Sunday, February 4, 2007

ทำไมรถเมล์ไม่เข้าป้าย??

ดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติของคนไทยกับการที่รถเมล์ไม่เข้าจอดที่ป้ายรถเมล์อย่างเรียบร้อย แต่จอดมันกลางถนน แล้วให้ทั้งคนลงและคนขึ้นเดินเสี่ยงเอาเองกับการถูกรถที่อยู่ในช่องจราจรซ้ายสุดชน แต่สาเหตุของการที่จอดให้คนขึ้นลงกลางถนนทั้ง ๆ ที่อยู่ตรงป้ายรถเมล์อยู่แล้วมีหลากหลาย


สาเหตุหลัก ก็คือ คนขับไม่อยากเข้าป้าย เพราะถนนช่องซ้ายสุดมักจะมีรถจอดด้วยกรณีต่าง ๆ อยู่เสมอ เช่น รถแท็กซี่จอดรับส่งคน รถยนต์จอดรอเข้าและออกจากตัวอาคาร รถขยะจอดเก็บของ ฯลฯ ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งสำหรับรถเมล์ซึ่งเป็นรถขนาดใหญ่ การแซงออกเพื่อหลบอุปสรรคเหล่านั้นยากลำบาก และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ซึ่งจะโทษคนขับรถเมล์ฝ่ายเดียวก็คงไม่ได้ แต่เป็นเพราะทัศนคติของคนไทยต่อการใช้เส้นทางสาธารณะต่างหากที่ทำให้เกิดปัญหาการจราจรและอุบัติเหตุขึ้นในเมือง แต่ดูเหมือนว่า ไม่มีใครจะยอมรับว่า "ฉันนี่แหละคือส่วนหนึ่งในต้นเหตุของปัญหา"

รถเมล์คันนี้ก็ไม่เข้าป้าย ต้องบนช่องทางที่สองของถนนสามช่องจราจรของถนนสีลมที่มีปัญหาการจราจรติดขัดอยู่เกือบทั้งวัน ก็เพราะป้ายรถเมล์อยู่ตรงหน้าร้านขายน้ำแข็งที่ขายส่งน้ำแข็งด้วยรถซาเล้งให้กับร้านค้าตลอดถนนสีลม เมื่อต้องขนน้ำแข็งใส่รถซาเล้ง ก็ต้องจอดรถไว้ตรงที่รถเมล์ควรจะได้จอดรับส่งผู้โดยสาร จะชี้ไปว่าใครผิดก็ไม่ถนัดปากนัก เพราะ กทม. อนุญาตให้เขาสร้างอาคารพาณิชย์แถมยังอนุญาตให้เขาจดทะเบียนการค้าได้อีก ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าต้องมีการขนส่งสินค้าบ้าง แสดงว่ากฎหมายของไทยไม่ได้คิดถึงปัญหาเรื่องผลกระทบจากภายนอก (Externalities) ของกิจกรรมต่าง ๆ เลย เพราะต้องการให้ต้นุทนในการทำธุรกิจต่ำที่สุด แต่ผลักภาระจากผลกระทบนี้ให้กับสังคม จึงไม่ได้เตรียมการไว้รองรับ อย่างที่ญี่ปุ่น การจะขออนุญาตสร้างอาคารพาณิชย์ จะต้องเตรียมพื้นที่จอดรถส่งของ รวมถึงทางเข้าออกเอาไว้อย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพการจราจรของเมืองด้วย จึงจะได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง

นี่ก็กรณีเดียวกับร้านขายน้ำแข็ง พวก "รถถัง" ที่เตรียมตั้งแผงลอยบนทางเท้า ก็ใช้พื้นที่ใกล้ ๆ กับป้ายรถเมล์เป็นที่จอดรถ ทำให้รถเมล์เข้าป้ายได้ไม่สะดวก แม้ว่าตรงป้ายรถเมล์จะไม่มีสิ่งกีดขวางก็ตาม คุณคนขับรถเมล์เห็นดังนั้น ก็เลยถือโอกาสไม่เข้าป้ายมันเสียเลย เข้ากับสุภาษิต "ผีเน่ากับโลงผุ" ได้อย่างดี


ในช่วงที่มีการเตรียมตั้งแผงลอยอย่างรีบเร่ง พื้นที่ถนนช่องซ้ายสุดที่เป็นช่องทางสาธารณะจึงต้องถูกใช้เพื่อธุรกิจส่วนตัวอย่างเต็มที่ ซึ่งทั้งผู้ต้องการโดยสารและคนขับรถเมล์ก็ยอมรับสถานการณ์เป็นอย่างดี ผู้โดยสารจึงย้ายตนเองลงมายืนรออยู่บนพื้นถนน ส่วนคนขับรถเมล์ก็จอดรับกันกลางถนนนั่นแหละ