Saturday, January 26, 2008

ความขัดแย้งระหว่าง "ความปลอดภัยสาธารณะ" กับ "วิถีไทย"

ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจะได้รับทราบข่าวที่ฟังดูแล้วก็รับทราบแล้วผ่านไป เช่น ผู้มางานเลี้ยงจำนวนมากกินโต๊ะจีนแล้วท้องร่วงต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นแถว หรือข่าวเมื่อเช้าวันนี้ (๒๖ มกราคม ๒๕๕๑) ที่ผู้เข้าประกวดธิดามะขามหวาน จังหวัดเพชรบูรณ์ ต้องเข้ารักษาอาการตาอักเสบจากการที่แสงสปอทไลท์บนเวทีประกวดมีความเข้มเกินกว่าที่สายตาจะรับได้ ข่าวพวกนี้ถูกเอามาขึ้นหน้า ๑ ของหนังสือพิมพ์เพราะเห็นเป็นเรื่องแปลก และเกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก แต่โดยนัยของวิถีไทยแล้ว จะพิจารณาเรื่องเหล่านี้ว่าเป็น "ความโชคร้าย" หรือ "คราวเคราะห์" ของคนเหล่านั้น คนอื่น ๆ เขากินอาหารโต๊ะจีนกันทุกวัน ไม่เห็นจะท้องร่วง หรือเวทีประกวดนางงามเขาก็มีไฟสปอทไลท์กันทั้งนั้น ไม่เห็นเวทีอื่นจะเกิดปัญหาอะไรเลย ด้วยวิธีคิดดังกล่าว ทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างถูกหลักการทางความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) แต่กลับถูกละเลยไปด้วยคำที่ติดปากคนไทยอยู่เสมอว่า "คนอื่นก็ทำ ไม่เห็นเขาจะเป็นอะไรเลย"

ลองมาดูว่าถ้าเอาหลักการของ "ความปลอดภัยสาธารณะ" มาจับกับเรื่องตัวอย่างทั้งสองเรื่องจะเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องความไม่สะอาดของอาหารโต๊ะจีน ซึ่งถ้าถามว่า เราต้องการอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัยหรือเปล่า คำตอบคือทุกคนต้องการ และทุกคนก็เชื่อว่า ผู้ที่ประกอบวิชาชีพทางการปรุงอาหารก็ต้องรับผิดชอบในเรื่องการรักษาความสะอาดและหลักอนามัย และคาดหวังว่าภาครัฐจะทำหน้าที่ควบคุมและกำหนดมาตรฐานในเรื่องเหล่านี้เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิให้กับประชาชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกภาคีที่เกี่ยวข้องกลับไม่สนใจที่จะทำหน้าที่ของตนเอง ผู้ประกอบการโต๊ะจีนก็ต้องการประหยัดต้นทุน การเก็บรักษาอาหารหรือการเลือกอาหารสดใหม่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ผู้บริโภคเองแม้ว่าอยากได้อาหารที่ดีและสะอาด แต่ก็ต่อรองราคาทุกวิถีทางและเลือกผู้ประกอบการรายที่ถูกที่สุดมาทำการประกอบอาหารให้ ฝ่ายภาครัฐก็บอกว่าโต๊ะจีนไม่ได้ตั้งเป็นหลักแหล่งกับที่ แต่ย้ายไปตามสถานที่จัดงาน จะตามตรวจได้อย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้วมีวิธีการควบคุมมากมายที่ไม่ต้องตามไปตรวจกันทุกที่ แต่ไม่คิดจะทำต่างหาก

เรื่องที่สองคือเรื่องสปอทไลท์กับสุขภาพตาของน้อง ๆ นางงาม งานประกวดแบบท้องถิ่นต้นทุนไม่สูงนัก จะเอามืออาชีพมาจัดไฟก็คงไม่คุ้มค่าตั๋ว ช่างไฟทั่วไปก็พอแล้วหละ แต่นี่คือความปลอดภัยสาธารณะที่มีผลต่อทั้งสุขอนามัยของผู้ได้รับผลกระทบ และยังเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรและอัคคีภัยอีกด้วย ในมุมหนึ่งทุกคนก็อยากได้สิ่งทีดีที่สุด แต่ในเมื่อเป็นไปไม่ได้ทางการเงิน ก็เลยช่างมันไปซะ งานประกวดอื่น ๆ เขาก็ใช้กันไม่เห็นเขาจะเป็นอะไร ถ้าบังเอิญโชคร้ายเกิดปัญหาขึ้นมา ก็ค่อย "ล้อมคอก" กันแบบ "ไฟไหม้ฟาง" สักครั้ง

ปรากฎการณ์ตัวอย่างทั้งสอง สะท้อนความขัดแย้งระหว่างประเด็น "ความปลอดภัยสาธารณะ" กับ "วิถีไทย" ได้เป็นอย่างดี ลองมีใครตั้งต้นการจัดโต๊ะจีนท้องถิ่นหรือไฟสำหรับงานวัดด้วยการบอกว่า ฉันจะทำอย่างสะอาดและปลอดภัย แต่ฉันต้องคิดราคาสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นที่ทำอย่างตามมีตามเกิด ไม่ปลอดภัยนะ รับรองได้ว่า ผู้ประกอบการที่คิดพิสดารอย่างนี้จะเจ๊งภายใน ๓ เดือน ในตลาดจึงเหลือแต่ผู้ประกอบการที่ต้องประหยัด ไม่ต้องสนใจเรื่องความสะอาด หลักอนามัย หรือปลอดภัยนัก เอาให้ราคาถูกไว้ก่อน พอเกิดปัญหาก็หนีหน้า หรือปิดบริษัท แล้วไปเปิดใหม่ในชื่อใหม่ซะ เท่านั้นก็สิ่้้นเรื่อง ไม่มีใครสนใจมาตามตรวจสอบย้อนหลังหรอก สถานการณ์อย่างนี้จึงกลายเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสาธารณะที่ "สมยอม" ที่จะเสี่ยงกันทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่วนภาครัฐที่ควรจะเป็นหลักแห่งความถูกต้องให้กับสังคมก็ไม่อยากยุ่ง เพราะวันหนึ่งพนักงานของรัฐและญาติพี่น้องของเขาก็ต้องทำหน้าที่ "ผู้ผลิต" หรือ "ผู้บริโภค" ด้วยเช่นกัน สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ไม่ใช่ "แก้ไม่ได้" เพราะไม่มีทางแก้ไข แต่ไม่มีใครสักคนสนใจที่จะแก้ไข เพราะกลัวว่าวันหนึ่งตัวเองจะต้องเป็นผู้เสียประโยชน์จากมาตรการแก้ไขนั้นเสียเอง เสี่ยงกันต่อไปแล้วกัน หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะ "โชคดี" ได้ตลอดไป