันนี้สะท้อนภาพและสื่อความหมายมากมายไปยังสภาพสังคมไทย รถสาธารณะที่ต้องมีความปลอดภัยทั้งกับผู้โดยสารและคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้โดยสารด้วย กลับมีสภาพที่ไม่ปลอดภัยโดยสิ้นเชิง ประตูทางออกฉุกเฉินก็ไม่อยู่ในสภาพที่จะใช้งานได้ดี ตัวถังรถก็ไม่แน่นและขยับเวลาที่รถเคลื่อนที่ ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องปกติของประเทศไทย เพราะคนไทยอยากได้สิ่งที่ดี แต่ไม่อยากจ่ายสตางค์ รถโดยสารประจำทางต้องการการซ่อมบำรุงให้อยู่ในสภาพดี จึงต้องมีรถจำนวนมากกว่าที่ใช้วิ่งจริงเอาไว้สำรองเวลาที่รถบางส่วนต้องเข้าซ่อมบำรุงตามวงรอบ หรือรถเสีย การที่จะมีรถเอาไว้สำรองคือต้นทุนการให้บริการที่เพิ่มขึ้น แต่คนไทยไม่ยอมจ่ายค่าตั๋วในราคาที่เพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้รับความปลอดภัยกลับมา จึงต้องทนใช้รถที่ไม่ได้มาตรฐานอยู่ต่อไป และถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้นมา กลับไม่ได้หาเหตุผลที่เป็นวิทยาศาสตร์ แต่กลับให้เหตุผลทางไสยศาสตร์ว่าเกิดจากความซวย หรือผิดผีอะไรไปเรื่อย ปัญหาจึงยังคงอยู่ต่อไป เพราะผีหรือเทพเจ้า ไม่สามารถช่วยใครได้ตลอดหรอก มาตรฐานด้านความปลอดภัยต่างหากที่จะช่วยป้องกันอุบัติเหตุได้

ฉันมีห้องทำงานอยู่บนทางเท้า

พื้นที่ทางเท้า คือ พื้นที่สาธารณะ ซึ่งตามหลักการแล้วสมควรถูกใช้เพื่อการสาธารณะ แต่สำหรับคนไทย คำว่า "สาธารณะสมบัติ" กลายเป็นสมบัติที่ไม่มีเจ้าของ ใครกอบโกยไปใช้ผลประโยชน์ได้เท่าไหร่ก็เอาไป คนอื่นจะไม่ได้ใช้หรือใช้ได้อย่างไม่สะดวกก็ช่างมัน เพราะคนอื่นก็มีสิทธิเป็นเจ้าของเท่ากับฉันนี่หน่า

ด้วยเหตุนี้ ช่างรับเหมาร้านค้าบริเวณปากซอยสุขุมวิท๕๓ จึงมีสิทธิเต็มที่ที่จะใช้ทางเท้าเป็นที่จอดรถขนส่งสินค้า และใช้เป็นพื้นที่สำหรับตัดโลหะ จะได้ประหยัดพื้นที่ด้านในของตัวร้านที่กำลังทำอยู่ ใครจะเดินไม่สะดวกเพราะรถกระบะจอดขวางทางอยู่ก็ไม่เป็นไร แถมยังต่อสายไฟมาใช้กับเครื่องตัดโลหะด้วย คนเดินเท้าต้องเสี่ยงภัยจากไฟดูด เศษโลหะกระเด็นใส่อย่างไร ก็ช่างมัน และเป็นเรื่องแปลกสำหรับคนไทย คือตอนเดินผ่านจะลำบากหรือเสี่ยงภัยแค่ไหนก็ตาม พอเดินพ้นมันไปแล้วก็เหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ฉันรอดจากอันตรายมาได้แล้วนี่ ไม่เห็นเป็นอะไรเลย คนอื่นก็คงจะปลอดภัยเหมือนฉันเช่นกัน