Thursday, March 1, 2007

ผิดลำดับศักย์

โครงสร้างพื้นฐานด้านการจราจรในเมืองจะต้องถูกแบ่งออกตามลำดับศักย์ (Hierarchy) เช่น ถนนถูกแบ่งออกเป็นสี่ลำดับศักย์ คือ ถนนสายหลักระหว่างเมือง ถนนสายประธาน ถนนรวบรวม และถนนท้องถิ่น แต่ละลำดับศักย์จะผูกพันกับความเร็ว ประสิทธิภาพในการรองรับการสัญจร ประเภทของยานพาหนะ พื้นที่และกิจกรรมที่ต้องการการเชื่อมโยงที่แตกต่างกัน การกำหนดลำดับศักย์ทำให้สามารถให้บริการการจราจรได้อย่างเหมาะสม สะดวก และปลอดภัย แต่ถ้าใช้งานถนนผิดลำดับศักย์จะทำให้เกิดความไม่สะดวกในการเดินทาง และเสี่ยงต่ออันตรายจากอุบัติเหตุได้

ถนนในประเทศไทยก็ถูกแบ่งตามลำดับศ้กย์เช่นกัน ดูได้ง่าย ๆ จากจำนวนหลักของหมายเลขถนน ถ้าถนนที่มีตัวเลขหลักเดียว ก็คือถนนสายหลักระหว่างเมือง เช่น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ คือ ถนนเพชรเกษม ที่เชื่อมกรุงเทพฯ กับภาคใต้ ส่วนถนนลำดับศักย์รองลงไปก็มีจำนวนหลักของตัวเลขเพิ่มขึ้นตามลำดับ ภาพนี้ถ่ายบนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๔ ซึ่งเป็นถนนลำดับศักย์ที่สูงที่สุด จึงมีการสัญจรระยะไกล มีความเร็วสูง รวมถีงมีรถขนาดใหญ่ที่ใช้ขนส่งสินค้าวิ่งอยู่ด้วย ถนนลำดับศักย์นี้จึงไม่ควรมียานพาหนะที่มีความเร็วต่ำ หรือมีความเสี่ยงต่ออุบัติภัยสูง เช่น รถจักรยานและรถจักรยานยนต์มาวิ่ง แต่ในประเทศไทย ถนนสายหลักระหว่างเมืองกลับต้องมีป้ายให้ระวังรถจักรยาน และรถจักรยานยนต์มาติดไว้ เพราะไม่สามารถทำตามข้อกำหนดของลำดับศักย์ได้ การออกแบบถนนให้มีบริการตามลำดับศักย์ที่ดีไม่ใช่เรืองง่าย แต่ต้องคิดทั้งระบบจราจร ว่ายานพาหนะประเภทใด จะวิ่งได้บนถนนเส้นใดบ้าง และวิ่งจากไหนไปไหนได้ ซึ่งการคิดแบบบูรณาการนี้ ประเทศไทยเป็นเรื่องต้องห้ามทางพฤตินัยสำหรับข้าราชการ แต่ต้องคิดแยกส่วน เพราะงบประมาณแบบแยกส่วน ได้ยอดเงินรวมมากกว่างบประมาณแบบบูรณาการเสมอ