ตามหลักการวางแผนการจราจร มาตรการ "ห้ามจอดรถ" มีไว้เพื่อทำให้สภาพการจราจรมีความคล่องตัวขึ้น เนื่องจากมีความต้องการในการใช้พื้นผิวการจราจรเพื่อการเดินทางมาก จนทำให้การจอดรถบนพื้นผิวการจราจรก่อให้เกิดการกีดขวางการจราจร วิธีการบอกให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทราบว่าบริเวณใดห้ามจอดรถมีหลายวิธี เช่น การใช้สีขาวแดงทาบริเวณขอบทางเท้า หรือการแสดงด้วยป้าย ซึ่งทุกวิธีล้วนแต่แสดงโดยการ "ไม่กีดขวาง" การจราจรทั้งสิ้น
แต่บนถนนวิสุทธิ์กษัตริย์มีวิธีการบอกกล่าวว่าพื้นที่นี้ห้ามจอดรถบนผิวการจราจรด้วยวิธีที่ฉีกตำราการวางแผนการจราจรขาดกระจุย โดยการเอาป้ายห้ามจอดรถมาตั้งไว้บนพื้นผิวการจราจร ซึ่งการตั้งป้ายดังกล่าวก็เป็นการกีดขวางการจราจรเสียเอง ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ผู้เขียนจึงสอบถามพี่ตำรวจจราจรท่านหนึ่ง ท่านได้ให้คำตอบว่า ก็วิธีอื่นมันไม่ประสบความสำเร็จนี่หน่า ลองดูจากภาพสิ ป้ายห้ามจอดรถตามปกติก็ติดอยู่บนเสาไฟฟ้า แต่ไม่มีใครสนใจ เคยเอาป้ายแบบตั้งพื้นมาวางไว้บนทางเท้า ก็ถูกผู้ขับขี่รถยนต์ที่อยากจะจอดรถตีความว่า การเอาป้ายห้ามจอดรถไปวางบนทางเท้าคือการเก็บป้าย ไม่ใช้งาน ดังนั้นก็จอดได้สิ ด้วยเหตุผลห้าร้อยประการที่กล่าวมาข้างต้น จึงต้องเอาป้ายตั้งพื้นมาวางไว้บนพื้นผิวการจราจรมันเสียเลย เพื่อให้เป็นอุปสรรคต่อการจอดรถไปในตัว ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงวัฒนธรรม "ใครดีใครได้" ของสังคมไทยในปัจจุบันได้ชัดเจนจริง ๆ