Tuesday, March 20, 2007

ถนนร่มรื่นแต่ไม่เห็นข้อมูลที่จำเป็น

เรามักเรียกร้องอยากได้ถนนที่ร่มรื่นเสมอ แต่ตามหลักการการออกแบบถนนแล้ว ถนนที่สามารถทำให้ร่มรื่นได้จะเป็นถนนที่มีลำดับศักย์ต่ำ เช่น ถนนท้องถิ่น (Local Road) หรือถนนรวบรวม (Collector Road) เท่านั้น เพราะเป็นถนนที่มีการสัญจรด้วยความเร็วที่ไม่สูงนัก ทำให้ความแตกต่างของแสงระหว่างในร่มกับกลางแจ้งไม่กระทบต่อความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะ และส่วนประกอบถนนที่ทำให้ร่มรืนไม่มาบดบังป้ายจราจรหรือการมองเห็นที่ดีสำหรับการขับขี่ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ความร่มรื่นไม่ได้สอดคล้องกับลำดับศักย์ของถนน เราจะพบถนนสายหลักจำนวนมากที่มีการปลูกต้นไม้ ที่ต้องการการดูแลรักษา ทั้งใส่ปุ๋ย รดน้ำต้นไม้ นำมาซึ่งอันตรายในการสัญจร และยังพบต้นไม้ที่บดบังป้ายจราจรที่จำเป็นอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ถนนพิษณุโลก ก่อนขึ้นสะพานลอยข้ามแยกยมราช ซึ่งสะพานนี้ห้ามจักรยาน จักรยานยนต์ และรถสามล้อเครื่องขึ้นไปวิ่งบนสะพาน ดังนั้นก็ต้องมีป้ายห้าม แต่ป้ายห้ามนั้นซ่อนตัวอยู่อย่างแนบเนียนหลังต้นไม้ที่ปลูกกลางถนน จนไม่สามารถสื่อความหมายไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังสิ้นเปลืองงบประมาณทำและติดตั้งป้ายเสียเปล่า ๆ อีกด้วย

ก่อนถึงป้ายนี้ประมาณ ๒๐ เมตร ซึ่งควรจะเห็นป้ายได้อย่างชัดเจนแล้ว เพื่อจะได้ปฎิบัติตามได้ก่อนถึงทางขึ้นสะพาน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นป้ายเลย

ระยะ ๑๐ เมตร เริ่มเห็นว่ามีป้ายซ่อนอยู่หลังต้นไม้ แต่ก็ยังเห็นไม่มากพอที่จะรู้ได้ว่ามันต้องการสื่อความหมายอะไร

จนถึงระยะ ๓ เมตรจากป้ายนั่นแหละ จึงจะเห็นว่าป้ายต้องการสื่ออะไร แล้วอย่างนี้จะปฏิบัติตามได้ทันหรือเปล่า หรือจะต้องเปลี่ยนช่องทางอย่างกระทันหันเพื่อไม่ให้ถูกตำรวจจับ ซึ่งการเปลี่ยนช่องทางอย่างกระชั้นชิดก่อให้เกิดอันตรายทั้งกับตนเองและผู้อื่น