Tuesday, February 20, 2007
พลังแห่งชุดนักเรียน
สังคมไทยพิจารณาว่าชุดนักเรียนเป็นชุดสุภาพ และมีนัยแห่งความเป็นเด็กที่ยังต้องการการดูแล เกื้อกูล และให้การเอาใจใส่ ด้วยเหตุดังกล่าว ชุดนักเรียนจึงเป็นชุดที่มีพลังแห่งความเห็นอกเห็นใจจากประชาชนในสังคม และนำไปใช้ประโยชน์ให้กับผู้สวมใส่ได้ในหลายสถานการณ์ เช่น ใช้เป็นส่วนลดในการเข้าชมอะไรบางอย่าง ใช้เป็นเครื่องแบบในการติดต่อราชการ และในอีกแง่หนึ่งก็นำมาใช้ในแง่ของการตลาดได้ด้วย



ในตลาดนัดสวนจตุจักร ศิลปินข้างถนนในชุดนักเรียนนักศึกษา เป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป เนื่องมาจากความสำเร็จของศิลปินในรูปแบบนี้คนหนึ่ง ซึ่งมีหนังสือพิมพ์มาทำข่าวของเขาแล้วก็เป็นที่รู้จักไปทั่ว นักเรียนเหล่านี้เห็นช่องทางดังกล่าว ก็เลยทำตามแบบบ้าง การเป็นศิลปินข้างถนนในชุดนักเรียนสื่อความหมายชัดเจนโดยไม่ต้องเขียนป้ายว่า "ฉันจะเอาเงินนี้ไปเพื่อเป็นทุนการศึกษานะจ๊ะ" ซึ่งมักจะได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคนที่เดินผ่านไปมาอยู่เสมอ ลองคิดดูว่าถ้าเด็กพวกนี้ไม่ได้สวมเครื่องแบบนักเรียน ความเห็นอกเห็นใจในฐานะที่เป็นนักเรียนจะขาดหายไป เรียกได้อย่างเต็มปากว่า "เอาชุดนักเรียนมาหากิน"