การโฆษณาเพื่อส่งเสริมให้คนกระทำพฤติกรรมอย่างที่ตนต้องการมีหลักการอย่างง่าย ๆ ก็คือ ต้องบอกเขาว่าทำพฤติกรรมอย่างที่ผู้โฆษณาต้องการแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งหลักการนี้ถูกใช้กับการโฆษณาเกือบทุกประเภท เช่น ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นนี้แล้วเท่ห์ ใช้รถรุ่นนี้แล้วดูภูมิฐาน เป็นผู้นำ และหลักการดังกล่าวก็ถูกใช้ในวัดซึ่งเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในชุมชนเช่นกัน
ตัวอย่างเช่น วัดแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก ก็ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า "ระฆังนี้ดี ตีแล้วดัง" ผู้เขียนอยากดังบ้างก็เลยเข้าไปดีซะทั้งสองใบ แต่ก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า พุทธศาสนามีคำสอนให้คนทำอะไรเพื่อให้ตัวเองเด่นดังด้วยหรือ
เก้าอี้สองตัวนี้ตั้งอยู่ติดกัน และมี Religious Promotion ที่ต่อเนื่องเป็นชุดเดียวกัน ด้วยข้อความที่ว่า "นั่งแล้วดี" กับ "มีเงินใช้" จริง ๆ แล้ว Promotion เหล่านี้สะท้อนถึงสภาพสังคมในแต่ละยุค ในอดีต Promotion จะเป็นว่าทำบุญแล้วได้ขึ้นสวรรค์ หรือเกิดชาติหน้าจะอยู่ในครอบครัวที่ดี ซึ่งแสดงถึงความคิดในการดำรงชีวิตของคนในยุคนั้น แต่ยุคปัจจุบันฐานะทางการเงินมีบทบาทต่อวิถีชีวิตมากขึ้น Promotion ต่าง ๆ ก็เลยมุ่งไปในทางการเงินเป็นหลัก
แต่พอเปลี่ยนเป็น การห้ามการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง กลับไม่มี Promotion เช่น "กลองนี้ไม่ดี ตีแล้วหัวจะแตก" มีแค่คำห้ามตามปกติเท่านั้น