Friday, March 2, 2007

ออกแบบถนนต้องคิดถึงวงเลี้ยวรถด้วยนะ

ในการออกแบบทางร่วมทางแยก ทางโค้ง จุดกลับรถต่าง ๆ จะใช้วงเลี้ยวมาตรฐานของยานพาหนะที่มีอยู่ในท้องตลาดเป็นพื้นฐาน ผนวกกับมาตรฐานความปลอดภัยที่ต้องเผื่อเอาไว้ในกรณีพิเศษต่าง ๆ และมาตรฐานของการออกแบบทางร่วมที่ยานพาหนะมีความเร็วต่างกัน จะต้องมีช่องทางอย่างน้อยหนึ่งช่องทางที่เอาไว้ให้สำหรับรถที่เข้ามาใหม่มีโอกาสปรับความเร็วให้สอดคล้องกับความเร็วของยานพาหนะคันอื่นบนถนนนั้น ๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทางและประสานเส้นทางอย่างสะดวก ซึ่งช่องทางเพื่อปรับความเร็วนี้จะต้องไม่ไปรบกวนการเดินทางในช่องทางอื่นที่มีความเร็วปกติอยู่แล้ว

บนถนนบรมราชชนนี ขาเข้ากรุงเทพฯ ใกล้สะพานข้ามแม่น้ำ มีทางคู่ขนานกว้างสองช่องจราจรแบบวิ่งสวนกันได้ วางอยู่คู่กับทางหลักซึ่งมีขนาดสามช่องจราจร และมีรถจำนวนมากที่วิ่งในช่องทางคู่ขนานในทิศทางตรงข้ามกับบนทางหลัก และต้องการจะกลับรถเพื่อเข้าสู่ทางหลัก แต่เกาะกลางที่แบ่งทางหลักแคบเกินไป ทำให้เมื่อรถกลับรถจากทางคู่ขนานออกมาสู่ทางหลัก หัวของรถจะต้องกินเข้ามาถึงช่องทางที่สองจากทั้งหมดสามช่องทาง ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุเพราะรถที่กลับรถมีความเร็วต่ำ ไม่สอดคล้องกับรถบนทางหลักที่มีความเร็วสูง

อย่าว่าแต่รถกระบะในรูปแรกที่กลับรถแล้วกินเข้ามาถึงช่องทางที่สองของถนนหลักเลย รถเก๋งที่มีวงเลี้ยวแคบกว่าก็ยังต้องล้ำเข้ามาถึงกลางถนนสายหลักเช่นกัน