Sunday, December 2, 2007

กฎจราจรแสนสนุก ๓

มาต่อกันกับ มาตราต่าง ๆ ในพรบ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ กันเถอะ

มาตรา ๓๖ วรรคสาม "ให้สัญญาณเป็นระยะทางน้อยกว่า ๓๐ เมตร ก่อนที่จะเลี้ยวรถ เปลี่ยนช่องเดินรถ จอดรถ หรือหยุดรถ" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๔๘ ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท"
จะเปลี่ยนช่องทาง จะเลี้ยวต้องให้สัญญาณล่วงหน้า ไม่ใช่จะทำก็ทำเลย

มาตรา ๔๓ (๗) "ขับรถบนทางเท้าโดยมไม่มีเหตุอันสมควร (เว้นแต่รถลากเข็นสำหรับทารก คนป่วย หรือคนพิการ)" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๕๗ ปรับตั้งแต่่ ๔๐๐ - ๑,๐๐๐ บาท"
อันนี้เป็นคนทำผิดอยู่ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นมอเตอร์ไซค์ จักรยาน หรือรถเข็นขายของ แสดงว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเห็นว่า พวกที่ทำผิดกฎหมายนี้ "มีเหตุอันสมควร" ทั้งหมดจึงไม่ทำการจับกุม ดำเนินคดี และยังเป็นเรื่องน่าสนใจว่า ทัศนคติของคนไทยเห็นว่ารถเหล่านี้ไปวิ่งบนทางเท้าเป็นเรื่องไม่ผิด แต่กฎหมายว่าผิด นี่คือความขัดแย้งระหว่างวิถีประชากับกฎหมายซึ่งต้องทำความเข้าใจกับสังคมให้ได้ว่าอย่างไหนถูกต้อง

มาตรา ๔๖ (๒) "ขับรถแซงขึ้นหน้ารถอื่นภายในระยะ ๓๐ เมตร ในกรณีต่อไปนี้ ๑.ก่อนถึงทางข้าม ๒.ก่อนถึงทางร่วมทางแยก ๓.ก่อนถึงวงเวียนหรือเกาะที่สร้างไว้ และ ๔.ก่อนถึงทางเดินรถที่ตัดข้ามทางรถไฟ" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๕๗ ปรับตั้งแต่่ ๔๐๐ - ๑,๐๐๐ บาท"
ถามจริง ๆ มีใครรู้กฎหมายข้อนี้บ้าง ตำรวจจราจรเองยังไม่รู้เลยมั้ง

มาตรา ๕๓ (๒) ว่าด้วยการกลับรถ "มี ๕ กรณี ได้แก่ ๑.กลับรถในเขตปลอดภัย ๒.กลับรถในที่คับขัน ๓.กลับรถบนสะพาน ๔. กลับรถภายในระยะ ๑๐๐ เมตรจากทางราบของเชิงสะพาน และ ๕.กลับรถที่ทางร่วมทางแยก (เว้นแต่จะมีเครื่องหมายจราจรให้กลับรถได้)" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๕๗ ปรับตั้งแต่่ ๔๐๐ - ๑,๐๐๐ บาท"
กฎหมายข้อนี้ก็ไม่ค่อยมีคนรู้ มักจะคิดว่าตรงไหนที่ไม่มมีป้ายห้ามก็กลับรถได้ แต่ตามกฎหมายแล้ว "กลับรถไม่ได้เลย ยกเว้นที่ที่มีป้ายอนุญาตให้กลับรถได้" ผู้เขียนอยู่บนถนนเพชรบุรี จะไปโรงพยาบาลพระราม ๙ พอเลี้ยวเข้าถนนที่เชื่อมระหว่างถนนเพชรบุรีกับแยกอสมท. ก็พบว่าเขาห้ามเลี้ยวขวาบริเวณใต้ทางด่วนเพื่อเข้าโรงพยาบาลทางด้านหลัง ถ้าจะไปเข้าด้านหน้าโรงพยาบาลทางถนนพระราม ๙ ก็ต้องอ้อมไกล จึงโทรศัพท์ไปถามที่โรงพยาบาล เขาโอนไปให้ฝ่ายยานพาหนะตอบ เขาบอกว่า "ให้กลับรถตรงแยกอสมท.นั่นแหละ" ผู้เขียนพอจะรู้กฎหมายจราจรอยู่บ้าง (ถึงจะไม่มากนัก ก็คงมากกว่าพนักงานของโรงพยาบาล) ก็เถียงเขาไปว่า "กลับรถไม่ได้ครับ" เขาตอบว่า "ได้ครับ ไม่มีป้ายห้ามกลับรถ" ผู้เขียนยังดื้อเถียงไปว่า "ไม่มีป้ายห้ามกลับรถ คือกลับไม่ได้ เพราะเป็นทางร่วมทางแยก ต้องมีป้ายให้กลับได้จึงจะกลับรถได้" พนักงานของโรงพยาบาลไม่รู้จะทำอย่างไรกับไอ้บ้านี่ดี เลยตอบมาว่า "ใคร ๆ เขาก็กลับรถตรงนี้กันทั้งนั้น ตำรวจไม่เคยจับเลย" อ้าวยังไปหาว่าเจ้าหน้าที่เขาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่เสียอีก ผู้เขียนคิดว่าคงพึ่งพาพนักงานโรงพยาบาลไม่ได้ก็วางหูไป แล้วก็ไปอ้อมเสียไกล เสียเวลาไปเอง ผู้ที่หลับหูหลับตาทำผิดกฎหมายเขาคงสบายไม่ต้องเสียเวลาอย่างผู้เขียน ไมน่ารู้มากเลย