รถตู้นับเป็นระบบขนส่งมวลชนที่มีส่วนช่วยให้การสัญจรในกรุงเทพฯ มีความสะดวกขึ้น แต่การจัดการเส้นทาง ป้ายหยุดรถ และการให้บริการของรถตู้กลับไม่ได้มีการวางแผนให้ประสานกับระบบขนส่งสาธารณะแบบอื่น ๆ ให้มีประสิทธิภาพในองค์รวมมากขึ้น ลดความซ้ำซ้อน และทำให้การสัญจรในภาพรวมมีความสะดวกและปลอดภัยมากขึ้น
ถ้าใครเดินผ่านจุดจอดรถตู้ฝั่งตรงข้ามห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง จะพบสิ่งน่าแปลกใจอยู่สองประการ อันที่หนึ่งคือ การประกาศราคาและจุดหมายในการเดินทาง เช่น "ท่าน้ำสี่พระยาสิบบาทขึ้นเลยครับ" นี่คือการแข่งขันที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงทางการจราจร เพราะรถตู้ตั้งราคาแข่งกับรถประจำทางปรับอากาศ (รถ ปอ.) ซึ่งดูเผิน ๆ น่าจะเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่ในสภาพการจราจรที่เลวร้ายอย่างในกรุงเทพฯ การแข่งขันแบบนี้ทำให้เกิดความซ้ำซ้อนในการให้บริการ ทั้งรถ ปอ. และรถตู้ต่างต้องวิ่งบนเส้นทางเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่เส้นทางนั้นก็มีการจราจรที่ติดขัดมากอยู่แล้ว ทำไมจึงไม่วางแผนร่วมกันแล้วแบ่งหน้าที่กันทำไปคนละเส้นทาง ประการที่สอง คือ ภาครัฐมีมาตรการที่ขัดแย้งกันเอง เพราะในมุมหนึ่งภาครัฐอนุญาตให้รถตู้จอดตรงนี้ แต่ภาครัฐเองก็ไม่ได้เตรียมพื้นที่ทางพักคอย และบริการสนับสนุนกับการเป็นท่ารถ เช่น พื้นที่สำหรับร้านค้า เอาไว้เลย ซึ่งขัดแย้งกับวิถีปกติของการเป็นท่ารถ ที่จะต้องมีคนมายืนคอยขึ้นรถและลงรถ และระหว่างที่คอยก็ต้องมีบริการพื้นฐานในร้านค้าเอาไว้อำนวยความสะดวกด้วย ก็เลยกลายเป็นว่า ร้านค้าและพื้นที่พักคอยต้องมาใช้ทางเท้าซึ่งแคบอยู่แล้ว แถมยังเป็นบริเวณที่มีคนสัญจรผ่านไปมาอีกด้วย