สำหรับเมืองขนาดเล็ก แต่เป็นศูนย์กลางของการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในระดับจังหวัด มักจะมีปัญหาเรื่องความคุ้มทุนในการให้บริการระบบขนส่งมวลชนอยู่เสมอ เนื่องจากพื้นที่มีขนาดเล็ก แม้ว่าจะมี Demand ในการเดินทางพอสมควร แต่การเดินทางส่วนมากเป็นการเดินทางในระยะใกล้ ซึ่งยานพาหนะอื่น เช่น เดินเท้า หรือมอเตอร์ไซค์ สามารถให้บริการในระยะทางสั้น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า ส่งผลให้ขนส่งมวลชนแบบรถประจำทางประสบปัญหาขาดทุนอยู่เสมอ
ตัวอย่างเช่น รถประจำทางในจังหวัดสุโขทัย ผู้ประกอบการขอยกเลิกใบอนุญาตอยู่เป็นประจำ บางเส้นทางที่มีความจำเป็นแต่กลับไม่มีผู้ขออนุญาตประกอบการเนื่องจากไม่คุ้มต้นทุน จะมีอยู่ได้ก็เพียงแค่บางเส้นทาง และรถประจำทางในเมือง ซึ่งรายได้หลักไม่ได้อยู่ที่การวิ่งประจำทางบริการคนในเมือง แต่เป็นการเช่าเหมาของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก
รถประจำทางระหว่างตัวเมืองสุโขทัยกับอำเภออื่น ๆ ในเวลาปกติจะมีผู้โดยสารเบาบาง ซึ่งเป็นปัญหาต่อผู้ประกอบการในการให้บริการในราคาที่เหมาะสม และผู้โดยสารมีกำลังที่จะจ่ายได้
แต่ในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยเฉพาะเวลาเลิกเรียน รถประจำทางที่เคยมีผู้โดยสารเบาบาง กลับเต็มไปด้วยนักเรียนจนล้นออกมานอกตัวถังรถ แม้แต่จะเก็บเงินก็ยังยากในการเก็บ เพราะคนแน่นมาก รวมถีงเรื่องของความปลอดภัยในการโดยสาร เพราะรถเหล่านี้จะวิ่งบนถนนสายหลักและเป็นระยะทางไกล การห้อยโหนมีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเป็นอย่างมาก