Monday, March 26, 2007

ทางสัญจร = พื้นที่ขายสินค้า

ทางสัญจรมีหน้าที่หลักอยู่สองประการ คือในเวลาปกติ ทางสัญจรเป็นพื้นที่สำหรับการเคลื่อนที่ของคนหรือยานพาหนะตามที่ได้กำหนดไว้ ส่วนในเวลาฉุกเฉิน ทางสัญจรเป็นทางหนีภัยและเป็นพื้นที่ให้บุคคลและอุปกรณ์สำหรับบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่ผ่านไปได้ แต่สำหรับประเทศไทย ทางสัญจรมีหน้าที่หลากหลายกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งเป็นที่โล่งว่างในเมือง เป็นที่ประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นพื้นที่ตั้งร้านขายสินค้า จนไม่สามารถทำหน้าที่หลักสองประการที่กล่าวข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเช่น ทางสัญจรบริเวณสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ เนื่องจากเป็นสถานีที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงให้เช่าพื้นที่ทางสัญจรเพื่อการพาณิชย์ ผลที่ตามมาก็คือ ทางสัญจรถูกเบียดบังไปเป็นที่ตั้งของร้านค้า ทำให้พื้นที่สัญจรแคบลง ถ้ามองในแง่ของนักออกแบบระบบจราจรแล้วจะพบว่าการกระทำดังกล่าวทำให้มีความปลอดภัยและความสะดวกในการสัญจรลดลง เพราะโดยปกติแล้ว บริษัทเอกชนจะออกแบบความกว้างของทางสัญจรไว้ที่ขั้นต่ำสุดที่จะเป็นไปได้เสมอ เพื่อประหยัดต้นทุน ดังนั้น การนำเอาทางสัญจรที่ออกแบบให้แคบที่สุดที่จะเป็นไปได้มาแบ่งเป็นร้านค้า ก็ทำให้ทางสัญจรที่เหลือไม่พอต่อความต้องการและความปลอดภัย ทั้งในเวลาปกติและในเวลาฉุกเฉิน แต่คนไทยมักคิดอยู่เสมอว่า นี่คือพื้นที่ของบริษัทเอกชน เขาจะเอาพื้นที่ไปใช้ก็เป็นสิทธิของเขา ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะบริษัทรถไฟฟ้า BTS มีหน้าที่ให้บริการสาธารณะ ดังนั้นการใช้พื้นที่ต่าง ๆ ในระบบของรถไฟฟ้าจึงต้องคำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยสาธารณะเป็นหลัก