Tuesday, March 27, 2007

ก็แค่เห็นว่ามันแปลกดี

ภาพนี้ไม่ได้นำมาเพื่อจะแสดงปัญหาอะไรของเมือง แต่เป็นความบังเอิญที่ได้พบพฤติกรรมแบบนี้ ผู้เขียนตั้งใจถ่ายภาพนี้เพื่อบันทึกความหนาแน่นของคนที่ออกมาจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสีลมในช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้า พอมาดูภาพก็พบว่าในหมู่คนที่เดินออกมา มีคนกำลังเสยผมอยู่ถึงสามคน (ผู้หญิงและผู้ชายด้านหน้าของภาพ และผู้หญิงที่อยู่ด้านหลังอีกคนหนึ่ง) แถมทั้งสามคนยังใช้มือซ้ายเสยผมเหมือนกันเสียด้วย ก็ให้เป็นที่สงสัยอยู่ในใจว่า นี่จะเป็นนัยที่แสดงว่า ฉันต้องดูดีก่อนเข้าที่ทำงานนะจ๊ะก็เป็นได้ แต่ทำไมต้องมือซ้ายด้วยล่ะ คำตอบง่าย ๆ ก็คงจะเป็นว่า "เพราะเขาถือของที่มือขวาทำให้ต้องใช้มือซ้ายเสยผม" แต่ทำไมคนอื่น ๆ ในภาพที่ถือของด้วยมือซ้าย เขาไม่ทำการเสยผมกันบ้างเลยล่ะ ถ้ามีสมมติฐานว่าคนถนัดมือไหนจะถือของด้วยมือนั้น ก็จะได้ข้อสรุปอย่างกำปั้นทุบดินว่า "คนถนัดขวาเสยผมบ่อยกว่าคนถนัดซ้าย"

ฝากไว้หน่อยนะ

คุณเคยสงสัยกันบ้างไหมว่า ร้านแผงลอยบนทางเท้าแบบที่มีอุปกรณ์มากหน่อย เช่น เป็นร้านค้าค่อนข้างถาวร หรือรถเข็นขายอาหารแบบที่มีโต๊ะนั่งกินด้วย เขาเก็บร้านเขาไว้ที่ไหนในช่วงเวลาที่ยังเปิดทำการ อุปกรณ์เหล่านั้นก็มีจำนวนมากเกินกว่าที่จะขนกลับบ้าน เขาก็เลยทิ้งเอาไว้ใกล้ ๆ กับที่ตั้งร้านนั่นแหละ

ที่สีลม ร้านค้าแผงลอยสำหรับนักท่องเที่ยวยามค่ำคืนย่านพัฒน์พงศ์ เขาเก็บแผงขายสินค้าเอาไว้ในถังสังกะสี มีศัพท์เฉพาะว่า "รถถัง" นำวางลงบนรถเข็นแล้วเข็นไปจอดอยู่ในซอยย่อย ๆ แถวพัฒน์พงศ์นั่นแหละ แต่ต้องเสียค่าเช่าที่จอดด้วย

ซอยพหลโยธิน ๗ (อารีย์) ช่วงกลางวันจะมีร้านค้าสำหรับข้าราชการของกระทรวงและกรมต่าง ๆ ที่อยู่สุดซอย จึงมีรถเข็นขายอาหารมาคอยให้บริการอยู่ เมื่อหมดลูกค้าแล้ว ก็เอาผ้าคลุมแล้วเอามาจอดไว้ในซอยย่อยแถว ๆ นั้นแหละ น่าแปลกที่ไม่หายหรือพนักงานเก็บขยะเขาไม่เก็บไปทิ้งเสีย แสดงว่าอาจมีการกระทำบางอย่างที่สามารถทำให้มันจอดอยู่ได้โดยไม่ถูกรบกวน

Monday, March 26, 2007

One picture says Hundred words

ภาพด้านบนนี้ถ่ายที่ปากซอยพหลโยธิน ๗ (อารีย์) และมีเรื่องราวซ้อนกันถึงสองเรื่อง เรื่องแรกคือ "หลอกกันนี่หน่า" เพราะป้ายสีเขียวที่ระบุไว้ว่า "สิ้นสุดเขตผ่อนผัน" คือสุดเขตที่อนุญาตให้ตั้งหาบเร่แผงลอยได้ แต่ลองมองดูที่พื้นเลยไปจากป้ายนี้ จะพบเส้นสีขาวอยู่บนพื้น นั่นคือเส้นที่พนักงานเขตพญาไทมาตีไว้สำหรับเป็นแนวในการตั้งหาบเร่แผงลอย (ภาพนี้ถ่ายวันจันทร์ ซึ่งไม่อนุญาตให้ตั้งหาบเร่แผงลอย ทำให้เห็นแนวเส้นชัดเจน เพราะวันอื่น ๆ จะมีหาบเร่และคนเดินซื้อสินค้ามากมาย จนไม่เห็นเส้นนี้หรอก) อ้าว แล้วไอ้ที่ป้ายบอกไว้ว่าสุดเขตแล้วนะ ทำไมยังมีต่อไปได้อีกล่ะ

เรื่องที่สอง คือ "ทรัพย์สาธารณะ = ทรัพย์สินส่วนตัว ๒" ดูป้าที่สวมเสื้อสีฟ้า แกกำลังตัดแต่งต้นไม้ที่แกนำมาปลูกไว้ในกระถางที่ตั้งอยู่บนทางเท้าสาธารณะ กิ่งไม้ที่ตัดแล้วยังกองอยู่ทีโคนเสาของป้ายสุดเขตผ่อนผัน ป้าครับ นี่มันทางเท้าสาธารณะครับ ถ้าป้าอยากมีต้นไม้สวยงามเอาไว้ดูไว้ชื่นชม ป้าก็ปลูกเอาไว้ในตึกแถวของป้าสิครับ ไม่มีใครว่าหรอก แต่นี่มันทางเท้าที่มีคนเดินผ่านไปมาวันละหลายพันคนนะครับ ทางเท้าก็แคบอยู่แล้ว ป้ายังเอาความสุขส่วนตัวมาเบียดเบียนคนอื่นอีกเหรอครับ แต่ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย ผู้เขียนเคยบ่นเรื่องนี้กับคนหลายกลุ่ม จากการสังเกตการตอบรับ พบว่า เขาคิดว่าผู้เขียนบ้าที่คิดอย่างนั้น ซึ่งก็เป็นความจริงอยู่มากทีเดียว

ทางสัญจร = พื้นที่ขายสินค้า

ทางสัญจรมีหน้าที่หลักอยู่สองประการ คือในเวลาปกติ ทางสัญจรเป็นพื้นที่สำหรับการเคลื่อนที่ของคนหรือยานพาหนะตามที่ได้กำหนดไว้ ส่วนในเวลาฉุกเฉิน ทางสัญจรเป็นทางหนีภัยและเป็นพื้นที่ให้บุคคลและอุปกรณ์สำหรับบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่ผ่านไปได้ แต่สำหรับประเทศไทย ทางสัญจรมีหน้าที่หลากหลายกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งเป็นที่โล่งว่างในเมือง เป็นที่ประกอบกิจกรรมในชีวิตประจำวัน รวมถึงเป็นพื้นที่ตั้งร้านขายสินค้า จนไม่สามารถทำหน้าที่หลักสองประการที่กล่าวข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างเช่น ทางสัญจรบริเวณสถานีรถไฟฟ้าอารีย์ เนื่องจากเป็นสถานีที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จึงให้เช่าพื้นที่ทางสัญจรเพื่อการพาณิชย์ ผลที่ตามมาก็คือ ทางสัญจรถูกเบียดบังไปเป็นที่ตั้งของร้านค้า ทำให้พื้นที่สัญจรแคบลง ถ้ามองในแง่ของนักออกแบบระบบจราจรแล้วจะพบว่าการกระทำดังกล่าวทำให้มีความปลอดภัยและความสะดวกในการสัญจรลดลง เพราะโดยปกติแล้ว บริษัทเอกชนจะออกแบบความกว้างของทางสัญจรไว้ที่ขั้นต่ำสุดที่จะเป็นไปได้เสมอ เพื่อประหยัดต้นทุน ดังนั้น การนำเอาทางสัญจรที่ออกแบบให้แคบที่สุดที่จะเป็นไปได้มาแบ่งเป็นร้านค้า ก็ทำให้ทางสัญจรที่เหลือไม่พอต่อความต้องการและความปลอดภัย ทั้งในเวลาปกติและในเวลาฉุกเฉิน แต่คนไทยมักคิดอยู่เสมอว่า นี่คือพื้นที่ของบริษัทเอกชน เขาจะเอาพื้นที่ไปใช้ก็เป็นสิทธิของเขา ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด เพราะบริษัทรถไฟฟ้า BTS มีหน้าที่ให้บริการสาธารณะ ดังนั้นการใช้พื้นที่ต่าง ๆ ในระบบของรถไฟฟ้าจึงต้องคำนึงถึงความสะดวกและความปลอดภัยสาธารณะเป็นหลัก

ก็ผมรีบนี่หน่า

ตามหลักของความปลอดภัยในการโดยสารรถประจำทางแล้ว เมื่อจะจอดรับส่งผู้โดยสาร รถจะต้องจอดชิดกับขอบทางเท้าเพื่อให้ผู้โดยสารได้ขึ้นลงจากทางเท้า ไม่ต้องลงมายืนบนพื้นผิวการจราจร และต้องรอให้รถจอดสนิทก่อนจึงจะขึ้นหรือลงจากรถได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่เป็นไปตามหลักของความปลอดภัย รถประจำทางก็ไม่เข้าจอดป้ายชิดกับทางเท้า แถมพนักงานขับรถก็ยังพยายามจะให้ผู้โดยสารขึ้นและลงในขณะที่รถกำลังวิ่งอยู่ด้วย

ตัวอย่างเช่น ป้ายรถเมล์หน้าโรงเรียนมัธยมปลายที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ แม้ว่าบริเวณป้ายรถเมล์จะทำเป็นช่องจอดรถพิเศษไว้ให้แล้ว เพื่อให้รถเมล์สามารถจอดได้โดยไม่รบกวนกับการจราจรในช่องทางอื่น แต่แทบไม่เคยมีรถเมล์คันไหนเข้าจอดชิดกับทางเท้า คนจะขึ้นหรือลงจากรถจะต้องไปยืนบนพื้นผิวการจราจรเสมอ การกระทำดังกล่าวทำให้การจราจรติดขัด ผู้โดยสารรถเมล์เองก็เสี่ยงอันตราย แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นประจำจนทุกคนเห็นว่าเป็นเรื่องปกติ กลายเป็นเรื่องที่ถูกที่ควรในสังคมไปเสียแล้ว

Sunday, March 25, 2007

ขายสินค้าหรือขายชุดนักเรียนกันแน่

ในช่วงว้นหยุดสุดสัปดาห์หรือปิดเทอม เรามักพบนักเรียนในเครื่องแบบมาขายสินค้าต่าง ๆ ตามสถานที่สาธารณะอยู่เสมอ เหมือนอย่างที่เห็นในภาพที่ถ่ายหน้าอาคารฟอร์จูน ทำให้เกิดความสงสัยว่า ผู้ขายขายตัวสินค้าหรือขายชุดนักเรียน เพราะพ่อค้าแม่ค้าเด็กเหล่านี้ จะอาศัยชุดนักเรียนเป็นเครื่องมือในการสร้างความสงสารและเห็นใจต่อกลุ่มเป้าหมาย และผู้ซื้อซื้อที่ตัวสินค้าหรือซื้อเครื่องแบบนักเรียนกันแน่ เพราะถ้าร้านค้ามีกระจายอยู่ทั่วกรุงเทพฯ ใครอยากได้สินค้าอะไรทำไมจึงไม่ไปซื้อที่ร้านขายเฉพาะ ซึ่งส่วนใหญ่จะราคาถูกกว่าที่นักเรียนพวกนี้มาเร่ขาย มองในแง่ของเศรษฐศาสตร์ การซื้อขายแบบนี้มีผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม เพราะผู้ซื้อไม่ได้ซื้อสินค้าเพราะความจำเป็นจะต้องใช้ จึงเทียบได้กับการซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้เงินที่ควรจะใช้จ่ายกับสินค้าที่เป็นพื้นฐานในการดำรงชีวิตลดจำนวนลง และลูกค้าส่วนใหญ่ของเด็กนักเรียนก็ไม่ใช่คนมีอันจะกินเสียด้วย แต่เป็นชนชั้นกลางซึ่งควรจะใช้จ่ายเงินกับสินค้าพื้นฐานมากกว่าของที่ไม่ได้มีความต้องการใช้จริงแบบนี้

ป้ายที่ไม่มีใครอ่านเห็น ๒

มาอีกแล้ว ป้ายที่ไม่สามารถสื่อสารข้อมูลของมันได้อย่างชัดเจน เพราะมีวัตถุอย่างอื่น ซึ่งก่อนติดตั้งก็ได้รับความเห็นชอบจากคนที่ติดป้ายแล้วมาบดบังการรับรู้ของกลุ่มเป้าหมายของป้ายนั้น ๆ ป้ายนี้พบที่ปากซอยอารีย์สัมพันธ์ ถนนพระราม ๖ เป็นป้ายบอกทางไปยังสถานที่ราชการสามแห่ง แต่ดันถูกเสาไฟฟ้าส่องสว่างถนนมาบังป้ายเสียครึ่งหนึ่ง ป้ายบนสุดกับป้ายล่างสุด ยังพอเดาได้ว่าเป็นป้ายบอกทางไปกระทรวงการคลัง และสำนักงานเขตพญาไท แต่ป้ายอันกลางนี่สิ เขาบอกให้ไปไหนล่ะนั่น น่าสงสัยมากว่าปัญหานี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะกรุงเทพมหานครเป็นเจ้าของป้าย และเสาไฟฟ้าที่จะติดตั้งก็ต้องประสานกับกรุงเทพมหานครก่อนอยู่แล้ว และกรุงเทพมหานครไปอนุญาตให้เขาตั้งเสาไฟฟ้าส่องสว่างบังป้ายของตัวเองได้อย่างไรนะ

ระบบขนส่งสาธารณะไม่มีสิทธิเลือกให้บริการนะครับ

สังคมไทยมักคิดว่าผู้ขับขี่หรือเป็นเจ้าของระบบขนส่งสาธารณะเป็นผู้มีสิทธิจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยสารรถของเขา แต่ความเป็นจริงแล้ว ระบบขนส่งสาธารณะ ชื่อก็บอกอยู่ชัดเจนว่ามีไว้เพื่อสาธาณชน จึงไม่สามารถปฏิเสธหรือเลือกให้บริการหรือไม่ให้บริการแก่บุคคลในบุคคลหนึ่งได้ ยกเว้นในกรณีพิเศษ เช่น ผู้นั้นมีสิ่งของที่จะเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น เช่น พกเงินสดติดตัวสามสิบล้านบาทมาขึ้นรถประจำทาง หรือพกปืน สารพิษ มาขึ้นรถไฟฟ้า เป็นต้น

ป้ายนี้ตั้งอยู่หน้าทางเข้าสวนลุมไนท์พลาซ่า ตรงข้างบ้านผู้บัญชาการโรงเรียนเตรียมทหารเดิม ระบุเอาไว้ว่า "แท็กซึ่ที่ไม่กดมิเตอร์หรือไม่รับคนไทย ห้ามเข้า" ป้ายนี้สะท้อนนัยสำคัญสองประการ ประการที่หนึ่ง คือ คนขับแท็กซี่มีอำนาจจะเลือกผู้โดยสาร ถึงตามกฎหมายจะไม่มีสิทธิ แต่ในทางปฏิบัติ ใครจะกล้าขึ้นแท็กซึ่ที่บอกว่า ผมไม่รับคุณล่ะ ประการที่สอง คือ คนไทยไม่เป็นที่ต้องการของแท็กซี่ เพราะสามารถ "ขูดรีด" กับคนต่างชาติได้ด้วยการไม่เปิดมิเตอร์ได้ การควบคุมแท็กซี่ดูเหมือนจะเป็นไปไม่ได้ เพราะการกระทำผิดสามารถเกิดขึ้นที่ไหนก็ได้ จะไปตามจับที่ไหนล่ะ

Saturday, March 24, 2007

รู้จักแต่ปัญหา แต่ไม่รู้จักวิธีแก้ไข

ป้ายเตือนให้ระวังอันตรายในเขตเมือง ส่วนใหญ่จะเป็นป้ายชั่วคราวที่ติดไว้เพราะเพิ่งจะพบปัญหาหรือความเสี่ยงอันตราย และอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขให้ปัญหาหรือความเสี่ยงอันตรายนั้นหายไปแล้วก็ปลดป้ายออก ดังนั้น ป้ายเตือนอันตรายจึงเป็นเพียงป้ายชั่วคราวที่ไม่ได้ติดทิ้งไว้นานนัก เช่น ป้ายให้ระวังอันตรายเนื่องจากเป็นพื้นที่ก่อสร้าง เมื่อก่อสร้างเสร็จป้ายเตือนนั้นก็ถูกปลดออกไป เพราะไม่มีความเสี่ยงอันตรายจากการก่อสร้างเหลืออยู่แล้ว

แต่สำหรับกรุงเทพฯ เรามักพบป้ายเตือนให้ระวังอันตรายอย่างถาวรอยู่เสมอ ทำให้เกิดความสงสัยว่ารู้จักแต่ตรวจจับความเสี่ยงแต่ไม่รู้จักวิธีแก้ไขปัญหากันหรือเปล่า ป้ายที่พบมากที่สุดคือป้าย "ระวังถนนลื่น" ตัวอย่างเช่น ที่สะพานลอยไทย-เบลเยี่ยม ป้ายที่ระบุว่า "ระวัง สะพานลื่น" ติดไว้มาตั้งแต่สะพานสร้างเสร็จ แต่ก็ยังไม่ถูกปลดออกเสียที ก็รู้แล้วนี่หน่าว่าสะพานมันลื่น ก็แก้ไขเสียสิ มีวิธีแก้ไขอย่างถาวรและดีกว่าการติดป้ายมากมาย เช่น เปลี่ยนวัสดุพื้น ติดตั้งตัวลดความเร็ว ฯลฯ แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ได้มีการแก้ไข และคงเป็นอย่างนี้อีกนานทีเดียว

เอกชนเขาปรับตัวทัน แต่กฎหมายปรับตัวไม่ทันเสมอ

อาคารพาณิชย์หรือตึกแถวในยุคก่อน จะสร้างชิดกับแนวเขตที่ดิน และไม่ได้มีทางเข้าของรถเข้าสู่ตัวอาคารเตรียมไว้ เนื่องจากในยุคที่ตึกแถวเหล่านั้นสร้างขึ้น ยังมีการสัญจรด้วยรถยนต์ส่วนตัวไม่มากนัก และอาคารพาณิชย์ก็มีไว้เพื่อค้าขายเป็นหลัก พื้นที่ชั้นล่างก็ถูกใช้เป็นร้านค้า แต่เมื่อเวลาผ่านไป การใช้สอยอาคารก็เปลี่ยนตามไปด้วย ตึกแถวเปลี่ยนจากร้านค้ามาเป็นที่พักอาศัย ชั้นล่างก็เลยถูกเปลี่ยนเป็นที่จอดรถไปด้วย แต่ไม่ได้เจาะทางเข้าผ่านทางเท้าเอาไว้ แล้วจะทำอย่างไรดีล่ะ ที่จะให้รถเข้ามาจอดในตึกแถวได้


ตึกแถวบริเวณแยกวิสุทธิ์กษัตริย์ ก็เลยทำทางลาดเหล็กเพื่อให้รถสามารถปีนผ่านทางเท้าเข้าสู่ตึกแถวได้ แต่ทางลาดเหล็กเหล่านั้นถูกวางไว้บริเวณช่องทางซ้ายสุดอย่างถาวร บางอันถึงกับมีโซ่เหล็กและกุญแจล็อกเอาไว้กันขโมย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เห็นสนใจที่จะแก้ไขปัญหา เพราะการวางทางลาดเหล่านี้บนพื้นผิวถนนเป็นการกีดขวางการจราจร รถที่ขับผ่านทางลาดเหล็กก็ไม่อยากจะวิ่งทับ ก็เลยต้องหักหลบ บางครั้งหักเกินไปในช่องทางข้าง ๆ แล้วก็เกิดอุบัติเหตุ แต่เจ้าของทางลาดเหล็กเหล่านี้ไม่เห็นต้องรับผิดชอบอะไรทั้งสิ้น

ใครเป็นเจ้าของทางเท้าสาธารณะ

ทางเท้าสาธารณะหน้าอาคารพาณิชย์เป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอยู่เสมอ ในเรื่องของสิทธิในการครอบครอง ดูแลรักษาและปรับปรุงทางเท้าหรือส่วนประกอบของทางเท้า ตามหลักการแล้วเจ้าของอาคารพาณิชย์ไม่มีสิทธิใด ๆ ในทางเท้า เพราะเป็นพื้นที่สาธารณะที่มีหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลรักษา แต่ในทางปฏิบัติแล้ว เจ้าของอาคารพาณิชย์ก็มีส่วนเป็นอย่างมากในการดูแลรักษาทางเท้าหน้าอาคารของตนเองให้อยู่ในสภาพดีอยู่เสมอ เมื่อเป็นผู้ดูแลรักษาก็ทำให้มีความรู้สึกว่าทางเท้านั้นเป็นของตน จึงมีการเข้ามาครอบครองเพื่อใช้ประโยชน์ในลักษณะต่าง ๆ


ตัวอย่างเช่น อาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งในสยามสแควร์ ซึ่งเปิดเป็นร้านขายก๋วยเตี๋ยว เจ้าของร้านก็อยากให้ลูกค้าของเขาได้รับประทานอาหารโดยไม่มีแสงแดดเข้ามารบกวน และทำให้เขาประหยัดค่าไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศอีกด้วย เจ้าของร้านก็เลยทำกันสาดผ้าใบไว้เหนือทางเท้าสาธารณะและก็ปิดมันลงมาในเวลาที่มีแสงแดดส่องเข้ามาในร้าน แม้ว่าจะทำให้ทางเท้าร่มรื่นขึ้นได้ แต่ก็ทำให้ทัศนวิสัยของคนเดินเท้าแย่ลง เหมือนกับเดินผ่านถ้ำบนทางสาธารณะ แต่เจ้าของพื้นที่ที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทยเขาไม่ว่าอะไรนี่หน่า มีร้านหนึ่งทำได้ ร้านอื่น ๆ ก็ต้องทำได้เหมือนกันสิ ต่อไปก็คงทำอย่างนี้กันทุกร้าน แล้วก็เปลี่ยนชื่อซอยสยามสแควร์หมายเลขต่าง ๆ มาเป็นถ้ำสยามสแควร์หมายเลขต่าง ๆ แทนเลยแล้วกัน

"ร้านหนังสือ" ไม่ใช่ "ร้านขายหนังสือ"

"ร้านหนังสือ" คือร้านที่มีหนังสือเอาไว้ให้คนได้ทดลองอ่านก่อน เมื่อพอใจและเห็นว่าหนังสือนั้นมีคุณค่าพอที่จะซื้อเก็บไว้อ่านเอง จึงจะซื้อกลับไป ดังนั้น "ร้านหนังสือ" จึงเต็มไปด้วยที่นั่งอ่านหนังสือ เพื่อให้คนเข้ามานั่งอ่านได้ ไม่ซื้อไม่ว่าอะไร ถ้าซื้อก็ดี "ร้านหนังสือ" ในหลายประเทศจึงนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางสังคมอย่างหนึ่ง ถูกจัดอยู่ในหมวดเดียวกับห้องสมุดประชาชน แต่ในประเทศไทยเราพบแต่ "ร้านขายหนังสือ" คือร้านที่มุ่งแต่ธุรกิจการขายหนังสือ ไม่ได้มุ่งให้คนได้ความรู้จากการอ่านหนังสือ "ร้านขายหนังสือ" จึงมีแต่ที่ตั้งแสดงหนังสือ ไม่สนับสนุนให้คนมาอ่านหนังสือที่ร้าน แต่ต้องซื้อกลับไปอ่านที่บ้าน

แม้แต่ "ร้านขายหนังสือ" ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย ก็ยังเป็นเพียงแค่ "ร้านขายหนังสือ" เท่านั้น ด้วยเหตุผลทางธุรกิจและต้นทุนทำให้ไม่สามารถจัดที่อ่านหนังสือที่มีคุณภาพเอาไว้ได้ ยังดีที่เจ้าหน้าที่จะเข้าใจหลักการของการเป็น "ร้านหนังสือ" จึงยอมให้น้อง ๆ เหล่านี้มานั่งอ่านหนังสือที่ด้านข้างของบันไดได้ โดยไม่ถูกไล่ออกไป

Good Urban Space

ในงานสถาปัตยกรรม การออกแบบให้มี Urban Space ประกอบอยู่ในงานไมใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในการออกแบบ แต่มีความยากอยู่ตรงที่จะทำอย่างไรให้เจ้าของโครงการที่เป็นผู้จ่ายเงินก่อสร้างอาคารยอมรับว่าจะสร้างและจ่ายเงินของตนเองเพื่อสร้าง Urban Space ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับสาธารณะในพื้นที่ดินของตน ผู้ออกแบบที่จะสามารถใส่ Urban Space เข้าไปในงานของตนเองและได้รับการยอมรับจากเจ้าของเงิน จะต้องมีความกล้าหาญและสำนึกสาธารณะสูงพอที่จะถ่ายทอดออกมาเป็นงานออกแบบ และยืนหยัดที่จะให้เหตุผลที่ดีจนเจ้าของเงินยอมรับความคิดนี้ได้

ตัวอย่างที่ดี ได้แก่อาคารวิทยพัฒนา ซึ่งเป็นอาคารของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพื้นที่สยามสแควร์ ผู้ออกแบบได้ใส่พื้นที่ Urban Space ในรูปแบบของบันไดที่สามารถใช้เป็นที่นั่งพักได้ ที่มีผลดีต่อเมืองและส่งเสริมการเดินเท้าที่มีคุณภาพดีให้กับพื้นที่ โดยที่สามารถทำให้เจ้าของอาคารยอมรับและเล็งเห็นประโยชน์ของการมี Urban Space นี้ที่มีต่อสาธารณะได้ จึงบันทึกไว้เป็นหลักฐานและตัวอย่างที่ดีแก่ผู้ที่มาพบเห็นต่อไป

Friday, March 23, 2007

สบโอกาส

การแจกแผ่นพับโฆษณานับเป็นกลยุทธ์ในการสร้างแรงกระตุ้นยอดขายสินค้าหรือบริการที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง เราจึงมักพบนักแจกแผ่นพับโฆษณามายืนทำหน้าที่อยู่ตามสถานที่ที่มีคนผ่านเป็นจำนวนมากอยู่เสมอ แต่นักแจกแผ่นพับโฆษณาจะต้องมีทักษะในการเลือกพื้นที่ที่ตนเองสามารถแจกแผ่นพับได้ถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็ว และแจกให้กับคนที่เดินผ่านจุดนั้นทุกคน



นักแจกแผ่นพับโฆษณาทั้งสองท่านนี้ฉลาดในการเลือกสถานที่ทำงานเป็นอย่างยิ่ง เมื่อห้างสรรพสินค้าสยามพารากอนมีมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยการให้ทุกคนที่เดินเข้าสู่ห้างฯ ต้องผ่านเครื่องตรวจโลหะ ซึ่งต้องเดินเรียงเดี่ยวเข้าทีละคน เมื่อออกมาจากเครื่องตรวจโลหะก็ต้องเป็นการเดินเรียงเดี่ยวอีกเช่นกัน นักแจกแผ่นพับสองท่านนี้ก็เลยสบโอกาสว่ากลุ่มเป้าหมายเดินเรียงเดี่ยวออกมาให้แจกแผ่นพับโดยง่าย ไม่มีคนใดที่จะหนีการแจกแผ่นพับไปได้เลย และไม่ต้องไปคอยแทรกแจกคนที่เดินเป็นหน้ากระดานมา จึงเป็นการเลือกที่แจกแผ่นพับที่สมบูรณ์แบบจริง ๆ

มีแต่งบประมาณสำหรับทำป้ายใหม่ แต่ไม่มีสำหรับดูแลของเดิม

งบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานจะมีอยู่สองส่วน คือ สำหรับสร้างใหม่ และสำหรับบำรุงรักษาของเดิมให้อยู่ในสภาพดี แต่เรามักเห็นแต่งบประมาณสำหรับการสร้างใหม่ เพราะเป็นผลงานของนักการเมืองที่ประจักษ์แก่สายตาสาธารณะชนอย่างชัดเจน และมีงบประมาณมากกว่าการซ่อมบำรุง ส่วนของที่ได้สร้างไปแล้วก็จะถูกทิ้งให้ผุพังไปตามกาลเวลา เพื่อรอที่จะของบประมาณสร้างใหม่อีกครั้ง

ตัวอย่างเช่น ป้ายจราจรบนถนนพิษณุโลก ก่อนขึ้นสะพานลอยยมราช ป้ายที่ถัดจากป้ายบอกทางไปสุวรรณภูมิ มีป้ายบอกไว้ว่า "รถที่จะเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระรามที่ ๖ ห้ามใช้สะพานลอย" ป้ายนี้คงติดตั้งมานานแล้ว และถูกปล่อยทิ้งไว้ให้สกปรกมอมแมมไปตามกาลเวลา ไม่ได้มีการทำความสะอาดและบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพดี สามารถให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะเห็นได้ชัดเจนจะได้ปฏิบัติตามได้สะดวก ทั้ง ๆ ที่เจ้าของป้ายนี้ก็คือ กรุงเทพมหานคร ผู้ดูแลต้นไม้บนเกาะกลางที่ได้รับการบำรุงรักษาและตัดแต่งอย่างดี ก็เป็นกรุงเทพมหานครอีกเช่นกัน แต่กลับไม่สนใจจะทำความสะอาดป้ายนี้สักครั้ง สงสัยว่ากำลังรองบประมาณทำป้ายใหม่ละมั้ง

Thursday, March 22, 2007

หน่วยงานของรัฐทำอะไรไม่มีผิด ๓

ภาพนี้ถ่ายบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ บริเวณแยกถนนพิษณุโลกตัดกับถนนราชดำเนินนอก กฎจราจรห้ามรถวิ่งสวนทางในช่องทางของทิศทางตรงกันข้าม แต่ลองดูที่พื้นถนน เส้นสีเหลืองคือเส้นที่แบ่งทิศทางการจราจร นั่นหมายความว่า รถตู้สองคันกำลังข้ามไปวิ่งในช่องทางสำหรับทิศทางตรงกันข้าม คันแรกคือรถตู้ที่เห็นแต่หลังคาที่มีไฟเบรคดวงที่สามอยู่ด้านบน และคันที่สองคือคันที่เห็นอยู่กลางภาพ ไม่แปลกใจเลยที่เมื่อรถเคลื่อนที่แล้ว เห็นด้านข้างของรถคันที่สองสกรีนไว้ว่า "ศธ." ซึ่งเป็นตัวย่อของกระทรวงศึกษาธิการนั่นเอง นี่เป็นหลักฐานอีกครั้งว่า "หน่วยงานของรัฐทำอะไรไม่มีผิด"

หน่วยงานของรัฐมีงบประมาณให้แต่งรถด้วยหรือ??

การจัดซื้อรถยนต์สำหรับใช้ในราชการของหน่วยงานของรัฐ จะต้องเข้าสู่ระเบียบการจัดซื้อ ซึ่งมีขั้นตอนมากมายและรัดกุม เราจึงพบเห็นกันอยู่เสมอว่า รถยนต์ของหน่วยงานของรัฐเป็นรถแบบ Standard มีอุปกรณ์แบบที่เป็นมาตรฐานของผู้ผลิตเท่านั้น ไม่มีการตกแต่งอย่างรถของประชาชนผู้ชื่นชอบการแต่งรถแต่อย่างใด เพราะหน่วยงานราชการต้องใช้งบประมาณอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่เอาเงินมาใช้เพื่อตกแต่งรถให้สวยงาม

รถคันนี้มีสกรีนไว้ข้าง ๆ รถว่า "กรมโยธาธิการและผังเมือง" ซึ่งเดาว่าคงเป็นรถของหน่วยงานของรัฐ แต่พอมองลงไปที่ล้อรถ พบกับล้อแมกซ์เงาวับ ซึ่งดูว่าไม่น่าจะใช่ล้อมาตรฐานจากผู้ผลิตรถฮอนด้าแต่อย่างใด ก็ให้เกิดความสงสัยอยู่ในใจว่า ถ้ารถคันนี้เป็นของกรมโยธาธิการและผังเมืองจริง หวังว่ากรมโยธาฯ เองคงไม่ได้จ่ายเงินค่าล้อแมกซ์นะ และถ้ามีคนใจดีจ่ายให้ คนที่จ่ายค่าล้อแมกซ์ให้ก็คงไม่ได้ยึดเอารถไปใช้เป็นการส่วนตัวนะ หรือว่ามีคนบริจาครถมาให้แบบนี้เลย ขี้สงสัยจังนะ

ป้ายห้ามหยุดบนทางด่วน มีไว้เพื่ออะไร??

บนทางยกระดับถนนบรมราชชนนีอีกเช่นกัน ผู้เขียนพบป้ายกากบาทสีแดงบนพื้นวงกลมสีน้ำเงินซึ่งหมายถึง "ห้ามหยุด" มาติดตั้งไว้บนราวกันตกด้านข้าง ทำให้เกิดความสงสัยว่า ทำไมป้ายนี้มาอยู่ตรงนี้ เพราะบริเวณนี้เป็น "ทางด่วน" ซึ่งบริเวณใกล้ ๆ กับป้ายนั้น ก็ไม่ได้มีกิจกรรมใดที่จะชักนำให้รถหยุดเพื่อดู รับส่งคน หรือร่วมกิจกรรมใด ๆ ได้เลยนี่หน่า ใครรู้ช่วยบอกที หรือติดไว้เฉย ๆ เพราะประเทศนี้เป็นประเทศร่ำรวย มีงบประมาณเหลือเฟือ ไม่มีคนยากจนอยู่แล้วในประเทศ จึงเอาเงินไปแจกบริษัททำป้ายเล่น ๆ

หน่วยงานของรัฐทำอะไรไม่มีผิด ๒

คุณเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมทางด่วน (ทั้งที่เสียค่าผ่านทางและไม่เสียค่าผ่านทาง) ต้องห้ามยานพาหนะบางประเภทขึ้นมาใช้งาน เช่น จักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง รถบรรทุกขนาดใหญ่ เป็นต้น คำตอบก็คือ เพราะ "ทางด่วน" มีการจราจรแบบที่มีความเร็วสูง จึงต้องห้ามยานพาหนะที่มีความเร็วต่ำ และมีขนาดเล็กหรือใหญ่เป็นพิเศษกว่าปกติขึ้นไปวิ่ง เพราะความเร็วที่แตกต่างกันมาก ๆ จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง ดังนั้น ข้อบังคับนี้เกิดขึ้นก็เพื่อความปลอดภัยทั้งกับตัวผู้ขับขี่ยานพาหนะที่ต้องห้ามนั้น และผู้ขับขี่ยานพาหนะคันอื่น ๆ ด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจก็เข้มงวดกับมาตรการดังกล่าวดี ยกเว้นกับรถของหน่วยงานของรัฐเท่านั้น

ตัวอย่างเช่น บนทางยกระดับถนนบรมราชชนนี ซึ่งนับเป็นทางด่วนแบบที่ไม่ต้องจ่ายค่าผ่านทาง ด้วยความเป็น "ทางด่วน" จึงต้องห้ามจักรยานยนต์ รถสามล้อเครื่อง และรถบรรทุกตั้งแต่หกล้อขึ้นไป ขึ้นไปวิ่งบนทางด่วนนี้ ซึ่งรถของเอกชนถ้าขึ้นมาวิ่งก็ถูกจับไปตามระเบียบ แต่รถของกรุงเทพมหานครขึ้นมาวิ่งได้ไม่เป็นไร พี่ตำรวจครับ พี่เข้าใจไหมครับว่า ที่เขาห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่ก็เพราะป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ ซึงไม่ว่าเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐจะเป็นเจ้าของรถก็มีความเสี่ยงเท่ากัน ไม่มียกเว้นว่ารถของหน่วยงานของรัฐจะมีความเสี่ยงน้อยกว่าเอกชนนะครับ หรือว่า Double Standard ตามแนวทางของนายกคนก่อนยังคงอยู่อย่างถาวรในสังคมไทย

หน่วยงานของรัฐทำอะไรไม่มีผิด ๑

รถกระบะใหญ่คันนี้วิ่งอยู่บนถนนบรมราชชนนี ผู้เขียนขับรถตามหลักก็เห็นสติกเกอร์ติดอยู่ที่ฝากระบะ เขียนว่า "อุบัติเหตุจะไม่เกิด ถ้าทุกคนเคารพกฎจราจร" แต่พอมองต่ำลงมา พบว่ารถคันนี้ไม่ติดป้ายทะเบียน โธ่เอ๊ย อุตส่าห์ติดสติกเกอร์เพื่อบอกให้คนอื่นเคารพกฎจราจร แต่ตัวเองกลับไม่เคารพเสียเอง รถทุกคันต้องติดแผ่นป้ายทะเบียนทั้งด้านหน้าและด้านหลังนะครับ

แต่พอผู้เขียนขับรถไปด้านข้างของรถคันนี้ ก็เลยเข้าใจว่าทำไมรถคันนี้จึงวิ่งได้โดยไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน เพราะมีคำว่า "กรมการปกครอง" สกรีนติดไว้ที่ด้านข้างของตัวรถ ตรงกับข้อสังเกตของผู้เขียนว่า หน่วยงานของรัฐทำอะไรไม่ผิด เพราะเจ้าหน้าที่ผู้รักษากฎหมายก็เป็นพนักงานของหน่วยงานของรัฐเหมือนกันนั่นเอง

ใครจะไปอ่านหมดล่ะ

เมื่อมีโครงการก่อสร้างบนพื้นที่สาธารณะ ก็จะต้องมีป้ายบอกรายละเอียดของโครงการ ผู้รับผิดชอบโครงการ และหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งถ้าจะแสดงให้ครบถ้วนจะต้องให้รายละเอียดมาก ซึ่งต้องมีพื้นที่ในการติดตั้งที่เหมาะสม เพราะกลุ่มเป้าหมายที่ป้ายนี้ต้องการจะสื่อสารข้อมูลไปให้ เป็นกลุ่มที่กำลังเคลื่อนที่อยู่บนพื้นที่สาธารณะ จึงต้องพยายามจำกัดข้อมูลให้สามารถรับรู้ได้ทั้งหมดในช่วงเวลาอันสั้น

แต่โครงการบนถนนบรมราชชนนี แยกพุทธมณฑลสาย ๔ กล้บไม่ได้คิดถึงว่า คนที่อยู่บนรถที่วิ่งด้วยความเร็วสูงจะรับรู้ข้อมูลได้อย่างครบถ้วนหรือไม่ ผลก็คือเอาป้ายที่มีรายละเอียดมากเสียจนต้องเขียนให้ตัวเล็ก และมีข้อความถึง ๑๐ บรรทัด ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะรับข้อมูลได้ครบถ้วนในขณะที่อยู่บนยานพาหนะที่มีความเร็วสูง ป้ายนี้จึงไม่สามารถสื่อสารได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ติดเอาไว้เพื่อให้ครบถ้วนตามระเบียบการก่อสร้างเท่านั้นเอง

พอเข้าไปดูใกล้ ๆ พบว่า ไม่ใช่เพียงแต่ข้อมูลมากเกินไปจนร้บไม่ทันอย่างเดียว แต่ข้อมูลยังไม่ครบอีกด้วย ลองดูที่บรรท้ดสุดท้าย ไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ใส่ไว้ให้ด้วย

Wednesday, March 21, 2007

ช่วยหาที่จอดที่เหมาะสมให้เขาได้ไหมครับ

ปัจจุบันรถตู้สาธารณะนับเป็นขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง สามารถขนส่งผู้โดยสารได้จำนวนมากในราคาที่เหมาะสม และสามารถช่วยให้บริการได้ในพื้นที่ที่ระบบขนส่งมวลชนที่มียานพาหนะขนาดใหญ่เข้าไม่ถึง และเป็นการเดินทางแบบรวดเร็วจอดเฉพาะในจุดที่สำคัญเท่านั้น ภาครัฐจึงจัดการให้รถตู้สาธารณะเหล่านี้เป็นระบบขนส่งที่ถูกกฎหมาย เพื่อให้ภาครัฐสามารถควบคุมมาตรฐานการให้บริการและการตั้งราคาได้ในระดับหนึ่ง แต่ในแง่หนึ่ง กลับกลายเป็นว่า เมื่อเข้ารถตู้สาธารณะเข้าสู่ระบบที่ถูกกฎหมายแล้ว ไสิ่งที่เคยทำผิดกฎหมายอยู่เดิมกลายเป็นเรื่องถูกกฎหมายไปโดยอัตโนมัติ

ท่ารถตู้ตรงข้ามห้างมาบุญครอง ก่อนที่รถตู้จะมาจดทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย ก็ใช้พื้นที่ตรงนี้จอดรถรับส่งผู้โดยสารแล้วโดนตำรวจจับ

แต่พอมาเป็นรถตู้สาธารณะที่ถูกกฎหมายแล้วกลับเป็นเรื่องถูกต้องไปได้ ทั้ง ๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวมีการสัญจรทางเท้าจำนวนมาก แต่ทางเท้าตรงนั้นแคบเหลือเกิน เดินหน้ากระดานเรียงสองก็เกือบเต็มแล้ว แต่ต้องมารับการเดินทางจำนวนมากจากทั้งสองทิศทาง แถมยังต้องเป็นพื้นที่สำหรับคนขึ้นลงรถตู้และพนักงานรถตู้ที่คอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารอีกด้วย ทำไม่ภาครัฐไม่ถือโอกาสว่าเมื่อรถตู้เข้ามาเป็นระบบขนส่งสาธารณะที่ถูกกฎหมายแล้ว ก็จัดหาที่จอดที่ถูกกฎหมายและไม่รบกวนผู้อื่นให้เขาด้วยสิ ไม่ใช่ให้เขามาเข้ากับรัฐแล้วทำผิดกฎหมายก็ได้ เพราะมีรัฐคุ้มหัวอยู่แล้ว ประชาชนจะเดือดร้อนก็ช่างมันเหอะ

ส่อเจตนา ๒

กฎจราจรระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามรถประจำทางรับส่งผู้โดยสารนอกเหนือจากจุดที่ได้กำหนดไว้เป็นที่หยุดรับส่ง เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและความสะดวกในการสัญจรของยานพาหนะคันอื่น ๆ บนถนน ดังนั้น รถประจำทางจึงต้องปิดประตูไว้ขณะที่อยู่นอกป้ายหยุดรถ จะเปิดก็ต่อเมื่อเข้าจอดที่ป้ายหยุดรถเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้เป็นอย่างที่กฎจราจรกำหนดไว้ แถมยังมีการส่งเสริมให้รับส่งผู้โดยสารนอกป้ายเสียอีก เพราะรายได้หลักของรถประจำทางมาจากค่าตั๋วโดยสาร แถมยังมีการสร้างแรงจูงใจให้พนักงานขับรถและพนักงานเก็บสตางค์รับผู้โดยสารให้ได้มากด้วยการกำหนดอัตราส่วนแบ่งค่าตั๋วโดยสารให้เป็นแบบก้าวหน้า คือยิ่งมีผู้โดยสารมากก็ยิ่งได้ส่วนแบ่งมาก

เราจึงพบกันได้เป็นปกติว่า รถประจำทางมักจะรับส่งผู้โดยสารนอกป้ายอยู่เสมอ ลองสังเกตดูตอนที่รถประจำทางจอดติดไฟแดงอยู่บริเวณแยกสำคัญ ที่มีคนต้องการขึ้นลงรถเป็นจำนวนมากสิ จะพบว่ารถประจำทางจะเปิดประตูทิ้งไว้เสมอ แม้ว่าจะอยู่นอกป้ายหยุดรถก็ตาม (ดูรถประจำทางสีฟ้า-ขาว) ผู้โดยสารก็ได้ประโยชน์เพราะสามารถขึ้นลงได้ใกล้กับจุดหมายปลายทางที่ตนเองต้องการ พนักงานขับรถก็ได้ผู้โดยสารเพิ่มขึ้น จึงเป็นการสมประโยชน์กันระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลักสองฝ่าย แต่ที่เสียประโยชน์คือสังคมโดยรวม และผู้ที่สัญจรอยู่บนถนนเส้นนั้น ที่ต้องมารับความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุจากการสมประโยชน์ดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมักไม่สนใจ เพราะคิดว่าเป็นความเสี่ยงของทั้งสองฝ่ายที่ยอมรับกันได้ จึงเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องประกาศดัง ๆ ว่า ผมก็เป็นผู้เสียประโยชน์และไม่ยอมรับการกระทำดังกล่าวนะครับ

เขาก่อสร้างได้เฉพาะในที่ดินของเขาเท่านั้น

การก่อสร้างอาคารเป็นเรื่องปกติสำหรับวงจรชีวิตของเมือง ที่จะต้องมีอาคารใหม่ถูกสร้างขึ้นแทนที่อาคารเดิมที่ไม่สอดคล้องกับพัฒนาการของเมืองในปัจจุบัน หรือสร้างบนที่ดินที่ไม่ได้ถูกใช้งานอย่างเหมาะสมกับมูลค่าของมัน การก่อสร้างอาคารเหล่านี้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ในการก่อสร้าง ต้องจัดเตรียมพื้นที่วางวัสดุอุปกรณ์และจอดรถขนส่งได้เฉพาะในพื้นที่ก่อสร้างเท่านั้น ห้ามมาใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการก่อสร้างโดยเด็ดขาด และผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องรักษาพื้นที่สาธารณะที่อยู่นอกแปลงที่ดินให้อยู่ในสภาพดีพอที่สาธารณชนจะใช้งานได้ด้วย แต่ในทางปฏิบัติแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ที่ทางเข้าโครงการก่อสร้างอาคารใหม่ของโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังบนถนนพระราม ๖ แทนที่ผู้รับเหมาจะจัดการหาพื้นที่จอดรถขนวัสดุและคนงานเอาไว้ในสถานที่ก่อสร้างอย่างเหมาะสม แต่กลับเอารถกระบะมาจอดไว้บนทางเท้า แล้วคนเดินเท้าก็ต้องเดินหลบรถกระบะเอาเอง แถมทางเท้าก็ไม่ได้อยู่ในสภาพดีเนื่องจากรถขนวัสดุเหล่านี้มีน้ำหนักมาก ทำให้ทางเท้าพังหมด อีกทั้งยังระบายน้ำจากการก่อสร้างลงบนทางเท้าอีกด้วย น่าแปลกที่คนกรุงเทพฯ กลับเห็นเรื่องอย่างนี้เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีใครเดือดร้อนจากสิทธิของตนเองที่ถูกผู้อื่นละเมิดกันซึ่ง ๆ หน้าเลย

ทางเท้า "ไม่ใช่" ทางสาธารณะ

ในการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานเมือง ส่วนใหญ่จะวางโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไว้บริเวณบนหรือใต้ทางเท้าเสมอ เช่น ท่อระบายน้ำ เสาไฟฟ้า สายโทรศัพท์ ตู้ไปรษณีย์ ฯลฯ และมีส่วนหนึ่งที่ใช้เป็นช่องทางเดินเท้า การออกแบบทางเท้าในเขตชุมชน จะเอาขนาดของช่องทางเดินเท้าที่เหมาะสมกับความต้องการของชุมชนเป็นหลัก ส่วนที่วางโครงสร้างพื้นฐานจะถูกออกแบบให้สอดคล้องกับพื้นที่ทางเท้าที่เหลือ ไม่ว่าจะลงใต้ดินหรือบีบให้เล็กลงเพื่อลดพื้นที่บนดิน แต่ในกรุงเทพฯ กลับไม่เป็นเช่นนั้น ทางเท้าหลายแห่งกลายเป็นที่ทางน้ำสาธารณะก่อนที่จะลงสู่ท่อระบายน้ำที่อยู่ใต้ทางเท้า

ตัวอย่างเช่น อาคารพาณิชย์ชุดหนึ่งใกล้สะพานเจริญผล ซึ่งก็เป็นเหมือนอาคารพาณิชย์รุ่นเก่าก่อนที่จะมีกฎหมายระยะถอยร่น ซึ่งจะสร้างอาคารชิดริมขอบถนน ส่วนกันสาดที่ชั้นลอยก็จะล้ำออกมาอยู่เหนือทางเท้าสาธารณะ ข้อดีประการหนึ่งก็คือคนเดินเท้าน่าจะได้ร่มเงาในการเดิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ร้านค้าต่าง ๆ ก็ถือเอาพื้นที่สาธารณะใต้กันสาดว่าเป็นพื้นที่ของตนเองอยู่ดี มักเอาสินค้ามาตั้งทำให้คนเดินเท้าต้องหนีออกไปเดินนอกแนวกันสาด ส่วนกันสาดก็ต้องการที่ระบายน้ำ จึงต้องต่อท่อระบายน้ำพีวีซียื่นออกมาให้น้ำตกลงบนทางเท้า ในช่วงฝนตกคงไม่เป็นปัญหานัก เพราะคนเดินเท้าก็เดินใต้กันสาดอยู่แล้ว แต่ตอนฝนไม่ตกก็ยังมีน้ำไหลจากท่อพีวีซีเหล่านั้นตลอดเวลาอยู่ดี เพราะกันสาดเป็นที่วางคอยล์ร้อนของเครื่องปรับอากาศ ก็ต้องมีการระบายน้ำจากคอยล์ร้อนออกมา แล้วน้ำเหล่านั้นก็ตกลงบนทางเท้าอยู่ตลอดเวลา สรุปแล้วคือไม่มีเวลาใดที่คนเดินเท้าจะสามารถใช้ทางเท้าได้อย่างสะดวกเลย ส่วนใต้กันสาดใช้ไม่ได้อยู่แล้ว (มีสินค้ามาตั้ง) ส่วนนอกกันสาดก็มีน้ำหยดอยู่ตลอดเวลาไม่ว่าฝนจะตกหรือไม่ตก

Tuesday, March 20, 2007

สินค้ามีค่ามากกว่ามนุษย์

ถ้าเริ่มคำถามว่า "ชีวิตมนุษย์สามารถตีค่าเป็นเงินได้เท่าไหร่" คำตอบอย่างเป็นเอกฉันท์ก็คือ "ชีวิตมนุษย์มีค่ามากเสียจนไม่สามารถตีเป็นตัวเงินได้" แต่ดูเหมือนว่าคำตอบนั้นเป็นเพียงการสร้างภาพพจน์ที่ดีให้กับผู้ตอบเท่านั้น เพราะในสถานการณ์จริงกลับไม่ได้เป็นไปตามที่ตอบเลย ชีวิตมนุษย์ยังไร้ค่าอยู่เสมอ

ตัวอย่างเช่น รถกระบะสำหรับขนถังแก๊สหุงต้มคันหนึ่ง เขาขนส่งถังแก๊สด้วยรถกระบะเพราะว่าสามารถขนสินค้าได้มาก และมีความเสี่ยงต่อความเสียหายของถังแก๊สเนื่องจากการขนส่งต่ำ เพราะกระบะของรถเป็นที่วางถังแก๊สได้อย่างดีและปลอดภัย แต่คนงานของเขาที่เป็นแรงงานให้เจ้าของรถสามารถส่งถังแก๊สไปยังมือของลูกค้ากลับไม่ได้จัดให้มีที่นั่งอย่างปลอดภัย พวกเขาต้องนั่งอยู่บนหมู่ถังแก๊สหรือนั่งบนขอบกระบะ ซึ่งเมื่อเกิดอุบัติเหตุ พวกเขาทั้งสองคนก็จะกระเด็นตกลงมาจากรถ ในขณะที่ถังแก๊สยังยืนอยู่บนรถได้อย่างปลอดภัย แสดงว่าภาพนี้คือหลักฐานที่ชัดเจนเพื่อแย้งคำพูดที่ว่า "ชีวิตมนุษย์มีค่ามากจนไม่สามารถตีเป็นเงินได้" อย่างชัดเจน

ไม่รู้จะห้ามจอดรถทำไม

ในบริเวณชุมชนที่มีการจราจรหนาแน่นช่วงเร่งด่วนเช้าและเย็น มักจะพบมาตรการห้ามจอดรถเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาจราจรในช่วงเวลาที่มีปริมาณการจราจรสูง แต่จักรยานยนต์รับจ้างก็ได้รับสิทธิพิเศษยกเว้นให้สามารถจอดได้อีกแล้ว

ตัวอย่างเช่น ปากซอยพหลโยธิน ๗ (อารีย์) สุดซอยเป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการขนาดใหญ่ทั้งกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมประชาสัมพันธ์ กรมสรรพากร ฯลฯ ซึ่งมีข้าราชการและพนักงานเป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลาเร่งด่วนทั้งเช้าและเย็นจึงมีปริมาณการจราจรหนาแน่น ทำให้ต้องมีมาตรการห้ามจอดรถทั้งสองฝั่งถนนในช่วงเวลาเช้าและเย็น (เวลาอื่น ๆ ห้ามจอดรถแบบวันคู่วันคี่) แต่จักรยานยนต์รับจ้างก็ได้รับสิทธิพิเศษอีกแล้ว พวกเขาสามารถจอดรถรอผู้โดยสารบนพื้นผิวการจราจรได้อย่างสะดวก โดยไม่ต้องสนใจว่าพื้นที่ถนนที่ควรจะใช้สำหรับช่วยระบายรถยนต์ในชั่วโมงเร่งด่วนจะหายไปแค่ไหนก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีบางซื่อที่คอยอำนวยการจราจรอยู่บริเวณนั้นก็เห็นเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ารถยนต์จอดบ้างก็โดนใบสั่งไปตามระเบียบ แม้ว่าพื้นที่ที่รถยนต์ใช้จอดจะเท่ากับพื้นที่ที่จักรยานยนต์ใช้จอดก็ตามที ปัญหานี้ต้นเหตุอยู่ที่ภาครัฐที่มาตั้งหน่วยงานในบริเวณที่มีโครงสร้างพื้นฐานการจราจรรองรับไม่เพียงพอ จึงมีปัญหาตามมาอีกหลายประการ แต่จะไปแก้ที่ต้นเหตุตอนนี้คงไม่ได้แล้วหละ ที่พอจะแก้ไขและบรรเทาปัญาหาตอนนี้ได้ก็คือ ให้จัดหาที่จอดจักรยานยนต์รับจ้างโดยที่ไม่รบกวนต่อพื้นผิวการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน

สลับที่



บริเวณประตูทางเข้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้านติดกับโรงเรียนเตรียมอุดม เมื่อขับรถเข้าประตูมาแล้วจะมีรถจากทางขวามือมาร่วมใช้เส้นทางด้วย จึงต้องมีป้ายบอกทั้งสองทิศทางให้ระวังรถจากอีกทิศทางหนึ่งด้วย แต่วันนี้พนักงานรักษาความปลอดภัยคงจะพักผ่อนไม่พอ จึงวางป้ายสลับที่กัน เพราะรถทางซ้ายมือ (รถแท็กซี่สีส้ม) ควรจะ "ระวังรถทางขวา" ไม่ใช่ "ระวังรถทางซ้าย" อย่างที่ป้ายบอก และรถกระบะสีบรอนซ์ทางขวามือ ก็ควร "ระวังรถทางซ้าย" ไม่ใช่ "ให้รถทางขวาไปก่อน" อย่างที่ป้ายบอกเอาไว้

สวนทาง

ในสังคมไทยแล้ว จักรยานยนต์มักได้รับสิทธิพิเศษและการยกเว้นจากกฎจราจรอยู่เสมอ ๆ จึงเป็นเรื่องปกติที่เรามักเห็นจักรยานยนต์สามารถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ขับขี่บนทางเท้า หรือสามารถขับสวนทางได้อย่างในภาพ

แต่ถ้าพิจารณาต่อไปว่า ทำไมจักรยานยนต์จึงมาวิ่งอยู่บนถนนเพชรเกษม ซึ่งเป็นถนนลำดับศักย์สูงสุดของประเทศ ก็ต้องย้อนต่อไปถึงการใช้ที่ดินสองข้างทางที่ขัดแย้งกับลำดับศักย์ของถนน เพราะถนนลำดับศักย์สูงที่สุด จะมียานพาหนะขนาดใหญ่ วิ่งด้วยความเร็วสูงอย่างหนาแน่นตลอดทั้งวัน ดังนั้น จึงไม่ควรมีการเข้าถึงที่ดินสองข้างทางเลย (Limited Access) แต่ถนนเพชรเกษมกลับมีบ้านพักอาศัย อาคารพาณิชย์ อู่ซ่อมรถ ปั๊มน้ำมัน และกิจกรรมอื่น ๆ เกาะอยู่ตลอดแนวถนน และต้องเข้าออกจากถนนเพชรเกษมนั่นแหละ ซึ่งกิจกรรมขนาดเล็กเหล่านี้มักมีการสัญจรด้วย จักรยานหรือจักรยานยนต์เป็นหลักอยู่แล้ว ด้วยรูปแบบการใช้ที่ดินที่ขัดแย้งกับลำดับศักย์ของถนนก็ทำให้มียานพาหนะขนาดเล็กและความเร็วต่ำ มีการวิ่งแบบตามใจว่าจะย้อนศรก็ได้ มาวิ่งอยู่บนถนนที่มียานพาหนะขนาดใหญ่และความเร็วสูงวิ่งอยู่มากมาย วิธีการแก้ไขปัญหาจึงไม่ใช่แค่ออกกฎหมายมาห้ามจักรยานยนต์วิ่งย้อนศร แต่ต้องแก้ใหถึงรากแห่งปัญหา คือต้องพยายามสร้างถนนสายสำคัญที่สุดให้เป็น Limited Access ให้ได้ต่างหาก

ถนนร่มรื่นแต่ไม่เห็นข้อมูลที่จำเป็น

เรามักเรียกร้องอยากได้ถนนที่ร่มรื่นเสมอ แต่ตามหลักการการออกแบบถนนแล้ว ถนนที่สามารถทำให้ร่มรื่นได้จะเป็นถนนที่มีลำดับศักย์ต่ำ เช่น ถนนท้องถิ่น (Local Road) หรือถนนรวบรวม (Collector Road) เท่านั้น เพราะเป็นถนนที่มีการสัญจรด้วยความเร็วที่ไม่สูงนัก ทำให้ความแตกต่างของแสงระหว่างในร่มกับกลางแจ้งไม่กระทบต่อความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะ และส่วนประกอบถนนที่ทำให้ร่มรืนไม่มาบดบังป้ายจราจรหรือการมองเห็นที่ดีสำหรับการขับขี่ แต่สำหรับประเทศไทยแล้ว ความร่มรื่นไม่ได้สอดคล้องกับลำดับศักย์ของถนน เราจะพบถนนสายหลักจำนวนมากที่มีการปลูกต้นไม้ ที่ต้องการการดูแลรักษา ทั้งใส่ปุ๋ย รดน้ำต้นไม้ นำมาซึ่งอันตรายในการสัญจร และยังพบต้นไม้ที่บดบังป้ายจราจรที่จำเป็นอีกด้วย ตัวอย่างเช่น ถนนพิษณุโลก ก่อนขึ้นสะพานลอยข้ามแยกยมราช ซึ่งสะพานนี้ห้ามจักรยาน จักรยานยนต์ และรถสามล้อเครื่องขึ้นไปวิ่งบนสะพาน ดังนั้นก็ต้องมีป้ายห้าม แต่ป้ายห้ามนั้นซ่อนตัวอยู่อย่างแนบเนียนหลังต้นไม้ที่ปลูกกลางถนน จนไม่สามารถสื่อความหมายไปยังกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ แถมยังสิ้นเปลืองงบประมาณทำและติดตั้งป้ายเสียเปล่า ๆ อีกด้วย

ก่อนถึงป้ายนี้ประมาณ ๒๐ เมตร ซึ่งควรจะเห็นป้ายได้อย่างชัดเจนแล้ว เพื่อจะได้ปฎิบัติตามได้ก่อนถึงทางขึ้นสะพาน แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นป้ายเลย

ระยะ ๑๐ เมตร เริ่มเห็นว่ามีป้ายซ่อนอยู่หลังต้นไม้ แต่ก็ยังเห็นไม่มากพอที่จะรู้ได้ว่ามันต้องการสื่อความหมายอะไร

จนถึงระยะ ๓ เมตรจากป้ายนั่นแหละ จึงจะเห็นว่าป้ายต้องการสื่ออะไร แล้วอย่างนี้จะปฏิบัติตามได้ทันหรือเปล่า หรือจะต้องเปลี่ยนช่องทางอย่างกระทันหันเพื่อไม่ให้ถูกตำรวจจับ ซึ่งการเปลี่ยนช่องทางอย่างกระชั้นชิดก่อให้เกิดอันตรายทั้งกับตนเองและผู้อื่น

สิงโตก็หนาวเป็นนะ

ภาพนี้ถ่ายหน้าห้างสรรพสินค้าชื่อดังแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ซึ่งมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ครบถ้วนทุกความเชื่อ ทั้งศาลพระภูมิ ศาลเพียงตา แม่พระธรณีบีบมวยผม และมาจบที่สิงโตหินคู่หนึ่ง แต่เนื่องจากมีการประสานกันของแนวความคิดของจีนกับไทย สิงโตหิน (จีน) จึงต้องผูกผ้าแพรเจ็ดสี (ไทย) จึงกลายเป็นเหมือนสิงโตหน้าหนาวที่ต้องผูกผ้าพันคอเพื่อป้องกันการเป็นหวัด ซึ่งก็อาจจะดีในแง่ของความเชื่อ เพื่อให้สิงโตมีความแข็งแรงปลอดจากโรคภัย เพื่อจะได้ปกปักษ์รักษาห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ต้องการทางขนของหรือเปล่านะ

สำหรับการออกแบบพื้นที่ใช้สอยในประเทศไทยแล้ว มักจะใช้เส้นทางเข้าถึงพื้นที่เพียงเส้นทางเดียวสำหรับการสัญจรทุกประเภท ทั้งคน สินค้า และบริการเดินทางอยู่บนเส้นทางเดียวกัน แบ่งปันกันไปตามวัฒนธรรมไทย แต่ในบางพื้นที่ที่มีการสัญจรหนาแน่น อาจมีความจำเป็นที่จะต้องแยกการสัญจรแต่ละประเภทออกจากกัน เพื่อความสะดวกและปลอดภัยในการสัญจร

ตัวอย่างเช่น ที่ตลาดนัดสวนจตุจักร เนื่องจากมีพื้นที่จำกัดจึงมีทางสัญจรเพียงเส้นทางเดียวสำหรับทั้งคนและสินค้า จึงเกิดปัญหาอย่างที่แสดงในภาพ คือ เมื่อมีการสัญจรหนาแน่นเนื่องจากเป็นตลาดนัด แต่คนเดินเท้ากลับต้องคอยมาหลบรถเข็นสินค้าที่ผ่านไปมาอยู่ตลอดเวลา คนขนสินค้าเองก็ต้องคอยตะโกนบอกคนเดินเท้าให้หลีกทางให้ตลอดทาง จึงเกิดคำถามในใจว่า ถ้ามีการสัญจรมากและหนาแน่นขนาดนี้ ควรจะมีทางขนของแยกต่างหากหรือเปล่า คำตอบตามหลักการคือควรมี แต่คำตอบด้านเศรษฐศาสตร์กลับบอกว่าไม่ควร เพราะนี่คือตลาดนัดที่ขายสินค้าราคาถูก ถ้าต้องลงทุนมีเส้นทางเฉพาะสำหรับขนสินค้าเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเส้นทาง ต้นทุนของตลาดก็จะสูงขึ้น ส่งผลให้ต้องเก็บค่าเช่าแผงขายสินค้าเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าก็จะต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะผิดคอนเซ็บต์ของตลาดนัดที่จะต้องมีต้นทุนถูกที่สุด เพื่อให้ราคาสินค้าถูกที่สุดตามไปด้วย

Monday, March 19, 2007

ฉันอยู่นี่นะจ๊ะ

เป็นเรื่องธรรมดาของการประกอบธุรกิจที่มีการแข่งขันกันเพื่อให้ได้ลูกค้า จะต้องมีการโฆษณาเพื่อให้ตนเองโดดเด่นกว่าคู่แข่งรายอื่น แต่การโฆษณาจะต้องอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม และจะต้องถูกควบคุมด้วยกฎหมายแห่งความปลอดภัยสาธารณะด้วยเช่นกัน

ตัวอย่างภาพบนถนนสุรวงศ์ซึ่งมีอาคารพาณิชย์เรียงตัวกันไปตลอดแนวถนน ร้านค้าต่าง ๆ ล้วนแต่มีความมุ่งหมายให้ตนเองโดดเด่นสู่สายตาลูกค้า จึงมีการทำป้ายชื่อร้านติดอยู่ตามที่ต่าง ๆ เพื่อให้ลูกค้ามองเห็นได้ง่าย แต่ป้ายบางป้ายเช่น ป้ายสีเหลืองของร้านแว่นตาแห่งหนึ่ง ต้องการความโดดเด่นขนาดหนัก จึงติดตั้งป้ายขนาดใหญ่ยื่นออกมาจากตัวอาคาร เกินเขตแนวทางเท้าเข้ามาถึงช่องทางจราจรด้านซ้ายสุด ซึ่งการติดป้ายดังกล่าวเกินเข้ามาในเขตทางสาธารณะเป็นเรื่องที่ไม่ถูกไม่ควรอย่างยิ่ง เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุป้ายร่วงหล่นมาบนทางสาธารณะ ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้สัญจรผ่านไปมา ความผิดมันโดดเด่นอยู่ขนาดนี้ อย่าบอกนะว่าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจะไม่เคยเห็นว่าป้ายนี้ยื่นออกมายาวเพียงใด

ศรัทธา = คาดหวัง

คนไทยมีความศรัทธาต่อบรรพชนเป็นพื้นฐานติดตัวอยู่แล้ว เราจึงมักพบว่าอนุสาวรีย์หรือรูปปั้นของพระมหากษัตริย์และเชื้อพระวงศ์ได้รับการสักการะด้วยความ "ศรัทธา" อยู่เสมอ ๆ ความศรัทธานั้นเกิดจากคุณงามความดีที่ท่านเหล่านั้นได้ทำให้กับสังคมและประเทศชาติ การสักการะบูชาคือการให้ความเคารพและระลึกถึงความดีที่ท่านทำ แต่ก็มีหลายสถานการณ์ที่ผู้ทำการสักการะบูชาไม่ได้ทำเพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของเจ้าของอนุสาวรีย์หรือรูปปั้น แต่กลับทำเพื่อตนเอง

ในช่วงเวลาฤดูกาลสอบแข่งขันอย่างนี้ ที่หน้าโรงเรียนมัธยมปลายที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ ได้มีการเปิดรับสมัครนักเรียนใหม่อยู่ ที่หน้าโรงเรียนนี้ก็มีอนุสาวรีย์ให้นักเรียนได้สักการะบูชา เพื่อให้ระลึกถึงคุณงามความดีที่ท่านมีต่อโรงเรียนนี้ แต่ในช่วงสอบแข่งขัน เป็นที่น่าสงสัยว่า ผู้มาสักการะบูชาคือผู้สมัครสอบเข้าโรงเรียนนี้มีความ "ศรัทธา" ต่อคุณงามความดีแค่ไหน หรือมีแต่เพียงความ "คาดหวัง" ว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยให้สามารถสอบเข้าโรงเรียนนี้ได้กันแน่

Sunday, March 18, 2007

อภิสิทธิ์แห่งสีลม

ตามหลักการของการบริหารจัดการเมือง จะอยู่บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย นั่นหมายความว่า มาตรฐานที่เป็นพื้นฐานของความเป็นอยู่ของมนุษย์จะต้องเท่าเทียมกันทุกพื้นที่ แม้ว่าในรายละเอียดของแต่ละพื้นที่อาจแตกต่างกัน แต่ความต้องการพื้นฐาน เช่น ความปลอดภัยและสาธารณสุข จะต้องเป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน


ถนนสีลมเป็นย่านธุรกิจที่มีความสำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ทำให้ที่ดินมีราคาสูง มีกิจกรรมหนาแน่น นำมาซึ่งการจราจรอันติดขัดและอากาศเป็นพิษจากควันรถ ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ถนนสีลมได้รับสิทธิพิเศษในหลาย ๆ ด้าน ตัวอย่างเช่นที่แสดงในภาพ ทางเข้าพื้นที่สีลมทุกทิศทางจะมีป้ายติดไว้ว่า "ขับขี่คนเดียว รถควันดำ ห้ามเข้า" ในเวลาที่กำหนด เรื่อง "ห้ามรถที่ขับขี่คนเดียว" เข้า เป็นเรื่องปกติของการจัดการการจราจรในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่น จึงสามารถนำมาตรการนี้มีใช้เฉพาะพื้นที่ได้ แต่เรื่อง "ห้ามรถควันดำ" นี่สิแปลก ตามที่ถูกที่ควรแล้ว รถที่ปล่อยควันดำไม่ควรจะวิ่งที่ไหนเลย ไม่ใช่แต่เฉพาะสีลมเท่านั้น เพราะรถเหล่านั้นก่อควันพิษซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ไม่ได้ขึ้นกับว่าจะก่อควันดำในพื้นที่ไหน มาตรการด้านควันพิษจึงต้องเป็นมาตรการพื้นฐานที่ไม่ผูกพันกับพื้นที่ใด ๆ กฎหมายก็ไม่ได้ยกเว้นไว้ว่า ที่อื่นวิ่งได้ ยกเว้นสีลมเท่านั้นนี่หน่า หรือว่าป้ายดังกล่าว เป็นการยอมรับว่า กรุงเทพมหานครหมดทางที่จะแก้ไขปัญหาควันพิษจากรถแต่ละคันแล้วหละ ก็เลยติดป้ายนี้เพื่อ "ขอร้อง" ว่ากรุณายกเว้นพื้นที่นี้สักพื้นที่เถอะนะ

Saturday, March 17, 2007

หลอกกันนี่หน่า ๓

ผู้เขียนไปพบการหลอกลวงประชาชนอีกแล้ว ในภาพ ส่วนที่เห็นเป็นสะพานโครงสร้างเหล็กและมีราวสะพานคือสะพานข้ามแยกสุรวงศ์ (ถนนสุรวงศ์ตัดกับถนนพระราม ๔) ซึ่งใต้สะพานข้ามแยกนี้เป็นสี่แยกไฟเขียวไฟแดง รถที่วิ่งไปจากถนนสุรวงศ์ สามารถไปได้ทั้งสามทิศทาง คือ ตรงไป เลี้ยวซ้าย และเลี้ยวขวา แต่ก่อนถึงสี่แยกนี้ประมาณ ๒๐ เมตร ดูด้านซ้ายมือของภาพ กลับพบป้ายห้ามเลี้ยวขวาซึ่งไม่ตรงกับความเป็นจริงซึ่งอนุญาตให้เลี้ยวได้ ป้ายนี้จึงไม่ได้มีไว้เพื่ออำนวยความสะดวกและทำให้เกิดการสัญจรที่ดี แต่กลับทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้ผ่านไปมา อย่าไปโทษเจ้าหน้าที่ตำรวจเลย เพราะป้ายจราจรไม่ได้อยู่ในความรับผิดชอบของเขา แต่อยู่ในความรับผิดชอบของกรุงเทพมหานครต่างหาก

แข่งขัน

ความหนาแน่นของป้ายโฆษณาเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญของสภาพการแข่งขันของกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ในพื้นที่ อีกทั้งยังเป็นตัวบอกกิจกรรมหลักในบริเวณนั้นอีกด้วย ซึ่งถ้าใครสามารถอ่านปรากฎการณ์นี้ได้ ก็จะสามารถเข้าใจความเป็นไปของพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ตัวอย่างเช่น ตึกแถวข้างย่านสถาบันการศึกษาในตัวเมืองระยอง เราสามารถอ่านเมืองได้โดยไม่ต้องเห็นสถานศึกษา เพราะการกระจุกตัวของร้านถ่ายเอกสารเป็นตัวชี้วัดที่ชัดเจน เนื่องจากนักเรียนนักศึกษาเป็นกลุ่มที่จะต้องใช้บริการถ่ายเอกสารมากที่สุด ดูจากในภาพ แค่ตึกแถวไม่เต็มสองบล็อกดี กลับมีร้านถ่ายเอกสารถึง ๕ ร้าน และแต่ละร้านก็มีป้ายโฆษณาเพื่อให้ลูกค้าทราบว่ามีร้านอยู่ตรงไหนบ้าง

อารยะขัดขืนหรือเปล่านะ

การวางผังเมืองรวมมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่ความเป็นเมืองที่ดีและส่งเสริมให้คนในพื้นที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง ผังเมืองรวมเป็นการริดรอนสิทธิในการพัฒนาที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย แถมยังไม่ต้องเสียค่าเวนคืนหรือค่าชดเชยให้กับผู้ครอบครองที่ดินที่ถูกจำกัดสิทธิจากข้อบังคับของผังเมืองรวมอีกด้วย การประท้วงจึงเกิดขึ้น

ในภาพ เป็นป้ายหน้าสำนักงานที่ดินจังหวัดระยอง พลาสติกที่ใช้เป็นป้ายถูกมือดีเอาของแข็งมาทุบเสียแตก ไม่แน่ใจว่าพลาสติกที่แตก ไม่รู้ว่าเนื่องมาจากการประท้วงผังเมืองรวม หรือเป็นเพียงพวกมือบอนธรรมดากันแน่ แต่ดูจากวิถีของการกระแทกแล้ว จงใจให้เข้ากลางผังเมืองรวมพอดีเลยทีเดียว

ส่อเจตนา

ในสังคมมนุษย์ จะต้องมีผู้รักษากฎหมาย เพื่อความสงบเรียบร้อยของสังคม แต่ก็มักจะพบว่าผู้รักษากฎหมายมีอำนาจเหนือกว่าคนอื่น ๆ ทำให้เกิดใช้อำนาจในทางที่ผิด จึงมีกลไกหลายประการเพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการละเมิดกฎหมายโดยผู้รักษากฎหมาย แต่มาตรการเหล่านั้นมักถูกปิดบังและบิดเบือน (โดยผู้รักษากฎหมายเอง) อยู่เสมอ ๆ


ตัวอย่างเช่น ป้ายของจุดตรวจแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นการป้องกันเจ้าหน้าที่ใช้อำนาจในทางที่ผิด ป้ายนี้จึงมีหมายเลขโทรศัพท์ของผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่เหล่านั้นติดอยู่ เพื่อว่าถ้ามีการใช้อำนาจในทางที่ผิดจะได้โทรศัพท์แจ้งได้ แต่หมายเลขหลักท้ายสุดกลับถูกลอกออกจากป้ายไฟ ทำให้มองเห็นได้ไม่ชัด คนที่จะโทรศัพท์แจ้งการใช้อำนาจในทางที่ผิดก็คงทำไม่ได้ ป้ายนี้เป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจ แล้วใครจะเป็นคนลอดตัวเลขหลักสุดท้ายออก ถ้าไม่ใช่ผู้ครอบครองป้ายนี้เอง