ลองมาดูเรื่องเกี่ยวกับรถฉุกเฉิน (ในลักษณะ ๗) ซึ่งหมายถึงรถตำรวจ รถดับเพลิง รถพยาบาล เป็นต้น
มาตรา ๗๖ (๑) "คนเดินเท้าไม่หยุดและหลบให้ชิดขอบทางหรือขึ้นไปบนทางเขนปลอดภัยหรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด เพื่อให้รถฉุกเฉินที่ใช้ไฟสัญญาณวับวาบหรือเสียงสัญญาณไซเรนผ่านไปก่อน" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๔๘ ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท"
มาตรา ๗๖ (๒) "ไม่หยุดรถชิดขอบทางด้านซ้ายหรือชิดช่องเดินรถประจำทางด้านซ้ายให้รถฉุกเฉินที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือเสียงไซเรนผ่านไปก่อน" (แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถในทางร่วมทางแยก) มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๔๘ ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท"
มาตรา ๗๖ (๓) "ไม่บังคับสัตว์ให้หยุดชิดขอบทางให้รถฉุกเฉินที่ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบหรือเสียงสัญญาณไซเรนผ่านไปก่อน" (ใช้บังคับผู้ขับขี่หรือควบคุมสัตว์) มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๔๘ ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท"
เห็นได้ชัดว่า กฎหมายได้ให้สิทธิกับรถฉุกเฉิน โดยมีความมุ่งหมายให้รถที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเป็นความตายของพลเมือง และสาธารณภัยสามารถไปปฏิบัติหน้าที่ได้เร็วที่สุดโดยไม่ติดขัด คนกรุงเทพฯ อาจจะคิดว่าจะให้ฉันไปหลบที่ไหน ก็ถนนมันเต็มขนาดนั้น อยากจะหลบก็หลบไม่ได้หรอก อันนี้เป็นตัวชี้วัดสำคัญว่า เมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้มาตรฐานตามลักษณะของ "เมืองปลอดภัย" เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ไม่สามารถให้บริการในกรณีฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที
ที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ กฎหมายให้อภิสิทธิ์เฉพาะรถฉุกเฉินเมื่อปฏิบัติภารกิจอยู่เท่านั้น คือต้องแสดงไฟสัญญาณวับวาบหรือเสียงไซเรนเท่านั้น จึงจะมีอภิสิทธิ์ ไอ้ที่ไม่ได้ปฏิบัติการ ไม่เปิดไฟ ไม่เปิดไซเรน แต่ขับขี่แบบมีอภิสิทธิ์นี่กฎหมายไม่รับรองนะ รถฉุกเฉินในเวลาปกติก็ต้องปฏิบัติตนอย่างรถปกติ ไม่ใช่มีสิทธิพิเศษอยู่ตลอดเวลา