Tuesday, January 1, 2008

"สมานฉันท์" สิ่งที่กำลังจะเป็น NATO (No Action Talk Only)

คำว่า "สมานฉันท์" กำลังเป็นกระแสสำคัญของสังคมไทยในปีใหม่ ๒๕๕๑ เนื่องจากปัญหาที่เรื้อรังในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาคือความขัดแย้งกันอย่างชัดเจนของ ๒ ขั้ว คือ ขั้วทักษิณ กับ ขั้วไม่เอาทักษิณ ซึ่งถ้าแยกเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ก็จะแบ่งเป็นขั้วภาคเหนือและอีสาน (ทักษิณ) และขั้วภาคกลางและภาคใต้ (ไม่เอาทักษิณ)นักวิชาการหลายคนถึงกับกล่าวว่าความขัดแย้งครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดของสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่างฝ่ายต่างก็มีจุดยืนของตนเองที่ขัดผลประโยชน์กับอีกฝ่ายหนึ่ง นำมาซึ่งการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการล้างไพ่ใหม่โดยผ่านการปฏิวัติของ คมช. การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ความพยายามทั้งสามนั้นไม่ประสบความสำเร็จ สังคมไทยยังคงขัดแย้งกันอย่างรุนแรงต่อไป จึงเกิดแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ คือ การ "สมานฉันท์"

แต่การผลักดันเรื่อง "สมานฉันท์" ของคนไทยเป็นเพียงแค่การป่าวประกาศว่า ฉันต้องการสมานฉันท์นะจ๊ะ แต่ลืมไปว่า ไอ้ที่จะ "สมานฉันท์" กันได้ ก็ต้องก้าวเข้าไปถึง "ประเด็นความขัดแย้ง" ว่าขั้วของฉันขัดแย้งกับขั้วของเธอในประเด็นไหน ซึ่งไม่เห็นมีใครกล่าวถึงประเด็นนั้นเลย นับเป็นเรื่องที่น่าสงสัยมาก เพราะคนไทยที่ฉลาดก็มีเยอะ จะอ่านไม่ออกเชียวหรือว่าจะ "สมานฉันท์" กันได้จะต้องแก้ไข "ความขัดแย้ง" กันเสียก่อน ตริตรองไปเรื่อย ๆ คำตอบก็จบลงที่ว่า "ประเด็นความขัดแย้ง" สำคัญของสังคมไทยเป็นประเด็นที่ยอมลงกันให้ไม่ได้ จึงแก้ไขไม่ได้ด้วย "สมานฉันท์" เพราะถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งยอมลดความต้องการลง ตนเองจะแพ้หรือสูญเสียทันที ซึ่งภาษาเทคนิคของความขัดแย้งประเภทนี้ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Impasse นับเป็นประเด็นความขัดแย้งสูงสุด ปรองดองหรือเจรจาตกลงกันไม่ได้ ต้องให้คนกลางตัดสินว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด จะไกล่เกลี่ยก็ไม่ได้ด้วย ต้องมีคนถูกและคนผิดเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ขั้วเหนือ-อีสานบอกว่า ทักษิณดี ทักษิณถูก แต่ขั้วกรุงเทพฯ-ใต้บอกว่า ทักษิณไม่ดี ทักษิณผิด ความขัดแย้งตรงนี้จะไกล่เกลี่ย สมานฉันท์กันอย่างไร จะบอกว่าทักษิณกลาง ๆ ไม่ผิดไม่ถูก ไม่ดีไม่เลว ก็ไม่ได้

เมื่อเอาหลักวิชาการของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง (Conflict Resolution) มาจับกับประเด็นความขัดแย้งของสังคมไทยในปัจจุบัน ก็พบว่า จะต้องใช้เครื่องมือ ๒ ตัวซ้อนกันเพื่อแก้ปัญหา ตัวแรกคือ กฎหมาย คือต้องตัดสินไปตามตัวบทกฎหมายว่าใครถูกใครผิด ให้เป็นบรรทัดฐานของสังคม รวมถึงให้ลูกให้หลานไทยได้รับรู้ว่า "ถูก/ผิด" คิออะไร แล้วหลังจากนั้น ก็ค่อยมาทำการ "สมานฉันท์" คือการใช้มาตรการทางสังคมมาประสานผู้ทำผิดให้กลับมาเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" เหมือนกับที่เคยใช้กับคอมมูนิสต์เมื่อสองทศวรรตที่ผ่านมา สาระสำคัญมาก ๆ ของวิธีการ Conflict Resolution สำหรับประเด็นปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันคือ ฝ่ายตุลาการต้องกล้าหาญและยึดมั่นในหลักการของความถูก/ผิด เพียงพอที่จะกล้าชี้ถูก-ผิดให้สังคมได้รับรู้ (ไม่ใช่แต่เรื่องของทักษิณกับ ทรท. (คอรัปชั่น) แต่ต้องรวมถึงฝ่ายพันธมิตร ปชป. และชท. (ใส่ร้ายป้ายสี ล้มการเลือกตั้ง) ด้วย) ผู้ผิดก็ต้องรับโทษไปตามสมควรต่อการกระทำ และให้ขั้วของผู้ทำผิดรับรู้ว่าฝ่ายของตนผิดนะ แล้วก็ค่อยมาสมานฉันท์กันต่อไป

จะเห็นได้ว่า ฝ่ายตุลาการคือเสาหลักแห่งการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงขอให้กำลังใจท่านผู้พิพากษาทุกท่าน ให้ตัดสินโดยหลักของกฎหมาย ไม่ต้องกลัวคำขู่ว่า ถ้าตัดสินให้คนนั้นคนนี้ผิดประเทศจะลุกเป็นไฟ หน้าที่ของท่านคือชี้ถูก/ผิด จะเกิดอะไรขึ้นก็ให้ฝ่ายบริหารบ้านเมืองเขาไปควบคุมจัดการทีหลัง กรุณาทำหน้าที่ของท่านให้สมกับที่สังคมไทยคาดหวังด้วยเถิด

หมายเหตุ - "สวัสดีปีใหม่" ผู้โชคร้ายที่หลงเข้ามาอ่านบล็อกบ้า ๆ นี้ ผู้เขียนมิได้ถือหางข้างใดทั้งสิ้น การเลือกตั้งทุกครั้ง ผู้เขียนจะการในช่อง "ไม่ลงคะแนน" ทุกครั้ง เพราะคิดว่า ไม่เห็นมี "คนดี" มาให้เลือกสักคน และถ้ามีคนเห็นด้วยกับผู้เขียนมาก ๆ เข้า พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็จะรับรู้ว่า ประชาชนไม่ต้องการผู้แทนหน้าเดิม ๆ แล้วเขาก็คงส่งคนใหม่ที่ดีกว่ามาลงเองแหละ