Wednesday, March 21, 2007

ทางเท้า "ไม่ใช่" ทางสาธารณะ

ในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเมือง ส่วนใหญ่จะวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไว้บริเวณบนหรือใต้ทางเท้าเสมอ เช่น ท่อระบายน้ำ เสาไฟฟ้า สายโทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ ฯลฯ และมีส่วนหนึ่งที่ใช้เป็นช่องทางเดินเท้า การออกแบบทางเท้าในเขตชุมชน จะเอาขนาดของช่องทางเดินเท้าที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ส่วนที่วางโครงสร้างพื้นฐานจะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ทางเท้าที่เหลือ ไม่ว่าจะลงใต้ดินหรือบีบให้เล็กลงเพื่อลดพื้นที่บนดิน แต่ในกรุงเทพฯ กลับไม่เป็นเช่นนั้น ทางเท้าหลายแห่งกลายเป็นที่ทางน้ำสาธารณะก่อนที่จะลงสู่ท่อระบายน้ำที่อยู่ใต้ทางเท้า

ตัวอย่างเช่น อาคารพาณิชย์ชุดหนึ่งใกล้สะพานเจริญผล ซึ่งก็เป็นเหมือนอาคารพาณิชย์รุ่นเก่าก่อนที่จะมีกฎหมายระยะถอยร่น ซึ่งจะสร้างอาคารชิดริมขอบถนน ส่วนกันสาดที่ชั้นลอยก็จะล้ำออกมาอยู่เหนือทางเท้าสาธารณะ ข้อดีประการหนึ่งก็คือคนเดินเท้าน่าจะได้ร่มเงาในการเดิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ร้านค้าต่าง ๆ ก็ถือเอาพื้นที่สาธารณะใต้กันสาดว่าเป็นพื้นที่ของตนเองอยู่ดี มักเอาสินค้ามาตั้งทำให้คนเดินเท้าต้องหนีออกไปเดินนอกแนวกันสาด ส่วนกันสาดก็ต้องการที่ระบายน้ำ จึงต้องต่อท่อระบายน้ำพีวีซียื่นออกมาให้น้ำตกลงบนทางเท้า ในช่วงฝนตกคงไม่เป็นปัญหานัก เพราะคนเดินเท้าก็เดินใต้กันสาดอยู่แล้ว แต่ตอนฝนไม่ตกก็ยังมีน้ำไหลจากท่อพีวีซีเหล่านั้นตลอดเวลาอยู่ดี เพราะกันสาดเป็นที่วางคอยล์ร้อนของเครื่องปรับอากาศ ก็ต้องมีการระบายน้ำจากคอยล์ร้อนออกมา แล้วน้ำเหล่านั้นก็ตกลงบนทางเท้าอยู่ตลอดเวลา สรุปแล้วคือไม่มีเวลาใดที่คนเดินเท้าจะสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างสะดวกเลย ส่วนใต้กันสาดใช้ไม่ได้อยู่แล้ว (มีสินค้ามาตั้ง) ส่วนนอกกันสาดก็มีน้ำหยดอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าฝนจะตกหรือไม่ตก