ในงานสถาปัตยกรรม การออกแบบให้มี Urban Space ประกอบอยู่ในงานไมใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในการออกแบบ แต่มีความยากอยู่ตรงที่จะทำอย่างไรให้เจ้าของโครงการที่เป็นผู้จ่ายเงินก่อสร้างอาคารยอมรับว่าจะสร้างและจ่ายเงินของตนเองเพื่อสร้าง Urban Space ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับสาธารณะในพื้นที่ดินของตน ผู้ออกแบบที่จะสามารถใส่ Urban Space เข้าไปในงานของตนเองและได้รับการยอมรับจากเจ้าของเงิน จะต้องมีความกล้าหาญและสำนึกสาธารณะสูงพอที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นงานออกแบบ และยืนหยัดที่จะให้เหตุผลที่ดีจนเจ้าของเงินยอมรับความคิดนี้ได้
ตัวอย่างที่ดี ได้แก่อาคารวิทยพัฒนา ซึ่งเป็นอาคารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพื้นที่สยามสแควร์ ผู้ออกแบบได้ใส่พื้นที่ Urban Space ในรูปแบบของบันไดที่สามารถใช้เป็นที่นั่งพักได้ ที่มีผลดีต่อเมืองและส่งเสริมการเดินเท้าที่มีคุณภาพดีให้กับพื้นที่ โดยที่สามารถทำให้เจ้าของอาคารยอมรับและเล็งเห็นประโยชน์ของการมี Urban Space นี้ที่มีต่อสาธารณะได้ จึงบันทึกไว้เป็นหลักฐานและตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ที่มาพบเห็นต่อไป