Sunday, December 9, 2007

การบูรณะฟื้นฟูระดับเมืองด้วยโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและจราจรระดับภาค

การบูรณะฟื้นฟูเมืองมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงพื้นที่เมืองที่เสื่อมโทรมลงให้กลับมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสอดคล้องกับความต้องการของยุคสมัย ซึ่งต้นเหตุสำคัญแห่งความเสื่อมโทรมของพื้นที่เมืองคือความล้าสมัยของโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบขนส่งและจราจร ซึ่งทำให้เกิดการเข้าถึงพื้นที่และเชื่อมโยงกับพื้นที่อื่นๆ ของเมือง การที่พื้นที่เดิมเสื่อมโทรมลงมักจะเกิดจากการที่ระบบขนส่งและจราจรแบบเดิมไม่สามารถรองรับรูปแบบการสัญจรแบบใหม่ที่ทันยุคทันสมัยได้ ทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่ควรจะตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวต้องย้ายไปตั้งในพื้นที่อื่นที่มีโครงข่ายถนนที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า นอกจากนี้ถนนยังเป็นที่ตั้งของสาธารณูปโภคที่จำเป็นต่อกิจกรรมเมือง เช่น ไฟฟ้า ประปา และระบบระบายน้ำเสีย เป็นต้น ซึ่งเมื่อโครงข่ายถนนล้าสมัย ระบบสาธารณูปโภคที่อยู่บนถนนเส้นนั้นก็มักจะล้าสมัยตามไปด้วย การบูรณะฟื้นฟูเมืองจึงมุ่งไปที่การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะเหล่านี้ให้เหมาะสมกับความต้องการของยุคสมัย เพื่อเป็นแรงดึงดูดต่อกิจกรรมต่าง ๆ ของเอกชนให้หันกลับมาสนใจในพื้นที่เมืองที่เคยเสื่อมโทรมอีกครั้ง

วัฏจักรแห่งการบูรณะฟื้นฟูเมืองในแง่มุมของการขนส่งและจราจร
เมื่อพิจารณาประเด็นของการบูรณะฟื้นฟูเมืองในแง่มุมของการขนส่งและจราจร สามารถสร้างวัฏจักรของการบูรณะฟื้นฟูเมือง ซึ่งมีขั้นตอนเกี่ยวเนื่องกันดังนี้
เมืองหรือพื้นที่มีโครงสร้างพื้นฐานไม่สอดคล้องกับความต้องการแห่งยุคสมัย เนื่องจากถนนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของกิจกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ถนนขนาด ๒ ช่องจราจร ในอดีตสามารถตอบสนองกับย่านการค้าบริเวณศูนย์กลางของเมืองได้ เนื่องจากเมืองมีขนาดเล็ก มีการสัญจรด้วยยานพาหนะขนาดเล็กและมีจำนวนไม่มากนักเป็นหลัก แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไป วิถีแห่งความเป็นย่านการค้าบริเวณศูนย์กลางของเมืองจะต้องมีการเข้าถึงที่ดีกว่าในอดีต ต้องสามารถรองรับปริมาณยานพาหนะจำนวนมาก และยานพาหนะก็มีขนาดใหญ่ขึ้น ซึ่งถนนขนาด ๒ ช่องจราจรเดิมไม่สามารถตอบสนองความต้องการของยุคสมัยได้อีกต่อไป ส่งผลให้กิจกรรมการค้าบริการเดิมที่เคยคึกคักอยู่ที่กลางเมือง ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของพลเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กิจกรรมหลักของพื้นที่เมืองย้ายออกจากพื้นที่เมือง โดยไปตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีระบบขนส่งและจราจรสอดคล้องกับความต้องการของกิจกรรมเหล่านั้น ซึ่งจะส่งผลให้บริเวณพื้นที่ตั้งของกิจกรรมเดิมเหล่านั้นถูกละทิ้งไปเลย หรืออาจถูกแทนที่ด้วยกิจกรรมบางประเภทที่มีมูลค่าและแรงดึงดูดทางเศรษฐกิจต่ำกว่ากิจกรรมเดิม ซึ่งมักจะทำให้คุณภาพชีวิตและความสามารถในเชิงธุรกิจของพื้นที่เมืองเดิมนั้นลดลง
ปรากฏการณ์ของกิจกรรมที่ย้ายออกไปก่อให้เกิดปัญหาเมืองในภาพรวม พื้นที่ศูนย์กลางของเมืองซึ่งเป็นบริเวณที่สามารถเดินทางจากทุกจุดในเมืองได้ในระยะทางที่สั้นที่สุดกลับไม่ได้ถูกใช้งานให้เหมาะสมกับศักยภาพในการเข้าถึง แต่กิจกรรมที่ต้องการการเข้าถึงและโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพในด้านราคากลับไปตั้งอยู่นอกเมืองในลักษณะของการกระจายตัวของกิจกรรมอย่างไร้ระเบียบ (Urban Sprawl) ส่งผลให้เกิดการเดินทางระยะไกลเกินกว่าความจำเป็น ต้นทุนของโครงสร้างพื้นฐานก็แพงกว่าเมืองแบบกระจุกตัว และเกิดกิจกรรมแบบเมืองเข้าไปในพื้นที่ชนบทที่ควรอนุรักษ์ เมื่อสังคมมนุษย์มีความซับซ้อนสูงขึ้น การแข่งขันทางธุรกิจระหว่างเมืองก็สูงขึ้นตามไปด้วย ทำให้เมืองที่มีการกระจายตัวของกิจกรรมอย่างไร้ระเบียบมีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าเมืองแบบกระจุกตัวและมีใช้สอยพื้นที่กลางเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ
เกิดแรงผลักดันให้เกิดการบูรณะฟื้นฟูเมือง เพื่อแก้ปัญหาการกระจายตัวของกิจกรรมอย่างไร้ระเบียบทำให้ต้นทุนของเมืองสูงขึ้นจนมีขีดความสามารถในการแข่งขันต่ำกว่าพื้นที่ที่เป็นคู่แข่ง ทำให้เกิดความพยายามที่จะต่อสู้เพื่อให้เมืองสามารถแข่งขันได้ แนวทางของการบูรณะฟื้นฟูเมืองจึงเป็นทางออกที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นการสร้างแรงดึงดูดให้กับพื้นที่เดิมของเมืองที่เสื่อมโทรมลงไปเนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานไม่สอดคล้องกับความต้องการของยุคสมัย ดังนั้นภารกิจหลักของการบูรณะฟื้นฟูเมืองมักจะเป็นการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่ควรจะอยู่ในบริเวณศูนย์กลางของเมือง และจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับกิจกรรมเหล่านั้น และเมื่อเมืองหรือส่วนหนึ่งของเมืองได้มีโครงสร้างพื้นฐานสอดคล้องกับความต้องการแห่งยุคสมัยแล้ว กิจกรรมต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับที่ตั้งก็จะกลับมาใช้พื้นที่เมืองเดิมอีกครั้ง และวัฏจักรนี้ก็จะย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง เมื่อความต้องการของยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปและความสามารถในการรองรับของพื้นที่เมืองนั้น ๆ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อเครื่องมือสำคัญในการบูรณะฟื้นฟูเมืองคือการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน องค์ประกอบที่ได้รับความสนใจมากที่สุดคือระบบขนส่งและจราจร เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึง (Accessibility) คือปัจจัยที่สำคัญในการเลือกที่ตั้งของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และ “ถนน” ก็ยังถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งของสาธารณูปโภคต่าง ๆ เช่น ระบบไฟฟ้า ระบบน้ำประปา ระบบสื่อสารแบบมีสาย ระบบระบายน้ำ และยังรวมไปถึงการให้บริการพื้นฐานต่าง ๆ เช่นการเก็บและขนถ่ายขยะมูลฝอยอีกด้วย เมืองหรือพื้นที่ของเมืองเสื่อมโทรมลงก็เนื่องมาจากถนนและสาธารณูปโภคไม่สามารถตอบสนองความต้องการของยุคสมัยได้ ดังนั้น การบูรณะฟื้นฟูเมืองด้วยการปรับปรุงระบบถนนจึงเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ตรงกับสาเหตุของปัญหาอย่างถูกต้อง

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของการปรับปรุงระบบถนนเพื่อการบูรณะฟื้นฟูเมืองก็คือการจัดรูปที่ดิน (Land Readjustment) ซึ่งนำเอาถนนที่ได้มาตรฐานกับความต้องการของยุคสมัย เข้ามาเป็นเครื่องมือในการจัดรูปร่างของที่ดินให้เหมาะสมกับการใช้งานของกิจกรรมในปัจจุบัน ซึ่งถนนที่ได้มาตรฐานดังกล่าวก็จะนำเอาสาธารณูปโภคที่ได้มาตรฐานเข้ามาสู่แปลงที่ดินต่าง ๆ อีกด้วย ส่งผลให้พื้นที่เดิมที่เคยมีถนนที่อาจจะเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบหนึ่งในอดีตแต่ไม่เหมาะสมกับความต้องการของยุคสมัยปัจจุบันแล้วกลับมาใช้งานได้อย่างสอดคล้องกับยุคปัจจุบันอย่างมีประสิทธิภาพ

การบูรณะฟื้นฟูเมืองกับระบบการขนส่งและจราจร
เมื่อจะนำเอาระบบขนส่งและจราจรมาเป็นเครื่องมือในการบูรณะฟื้นฟูเมืองในฐานะของโครงสร้างพื้นฐานของการเข้าถึงพื้นที่ และเป็นที่ตั้งของระบบสาธารณูปโภค ซึ่งจะต้องพิจารณาเลือกในรายละเอียดอย่างเหมาะสมว่าจะเลือกรูปแบบของถนนอย่างไร วางตัวในแนวใด มีองค์ประกอบอะไรบ้างบนถนนไม่ว่าจะเป็นสาธารณูปโภค และอุปกรณ์ประกอบถนน (Street Furniture) เข้าถึงพื้นที่ใดบ้าง ซึ่งหลักการในการพิจารณาวางแผนและออกแบบถนนจะต้องพิจารณ์อยู่ ๒ กรอบ คือ กรอบของพื้นที่ และ กรอบของเมืองหรือภูมิภาค
กรอบของพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของการบูรณะฟื้นฟูเมือง โดยพิจารณาจากความสอดคล้องระหว่าง “ระดับของความสามารถในการเข้าถึง” และ “ความสามารถในการให้บริการของระบบสาธารณูปโภคที่เดินอยู่บนถนน” กับ “การใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท” มาเป็นหลักการสำคัญ ถนนจะถูกแบ่งออกโดยลำดับศักย์ (Hierarchy) และถ่ายทอดออกมาเป็นลักษณะและองค์ประกอบของถนนตามลำดับศักย์ที่แตกต่างกัน (ดูภาพ ๒) และกิจกรรมแต่ละประเภทก็จะถูกพิจารณาระดับการเข้าถึงซึ่งนำไปสู่การเลือกลำดับศักย์ของถนนที่เหมาะสมต่อกิจกรรมในพื้นที่ต่อไป และถนนแต่ละลำดับศักย์ก็จะรองรับขนาดของสาธารณูปโภคที่แตกต่างกันตามไปด้วย ดังนั้น การปรับปรุงระบบถนนหรือสร้างถนนใหม่ในพื้นที่เป้าหมายเพื่อการบูรณะฟื้นฟูเมืองจึงต้องพิจารณาเลือกให้สอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินที่กำหนด
กรอบของเมืองหรือภูมิภาค เนื่องจากพื้นที่ที่ต้องการบูรณะฟื้นฟูเมืองเป็นส่วนหนึ่งของเมืองหรือภูมิภาค ระบบถนนและสาธารณูปโภคที่เข้ามารองรับความต้องการของพื้นที่จึงไม่ได้มีผลต่อพื้นที่เป้าหมายเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบกับเมืองทั้งเมือง หรือภูมิภาคทั้งภูมิภาคอีกด้วย การออกแบบระบบถนนและสาธารณูปโภคจึงต้องต่อเนื่องเป็นแนวทางเดียวกันกับเมืองหรือภูมิภาค ซึ่งต้องเริ่มต้นจากการกำหนดบทบาทของพื้นที่เป้าหมายในการบูรณะฟื้นฟูเมืองในระดับเมืองหรือภูมิภาคเป็นลำดับแรก แล้ววางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินและโครงสร้างพื้นฐานให้ตอบสนองกับบทบาทนั้น ๆ โดยคำนึงถึงการสอดประสานของโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งระบบถนนและสาธารณูปโภคที่จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับระบบของเมืองหรือภูมิภาค

ดังนั้น จึงสามารถสรุปได้ว่าการปรับปรุงระบบขนส่งและจราจรเพื่อการบูรณะฟื้นฟูเมืองไม่สามารถพิจารณาเพียงเฉพาะในพื้นที่เป้าหมายได้ แต่ต้องพิจารณาในระดับเมืองหรือภาคมหานคร เพราะมีผลกระทบต่อเนื่องในระดับที่ใหญ่กว่าพื้นที่เป้าหมายเสมอ จึงต้องมีการพิจารณาในขอบเขตระดับเมืองเป็นหลัก ตัวอย่างที่ดีในประเด็นดังกล่าว ได้แก่ โครงการ Europa-Viertel เมืองแฟรงเฟริต สหพันธรัฐเยอรมนี ซึ่งปรับปรุงพื้นที่สถานีรถไฟขนส่งสินค้าเดิมที่อยู่กลางเมือง ให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งใหม่ที่มีอาคารสำนักงาน สถานบันเทิงและที่พักอาศัย โดยพิจารณาการเชื่อมต่อกับทางหลวงแผ่นดินสาย A5 ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของประเทศ และโครงข่ายของระบบขนส่งมวลชนในระดับเมืองเป็นสำคัญ และโครงการ Zentrum Zürich Nord เมืองซูริค สมาพันธรัฐสวิส ที่นำเอาพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมที่เสื่อมโทรมมาบูรณะฟื้นฟูให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมทันสมัย สำนักงาน และที่พักอาศัยแห่งใหม่ด้านทิศเหนือของเมือง โดยสามารถเชื่อมต่อกับถนนสายหลักของประเทศและระบบขนส่งมวลชนในเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน

ตัวอย่างของโครงการบูรณะฟื้นฟูเมืองในทวีปยุโรป
การบูรณะฟื้นฟูเมืองในทวีปยุโรปใช้คำภาษาอังกฤษว่า Urban Regeneration แตกต่างจากสหรัฐอเมริกาที่ใช้คำว่า Urban Renewal (Wikipedia, 2007, online) ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่การใช้คำที่แตกต่างกันเท่านั้น แต่ในบริบทของการบูรณะฟื้นฟูเมืองแล้วยังแตกต่างกันอีกด้วย การบูรณะฟื้นฟูเมืองในสหรัฐอเมริกาเน้นหนักไปที่การแก้ปัญหาการเป็นชุมชนแออัด ด้อยคุณภาพ และเต็มไปด้วยปัญหาทางสังคมในพื้นที่กลางเมือง ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางเมืองในลักษณะของอาคารแถว (Row House) เสื่อมคุณภาพ จึงมุ่งเน้นการอนุรักษ์อาคารเดิม โดยการปรับปรุงให้มีคุณภาพดีขึ้นโดยพยายามให้รื้ออาคารเดิมให้น้อยที่สุด แต่ทางทวีปยุโรป โครงการบูรณะฟื้นฟูเมืองจะเป็นการเปลี่ยนประเภทการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินเดิมไม่ได้ใช้งานเนื่องจากการใช้งานไม่เหมาะสมกับยุคสมัย โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่เดิมไม่สามารถตอบสนองความต้องการในยุคปัจจุบันได้ จึงต้องรื้อถอนอาคารเดิมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานใหม่เกือบทั้งหมด เช่น การเปลี่ยนพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมเดิมที่ไม่เหมาะสมที่จะอยู่ในเมืองอีกต่อไปแล้ว ให้เป็นกลุ่มอาคารสำนักงานซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของยุคปัจจุบันมากกว่าโรงงานขนาดใหญ่ที่เคยเหมาะสมมาก่อนในอดีต

ด้วยบริบทของการบูรณะฟื้นฟูเมืองแบบในทวีปยุโรป โครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่เป้าหมายที่จะบูรณะฟื้นฟูเมืองจึงมีการเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก ซึ่งผลกระทบกับเมืองและภูมิภาคทั้งหมดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น กระบวนการวางแผนจึงต้องมีการพิจารณาผลกระทบและวางแผนในระดับเมืองและภาคเข้ามาเป็นประเด็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นของการปรับปรุงระบบขนส่งและจราจร และสาธารณูปโภค ซึ่งมีตัวอย่างของโครงการบูรณะฟื้นฟูเมืองในสหพันธรัฐเยอรมนีและสมาพันธรัฐสวิส ดังมีรายละเอียดดังนี้

โครงการ Europa-Viertel (European Headquarter)
โครงการนี้ตั้งอยู่ในกลางเมืองแฟรงเฟริต สหพันธรัฐเยอรมนี และเป็นโครงการบูรณะฟื้นฟูเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาค South Hessen พื้นที่โครงการมีขนาด ๒๒๐ เอเคอร์ เคยใช้เป็นสถานีศูนย์กลางรถไฟสำหรับขนสินค้าในภาคใต้ของประเทศ และมุ่งจะสร้างให้เป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจระหว่างประเทศที่ทันสมัย สอดคล้องกับการที่เมืองแฟรงเฟริตได้รับมอบหมายให้เป็นศูนย์กลางการเงินการธนาคารของสหภาพยุโรป (European Union – EU) ซึ่งโครงการนี้จะประกอบไปด้วย อาคารสำนักงาน ย่านการค้าและบริการระดับนานาชาติ และย่านพักอาศัยคุณภาพดีสำหรับคนเมือง โดยรวมแล้วมีพื้นที่ ๓๐๐,๐๐๐ ตารางเมตร ด้วยงบประมาณ ๔.๑ พันล้านเหรียญยูโร (ประมาณ ๒.๕ แสนล้านบาท) ในระยะเวลา ๑๐ ปี (Vivico Real Estate, 2003, online)

จุดสำคัญของโครงการได้แก่ถนนสายหลักซึ่งวิ่งผ่านตรงกลางของพื้นที่เป้าหมายจากด้านตะวันออกไปตะวันตก มีความกว้างถึง ๒๐๐ ฟุต ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นถนนสายประธานของเมือง เชื่อมโยงจากถนนสายหลักของประเทศหมายเลข ๕ (Autobahn 5) และผ่านพื้นที่เข้าสู่ศูนย์กลางของเมือง ซึ่งถนนเส้นดังกล่าวถูกกำหนดให้ทำหน้าที่ทั้งการเชื่อมโยงทางการสัญจรระหว่างประเทศกับเมือง และยังต้องทำหน้าที่เป็นพื้นที่โล่งว่างที่มีคุณภาพดีของพื้นที่ เป็นที่ตั้งของร้านค้าและทางเท้าที่ดีในลักษณะ Boulevard เช่นเดียวกับ Champs-Elysees ในมหานครปารีส โดยมีการจัดการให้มีถนนสำหรับการเดินทางผ่านพื้นที่โดยไม่แวะ (Through-Traffic) ซึ่งจะต้องเชื่อมเมืองแฟรงเฟริตกับทางหลวงระดับประเทศ และมีถนนสำหรับการเดินทางเข้าและออกจากพื้นที่โครงการโดยไม่เกี่ยวข้องกับการเดินทางผ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่พักอาศัยด้านตะวันตกของพื้นที่ ได้ถูกออกแบบให้มีทางลาดและอุโมงเพื่อแยกการสัญจรความเร็วสูงที่มีเสียงดังและก่อมลพิษออกจากบรรยากาศของการพักอาศัย นอกจากนี้ยังจะจัดให้มีสถานีรถไฟระดับเมือง (S-Bahn) และรถไฟใต้ดินภายในเมือง (U-Bahn) ให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่กับส่วนต่าง ๆ ของเมืองด้วยระบบขนส่งมวลชนได้อย่างสะดวกด้วย (Pujinda, 2006)

เมื่อมีการยอมรับว่าโครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในบริเวณที่มีความสำคัญต่อการเชื่อมต่อของระหว่างเมืองแฟรงเฟริตกับทางหลวงสายสำคัญของประเทศ จึงมีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะเพื่อรับผิดชอบการวางแผนระบบการขนส่งและจราจรโดยคำนึงถึงการเข้าถึงทั้งในระดับพื้นที่และภูมิภาค ภายใต้ชื่อ Konsilium Aktionsplan Integrale Verkehrskonzeption (Consilium Action Plan for Integrated Transportation Concept) ซึ่งประกอบด้วย ๔ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มคณะที่ปรึกษา (ผู้เชี่ยวชาญด้านการวางแผนระบบขนส่งและจราจร) กลุ่มองค์การการวางแผนพัฒนาพื้นที่ของภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่เป้าหมาย กลุ่มเอกชนผู้รับผิดชอบในการพัฒนาพื้นที่ และกลุ่มผู้รับผิดชอบในการวางแผนพื้นที่เป้าหมาย ซึ่งทั้งสี่กลุ่มนี้รวมตัวกันในรูปของคณะทำงานโดยมีเป้าหมาย ๓ ประการ (Pujinda, 2006) ได้แก่
• สร้างการเชื่อมโยงที่ดีและมีประสิทธิภาพทั้งในทางพื้นที่ (ระหว่างพื้นที่โครงการและระดับภูมิภาค) และในทางประเภทของยานพาหนะ (ระหว่างระบบทางเท้า ถนน และระบบราง)
• จัดทำมาตรการควบคุมการขนส่งและจราจรภายในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้พื้นที่โครงการมีการเข้าถึงที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีไปพร้อม ๆ กัน โดยให้ความสำคัญกับถนนในฐานะที่เป็นที่โล่งว่างของเมืองมากขึ้น
• ทำให้เกิดการเข้าถึงที่ดีสำหรับยานพาหนะส่วนบุคคลในพื้นที่โครงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณย่านสำนักงาน การค้าบริการ และศูนย์กลางสถานบันเทิงระดับเมือง

โครงการ Zentrum Zürich Nord (Zurich North Center)
โครงการนี้เป็นการเปลี่ยนพื้นที่อุตสาหกรรมดั้งเดิมขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์อีกต่อไปแล้วเนื่องจากมูลค่าทางเศรษฐกิจและผลกระทบจากการประกอบกิจการไม่สอดคล้องกับที่ตั้งซึ่งเป็นพื้นที่กลางเมือง ให้กลายเป็นพื้นที่การใช้ที่ดินแบบผสมผสานและเป็นโครงการบูรณะฟื้นฟูเมืองที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในสมาพันธรัฐสวิส โดยมีที่ตั้งอยู่ติดกับสถานีรถไฟที่สำคัญที่สุดของประเทศ (Zurich-Oerlikon)

โครงการนี้มีพื้นที่ ๖๑ เอเคอร์ และสร้างให้เกิดพื้นที่พักอาศัยแบบเมืองสำหรับคนจำนวน ๕,๑๐๐ คนและมีการจ้างงานใหม่อีก ๑๑,๖๐๐ ตำแหน่ง สำหรับอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูงและสำนักงาน มีศูนย์การค้าระดับเมืองอีก ๑ แห่ง และพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่และพื้นที่สีเขียวระดับเอง และมีความสำคัญทางที่ตั้งคือการตั้งอยู่บนพื้นที่ ๔ กิโลเมตรของแนวพื้นที่ทางเศรษฐกิจ (4-Kilometer Economic Corridor) ซึ่งเป็นโครงการพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ทางด้านเหนือของมหานครซูริค ระหว่างท่าอากาศยานนานาชาติซูริคและย่านธุรกิจ Zurich Nord/Oerlikon ซึ่งในอนาคตแนวพื้นที่พิเศษนี้จะมีระบบรถไฟระหว่างเมืองและระบบรถรางระดับเมืองเพื่อสร้างการเข้าถึงที่ดีตลอดแนวระยะ ๔ กิโลเมตรของโครงการ (Güller Güller architecture urbanism, 2001)

ประเด็นด้านการขนส่งและจราจรสำหรับโครงการนี้คือจะต้องมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการจราจรของภาคมหานครด้วย ดังนั้นการเดินทางที่จะเกิดขึ้นใหม่เนื่องจากโครงการนี้จะต้องเป็นการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะหรือการเดินทางด้วยยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องยนต์เป็นหลัก (การเดินเท้าและการขี่จักรยาน) ดังนั้น โครงการนี้จึงมีองค์ประกอบด้านการขนส่งและจราจรเป็นรถประจำทางสายใหม่จำนวน ๓ สาย รถรางสายใหม่ ๑ สาย โดยมีเป้าหมายที่จะลดการเดินทางด้วยยานพาหนะส่วนบุคคลจากร้อยละ ๕๕ ให้เหลือร้อยละ ๓๐ และเพิ่มการเดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนจากร้อยละ ๓๕ เป็นร้อยละ ๔๕ ส่วนการเดินทางด้วยการเดินเท้าและการขี่จักรยานให้เพิ่มขึ้นจากร้อยะล ๑๐ เป็นร้อยละ ๒๕ (Scholz, 1997)

เพื่อทำให้เป้าหมายด้านการขนส่งและจราจรดังกล่าวเป็นจริงตามเป้าหมายที่ได้ว่างไว้ จึงได้มีการจัดกลุ่มความร่วมมือเพื่อการวางแผนพัฒนาพื้นที่โครงการ ประกอบด้วย ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มบริษัทเอกชนเจ้าของที่ดินในโครงการ กลุ่มผู้บริหารเมืองซูริค และกลุ่มการรถไฟของประเทศ (ในฐานะผู้ให้บริการระบบขนส่งมวลชน) โดยกลุ่มความร่วมมือนี้จะทำการวางแผนพื้นที่ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการใช้ประโยชน์ที่ดิน ระบบการขนส่งและจราจร ระบบโครงสร้างพื้นฐาน รวมไปถึงการวางแผนขั้นตอนการดำเนินการก่อสร้างโครงการอีกด้วย (Pujinda, 2006)

บทส่งท้าย
การบูรณะฟื้นฟูเมืองเกิดขึ้นจากความต้องการที่จะทำให้ส่วนหนึ่งของเมืองที่เสื่อมโทรมลงไปเนื่องจากสาเหตุหลากหลายประการ ซึ่งสาเหตุหลักประการหนึ่งก็คือระบบถนนและสาธารณูปโภคที่เคยใช้ประโยชน์ได้อย่างดีในอดีตไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่การวางแผนและออกแบบระบบขนส่งและจราจรสำหรับโครงการบูรณะฟื้นฟูเมือง ไม่สามารถจะพิจารณาเพียงแค่การเข้าถึงเฉพาะภายในพื้นที่เป้าหมายได้ แต่พื้นที่เป้าหมายยังเป็นส่วนหนึ่งของเมืองที่ต้องมีระบบการขนส่งและจราจรที่สอดประสานกับระบบในภาพใหญ่ได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างของโครงการบูรณะฟื้นฟูเมือง ๒ แห่งในทวีปยุโรปเป็นตัวอย่างที่ดีของการวางแผนอย่างบูรณาการทั้งระหว่างการใช้ประโยชน์ที่ดินใหม่กับระบบการขนส่งและจราจร และระหว่างองค์ประกอบภายในโครงการกับองค์ประกอบของเมืองและภูมิภาค ซึ่งบทเรียนจากทั้งสองโครงการดังกล่าวน่าจะเป็นแนวทางที่ดีในการวางแผนการบูรณะฟื้นฟูเมืองในประเทศไทยต่อไป

เอกสารอ้างอิง
Güller Güller architecture urbanism (2001). From airport to airport city. Litogama, Barcelona.
Institut für Städtebau und Landesplanung (2007). Europa-Viertel. http://www.isl.uni-karlsruhe.de/fallmodule/europaviertel/europaviertel.htm. retrieved on December 8th, 2007.
Pujinda, P. (2006). Planning of land-use developments and transport systems in airport regions. Dissertation. Technische Universität Darmstadt. Darmstadt.
Scholz, R.W. (1997). Zentrum Zürich Nord – Stadt im Aufbruch. UNS – Fallstudie 1996 Bausteine für eine nachhaltige Stadtentwicklung. vdF Hochschulverlag AG an der ETH Zurich, Zürich.
Stadt Zürich (2007). Zentrum Zürich Nord, Neu-Oerlikon. Grun Stadt Zurich: Planung. www.stadt-zuerich.ch/.../planung/l_bach/zzn.html. Retrieved on December 8th, 2007.
Vivico Real Estate (2003). Information of project “Europa-Viertel”. http://www.vivico.com/de/downloads/niederlassungen/NL_Frankfurt_RZ.pdf. Retrieved on April 23, 2003.
Wikipedia (2007). Urban Renewal. www.wikipedia.org. Retrieved on June 22nd, 2007.