หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ฉบับวันนี้ (ศุกร์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๐) หน้า ๗ ได้มีข่าวจั่วหัวว่า "ทอท. บักโกรกขาดสภาพคล่อง สั่งดับไฟ-ไล่ทวงหนี้หารายได้" ในเนื้อข่าวก็ระบุเอาไว้ว่า ทอท.กำลังมีปัญหาด้านสภาพคล่องทางการเงินเนื่องจากขาดรายได้จากบริษัทคิงพาวเวอร์ ปีละ ๓ พันล้านบาท เนื่องจากอยู่ในระหว่างการฟ้องร้องกัน และรายจ่ายในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมาเป็นค่าไฟฟ้าถึง ๑,๔๐๐ ล้านบาท (ย้ำอีกครั้ง "หนึ่งพันสี่ร้อยล้านบาท)
รายจ่ายจำนวนดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าตกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะสนามบินเป็นประตูที่จะเชื่อมโยงประเทศกับโลก ซึ่งผู้ใช้งานต้องจ่ายค่าผ่านประตูในรูปแบบรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะจ่ายผ่านภาษีสนามบิน ค่าโดยสารเครื่องบิน ฯลฯ และเมื่อ "สนามบิน" ต้องมีการแข่งขันกับสนามบินอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องมี "ค่าผ่านประตู" อยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้กับคู่แข่งอื่น ๆ ดังนั้น การออกแบบสนามบินจึงเน้นที่ "ประสิทธิภาพ" ซึ่งถูกกำหนดด้วยมาตรฐานการเดินอากาศแบบเดียวกันทั่วโลกอยู่แล้ว และต้อพิจารณาควบคู่ไปกับ "ขีดความสามารถในการแข่งขัน" จึงต้องพยายามออกแบบให้เป็นสนามบินที่ "สะดวกในการใช้งาน" พร้อมไปกับ "ความประหยัด" เพื่อให้สนามบินของชาติมีแรงดึงดูดมากกว่าสนามบินอื่น ๆ ที่อยู่ในระดับเดียวกัน
จากแนวความคิดดังกล่าว หมายความว่า ค่าบำรุงรักษาสนามบินจะต้องทำให้ต่ำที่สุดที่จะยังคงทำให้สนามบินมีความสะดวกในการใช้งานเทียบเท่าหรือดีกว่าสนามบินคู่แข่ง ซึ่งหลักการนี้ต้องอยู่เหนือกว่า "ความสวยงาม" และ "ความหรูหรา" ลองคิดดูว่า ชาวต่างชาติที่เดินทางมาประเทศไทยล้วนแต่มาเพราะความดี/ความงาม/แรงดึงดูดของประเทศ ไม่มีใครจะมาเมืองไทยเพราะสนามบินของเราสวยหรือหรูหราแต่อย่างใด และถ้าต้นทุนของการมาเมืองไทยพงกว่าคู่แข่งที่อยู่ในระดับเดียวกัน เพราะว่าสนามบินของเราไม่ได้ออกแบบโดยมีหลักการของความประหยัดเป็นพื้นฐานสำคัญ ก็เป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่ง