สิ่งที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทย นอกจากแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงามแล้ว ก็เพื่อดูและศึกษาวัฒนธรรมของคนไทย ซึ่งมีวิถีและเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากของประเทศอื่น ๆ ตัวอย่างเช่น การเป็นเจ้าของพื้นที่ ฝรั่งรู้จักอยู่แค่สองแบบ คือ ของส่วนตัว กับ ของสาธารณะ (ทางเท้าหน้าบ้านนับเป็นทางสาธารณะ ที่เจ้าของบ้านมีหน้าที่ดูแลให้ แต่ไม่มีสิทธิครอบครองหรือมีสิทธิเหนือคนอื่น ๆ) แต่สำหรับคนไทย นอกจากพื้นที่ส่วนบุคคลและพื้นที่สาธารณะแล้ว ยังมีพื้นที่กึ่งส่วนบุคคลกึ่งสาธารณะอีกด้วย
ตัวอย่างเช่น ตลาดน้ำอัมพวา บ้านริมคลองจะมีทางเดินสาธารณะอยู่ด้านหน้าบ้าน กั้นระหว่างตัวบ้านกับคลอง มีการเอาตุ่มน้ำและผ้ามาตากไว้ ซึ่งถ้าเอาวิถีของฝรั่งมาครอบ ทางเท้าหน้าบ้านคือพื้นที่สาธารณะ เจ้าของบ้านแต่ละหลังไม่มีสิทธิที่จะมาใช้พื้นที่เพื่อการส่วนตัวโดยเด็ดขาด แต่สำหรับคนไทย พื้นที่หน้าบ้านคือพื้นที่กึ่งส่วนบุคคลกึ่งสาธารณะ เจ้าของบ้านจึงสามารถใช้เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลได้ ตราบเท่าที่หน้าที่สาธารณะไม่สูญเสียไป จะบอกว่าไทยหรือฝรั่งผิดก็คงพูดไม่ได้ เพราะแต่ละที่มีวิถีต่างกันโดยสิ้นเชิง บ้านของฝรั่งถูกกำหนดไว้ชัดเจนว่าขอบที่ดินอยู่ตรงไหน มีขนาดเล็กที่สุดเท่าใด เพื่อให้สามารถกิจกรรมต่าง ๆ แห่งความเป็น "บ้าน" ได้ครบ แต่ "บ้าน" ไทยไม่ได้คิดอย่างนั้น การจะมีขอบบริเวณส่วนตัวชัดเจนก็เฉพาะเรื่องที่เป็นส่วนตัวจริง ๆ แต่ส่วนที่ไม่เป็นส่วนตัว สามารถใช้พื้นที่ร่วมกับสาธารณะได้ ด้วยความแตกต่างดังกล่าว นักออกแบบไทยมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจวิถีเหล่านี้ ไม่ใช่คิดว่าฝรั่งดีที่สุด ต้องลอกวิธีของฝรั่งที่คิดตามวิถีของฝรั่ง แล้วมาบังคับว่าคนไทยต้องทำตามฝรั่งเพื่อความศิวิไลซ์