ประเทศไทยมี "สวนสัตว์" อยู่หลายแห่ง (เฉพาะสวนสัตว์จริง ๆ ไม่ใช่ "รัฐสภา") ซึ่งทุกแห่งล้วนเป็นสวนสัตว์ระดับภูมิภาคหรือประเทศทั้งสิ้น เช่น สวนสัตว์เขาดิน สวนสัตว์เขาเขียว สวนสัตว์เชียงใหม่ และยังมีสวนสัตว์ในลักษณะของ Theme Park อีกด้วย เช่น เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ซาฟารีเวิร์ล เป็นต้น ด้วยความเป็นสวนสัตว์ระดับภูมิภาคหรือประเทศ จึงมีสัตว์จำนวนมาก มีความหลากหลายมาก ตั้งอยู่บนพื้นที่ขนาดใหญ่ และมีจำนวนน้อยแห่ง ใครจะมาสัตว์แต่ละครั้งต้องคิดแล้วคิดอีก จะมาบ่อย ๆ ก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้อยู่ในจังหวัดหรือเมืองของตนเอง
แต่ในประเทศเยอรมนีคิดอีกแบบหนึ่ง เมืองขนาดกลางมักจะมีสวนสัตว์ประจำเมืองซึ่งมีขนาดไม่ใหญ่นัก และในเมืองใหญ่ก็จะมีสวนสาธารณะระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศ ที่มีจำนวนสัตว์และความหลากหลายของประเภทสัตว์มาก เมืองบางเมืองตั้งอยู่ไม่ได้ไกลจากเมืองใหญ่นัก แล้วทำไมไม่ไปสวนสัตว์ในเมืองใหญ่เลยล่ะ ทำไมต้องมามีสวนสัตว์ของตนเอง ซึ่งมีพื้นที่ขนาดเล็ก จำนวนสัตว์ก็ไม่มากนัก
คำตอบนี้ถูกเฉลยโดยคนเยอรมัน เขาให้คำตอบว่า สวนสัตว์ในเมืองใหญ่มีวัตถุประสงค์ต่างจากสวนสัตว์ในเมืองขนาดกลาง สำหรับเมืองใหญ่ สวนสัตว์มีหน้าที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีสัตว์จากทั่วโลกมาแสดง คนจะไม่ไปบ่อย ความคุ้นเคยความผูกพันกับสัตว์แต่ละตัวไม่มี รู้แต่ชื่อประเภทของสัตว์ ไม่รู้ชื่อตัวสัตว์นั้น และนาน ๆ ไปทีหนึ่ง เพื่ออัพเดทว่ามีสัตว์ใหม่ ๆ จากซีกโลกอื่นมาบ้างหรือไม่ แต่สวนสัตว์ในเมืองขนาดกลางจะมีสัตว์ท้องถิ่น มีการดูแลรักษาแบบท้องถิ่นไม่ได้มีเทคนิคสูงนัก และเด็ก ๆ จะมาดูสัตว์บ่อย ๆ รู้จักสัตว์เป็นชื่อตัวสัตว์ และเติบโตไปพร้อมกับสัตว์ตัวนั้น มีความผูกพันกับสัตว์มากกว่า มาเพื่อดูว่าสัตว์ตัวที่เขารู้จักเติบโตขึ้นมาอย่างไร ซึ่งวิถีแบบนี้ไม่สอดคล้องกับสวนสัตว์ระดับประเทศที่มีขนาดใหญ่ มีสัตว์มากเกินไป
วิถีของ "สวนสัตว์" แบบนี้สะท้อนวัฒนธรรมการเรียนรู้ที่แตกต่างกันระหว่างประเทศไทยกับเยอรมนีอย่างชัดเจน สำหรับประเทศไทยทุกอย่างรวมศูนย์หมด แม้กระทั่งสวนสัตว์ ความเป็นท้องถิ่นจึงหายไปจากวิถีไทย แต่ในเยอรมนีทุกอย่างกระจายตัว แม้แต่สวนสัตว์ก็ยังแบ่งให้เมืองไปรับผิดชอบ ซึ่งวิถีทั้งสองอย่างไม่ได้มีอย่างไหนดีกว่าอีกอย่างหนึ่ง เพียงแต่ทำให้คิดต่อในภาพรวมได้ จึงบันทึกเก็บเอาไว้อ่านตอนแก่เท่านั้นเอง