Wednesday, February 28, 2007

ปฏิบัติการจิตวิทยา

จากเหตุการณ์ลอบวางระเบิดในช่วงปีใหม่ในกรุงเทพฯ ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดขึ้น แต่เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมีความรู้แค่ไหนในเรื่องวินาศกรรม หรือการตรวจสอบบุคคลที่เข้าออกอย่างเข้มงวดไม่ได้มีจุดมุ่งหมายรักษาความปลอดภัยเป็นหลัก แต่เป็นปฏิบัติการจิตวิทยาโดยมีกลุ่มลูกค้าเป็นเป้าหมาย เป็นสัญญลักษณ์บอกเป็นนัยว่าสถานที่ของฉันปลอดภัยนะจ๊ะ กรุณาเอาเงินมาจับจ่ายใช้สอยที่อาคารของฉันได้

ทางขึ้นลงรถ MRT ที่สีลม มีพนักงานรักษาความปลอดภัยคอยค้นกระเป๋าของผู้เข้าออกอย่างเข้มงวด ทำให้นึกถึงห้างสรรพสินค้าใหม่เอี่ยมย่านปทุมวัน ที่มีพนักงานรักษาความปลอดภัยมาใช้กระจกส่องใต้ท้องรถทุกคันที่เข้าสู่ลานจอดรถ ผู้เขียนเองอดทนไม่ไหวก็เลยเปิดกระจกไปถามว่า "พี่ครับ ที่พี่ส่องดูใต้ท้องรถผมน่ะ พี่รู้ไหมครับว่าระเบิดมีหน้าตาเป็นอย่างไร" พี่พนักงานรักษาความปลอดภัยพาซื่อตอบผมตามตรงว่า "ไม่รู้หรอกครับ เจ้านายเขาให้ส่องก็ส่องตามคำสั่งครับ" นั่นแสดงว่า จุดมุ่งหมายไม่ได้อยู่ที่การรักษาความปลอดภัย แต่เป็นด้านการตลาดเป็นหลักน่ะสิ

ปล่อยให้วิ่งกันอยู่ได้

ในปัจจุบัน ผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับการวางแผนและจัดการระบบจราจร ซึ่งหมายความว่าสังคมไม่ได้ให้ความสนใจเฉพาะผลที่เกิดก้บผู้เดินทางเท่านั้น แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้ไม่เดินทางอีกด้วย หัวข้อที่กำลังได้รับความสนใจก็คือ ควันพิษที่ปล่อยออกมาจากรถยนต์ เนื่องจากเครื่องยนต์เก่าหรือไม่ได้รับการดูแลรักษาเท่าที่ควร จึงเกิดการเผาไหม้อย่างไม่สมบูรณ์ แม้ว่าจะมีการกวดขันจากเจ้าหน้าที่แล้วก็ตาม ก็ยังพบเห็นรถควันดำอยู่เสมอ ๆ

รถควันดำที่พบมากที่สุดคือรถสาธารณะ โดยเฉพาะรถประจำทาง และรถทัวร์ บนถนนเพชรเกษมซึ่งเป็นเส้นทางหลักสู่ภาคใต้ จึงมีรถทัวร์วิ่งอยู่ตลอดเวลา และรถทัวร์ส่วนใหญ่ก็ปล่อยควันดำเสมอ แต่ไม่เคยเห็นมีใครมาตรวจจับกันเสียที ผู้ให้บริการรถทัวร์เหล่านี้ไม่ได้มีหน้าทีเพียงแค่ขนส่งผู้โดยสารที่จ่ายค่าตั๋วเท่านั้น แต่ยังต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการดูแลและบำรุงรักษารถให้อยู่ในสภาพดี ไม่ก่อผลกระทบด้านลบกับสภาพแวดล้อมอีกด้วย แต่หน้าที่อย่างหลังมักจะถูกละเลยอยู่เสมอ เพราะผู้ให้บริการคิดว่าเป็นต้นทุนที่ไม่จำเป็นและไม่ก่อให้เกิดกำไร

แม่ย่านางมาอีกแล้ว

คนไทยรู้จักแม่ย่านางเรือมานานแล้ว แต่เมื่อการสัญจรหลักเปลี่ยนจากการเดินทางทางน้ำมาเป็นทางบก แม่ย่านางก็ยังตามมาปกป้องคุ้มครองเจ้าของยานพาหนะ จึงต้องบูชากันอย่างเหมาะสม

แม่ย่านางรภตู้

แม่ย่านางรถเก๋ง แสดงว่ายานพาหนะทุกประเภทต้องมีแม่ย่านางคุ้มครอง ต่อไปคงเจอแม่ย่านางสเกตบอร์ด หรือแม่ย่านางยานอวกาศให้เห็นกันบ้าง

ระยะปลอดภัย??

ในการก่อสร้างและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจร มีความจำเป็นจะต้องกำหนดพื้นที่ในการก่อสร้างแล้วปิดพื้นที่นั้นออกจากการสัญจรปกติเพื่อความปลอดภัยของผู้สัญจร บางประเทศมีการกำหนดระยะปลอดภัยในการก่อสร้างไว้ในมาตรฐานการพัฒนาเมือง แต่สำหรับประเทศไทย ความปลอดภัยสาธารณะมีน้อยเหลือเกิน

เขตเมืองพัทยา มีการปรับปรุงเกาะกลางถนนโดยใช้รถตักดินมาทำงาน แต่ไม่มีการกำหนดพื้นที่ในการก่อสร้างอย่างชัดเจน ปล่อยให้ผู้สัญจรปกติผ่านเข้าไปในเขตก่อสร้างได้ แล้วค่อยหลบรถตักดินเอาเอง

ข้อมูลมากเกินไปหรือเปล่า

ป้ายจราจรมีหน้าที่บอกข้อมูลหรือแนะนำให้ผู้เดินทางสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย การออกแบบป้ายจราจรมีข้อจำกัดเรื่องความละเอียดของข้อมูล เพราะกลุ่มเป้าหมายคืนผู้ขับขี่ยานพาหนะไม่ได้อยู่นิ่ง แต่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง เราจึงมักเห็นป้ายในรูปของสัญญลักษณ์ เช่น ลูกศรเพื่อบอกให้ไปทางไหน แทนข้อความ เป็นต้น เพื่อให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะเข้าใจได้ด้วยการมองเพียงแวบเดียว

ป้ายบนถนนเทิดชัน (บรมราชชนนี) มีข้อมูลมากมายด้วยการเกร่นนำก่อน ๑ บรรทัด และข้อกำหนดการใช้เส้นทางอีก ๔ ข้อ และหน่วยงานที่รับผิดชอบอีก ๒ บรรทัด และถนนนี้เป็นเส้นทางขนาดกว้าง ๓ ช่องทาง และทางคู่ขนานอีก ๒ ช่องทาง ซึ่งมีการเดินทางด้วยความเร็วสูง ขนาดชลอรถถ่ายภาพนี้ยังเห็นข้อความได้ไม่ชัด แล้วถ้าวิ่งปกติจะอ่านได้หมดก่อนที่จะเลยป้ายไหมนี่

Tuesday, February 27, 2007

ระวังโดนรถตัดดินจิกหัว

การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเมืองเป็นเรื่องจำเป็นและต้องทำอย่างต่อเนื่องเสมอ เพื่อพัฒนาเมืองให้ทันและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่การปรับปรุงในพื้นที่ที่มีการใช้งานอยู่แล้ว จะต้องมีการวางแผนการก่อสร้างที่ดี เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อเมืองให้น้อยที่สุด แต่สิ่งที่มักจะถูกลืมหรือแกล้งลืมอยู่เสมอก็คือความปลอดภัย เพราะการปรับปรุงเมืองที่ยังคงมีการดำเนินชีวิตตามปกติอยู่ จะมีผลต่อความปลอดภัยสาธารณะเสมอ โดยเฉพาะการกำหนดพื้นที่ปลอดภัยเพื่อกันเอาพลเมืองออกไปจากพื้นที่เสียงภัยในการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเมือง

การปรับปรุงถนนในเมืองพัทยา ไม่ได้มีการวางแผนเรื่องความปลอดภัยที่ดีพอ ทำให้ระยะหมุนและระยะยื่นของรถตักดินล้ำออกมาอยู่บนพื้นที่ถนนที่ยังอนุญาตให้ใช้งานได้อยู่ ซึ่งการก่อสร้างก็เป็นเรื่องที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุมากพออยู่แล้ว มีโอกาสที่รถตักจะเสียหลักหรือคานที่ใช้ตักดินหักแล้วร่วงลงมาใส่รถของพลเมืองที่เจ้าหน้าที่อนุญาตให้วิ่งผ่านบริเวณนี้ได้

ช่างออกแบบทางแยกได้อันตรายเสียจริง ๆ

ตามหลักการออกแบบทางหลวงแผ่นดินสายหลักที่ดี จะต้องพยายามให้มีทางแยกน้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้ เพราะทางแยกเป็นแหล่งรวมของจุดตัดของทิศทางการสัญจร และจุดตัดเหล่านั้นคือจุดเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งยังต้องมีสัญญาณไฟจราจร ซึ่งถ้าเป็นไฟแดงรถหยุดบนทางหลวงที่มีความเร็วสูง มีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้สูงอีกเช่นกัน ในกรณีที่สุดวิสัย ไม่สามารถหลีกเลี่ยงทางแยกได้ ก็ต้องออกแบบทางแยกให้มีความเสี่ยงอันตรายน้อยที่สุด คือ ต้องไม่อยู่บริเวณที่มีทัศนวิสัยไม่ดี เช่น ทางโค้ง ทางขึ้นหรือลงเนิน แม้ว่าหลักการนี้นักวางแผนการจราจรทุกคนรู้อยู่แก่ใจแล้วก็ตาม เราก็ยังพบเห็นทางแยกที่อันตรายเหล่านี้อยู่ทั่วประเทศไทย

ทางแยกในเทศบาลนาจอมเทียน ติดกับพัทยา ช่างเป็นทางแยกที่รวมโทษลักษณะของทางแยกที่ไม่ดีเอาไว้ได้ครบถ้วนทุกประการ คือ เป็นทางแยกที่อยู่บนทางหลวงแผ่นดินสายหลัก เพิ่งออกจากเมือง และมีทัศนวิสัยแย่มาก เพราะอยู่บริเวณทางโค้ง และทางลงเนิน ภาพนี้เป็นทางเข้าเมือง ซึ่งเป็นทางขึ้นเนิน ยังไม่อันตรายเท่าใดนัก

ภาพนี้เป็นขาออกจากเมือง ลงเนินมาแล้วเจอแยกและสัญญาณไฟจราจรทันที แถมยังเป็นทางโค้งลงเนินอีกด้วย แค่โค้งอย่างเดียวก็มองเห็นไม่ได้ไกลแล้ว ยังมาเจอเนิน บวกด้วยสัญญาณไฟให้หยุดรถพร้อม ๆ กัน แยกนี้จึงเกิดอุบัติเหตุอยู่เป็นประจำ แต่ก็ไม่เห็นมีใครสนใจจะแก้ไขปัญหากันเสียที

หลอกกันนี่หน่า ๒


ประชาชนโดนรัฐหลอกอีกแล้ว บริเวณทางม้าลายหน้าวัดช่างแสง มีป้ายโฆษณาตัวเองไว้อย่างดิบดีว่า "เทศกิจอาสา ช่วยน้องข้ามถนน" พร้อมด้วยรูปการ์ตูนคุณเทศกิจหน้าตาใจดีกับเด็กนักเรียนหน้าตาชื่มชมคุณเทศกิจ แต่เอาเข้าจริงกลับไม่มีพนักงานเทศกิจสักคนมาทำหน้าที่ตามที่โฆษณาเอาไว้ ทั้ง ๆ ที่เวลาที่ถ่ายรูปนี้เป็นเวลาเลิกเรียนพอดี น้องนักเรียนอ้วนกับคุณแม่ก็ต้องข้ามถนนกันเองข้าง ๆ ป้ายที่เชื่อถือไม่ได้นั่นแหละ

Monday, February 26, 2007

หลอกกันนี่หน่า

ประชาชนคาดหวังว่าป้ายแนะนำต่าง ๆ ที่ทำโดยผู้รับผิดชอบต่อระบบสาธารณะต่าง ๆ จะให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และทำให้พลเมืองมีความสะดวกสบายในชีวิตความเป็นอยู่ แต่ในความเป็นจริงแล้วมีป้ายที่ทำโดยภาครัฐจำนวนมากที่ไม่ได้ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และทำให้ประชาชนหมดศรัทธาต่อข้อมูลที่ได้รับ

ทางด่วนปลายสุดของมอเตอร์เวย์ บริเวณด่านพระราม ๙ ขาเข้ามาจากสุวรรณภูมิ ช่องจ่ายเงินตรงนี้มีประมาณ ๑๐ ช่อง และสองช่องตรงกลางมีป้ายผ้าติดเอาไว้ว่า "ช่องพิเศษตู้ซ้อน" หมายถึงช่องทางดังกล่าวจะมีตู้เก็บเงินสองตู้เรียงกันอยู่ จะสามารถเก็บเงินและผ่านได้อย่างรวดเร็วขึ้น ซึ่งผู้ขับขี่รถยนต์ก็ไปเข้าแถวในช่องนี้จำนวนมาก

แต่พอเข้าไปที่ช่องนี้จริง ๆ แล้วกลับไม่ได้เป็นอย่างที่โฆษณาบนป้ายผ้า เพราะมีป้ายติดไว้ที่ตู้แรกว่า "เปิดให้บริการเฉพาะตู้นี้" ส่วนตู้หลังปิดบริการและมีป้ายติดไว้ว่า "งดให้บริการ" ทำให้ผู้ขับขี่ที่หลงเชื่อป้ายผ้าว่าจะมีสองตู้ และผ่านด่านได้เร็วขึ้นถึงกับเซ็งไปตาม ๆ กัน ถ้าจะเปิดสองตู้เป็นบางเวลาก็ควรจะคิดวิธีที่โฆษณาได้เฉพาะเวลาที่เปิดบริการเท่านั้น หรือถ้าไม่มีบริการแบบนี้แล้วก็ปลดป้ายไปเสีย ไม่ต้องทิ้งไว้ให้คนคาดหวังแล้วผิดหวังอยู่ทุกวัน

ทางด่วนไม่ใช่ที่เดินธุดงค์นะหลวงพี่

ตามหลักการของทางด่วน คือเส้นทางที่มีการสัญจรที่มีความเร็วสูงและมีปริมาณการสัญจรจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยจึงต้องจำกัดการเข้าออกด้วยการกำหนดจุดเข้าออกไว้เฉพาะพื้นที่เท่านั้น ไม่อนุญาตให้เข้าออกจากเส้นทางบริเวณใดก็ได้แบบถนนประเภทอื่น ส่วนการจำกัดความเร็วก็ยังจำกัดทั้งความเร็วสูงสุดและความเร็วต่ำสุดอีกด้วย รวมถึงการจำกัดประเภทของยานพาหนะไม่ให้ยานพาหนะแบบไม่มีเครื่อง หรือยานพาหนะแบบมีเครื่องที่มีอันตรายมาใช้ทางด่วน แต่ก็ยังพบการฝ่าฝืนอยู่เสมอ ๆ

หลวงพี่คนนี้คงจะเดินธุดงค์จากชลบุรีเข้ากรุงเทพฯ โดยใช้เส้นทางหลวงหมายเลข ๗ (มอเตอร์เวย์) ซึ่งเป็นการเสี่ยงต่อการมรณภาพเป็นอย่างยิ่ง เพราะเส้นทางนี้ถูกออกแบบมาไว้เพื่อรถความเร็วสูงเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อคนหรือพระมาเดิน หลวงพี่คงอยากถึงนิพพานให้เร็วจึงเลือกเส้นทางนี้ละมั้ง

แนวป่าชายเลนที่หายไป

พื้นที่ป่าชายเลนนับเป็นพื้นที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศน์และสภาพแวดล้อมของโลกเป็นอย่างมาก แต่พื้นที่ป่าชายเลนก็มักจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวชายทะเลสูง จึงถูกบุกรุกเพื่อการพาณิชย์ด้านการท่องเที่ยวอยู่เสมอ แม้ว่าปัจจุบันจะมีนโยบายเพื่ออนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังเพิ่มพื้นที่ได้ไม่มากนัก

ที่หาดจอมเทียน พัทยา ป่าชายเลนเป็นแนวต่อเนื่อง โดยมีคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่เป็นฉากหลัง ทำให้นึกขึ้นได้ว่าป่าชายเลนแนวแคบ ๆ แค่นี้จะช่วยกรองของเสียสู่สภาพแวดล้อมสาธารณะได้แค่ไหนกัน เมื่อเทียบขนาดกับสิ่งที่ปล่อยของเสียมาให้ป่าชายเลนเล็ก ๆ นี้รับผิดชอบ

หันกลับหลังจากภาพบน พบว่าแนวป่าชายเลนถูกตัดขาดด้วยโรงแรมและ Complex ขนาดใหญ่ที่ถูกสร้างทับแนวของป่าชายเลนอยู่ ปัญหาการบุกรุกที่ป่าชายเลนเกิดขึ้นตลอดแนวชายฝั่งทะเลตะวันออก โดยไม่มีใครคิดจะแก้ไขอย่างเป็นหลักเป็นฐาน เพราะการกระทำใด ๆ มีผลต่อมูลค่าที่ดินริมทะเลทั้งนั้น

ควรติดป้ายเพิ่มด้วยนะ

เสาไฟฟ้ามีหน้าที่ลำเลียงไฟฟ้าไปยังผู้ใช้บริการ และยังเป็นแหล่งไฟฟ้าส่องสว่างให้กับพื้นที่รอบ ๆ อีกด้วย แต่ด้วยการที่เสาไฟฟ้ามีลักษณะผอมยาวเพื่อลดความต้องการทางพื้นที่ จึงมีความเสี่ยงต่อการล้มหรือหักโค่นอยู่เสมอ ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ และเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่จะต้องดูแลบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ

เสาไฟฟ้าในเขตเทศบาลเมืองพัทยา อุตส่าห์มีตัวอักษรสีแดงพ่นเอาไว้ว่า "ระวังไฟฟ้าแรงสูง" แต่ตัวเสาเองกลับเอียงจะล้มลงมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ น่าจะเขียนติดไว้เพิ่มว่า "ระวังศีรษะ" ติดเอาไว้ด้วยนะ

อันตรายขนาดนั้น ใครมันจะอยู่ด้วยได้นะ

แก๊สหุงต้มเป็นพลังงานที่สำคัญในครัวเรือนไทย แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับเป็นพลังงานที่มีความเสี่ยงสูง ในปัจจุบันอาคารขนาดใหญ่จำนวนมากไม่อนุญาตให้ใช้แก๊สหุงต้มในอาคาร อนุญาตแต่เตาไฟฟ้าเท่านั้น ความเสี่ยงเรื่องไฟไหม้ของเตาแก๊สกับเตาไฟฟ้าคงไม่ต่างกันนัก แต่ที่เขากลัวคือการระเบิดของถังแก๊ส จึงต้องออกกฎเพื่อความปลอดภัยของโครงสร้างอาคาร ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญของความเสี่ยงภัยอันเกิดจากก๊าซหุงต้ม แต่ก็ยังมีอีกหลายพื้นที่ที่ยังคงรับความเสี่ยงนี้ต่อไปโดยไม่สนใจอะไรทั้งนั้น

อาคารพาณิชย์หรือตึกแถว ซึ่งชื่อก็บอกอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่ามีไว้เพื่อการพาณิชย์ จึงไม่แปลกที่จะถูกใช้เป็นร้านขายแก๊ส แต่อาคารพาณิชย์หลังอื่น ๆ ที่อยู่ในชุดเดียวกัน ก็ยังถูกใช้ในกิจกรรมอื่นที่ไม่ควรอยู่ใกล้ลูกระเบิดอย่างร้านขายแก๊ส ภาพนี้เห็นได้ชัดว่า ติดกับร้านขายแก๊สเปิดเป็นอพาร์ทเมนท์ให้เช่า นั่นหมายความว่าจะมีคนพักอาศัยในตึกแถวข้างร้านแก๊สเป็นจำนวนมาก โชคดีที่อพาร์ทเมนท์นี้เจ๊งไปแล้ว ไม่รู้ว่าเพราะการตลาดไม่ดีหรือเพราะคนไม่ยอมอยู่ติดกับร้านแก๊สกันแน่ แต่ก็ยังนับว่าโชคดีอยู่ดี

เมื่อถนนมีไว้เพื่อการโฆษณา ไม่ใช่เพื่อการจราจร

หน้าที่หลักของถนน มีไว้เพื่อการสัญจรคมนาคมสำหรับมนุษย์ ส่วนหน้าที่รองคือ เป็นที่ตั้งของระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ไฟฟ้า ประปา การสื่อสารโทรคมนาคม ฯลฯ รวมถึงการใช้เป็นที่โล่งว่างของเมืองในบางสถานการณ์อีกด้วย แต่ด้วยการที่มีผู้คนสัญจรมากมายบนถนน จึงเป็นเหตุให้ถนนมีศักยภาพสูงในการเป็นพื้นที่โฆษณา ทั้งเพื่อการเมืองและธุรกิจ และในหลายพื้นที่การเป็นพื้นที่โฆษณาได้บดบังและรบกวนหน้าที่หลักของการสัญจรไปเสียหมด

บนถนนสายเลี่ยงเมืองพัทยา ป้ายที่ตั้งอยู่บริเวณเกาะกลางถนน สมควรถูกใช้สำหรับป้ายจราจรเพื่อการสัญจรที่สะดวกและปลอดภัยเป็นสำคัญ แต่กลับกลายเป็นว่า ป้ายโฆษณาของเอกชนใหญ๋และสะดุดตากว่าป้ายจราจรไปมากทีเดียว ลองกลับไปคิดถึงหลักการของความปลอดภัยดู แล้วเหตุการณ์อย่างนี้จะไม่เกิดขึ้น

ตรงสามแยกถนนพัทยากลางตัดกับถนนสายเลี่ยงเมือง ตรงสามแยกที่เป็นจุดที่เห็นเด่นชัดที่สุด สมควรจะเป็นข้อมูลสำหรับการจราจรที่สะดวกและปลอดภัย แต่ท่านนักการเมืองท้องถิ่น กลับสนใจการโฆษณาตนเองมากกว่าความปลอดภัยของประชาชน ที่ท่านมักจะเรียกว่า "พี่น้องที่รัก" อยู่ทุกครั้งที่เอ่ยถึง

ทรัพย์สาธารณะ = ทรัพย์ส่วนตัว

ทรัพย์สินสาธารณะมีไว้เพื่อทำให้เมืองมีความเป็นอยู่ที่ดี เช่น สวนสาธารณะ ท่อระบายน้ำ เป็นต้น และประชาชนพลเมืองในพื้นที่ทุกคนเป็นเจ้าของ นั่นคือทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของเท่าเทียมกับคนอื่น ดังนั้น การใช้ทรัพย์สินสาธารณะจะต้องแบ่งปันให้คนอื่นได้ใช้ด้วย และต้องใช้อย่างรักษาเพราะคนอื่น ๆ ต้องมาใช้ต่ออีก แต่สำหรับคนไทยแล้ว คำว่า "ทรัพย์สินสาธารณะ" กลายเป็น "ทรัพย์สินส่วนบุคคล" ฉันเป็นเจ้าของร้อยเปอร์เซ็นต์ จะเอาไปทำอะไรก็ได้ ซึ่งก็เป็นปัญหาสำคัญกับเมือง เพราะเมืองต้องรับผิดชอบในต้นทุนและผลกระทบของทรัพย์สินสาธารณะที่ถูกนำไปใช้ในการส่วนตัวอยู่เสมอ ๆ

ตัวอย่างเช่น ฝาท่อระบายน้ำในเมืองพัทยา ถูกขโมยยกฝาท่อที่ทำด้วยเหล็กอย่างดี เพราะต้องมีความแข็งแรงพอรับน้ำหนักคนที่เดินผ่านไปมาได้ เมื่อหายอยู่เสมอ จึงต้องออกแบบให้มีลวดลายและตัวอักษรย่อที่เป็นเอกลักษณ์ แถมด้วยข้อความข่มขู่ว่า "ผู้ใดครอบครองมีความผิดตามกฎหมาย" สลักเอาไว้ เพื่อป้องกันฝาท่อหาย ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อผู้สัญจรไปมา และเสียงบประมาณของเทศบาลเองด้วย

Saturday, February 24, 2007

ที่เขาห้าม ก็เพื่อความปลอดภัย

สะพานลอยข้ามแยกสำคัญต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นเพื่อทำให้สภาพการจราจรดีขึ้น รถที่ต้องการตรงข้ามแยกไปไม่ต้องรอติดสัญญาณไฟแดง เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทำไมสะพานข้ามแยกส่วนใหญ่จึงห้ามรถมอเตอร์ไซค์ขึ้น ก็เพราะว่ามีพื้นที่จำกัด แยกที่ต้องมีสะพานข้ามมักจะมีอาคารอยู่บริเวณแยกอย่างหนาแน่น ส่งผลให้ตัวสะพานต้องออกแบบให้แคบที่สุดที่จะทำได้ เพื่อให้สามารถมีช่องทางการจราจรที่เพียงพอต่อการเดินทาง จึงต้องออกกฎห้ามรถบางประเภทขึ้นสะพานเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่เอง และความปลอดภัยสาธารณะ


ตามหลักการการวางแผนการจราจร รถมอเตอร์ไซค์เป็นรถที่มีความเร็วต่ำและมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง จึงควรจะเดินรถอยู่ในช่องซ้ายสุดหรือช่องทางเฉพาะสำหรับรถมอเตอร์ไซค์ แต่เนื่องจากสะพานข้ามแยกมีพื้นที่จำกัด จึงไม่อนุญาตให้รถมอเตอร์ไซค์ขึ้นไปวิ่ง แต่หลักการดังกล่าวไม่ได้รับการเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจ มอเตอร์ไซค์คิดว่าตนเองถูกริดรอนสิทธิ์ในการเดินทางอย่างอิสระ ส่งผลให้เกิดการฝ่าฝืนดังในภาพอยู่เสมอ ๆ

ประหยัดเงิน ประหยัดชีวิต

ในโลกที่มีเงินเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำรงชีวิต การประหยัดเป็นสิ่งจำเป็น แต่ก็ควรจะประหยัดเฉพาะในเรื่องที่เหมาะที่ควรเท่านั้น เรามักจะพบการประหยัดในหลาย ๆ เรื่องที่ต้องเอาชีวิตเข้าไปเสี่ยงเพื่อลดค่าใช้จ่ายเพียงไม่กี่บาท

นักเรียนเหล่านี้ประหยัดเงินด้วยด้วยการขึ้นรถตุ๊กตุ๊กทีละห้าคน เพราะต้องการประหยัดเงิน นักเรียนก็รู้ว่ามันไม่ปลอดภัย คนขับรถก็รู้ว่ามันผิดกฎหมาย ทั้งสองฝ่ายจะเป็นผู้เสียหายถ้าเกิดอุบัติเหตุขึ้น แต่พวกเขายอมรับความเสี่ยงนั้นเอง โดยไม่ได้คำนึงถึงว่า ความเสี่ยงที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้น มีผลกระทบต่อสังคมโดยรวมเป็นอย่างมาก ถ้าเกิดอุบัติเหตุโดยมีคู่กรณี คู่กรณีนั้นก็ต้องมารับผลในสิ่งที่คนอื่นเสี่ยงโดยไม่จำเป็นอย่างนี้

Friday, February 23, 2007

มันเหลืออดแล้วหละ ๒

จาก "มันเหลืออดแล้วหละ" ก็ยังพบปรากฎการณ์ของการทนไม่ไหวกับพฤติกรรมไม่ดีของคนอื่น แล้วก็เลยต้องหาทางออกด้วยการด่าเสียให้สะใจบ้าง

บนทางเท้าหน้าโรงเรียนสาธิตฯ ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ทางเท้านี้มีขนาดไม่กว้างนัก เด็กเดินหน้ากระดานเรียงสองก็ยังลำบากแล้ว แต่เป็นทางเท้าที่มีปริมาณการสัญจรหนาแน่นมากในช่วงก่อนและหลังเลิกเรียน แม้ว่าทางเท้าจะแคบอยู่แล้วก็ยังมีคนเอาขยะกองโตมาทิ้งไว้อีก ทำให้การสัญจรที่เคยลำบากอยู่แล้ว เลวร้ายลงไปอีก

และแล้วก็มีคนทนไม่ไหว เอากระดาษมาเขียนระบายความในใจไว้ดังในภาพ

หลบแดด

ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแสงแดดเหลือเฟือ เกินกว่าความต้องการพื้นฐานของการมีชีวิตที่ดีไปมาก คนไทยจึงมีวิธีในการปรับตัวเองให้สามารถทำกิจกรรมในพื้นที่กลางแจ้งได้โดยไม่มีแดดอยู่หลายวิธี

บนสะพานลอยย่านสวนจตุจักร ในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ตลาดนัดสวนจตุจักรส่งอิทธิพลออกมาถึงบนสะพานลอยนี้ ทำให้เกิดร้านค้าแผงลอยเกิดขึ้น แต่สะพานลอยนี้ตั้งอยู่กลางแจ้ง จะให้แม่ค้ามานั่งตากแดดขายของทั้งวันคงไม่ได้ ก็เลยเอาพื้นที่เฉพาะที่อยู่ในใต้ร่มเงาของโครงสร้างรางรถไฟฟ้า BTS มาเป็นร่มเงาสำหรับร้านค้าเสียเลย

นั่งข้างพาหะนำโรคเลยนะ

นิสัยโอบอ้อมอารี เอื้อเฟื้อเมตตา เป็นสิ่งที่ติดอยู่ในจิตใต้สำนึกของคนไทย ซึ่งจะพบเห็นภาพแห่งความประทับใจด้วยนิสัยแบบนี้อยู่เสมอ ๆ และนิสัยดังกล่าว ไม่ได้ทำแต่เพียงกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันเท่านั้น แต่ยังเผื่อแผ่ไปยังสัตว์ต่าง ๆ อีกด้วย แต่บางกรณีการเอื้อเฟื้อต่อสัตว์ก็ส่งผลเสียกับมนุษย์เอง แต่ก็ยังทำกันอยู่เหมือนเป็นปกติ

การให้อาหารนกพิราบในสวนสาธารณะเป็นเรื่องสนุกสำหรับเด็ก ๆ และทำรายได้ให้กับผู้เร่ขายอาหารนกอย่างสม่ำเสมอ แต่ตอนนี้หวัดนกกำลังระบาด อีกทั้งนกพิราบยังนำเชื้อไข้สมองอักเสบมาสู่คนด้วย แต่ผู้ปกครองของเด็กคนนี้กลับไม่สนใจ สนับสนุนให้ลูกตัวเองอยู่ใกล้ ๆ กับพาหะนำโรคร้ายแรงอย่างไม่รู้สึกอะไรทั้งสิ้น

Thursday, February 22, 2007

เก่งจริง ๆ รถคันเดียวทำให้รถติดทั้งถนนได้

ตามปกติแล้วรถขนส่งสาธารณะจะต้องวิ่งในช่องซ้ายมือสุด เพราะต้องจอดรับส่งผู้โดยสารตามป้ายหยุดตลอดเส้นทาง แต่เนื่องจากสภาพจราจรที่ติดขัด การแข่งขันก้นรับผู้โดยสาร และการฝ่าฝืนกฎจราจรของรถคันอื่น ๆ ที่มักจะจอดอยู่ในที่ห้ามจอดเสมอ ทำให้รถประจำทางต้องเลี่ยงออกมาวิ่งในช่องทางอื่น


เรามักจะคิดว่าการที่รถประจำทางออกมาวิ่งในช่องทางขวาสุดเป็นเรื่องปกติและทำให้ระบบขนส่งมวลชนสัญจรได้เร็วขึ้น แต่ภาพทั้งสองแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การที่รถประจำทางแซงออกมาเพื่อให้ตนเองไปได้เร็วขึ้น ทำให้รถคันอื่น ๆ ต้องติดขัดทั้งถนน เพราะรถประจำทางพวกนี้ต้องเข้าจอดที่ป้ายหยุดรถ เมื่อมีรถประจำทางมากกว่าหนึ่งคันเข้าป้ายหยุดพร้อมกัน ทำให้รถที่กำลังจะปาดเข้ามาติดรถที่จอดอยู่ที่ป้ายหยุด ทำให้คาอยู่บนถนน ส่งผลให้รถติดไปทั้งถนน รถประจำทางคันที่ขับอย่างนี้จะเคลื่อนที่ไปได้อย่างรวดเร็ว เพราะแซงปาดเขาไปทั่ว แต่การจราจรรวมบนถนนจะมีปัญหาติดขัด ซึ่งพนักงานขับรถเขาไม่สนใจหรอก น่าภูมิใจแทน ขสมก. จริง ๆ ที่สามารถฝึกอบรมพนักงานให้มีความรับผิดชอบต่อสาธารณะได้ดียิ่ง

จริยธรรมแห่งการโฆษณา

พื้นที่ที่เหมาะสมกับการโฆษณาคือพื้นที่ที่กลุ่มเป้าหมายเห็นได้ชัดเจนที่สุด แต่พื้นที่ที่ชัดเจนที่สุดนั้น ก็มีความจำเป็นต้องใช้เพื่อการสาธารณะที่มีความจำเป็นต่อส่วนรวมเช่นกัน จึงนำมาซึ่งความขัดแย้ง เพราะพื้นที่ที่ดีที่สุดมีมูลค่าทางเศรษฐกิจและการโฆษณา แต่ก็มีเรื่องของความจำเป็นสาธารณะทำให้ไม่สามารถใช้พื้นที่ได้อย่างคุ้มมูลค่าทางเศรษฐกิจ

หัวดับเพลิงจะต้องตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เห็นได้ชัดเจนและไม่มีสิ่งกีดขวาง เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต้องหาพบได้ง่ายและเข้าถึงได้อย่างสะดวก แต่ด้วยความชัดเจนโดดเด่นของหัวดับเพลิง ทำให้เจ้าของร้านซ่อมระบบประปาสบโอกาสมาพ่นข้อความโฆษณาอย่างถาวรบนหัวดับเพลิงเสียเลย โดยไม่ต้องเสียค่าเช่าพื้นที่สาธารณะใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าคนที่ผ่านไปผ่านมาจะเห็นว่าไม่ควรทำอย่างนี้ แต่พอท่อประปาในบ้านเสีย ก็วิ่งมาดูที่หัวดับเพลิงเพื่อโทรศัพท์เรียกช่างอยู่เสมอ

ถ้ามันดีจริง พี่ต้องโฆษณาด้วยเหรอครับ

โฆษณาประเภทเดียวกับในภาพข้างบนนี้ติดไปทั่วกรุงเทพฯ บอกว่าไม่ต้องทำอะไรก็มีรายได้ดีมาก แค่มาสมัครกับเขาเท่านั้น คาดว่าคงมีคนไปสมัครเยอะแยะทีเดียว เพราะเรื่องไม่ทำงานแล้วได้เงินดี คนไทยถนัดนัก จะให้หลอกคนอื่นมาเป็นสมาชิกต่อไปเรื่อย ๆ ก็ยินดีทำ จริง ๆ แล้วคนที่ทำงานพวกนี้เองก็รู้ว่าสิ่งที่ตนเองทำคือการหลอกลวงคนอื่นต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ทำเพราะหลงเชื่อโฆษณา แต่เงินมันมีอำนาจเหนือจริยธรรมไปเสียแล้ว เพราะสังคมนี้เขายกย่องกันที่เงินไม่ใช่จริยธรรม

ระบบจราจรอัจริยะกับการใช้ที่ไม่อัจฉริยะ

กรุงเทพมหานครได้พยายามนำเอาระบบจราจรอัจฉริยะต่าง ๆ มาใช้เพื่อแก้ปัญหาจราจร เช่น ป้ายจราจรอัจฉริยะ ป้ายรถเมล์อัจฉริยะ หรือป้ายแท็กซี่อัจฉริยะ และ ไม้จิ้มฟันยันเรือรบอัจฉริยะ หลักการของระบบจราจรอัจฉริยะคือการให้ข้อมูลด้านการจราจรให้กับผู้สัญจร ซึ่งเป็นการแนะนำให้ผู้สัญจรได้รับข้อมูลว่าควรเดินทางไปทางไหน ด้วยยานพาหนะประเภทใด แต่ปัญหาของการจราจรในกรุงเทพมหานครไม่ใช่การขาดข้อมูลข่าวสารในการเดินทาง แต่เป็นเพราะขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการการเดินทางต่างหาก ทำให้เราพบเห็นระบบอัจฉริยะต่าง ๆ ที่เสียงบประมาณมหาศาลซื้อมาใช้งานไม่ได้ช่วยให้การจราจรในกรุงเทพฯ ดีขึ้นแต่อย่างใด

ป้ายจราจรอัจฉริยะที่ไม่เคยแนะนำอะไรให้กับใครได้เลย นอกจากโฆษณาสินค้าเท่านั้น เพราะในช่วงเวลาเร่งด่วนทุกเส้นทางก็จะเป็นสีแดงทั้งหมด ไม่มีทางเลือกว่าจะไปทางไหนที่รถไม่ติดได้เลย ส่วนนอกเวลาเร่งด่วนก็จะเป็นสีเขียวทั้งหมด คือไปเส้นทางไหนก็ได้ จึงไม่มีความจำเป็นต้องมีป้ายอัจฉริยะแต่อย่างใด

Wednesday, February 21, 2007

เมื่อคนได้ประโยชน์กับคนเสียประโยชน์เป็นคนเดียวกัน

ทางเท้าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ต้องถูกใช้เพื่อการสาธารณะเป็นหลัก แต่เนื่องจากทางเท้าก็มีศักยภาพในการเป็นพื้นที่ประกอบการพาณิชย์ที่ดี เพราะมีลูกค้าเดินผ่านไปมาอยู่เสมอ เมื่อทางเท้าต้องตอบสนองการใช้งานถึงสองอย่างในเวลาเดียวกัน ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่พื้นที่ทางเท้าจะไม่สามารถตอบสองทั้งสองความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การแก้ปัญหาตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์เป็นคนเดียวกัน หมายความว่า คนเดินเท้าแม้ว่าจะเสียประโยชน์จากการที่มีพื้นที่ทางเท้าลดลงเนื่องจากการบุกรุกของแผงลอยหรือกิจกรรมเพื่อการพาณิชย์ แต่ก็คนเดินเท้าอีกนั่นแหละที่ได้ประโยชน์จากการมีพาณิชยกรรมและบริการอยู่บนทางเท้าในพื้นที่ที่เขาดเดินผ่าน ดังนั้น การที่จะให้กันทางเท้าไว้เป็นพื้นที่สัญจรสาธารณะเพียงอย่างเดียว คนที่จะเดือดร้อนมากที่สุดก็คือคนเดินเท้านั่นเอง

ตัวอย่างเช่น ทางเท้าหน้าสยามดิสคัพเวอรี่ มีรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาจอดรอรับผู้โดยสารอยู่บนทางเท้า คนเดินเท้าเสียประโยชน์เพราะมีพื้นที่เดินลดลง และต้องเดินหลบมอเตอร์ไซค์ที่จอดอยู่ แต่คนเดินเท้าก็ได้ประโยชน์ในกรณีที่ต้องการใช้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ก็สามารถเรียกใช้ได้อย่างสะดวก ไม่ต้องไปยืนข้างถนนเพื่อโบกหารถมอเตอร์ไซค์รับจ้างแต่อย่างใด นี่คือประเด็นสำคัญของการแก้ปัญหาเมือง อุปสรรคสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวปัญหาเอง แต่อยู่ที่พลเมืองที่ไม่ยอมเสียสละความสะดวกหรือทุนทรัพย์เพื่อแก้ปัญหาใด ๆ ทั้งสิ้นเกี่ยวกับเมือง แต่พวกเขากลับเรียกร้องหาเมืองที่ดีโดยที่ตนเองไม่ต้องลงทุนอะไรเลย

ได้คืบจะเอาศอก

สิทธิบนทางเท้ามักจะเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่เสมอ ๆ เพราะเจ้าของอาคารที่อยู่ติดกับทางเท้ามักจะมองว่า ทางเท้าหน้าบ้านหรือหน้าอาคารของเขาเป็นพื้นที่ของเขาโดยชอบธรรม แต่คนอื่นคิดว่าพื้นที่ทางเท้าทั้งหมดเป็นพื้นที่สาธารณะ ที่ใครจะใช้ยังไงก็ได้ ซึ่งนำมาสู่ความขัดแย้งในการครอบครองสิทธิบนทางเท้าในหลายพื้นที่

ตัวอย่างของตลาดข้างวัดพระปฐมเจดีย์ ซึ่งเป็นอาคารพาณิชย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง เป็นย่านการค้าทั้งในระดับเมืองและในระดับภาคที่รองรับนักท่องเที่ยวด้วย เจ้าของอาคารต้องการขยายพื้นที่ค้าขายออกมาสู่ทางเท้าหน้าร้าน ทำให้มีปัญหาว่าไม่มีทางเท้าพอต่อการสัญจรอย่างเหมาะสม ทางเทศบาลพยายามหาทางออกที่อลุ่มอล่วย ด้วยการยอมให้เจ้าของอาคารตั้งแผงออกมาบนทางเท้าหน้าร้านได้บางส่วน โดยทาสีเส้นสีเหลืองไว้เป็นแนวสำคัญ แต่ในภาพเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อได้รับอนุญาตให้ตั้งแผงบนทางเท้าได้บ้างแล้ว กลับยังไม่พอใจ ก็ยังมีการครอบครองทางเท้าเกินแถบเส้นสีเหลืองออกมาอีก โดยเอาเก้าอี้สำหรับนั่งเฝ้าร้านออกมาตั้ง เพราะเป็นองค์ประกอบที่เคลื่อนย้ายได้ทันทีเมื่อเจ้าหน้าที่เทศบาลผ่านมาเห็นเข้า

ป้ายนำทางไปลงหลุม

ในกรณีที่มีการปรับปรุงพื้นผิวการจราจร หรือโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่อยู่บนถนน ป้ายบอกทางชั่วคราวมีบทบาทสำคัญในการที่จะให้คำแนะนำกับผู้สัญจรให้สามารถเดินทางต่อไปได้อย่างสะดวก โดยจะแนะนำว่าควรเปลี่ยนเส้นทางไปในทิศทางใดจึงจะสามารถหลีกเลี่ยงอุปสรรคอันเกิดจากการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานได้ หลายประเทศได้มีมาตรฐานไว้อย่างชัดเจนว่า จะต้องมีป้ายขนาดเท่าใด อยู่ก่อนถึงบริเวณที่จะปรับปรุงหรือปิดพื้นที่เป็นระยะเท่าใด แต่ในประเทศไทย การให้ข้อมูลดังกล่าวเป็นไปตามความพอใจของผู้รับเหมา และบางครั้งก็ยังให้ข้อมูลที่ผิดเสียอีก

การซ่อมแซมระบบประปาบนถนนพหลโยธิน ใกล้สถานีรถไฟฟ้าอารีย์ ป้ายสีส้มที่เป็นป้ายบอกให้คนเดินเท้าทราบว่าควรเดินอ้อมไปทางไหน เพื่อหลีกเลี่ยงจากบริเวณก่อสร้าง แต่ป้ายดังกล่าวกลับชี้ไปยังกองดินที่ขุดขึ้นมากจากการขุดท่อประปา ถัดออกไปอีกก็คือถนนพหลโยธินที่มีปริมาณรถหนาแน่นสูง ซึ่งคนเดินเท้าไม่สามารถใช้คำแนะนำจากป้ายดังกล่าวมาช่วยให้เดินเท้าต่อไปอย่างปลอดภัยได้ ลองคิดถึงว่าถ้ามีคนแก่ตาฝ้าฟางเดินผ่านแล้วเชื่อป้ายนำทางนี้ คุณปู่คุณย่าก็คงเดินชนกองดิน หรือเดินลงไปในถนนให้รถชนเล่นเป็นแน่

พึ่งพิง

การจัดวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไฟฟ้าและสื่อสารโทรคมนาคม มีมาตรฐานอยู่อย่างชัดเจนว่าจะต้องมีระยะห่างจากส่วนประกอบต่าง ๆ ของถนนในระยะที่เหมาะสม รวมถึงต้องคิดถึงระยะตกท้องช้างของสายไฟ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นใช้กระแสไฟฟ้าเป็นหลัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายกับพลเมืองได้ แต่มาตรฐานเหล่านั้นมักไม่ได้รับความสนใจ ทั้งจากผู้มีหน้าที่รับผิดชอบและตัวพลเมืองที่จะเป็นผู้รับผลกระทบเหล่านั้นเอง

ตรงป้ายรถเมล์ปากซอยราชครู (พหลโยธิน ๕) มีป้ายบอกทางไปสถานที่ราชการตั้งอยู่ และมีสายโทรศัพท์มาพึ่งพิงอยู่ด้านบน ในกรณีที่เกิดไฟฟ้ารั่ว ป้ายและโครงสร้างของป้ายที่ทำด้วยโลหะจะเป็นตัวนำไฟฟ้าอย่างดี ถ้ามีคนมาจับที่เสาของป้ายเข้า ก็จะถูกไฟดูด น่าแปลกที่คนไทยมักคิดว่าอุบัติเหตุกรณีอย่างนี้ เกิดจากความโชคร้ายของพลเมือง ไม่ใช่มาจากการขาดความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด

เขาลืมผมทิ้งไว้นานแล้วครับ

กรุงเทพฯ มีพื้นที่ถนนน้อยมากเมื่อเทียบกับเมืองระดับเดียวกันในประเทศอื่น ๆ ส่งผลให้เกิดปัญหาจราจรติดขัดอยู่เสมอ แม้ว่าจะมีพื้นที่ถนนน้อย แต่ก็ยังมีการนำเอาพื้นที่ถนนที่มีน้อยอยู่แล้วไปใช้ในแง่มุมอื่นที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อการจราจรและการเป็นเมืองที่ดีอยู่เสมอ

รถคันนี้ถูกจอดทิ้งไว้บนถนนอังรีดูนังต์ข้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดูจากความหนาของฝุ่นที่จับอยู่ทั่วรถแล้วคงจอดมานานมาก แต่ก็ไม่มีใครสนใจจะย้ายมันไปที่ไหน ตำรวจจราจรในพื้นที่เองก็ไม่สนใจ ขณะที่รถคันอื่น ๆ ที่จอดอยู่ใกล้ ๆ กัน โดนใบสั่งเนื่องจากห้ามจอดรถในช่วงเวลาเร่งด่วน แต่รถคันนี้เป็นคันเดียวที่ไม่โดนใบสั่งเพราะคิดว่าแจกไปก็คงไม่มีคนมาตามจ่ายค่าปรับ ทั้ง ๆ ที่ป้ายทะเบียนก็มีอยู่ชัดเจน สามารถสืบหาตัวเข้าของได้ไม่ยาก ขนาดป้ายทะเบียนหลุดออกมาแล้ว ก็ยังคนเก็บเอาไปวางไว้บนฝากระโปรงรถ ข้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติยังเป็นอย่างนี้ ถ้ามีคนเอาระเบิดใส่รถแล้วไปจอด คงไม่มีใครรู้เรื่อง

ฝ่าฝืนกันจนเป็นเรื่องปกติ

กฎจราจรที่ห้ามจอดรถบนถนนในชั่วโมงเร่งด่วน มีไว้เพื่อให้การจราจรของส่วนรวมมีความสะดวก และเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเต็มประสิทธิภาพ แต่การห้ามจอดเป็นบางเวลานำมาสู่ปัญหาการจอดรถเกินเวลาอยู่เสมอ ๆ เพราะกิจกรรมที่ต้องมีการจอดรถบนถนนมักจะมีเวลาคาบเกี่ยวเนื่องไปยังชั่วโมงเร่งด่วนเสมอ

บนถนนอังรีดูนังต์หน้าโรงเรียนสาธิตฯ ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง มีการฝ่าฝืนจอดรถในช่วงเวลาเร่งด่วนอยู่เป็นประจำทุกวัน น่าสงสารเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ต้องมาออกใบสั่งให้อยู่เสมอ ๆ แต่ก็ไม่เคยได้ผลอะไรขึ้นมา เพราะบุคคลที่จอดรถอย่างผิดกฎหมายตรงนี้ล้วนแต่มีเส้นมีสาย สังเกตได้อย่างง่ายว่า ไม่เคยมีการล็อกล้อในบริเวณนี้เลย เพียงแต่ออกใบสั่งให้เท่านั้น เพราะตำรวจเองก็รู้ว่าให้ใบสั่งไปเพื่อไม่ให้โดนสังคมตำหนิว่าไม่ทำงาน แต่เจ้าของรถเขาก็ไปเคลียร์ทีหลังได้ แต่ถ้าล็อกล้อ เจ้าของรถจะต้องจ่ายค่าปรับอย่างแน่นอนและต้องเสียเวลาอีกด้วย แต่ถ้าเป็นที่อื่น กรณีอย่างนี้ ล็อกล้อสถานเดียว

เขากำลังเร่งก่อสร้างมั้ง

ในกรุงเทพฯ เนื่องจากการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วนมีปริมาณมาก มีถนนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ก็เลยออกกฎห้ามรถขนาดใหญ่ อย่างรถ ๖ ล้อขึ้นไปออกมาวิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนเช้าและเย็น แต่ก็ยังพบการฝ่าฝืนอยู่เสมอ

รถโม่ปูนคันนี้วิ่งผ่านหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติในเวลาประมาณ ๑๘.๐๐ น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเย็น แต่ก็ไม่เห็นโดนตำรวจจับ เป็นที่น่าสังเกตว่า รถโม่ปูนสำหรับโครงการก่อสร้างของเอกชนจะวิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนไม่ได้ แต่ถ้าเป็นรถโม่ปูนที่วิ่งไปส่งให้โครงการก่อสร้างของราชการกลับวิ่งได้ตลอด ช่างเป็นอภิสิทธิ์ชนในแง่ของการฝ่าฝืนกฎหมายเสียจริง ๆ เคยเห็นโครงการก่อสร้างอาคารของโรงเรียนสาธิตฯ ของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง รถโม่ปูนวิ่งได้ตลอดเวลา และมีพนักงานรักษาความปลอดภัยของมหาวิทยาลัยนั้นคอยอำนวยความสะดวกให้เสียอีก

สวนสาธารณะในประเทศไทย ต้องการร่มเงาไม่ใช่แดด

ประเทศไทยตั้งอยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร จึงมีแดดอยู่ตลอดทั้งปี การออกแบบสวนสาธารณะในประเทศไทยจึงต้องคิดคนละแบบกับโลกตะวันตก ซึ่งมีแดดไม่มากนักและต้องออกแบบให้ได้รับแดดอย่างเต็มที่ ส่วนในประเทศไทยกลับต้องการร่มเงาธรรมชาติ ซึ่งหาได้ยากอย่างยิ่งในเมือง

ภาพนี้ถ่ายที่สวนจตุจักร ตอนประมาณบ่ายสองโมง แดดยังแรงอยู่มาก เห็นได้ชัดเจนว่า คนนั่งกระจายตัวอยู่เป็นหย่อม ๆ ในสนามหญ้า โดยยึดเอาเงาของต้นปาล์มเป็นร่มให้กับตนเอง ด้วยพฤติกรรมการใช้สวนสาธารณะดังกล่าว เป็นที่น่าสงสัยอย่างยิ่งว่าทำไมจึงไม่ปลูกต้นไม้ที่มันให้ร่มเงาได้มากกว่าปาล์ม

ส่วนเก้าอี้ที่ตั้งไว้ทั่วสวนสาธารณะแทบไม่มีการใช้งาน เพราะมันตั้งอยู่กลางแดด ไม่มีต้นไม้มาให้ร่มเงาใด ๆ ทั้งสิ้น แถมเก้าอี้ก็ยังเป็นเหล็ก ใครนั่งลงไปนอกจากจะร้อนหัวแล้วยังได้ร้อนก้นเป็นของแถมอีกด้วย

กลุ่มเก้าอี้นี้เลือกที่ตั้งไว้อย่างดี ได้บรรยากาศริมน้ำ แต่ก็ไม่มีใครนั่งอยู่ดี เพราะมันร้อนเหลือเกิน

ที่โดนจับก็โดนไป ที่ไม่โดนก็รับผู้โดยสารกันต่อไป

คนขับรถสามล้อและแท็กซี่เป็นอาชีพที่มีการแข่งขันกันสูง ทั้งแข่งกับพวกเดียวกันเองเพื่อแย่งลูกค้า และแข่งกับตำรวจจราจรเพื่อหนีการถูกจับ และการแข่งขันดังกล่าวอย่างเข้มข้นจะพบได้บริเวณที่มีกิจกรรมหนาแน่น คนต้องการใช้รถรับจ้างเยอะ อย่างเช่นสวนจตุจักรในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

เมื่อมีกลุ่มเป้าหมายที่จะเป็นลูกค้าอยู่มาก รถแท็กซี่ก็เลยต้องมาจอดรถลูกค้าในช่องทางซ้ายสุด แต่ถนนนี้เขาห้ามจอด เพราะมีปริมาณการจราจรสูง จอดแล้วรถคันอื่นเขาไปไม่ได้ เมื่อทำผิดก็เลยต้องโดนตำรวจจับอย่างในภาพ

แต่เมื่อถอยออกมามองภาพกว้างขึ้น จะเห็นว่า ไอ้คันที่ถูกจับก็ให้จับไปสิ ส่วนคันอื่น ๆ ที่ยังไม่ถูกจับก็รอลูกค้ากันต่อไป รอตำรวจเข้ามาใกล้กว่านี้แล้วค่อยออกรถหนีก็ได้ เผื่อจะได้ลูกค้าสักคน

แต่ถ้าตำรวจอยู่ด้านหลัง คนขับรถสามล้อพวกนี้จะค่อย ๆ กระดึบหนีตำรวจไปเรื่อย ๆ ทีละห้าเมตรสิบเมตร ตามแต่ว่าตำรวจจะเข้ามาใกล้แค่ไหน เป็นการต่อสู้แข่งขันกันที่น่าดูมาก

Tuesday, February 20, 2007

ห้ามใช้แต่ไม่ห้ามขาย

มีข้อกำหนดจำนวนมากที่ห้ามการกระทำ แต่ไม่มีการเข้มงวดกวดขันในเรื่องของการขายของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำนั้น ๆ ตัวอย่างเช่น ไม่มีถนนสายใดอนุญาตให้รถวิ่งเร็วเกิน ๑๑๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง (ยกเว้นรถฉุกเฉินที่ได้รับอนุญาตอย่างเป็นทางการ) แต่รถที่มีอยู่ในท้องตลาดมีความสามารถที่จะวิ่งได้เร็วกว่า ๑๑๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง แทนที่ผู้ผลิตรถจะมีการจำกัดความเร็วมาตั้งแต่แรกกลับไม่ทำ แล้วปล่อยให้ตำรวจมาคอยตามจับทีหลังแทน แม้ว่าเรื่องดังกล่าวจะทำยาก แต่เริ่มจากรถสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถบขส. หรือแท็กซี่ ก่อนก็ได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีตัวอย่างให้เห็นอีกหลายประการ


อย่างกฎที่ว่าการแต่งการเลียนแบบเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตำรวจ ทหาร เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะเครื่องแบบพวกนี้ผูกพันกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่ต้องประกาศให้ประชาชนที่พบเห็นได้รับรู้ เพื่อให้สามารถทำงานได้อย่างรวดเร็วและทันสถานการณ์ ทำให้ต้องมีเครื่องแบบเพื่อให้ได้รับสิทธิพิเศษบางอย่างที่เป็นผลดีกับส่วนรวม แม้ว่าจะห้ามแต่งกายเลียนแบบ แต่กลับมีเครื่องแบบให้แต่งกายลอกเลียนขายอยู่ทั่วไป เช่น บริเวณหลังกระทรวง หรือ ตลาดนัดสวนจตุจักร ให้เกิดความสงสัยว่าทำไมเราไม่แก้ปัญหากันที่ต้นเหตุ แต่กลับปล่อยให้มีต้นเหตุแล้วมาตามแก้กันที่ปลายเหตุเสียทุกทีสิน่า

ไร้ทิศทาง / มีทิศทาง

การออกแบบเมือง มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องออกแบบให้พลเมืองหรือผู้ใช้พื้นที่มีความเข้าใจในทิศทางและตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่เมืองจากจุดที่เขายืนอยู่ ทำให้เกิดการรับรู้ตำแหน่งของตนเอง ไม่หลงทาง และมีสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน แต่การออกแบบเมืองโดยใส่ใจถึงเรื่องการรับรู้ตำแหน่งและทิศทางกลับไม่ได้รับความสนใจนักในประเทศไทย แต่จะเป็นในลักษณะตามแต่ชะตากรรมว่าจะรับรู้ทิศทางได้เองหรือไม่

ในบล็อกของตลาดนักสวนจตุจักร เนื่องจากบางบล็อกมีขนาดใหญ่มาก เพื่อให้มีพื้นที่ขายให้มากที่สุด เชื่อว่าคงมีคนจำนวนมากที่เคยหลงทางในสวนจตุจักร เพราะเมื่อเข้ามาอยู่ในบล็อกก็ไม่รู้จะไปทางไหนดี ไม่มีป้ายบอกทางออก มีแต่ป้ายบอกทางไปร้าน

หอนาฬิกาในตลาดนัดสวนจตุจักร มีเป้าหมายให้เป็น Landmark ของพื้นที่ เพื่อให้คนได้รับรู้ทิศทางและตำแหน่งว่าตนเองอยู่ตรงไหนของสวน แต่ด้วยหลังคาผ้าใบต่าง ๆ เต็มพื้นที่เพื่อป้องกันแสงแดด ทำให้คนเดินจับจ่ายซื้อสินค้าได้อย่างมีร่มเงา ทำให้โอกาสที่จะได้ใช้หอนาฬิกาดังกล่าวเป็นตัวบอกทิศทางมีน้อยมาก

ขนาดบล็อกที่เหมาะสม ก็สามารถช่วยบอกทิศทางได้ในระดับหนึ่ง ถ้าคนยืนอยู่ในบล็อกแล้วสามารถมองเห็นแสงสว่างของด้านนอกที่เป็นทางออกได้ ก็นับว่าสามารถกำหนดตำแหน่งและทิศทางของตนเองได้ในระดับหนึ่ง