Monday, December 10, 2007

จากวิกฤติพลังงานก้าวสู่วิกฤติพลังงานทดแทน

ปัญหาสำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกันอยู่ก็คือวิกฤติการณ์น้ำมัน ที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ และมีแนวโน้มว่าน้ำมันจะหมดโลกในอีก ๓๐ ปีข้างหน้า จึงเกิดแรงผลักดันให้มีการคิดค้นพลังงานทดแทนขึ้นและเริ่มมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศไทย ได้แก่ แกสโซฮอลล์ (น้ำมันเบนซินผสมกับเอทานอล) และไบโอดีเซล ซึ่งหน่วยงานภาครัฐก็ได้สนับสนุนทั้งการผลิตและโฆษณากันอย่างไม่ลืมหูลืมตา จนคิดว่าพลังงานทดเแทนทั้งสองเป็นของวิเศษ จนมองข้ามปัญหาที่เป็นผลข้างเคียงหลายประการ

ประการที่หนึ่ง การโฆษณาแล้วทำให้คนเข้าใจว่าน้ำมันแกสโซฮอลล์สามารถใช้แทนน้ำมันเบนซินได้กับรถทุกประเภท ถึงขนาดโฆษณาว่าถ้าเครื่องยนต์เสียหายจากการใช้น้ำมันแกสโซฮอลล์จะซ่อมแซมให้ฟรี โยเน้นหนักที่รถที่ผลิตหลังจากปี ค.ศ.๑๙๙๕ (พ.ศ.๒๕๓๘) แต่จริง ๆ แล้วมีรถจำนวนมากที่ไม่สามารถใช้น้ำมันแกสโซฮอลล์ได้ ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดคือ รถยนต์ BMW รุ่น Series 5, E-34 (1989 - 1997) ซึ่งน่าจะใช้น้ำมันแกสโซฮอลล์ ๙๕ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถที่ผลิตตั้งแต่ปี ๑๙๙๕ เป็นต้นไป แต่พอตรวจสอบกับเวปไซด์ของผู้ผลิตรถยนต์ BMW แล้วพบว่าไม่มีชื่อของรถรุ่นนี้อยู่ในรายการของรถที่สามารถใช้แกสโซฮอลล์ได้แต่อย่างใด แสดงว่าผู้ผลิตรถเองยังไม่ยืนยันว่ารถรุ่นนี้สามารถใช้แกสโซฮอลล์ได้ แต่ภาครัฐที่ไม่ใช่ผู้ผลิตกลับกล้ารับประกันความเสียหายเชียวหรือ http://www.bmw.co.th/th/th/index_narrowband.html?content=http://www.bmw.co.th/th/th/general/bmwinsight/gasohol.html

ประการที่สอง การชูเอาแกสโซฮอลล์และไบโอดีเซลมาเป็นพลังงานทดแทนและเป็นพลังงานแห่งอนาคตมีผลข้างเคียงที่ไม่ได้รับการนำเสนอสู่สาธารณชนมากนัก เพราะน้ำมันทั้งสองประเภทต้องอาศัยพืชพลังงานมาเป็นวัตถุดิบในการผลิต น้ำมันแกสโซฮอลล์ใช้ "เอทานอล" ซึ่งผลิตจาก "อ้อย" และไบโอดีเซลผลิตจาก "น้ำมันปาล์ม" ซึ่งผลิตจาก "ปาล์มน้ำมัน" ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนว่าพลังงานทั้งสองนี้น่าจะเหมาะสมกับประเทศไทยเพราะมีพื้นที่เกษตรที่อุดมสมบูรณ์ แต่ลองคิดไปถึงพฤติกรรมการผลิตกับรายได้ที่จะได้รับกลับมา ถ้าพลังงานทั้งสองได้รับความนิยมมากขึ้น มีราคาและมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น เอกชนก็จะไปลงทุนซื้อพื้นที่เกษตรคุณภาพดีที่ใช้ปลูกพืชประเภทอื่นอยู่มาปลูกอ้อยและปาล์มน้ำมันกันหมด เพราะปลูกสองอย่างนี้ขายได้ราคาดีกว่าปลูกพืชชนิดอื่น ฟังดูเหมือนจะดี เพราะเกษตรกรน่าจะมีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย แต่พืชพลังงานมีลักษณะทางเศรษฐกิจแตกต่างจากน้ำมันโดยสิ้นเชิง "น้ำมัน" สามารถใช้เป็นพลังงานได้เพียงเดียว ทำอย่างอื่นไม่ได้เลย และพื้นที่ที่มีน้ำมันส่วนใหญ่ก็เป็นทะเลทราย หรือในทะเลซึ่งไม่สามารถใช้งานประเภทอื่นได้เลย ในขณะที่พืชพลังงานอย่าง "อ้อย" ถูกใช้ในประโยชน์ที่หลากหลาย ทั้งบริโภคโดยตรง นำมาผลิตน้ำตาล และนำไปผลิตแอลกอฮอล์ (ใช้ทำสุราเป็นวัตถุดิบในการผลิตอื่น ๆ อีกด้วย) ถ้าเรานำเอาอ้อยไปใชักับการทำเอทานอลทั้งหมด เราคงต้องนำเข้าน้ำตาลและเอทานอลเพื่อการผลิตอื่น ๆ ใช่หรือไม่ และพื้นที่เพาะปลูกอ้อย / ปาล์มน้ำมัน ก็เป็นพื้นที่ที่สามารถทำอย่างอื่นได้เช่นกัน ด้วยพฤติกรรมที่แตกต่างกันนี้ ทำให้มี "ค่าเสียโอกาส" จากการปลูกพืชพลังงานมากกว่า "น้ำมัน" เป็นอย่างมาก ดังนั้น การพิจารณาว่า "คุ้ม" หรือ "ไม่คุ้ม" กับการสนับสนุนให้ใช้พล้งงานทดแทนแทนที่น้ำมันจะต้องเอา "ค่าเสียโอกาส" นี้มาพิจารณาอย่างละเอียดด้วย

สำหรับประเด็นนี้ เคยเป็นเรื่องถกเถียงในสหพันธรัฐเยอรมนีเมื่อประมาณ ๕ ปีที่ผ่านมา เมื่อมีการคิดค้นให้รถยนต์สามารถใช้ "ไฮโดรเจน" มาเป็นพลังงานขับเคลื่อนแทนน้ำมันได้ และเป็นพลังงานที่สะอาด เพราะแทนที่จะปล่อยไอเสียออกมาจากเครื่องยนต์แบบน้ำมัน พลังงานไฮโดรเจนปล่อยน้ำสะอาดออกสู่บรรยากาศแทน การถกเถียงเป็นเรื่องของผลข้างเคียงของการใช้ "ไฮโดรเจน" เพื่อเป็นพลังงาน เพราะการผลิตไฮโดรเจนทำโดยการเอาน้ำมาแยกไฮโดรเจนออกจากองค์ประกอบ ดังนั้น เมื่อมีความต้องการน้ำเพื่อมาผลิตไฮโดรเจนมากขึ้น ก็จะทำให้ราคาน้ำบริสุทธิ์แพงขึ้นตามไปด้วย แต่ "น้ำ" คือสิ่งจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ถ้าน้ำถูกเอาไปใช้เป็นพลังงานแล้วจะทำให้น้ำอุปโภคบริโภคราคาสูงขึ้นตามไปด้วย ผลการถกเถียงดังกล่าวส่งผลให้โครงการใช้ไฮโดรเจนเป็นพลังงานรถยนต์ถูกพับเก็บเอาไว้ก่อน

ประการที่สาม ต่อเนื่องกับประการที่สองคือ เมื่อการปลูกพืชพลังงานมีมูลค่าสุงขึ้น ก็จะส่งผลให้เกิดพฤติกรรม "การปลูกพืชเชิงเดี่ยว" คือมุ่งปลูกแต่อ้อยและปาล์มน้ำมัน เพราะมีมูลค่าสูง ใครจะโง่ปลูกพืชชนิดอื่นอยู่ถ้าราคาต่ำกว่าพืชพลังงาน ผลก็คือการทำให้ดินเสื่อมโทรมเนื่องจากการปลูกพืชชนิตเดียว ซึ่งประเด็นนี้ขัดกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างชัดเจน ที่เน้นการปลูกพืชผสมผสาน และการมีชีวิตอยู่อย่างพอเพียง

ทั้งสามประเด็นที่กล่าวมาเป็นเพียงผลกระทบในเบื้องต้นและเป็นผลกระทบโดยตรงเท่านั้น ยังมีผลกระทบโดยอ้อมอีกมากซึ่งจำเป็นต้องผ่านการคิดจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนอย่างรอบคอบก่อนกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป