ป้ายรถเมล์คือจุดเชื่อมต่อระหว่างการเดินเท้ากับระบบขนส่งสาธารณะ ดังนั้นทางเท้าบริเวณดังกล่าวจึงต้อง "เปิด" สู่ถนนเพื่อให้ผู้โดยสารรถเมล์สามารถขึ้นลงได้อย่างสะดวก แต่การจอดหยุดรับส่งผู้โดยสารของรถเมล์ก็ก่อให้เกิดปัญหาจราจร จึงต้องมีกฎจราจรที่ห้ามรถเมล์จอดรับส่งผู้โดยสารนอกป้ายหยุดรถ เพื่อให้เมืองมีจุดหยุดที่เหมาะสมกับการจราจร ป้องกันการหยุดรถรับส่งผู้โดยสารแบบกีดขวางการจราจรกับรถคันอื่น ๆ
ป้ายรถเมล์หน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง มีอยู่สองป้าย คือตรงตีนสะพานลอยซึ่งเป็นป้ายที่มีมาแต่เดิม และป้ายใหม่ที่สร้างขึ้นอย่างสวยงามตามภาพด้านบน แต่ป้ายนี้กลับไม่ได้รับอนุญาตให้เปิดใช้งาน ต้องเอารั้วเหล็กถาวรมากั้นระหว่างทางเท้ากับถนนเอาไว้ เพราะป้ายดังกล่าวอยู่ใกล้สามแยกและมีรถเมล์ที่ต้องหยุดรับส่งจำนวนมาก เมื่อมีรถเมล์เข้าป้ายมากขึ้น แถวของรถเมล์จะส่งผลกระทบต่อการจราจรบริเวณสามแยกทำให้เกิดการจราจรติดขัด จึงเป็นการลงทุนที่สูญเปล่า ถูกละทิ้งให้เป็นอนุสรณ์แห่งความผิดพลาด และเกะกะทางเท้าที่แคบอยู่แล้วด้วยตามหลักการออกแบบระบบจราจรแล้ว การกั้นรั้วระหว่างวิธีการเดินทางสองประเภทที่ต่างกัน (คนเดินเท้ากับรถยนต์) ก็เพื่อป้องกันยานพาหนะที่ใหญ่ หนัก และรวดเร็วมากกว่า (รถยนต์) ข้ามเข้ามาชนคนเดินเท้า แต่ด้วยวิถีไทย ทำให้การกั้นรั้วถูกนำมาใช้ในวัตถุประสงค์ใหม่ คือการป้องกันไม่ให้ผู้ต้องการโดยสารรถเมล์ขึ้นลงนอกป้ายหยุดรถ พื้นที่หน้าห้างสรรพสินค้ามาบุญครองมักจะมีปัญหาการจราจรติดขัดในช่วงเวลาเร่งด่วน ผู้ต้องการโดยสารส่วนใหญ่ต้องการขึ้นรถเมล์ก่อนคนอื่น เผื่อจะได้มีที่นั่งกับเขาบ้าง ผู้โดยสารที่ต้องการจะลงจากรถเมล์ก็ไม่อยากรอถึงป้าย เพราะไม่รู้รถจะติดอีกกี่ชั่วโมง ดังนั้น เมื่อรถเมล์ติดอยู่ก่อนถึงป้ายหยุดรถ ผู้โดยสารก็จะขึ้นและลงรถเมล์กันกลางถนน ซึ่งเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ แต่รั้วดังกล่าวก็ป้องกันไม่ได้ผลอะไรนัก พฤติกรรมการขึ้นลงรถเมล์นอกป้ายยังคงมีอยู่เหมือนเดิม