Saturday, March 3, 2007

ฉันต้องการโฆษณาในที่สาธารณะ แต่ห้ามสาธารณชนถ่ายรูป

วันนี้ผู้เขียนไปเที่ยวตลาดน้ำอัมพวา และจอดรถที่วัดอัมพวันเจติยาราม ก็ได้พบรถของบริษัทเครื่องสำอางค์ Ponds ซึ่งดัดแปลงรถบรรทุกให้เป็นโชว์รูมแต่งหน้าเคลื่อนที่ เห็นว่ามันแปลกดีก็เลยถ่ายรูปไว้ ปรากฎว่าเมื่อถ่ายเสร็จ ก็มีพนักงานชายของบริษัทเดินมาบอกว่า "ห้ามถ่ายรูป ของให้ลบออก" และ "คุณเป็นพนักงานบริษัทยูนิลิเวอร์หรือเปล่า ถ้าไม่ใช่ไม่มีสิทธิ์ถ่ายรูป"

ผู้เขียนถามกลับไปว่า "เพราะอะไรจึงห้ามถ่ายล่ะ" เขาบอกว่า "เจ้านายสั่งไว้" ผู้เขียนจึงขอให้โทรศัพท์หาเจ้านายเขา แล้วผู้เขียนจะถามเหตุผลเอง พนักงานชายคนนั้นก็ต่อโทรศัพท์ถึงเจ้านายที่ชื่อคุณหนึ่ง แล้วเล่าเรื่องให้ฟังโดยย่อ ก่อนจะส่งให้ผู้เขียนพูดด้วย

คุณหนึ่งเปิดฉากด้วยการถามผู้เขียนว่า "คุณเป็นใคร ถ่ายรูปไปทำอะไร" ผู้เขียนตอบว่า "ผมเป็นคนมาเที่ยวตลาดน้ำ เห็นโชว์รูมเคลื่อนที่แปลกดี จึงถ่ายรูปเอาไว้"

คุณหนึ่งบอกว่า "เราห้ามถ่ายรูปเพราะเราจดลิขสิทธิ์เอาไว้แล้ว" ผู้เขียนตอบกลับไปว่า "การจดลิขสิทธิ์คือห้ามคนอื่นลอกเลียนแบบ แต่ไม่มีสิทธิ์มาห้ามผมถ่ายรูป" เจอไม้นี้เข้าไปคุณหนึ่งจึงเลี่ยงประเด็นไปว่า "เราไม่ได้ห้าม เพียงแค่ขอความร่วมมือ" ผู้เขียนจึงสรุปสุดท้ายไปกับคุณหนึ่งว่า "ดังนั้น จึงเป็นสิทธิของผมว่าจะลบรูปหรือเก็บรูปไว้ก็ได้ใช่ไหม" คำตอบของคุณหนึ่งคือ "ใช่ และขอโทษแทนพนักงานชายคนนั้นด้วย" ผู้เขียนตอบว่า "พนักงานชายคนนั้นไม่ได้ทำอะไรผิด เขาทำตามที่คุณสั่งเขาเท่านั้นแหละ" แล้วก็จบบทสนทนากันไป

เรื่องนี้นักกฎหมายท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า รถของบริษัท Ponds มาจอดในที่สาธารณะ ผู้เขียนไม่ได้ไปแอบถ่ายในที่ที่เขาซ่อนเอาไว้ และยังมีจุดประสงค์ที่มาจอดก็ไม่ได้มาเป็นการส่วนตังแบบแอบซ่อน แต่เพื่อการโฆษณา คือเพื่อให้คนมาสนใจ จึงไม่มีสิทธิมาห้ามคนไม่ให้ถ่ายรูป แถมยังอาจผิดกฎหมายฐานคุกคามสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์แก่ผู้เขียนอีกด้วย คิดว่าคงมีอีกหลายคนที่ยอมเสียสิทธินี้ไปโดยไม่คิดจะต่อสู้ แต่ในเรื่องไม่ดีแบบนี้ ก็ยังมีเรื่องดีที่ควรบันทึกไว้อยู่ด้วย นั่นคือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องถกเถียงกันอย่างสุภาพชน และอยู่บนพื้นฐานของเหตุและผล ไม่มีการใช้วาจาหรือท่าทางที่เป็นการดูหมิ่นหรือคุกคามฝ่ายตรงข้ามแม้แต่นิดเดียว และสามารถทำให้เรื่องจบลงได้โดยไม่ต้องบาดหมางกันส่วนตัว เพียงแต่ขัดกันด้วยหลักการเท่านั้น