ช่วงปลายปีและปลายรัฐบาลอย่างนี้ กฎหมายต่าง ๆ รีบผ่านกันรวดเร็วกว่าปกติ และเรื่องร้อน ๆ ของคนในวงการศึกษาคือเรื่อง "มหาวิทยาลัยนอกระบบ" ซึ่งต่างคนก็ต่างความคิด มีทั้งเห็นร่วมกัน เห็นขัดแย้งกันอยู่ทั่วไป และผู้ที่เป็นหัวหอกในการประท้วงการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยก็คือ "อาจารย์มหาวิทยาลัย" นั่นเอง ผู้เขียนไม่ได้เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการออก/หรือไม่ออกนอกระบบราชการ แต่มีความเห็นว่าไม่ใช่เรื่องของอาจารย์มหาวิทยาลัยควรจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ เพราะอาจารย์เป็นเพียงลูกจ้างของรัฐบาล (กรณีอยู่ในระบบราชการ) หรือจะเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัย (กรณีออกนอกระบบราชการ) จึงเป็นผู้ได้หรือเสียประโยชน์กับการออก/ไม่ออก ซึ่งสาระของการจัดการมหาวิทยาลัยอยู่ที่ประโยชน์สาธารณะ ไม่ใช่ประโยชน์ของลูกจ้าง การออกมาแสดงความเห็นจึงไม่ได้มีความเป็นกลาง เพราะจะได้รับผลกระทบกับผลตอบแทน สวัสดิการ และสภาพการทำงาน ซึ่งเรื่องประโยชน์ของลูกจ้างองค์กร ไม่ใช่ประโยชน์ของประเทศแต่อย่างใด
การที่มหาวิทยาลัยจะมีการจัดการอย่างไร โดยหลักการแล้วจะต้องคำนึงถึงประโยชน์อันจะเกิดแก่ประเทศชาติเป็นหลัก ดังนั้น ประชาชนจะต้องเป็นผู้ตัดสินว่า มหาวิทยาลัยภายใต้ระบบราชการหรือนอกกำกับของรัฐบาลจะทำให้ "การศึกษา" ระดับอุดมศึกษาของประเทศดีที่สุด แล้วถ้าระบบนั้นดีที่สุดกับประเทศ แต่อาจารย์หน้าไหนมันไม่สามารถทำตัวสอดคล้องกับระบบนั้น ๆ ได้ ก็ให้มันลาออกหรือไล่มันออกไป เพราะมีพฤติกรรมเป็นตัวถ่วงต่อพัฒนาการศึกษาของประเทศชาติ ด้วยเหตุผลดังกล่าว อาจารย์มหาวิทยาลัยจึงควรหุบปากกับเรื่องจะออกหรือไม่ออกเสีย แล้วให้ประชาชนเขาตัดสิน อาจารย์มองดูเฉย ๆ ก็พอแล้ว
และเรื่องที่ร้อนที่สุดคือเรื่องของ "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ซึ่งการออกหรือไม่ออกไม่น่าจะเป็นสาระ ประเด็นที่กลัวกันเหลือเกินคือค่าเล่าเรียน ที่กลัวว่าถ้าออกนอกระบบแล้วจะแพงขึ้นมาก จนจะมีแต่ลูกคนมีฐานะดีเท่านั้นที่จะมีปัญญาจ่ายค่าเล่าเรียนได้ ตรงนี้ก็ไม่ใช่ปัญหาอันเนื่องมาจากการออก/ไม่ออกนอกระบบอยู่ดี จะอยู่ในระบบราชการแล้วเก็บแพงก็ได้ หรือในทางกลับกัน จะออกนอกระบบราชการแล้วคิดค่าเล่าเรียนถูกก็ทำได้ มันอยู่ที่วิธีการจัดการ ไม่ใช่รูปแบบขององค์กร
ตามพระราชปณิธานของ ร.๕ และ ร.๖ ที่ก่อตั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้นก็เพื่อ "ให้ทุกคน ไม่ว่ายากดีมีจนมีสิทธิเรียนอย่างเท่าเทียมกัน" จึงได้พระราชทานที่ดินไว้จำนวนมากเพื่อให้เป็นสินทรัพย์ของมหาวิทยาลัย แล้วนำไปทำประโยชน์ได้เงินกลับมาทำให้ค่าเล่าเรียนอยู่ในอัตราที่ทุกคนจ่ายได้ แล้วก็มีผู้บริหารเอามาตีความให้บิดเบือนว่า "ค่าเล่าเรียนแพงได้ แต่ให้ทุนคนยากจน" อันนี้ผิดกับพระราชปณิธานที่ระบุไว้ว่า ค่าเล่าเรียนควรจะอยู่ในอัตราที่ "ทุกคน" จ่ายได้ ดังนั้น ค่าเล่าเรียนต้องถูก ให้คนที่จนที่สุดจ่ายได้ด้วย ปรากฎการณ์ตีความแบบศรีธนญชัยอย่างนี้ แสดงให้เห็นชัดว่า แม้จะยังอยู่ในระบบราชการ ถ้าอยากจะเก็บแพงก็ทำได้
ทิ้งท้ายไว้ด้วยคำถามที่ว่าแล้วจะจัดการอย่างไร ก็คงย้อนกลับไปที่ย่อหน้าที่สองว่า คงไม่ได้พิจารณาแต่ละมหาวิทยาลัย แต่คงต้องพิจารณาทั้งกระบวนการศึกษา แล้วมากำหนดบทบาทว่า "สถาบันอุดมศึกษา" ที่ดีสำหรับประเทศไทย ต้องเป็นอย่างไร อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ ตามความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน หรือสถานที่ตั้ง แล้วค่อยถ่ายทอดความคิดนี้ไปสู่รูปแบบการจัดการ อย่างเอาปลายน้ำ (รูปแบบการจัดการสถาบันการศึกษา) เป็นที่ตั้ง แล้วบอกว่าต้นน้ำ (ภารกิจ พันธกิจของสถาบันการศึกษา) ต้องทำตาม และที่สำคัญ อาจารย์มหาวิทยาลัยควรจะอยู่เฉย ๆ กับเรื่องนี้เถอะ อย่าให้คนที่เขาไม่เห็นด้วยกับท่านออกมาโจมตีได้ว่า ที่ประท้วงเพราะกลัวตัวเองเสียประโยชน์ดีกว่า เอ๊ะ หรือว่ากลัวเสียประโยชน์ส่วนบุคคลจริง ๆ แล้วเอาประโยชน์สาธารณะมาบังหน้านะ