หน้าที่ของบันไดหนีไฟ คือ ใช้เป็นช่องทางสำหรับคนในอาคารในยามฉุกเฉิน ดังนั้น บันไดหนีไฟจึงต้องได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ ให้มีโครงสร้างแข็งแรง เพื่อให้ทนไฟได้นานกว่าส่วนอื่น ๆ ของอาคาร ทำให้คนมีเวลาหนีไฟได้นานพอ มีประตูเหล็กและประตูต้องมีกลไกให้เมื่อเปิดแล้วปิดเองได้โดยไม่ต้องมาคอยดึงปิด เพื่อป้องกันไฟลามเข้าสู่บันไดหนีไฟ และประตูจะต้องมีกลไกให้เปิดเข้าบันไดได้เพียงอย่างเดียวในชั้นอื่น ๆ และเปิดออกได้เพียงอย่างเดียวที่ชั้นใต้ดิน เพื่อให้คนสามารถเข้าสู่บันไดได้และออกได้เพียงชั้นเดียวที่ชั้นล่างเท่านั้น แต่ในอาคารส่วนใหญ่กลับไม่ได้ใช้บันไดหนีไฟอย่างถูกต้อง
ตัวอย่างเช่น อาคารหลังหนึ่งในมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นอาคารส่วนกลางที่มีคนมาติดต่อมากเป็นพิเศษที่ชั้นสอง จึงมีนโยบายประหยัดไฟฟ้า ลดการใช้งานลิฟท์ ด้วยการส่งเสริมให้คนเดินขึ้นลงบันไดระหว่างชั้นหนึ่งกับชั้นสอง แต่อาคารหลังนี้ไม่ได้ถูกออกแบบให้มีบันไดภายในที่เชื่อมระหว่างชั้นหนึ่งกับชั้นสอง จึงต้องใช้บันไดหนีไฟมาเป็นบันไดสาธารณะ โดยการเปิดประตูเหล็กกันไฟทิ้งเอาไว้ทุกชั้น และมีป้ายบอกว่าให้ขึ้นลงทางนี้ ในกรณีที่เกิดไฟไหม้คงจะไม่มีใครที่มีสติพอที่จะมาตามปิดประตูนี้ทุกชั้นล่ะ ผลก็คือบันไดหนีไฟใช้หนีไฟไม่ได้จริง เพราะไฟสามารถลามเข้าสู่บันไดหนีไฟได้ เพราะประตูกันไฟดันเปิดต้อนรับให้ไฟลามเข้าไปได้อย่างสะดวก น่าตกใจที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้มีทั้งคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ได้ชื่อว่าเป็นเลิศของประเทศ แต่กลับมีความผิดพลาดอย่างนี้เกิดขึ้นได้ด้วย