Friday, February 9, 2007

กว่าจะไปถึงที่เกิดเหตุก็คงเหลือแต่ตอตะโกแล้วหละพี่

เมืองที่ปลอดภัย นอกจากจะต้องสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภัยเป็นขั้นต้นแล้ว ยังต้องคำนึงถึงว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในเมือง ก็ต้องสามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพอีกด้วย ดังนั้น เมืองจึงต้องมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยสาธารณะ ทั้งเทศบัญญัติ กฎหมายควบคุมอาคาร และกฎหมายอื่น ๆ มาตรฐานที่สำคัญอย่างหนึ่งคือการกู้ภัยเมื่อเกิดอัคคีภัย หลายประเทศได้กำหนดว่า รถดับเพลิงต้องเข้าถึงจุดเกิดอัคคีภัยได้ภายใน ๑๕ นาที ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดขนาดของถนน ความเร็วต่ำสุดที่ยอมรับได้ในการเคลื่อนที่ของยานพาหนะ ตำแหน่งและขอบเขตการให้บริการของสถานีดับเพลิง เป็นต้น

ภาพนี้ถ่ายเมื่อประมาณ ๑๗.๐๐ น. ของวันพฤหัสบดีที่ ๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๐ ซึ่งเกิดเหตุเพลิงไหม้คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งบนถนนเพชรบุรี เนื่องจากสถานีตำรวจดับเพลิงย่อยสยามสแควร์อยู่ใกล้ที่เกิดเหตุ จึงส่งรถดับเพลิงไปช่วยกู้ภัย แต่ในช่วงเวลาดังกล่าวอยู่ในชั่วโมงเร่งด่วน เกิดการจราจรติดขัดทั้งในสยามสแควร์เอง และถนนด้านนอก คือ ถนนอังรีดูนังต์ และถนนพระราม๑ ทำให้รถดับเพลิงไม่สามารถฝ่าการจราจรที่ติดขัดออกมาจากสยามสแควร์ได้ ต้องเปิดสัญญาณเสียงร้องลั่นอยู่นานขนาดที่ผู้เขียนได้ยินเสียงตั้งแต่อยู่สยามพารากอน เดินมาจนถึงทางออกสยามตรงข้ามสถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจก็ยังบันทึกภาพนี้เอาไว้ได้ ดังนั้น กว่ารถดับเพลิงคันนี้จะไปถึงที่เกิดเหตุ เพลิงก็คงทำลายอาคารไปมากแล้วหละ สถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเมืองที่สำคัญอย่างยิ่ง เมื่อเกิดภัยพิบัติขึ้นในกรุงเทพฯ การแก้ไขหรือการกู้ภัยจะไปถึงช้ากว่าที่ควรจะเป็นเสมอ แสดงว่ากรุงเทพฯ โตเกินกว่าที่บริการพื้นฐานจะรองรับได้แล้วอย่างชัดเจน การแก้ปัญหามีสองวิธีที่ต่อเนื่องกัน คือ กำหนดจำนวนประชากรและพื้นที่ให้บริการของกรุงเทพฯ ให้ชัดเจนเพื่อกำหนด Demand ให้ชัด และจัดการบริการพื้นฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อสร้าง Supply ให้ตอบสนอง Demand ที่ตั้งไว้