Tuesday, January 8, 2008

กระบวนการการวางแผนภาคมหานครแบบบูรณาการ

ผู้เขียนนั่งฟุ้งซ่านไปเรื่อย ๆ ตามประสาคนจิตอยู่ไม่สุข แล้วก็นั่งคิดอะไรเล่น ๆ เกี่ยวกับภาคมหานครอันประกอบไปด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ก็เลยมีอะไรแปลก ๆ ออกมาบันทึกไว้เป็นหลักฐานตามเคย

กระบวนการวางแผนประกอบไปด้วย ๓ องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ โครงสร้างองค์กร อำนาจหน้าที่ขององค์กร และกระบวนการในการสร้างแผน โดยมีแนวทางในการดำเนินการดังนี้
๑. โครงสร้างองค์กร / คณะกรรมการ จะต้องประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ แต่เนื่องจากประเด็นดังกล่าวมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่เป็นจำนวนมาก จึงต้องจัดลำดับความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ
๑. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ซึ่งจะต้องจัดให้อยู่ในคณะกรรมการหลักและไม่ควรจะมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือสมาชิกคนอื่น ๆ โดยตรง คณะกรรมการหลักมีหน้าที่กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาและอำนวยการการวางแผน ควรประกอบด้วยสมาขิก ๑๖ คน มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน อีก ๑๕ คนแบ่งออกเป็น ๕ ภาคี ภาคีละ ๓ คน เพื่อให้สะดวกและคล่องตัวในการทำงาน คณะกรรมการหลักประกอบด้วย
• ภาคีรัฐบาลกลาง – สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย
• ภาคีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น – ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ๒ คน
• ภาคีเอกชน – ตัวแทนสมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าไทย
• ภาคีประชาสังคม – ตัวแทนสมาคมหรือองค์กรภาคประชาสังคม ๓ คน
• ภาคีวิชาการ/วิชาชีพ – นักวิชาการการวางแผนพัฒนาระดับชุมชน, ระดับเมือง, ระดับภูมิภาค อย่างละ ๑ คน
๒. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอง เป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ เช่น สนข. ผู้ให้บริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่าง ๆ ฯลฯ จึงควรจัดให้อยู่ในคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอง โดยคณะอนุกรรมการจะแบ่งเป็นด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
๓. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสนับสนุน เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาภาคมหานคร เช่น ประชาชน กลุ่มประชาชน องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคมหานคร ซึ่งจะต้องจัดให้มีการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมโดยผ่านการประชุมประชาชน, Technical Hearing, Focus Group หรือ Panel Meeting ซึ่งจะจัดให้มีอยู่ตลอดระยะเวลาในการวางแผนและดำเนินการพัฒนาภาคมหานคร

๒. อำนาจหน้าที่ขององค์กร / คณะกรรมการ หน้าที่หลักของคณะกรรมการคือการสื่อสารเพื่อประสานความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อนำมากำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางในการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ ดำเนินการวางแผนพัฒนา และอาจทำหน้าที่ในการบริหารการพัฒนาด้วย โดยมีทางเลือกในการกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กร ๓ ทางเลือก โดยมีรายละเอียดดังนี้
๑. ทางเลือกที่ ๑ - Communication + Control ทำหน้าที่ประสานความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ แล้วทำแผนเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี องค์กรแบบนี้ไม่มีอำนาจในการพัฒนาในตัวเอง แต่อาศัยอำนาจของคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการตามแผน และทำหน้าที่ควบคุมการดำเนินการพัฒนาให้เป็นไปตามแผนซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติ
๒. ทางเลือกที่ ๒ - Communication + Control + Infrastructure Planning โดยทำหน้าที่เพิ่มเติมจากทางเลือกที่ ๑ คณะกรรมการนี้จะทำหน้าที่วางแผนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นของภาคมหานครด้วย เพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงรอยระหว่างทิศทางการพัฒนาภาคมหานครในภาพรวมกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งทางเลือกนี้ควรจะมีการจัดตั้ง “วิสาหกิจ” และ “สหการ” เฉพาะสำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาคมหานคร โดยแยกออกมาจากหน่วยงานระดับชาติ เพื่อให้คณะกรรมการวางแผนภาคมหานครสามารถวางแผนได้อย่างบูรณาการ
๓. ทางเลือกที่ ๓ - Communication + Control + Infrastructure Planning + Development Management โดยทำหน้าที่เพิ่มเติมจากทางเลือกที่ ๒ คณะกรรมการนี้จะทำหน้าที่ในการดำเนินการพัฒนาภาคมหานครด้วย โดยโอนถ่ายความรับผิดชอบในโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นต่าง ๆ ในภาคมหานครเข้ามาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการพัฒนาภาคมหานครทั้งหมด ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการมีอิสระในการดำเนินการและมีงบประมาณของตนเองในรูปของ “บรรษัทพัฒนาภาคมหานคร” (Metropolitan Development Corporation)

๓. กระบวนการในการสร้างแผน การสร้างแผนพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการควรจะมีพื้นฐานอยู่บนประชาธิปไตยภาคประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากแผนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมตั้งแต่เริ่มทำแผนพัฒนา กระบวนการที่เหมาะสมจึงมีขั้นตอนของการมีส่วนร่วมของประชาชนหลากหลายวิธีและขั้นตอน ดังนี้
๑. การกำหนดกรอบแนวคิด (Conceptual Framework) ของการวางแผนพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ – ทำโดยคณะกรรมการศึกษาฯ
๒. จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก ๑๖ คน มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน
๓. จัดประชุมประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนาภาคมหานครครั้งที่ ๑ เพื่อสร้างการรับรู้ความสำคัญของการวางแผนระดับภูมิภาคและสร้างความชอบธรรมของคณะกรรมการฯ
๔. นำเอาผลจากการประชุมประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากข้อ ๓ มาประมวลเป็นกรอบแนวความคิดและเป้าหมายในการวางแผนภาคมหานครแบบบูรณาการ โดยมีพื้นฐานอยู่บนความสมดุลของพัฒนาการด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคมเป็นหลัก
๕. จัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ เพื่อทำแผนพัฒนาภายใต้กรอบแนวความคิดและเป้าหมายจากข้อ ๔
๖. คณะอนุกรรมการดำเนินการวางแผนด้วยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเหมาะสม ได้ผลออกมาเป็นร่างของแผนพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการภายใต้การกำกับและอำนวยการของคณะกรรมการฯ
๗. จัดประชุมประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนาภาคมหานครครั้งที่ ๒ เพื่อรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อร่างแผนพัฒนาภาคมหานคร
๘. นำผลที่ได้รับจากการประชุมตามข้อ ๗ มาปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ และดำเนินการทำแผนพัฒนาภาคมหานครฉบับสมบูรณ์
๙. ประกาศแผนพัฒนาภาคมหานครฉบับสมบูรณ์
๑๐. ดำเนินการตามแผนพัฒนาภาคมหานครฉบับสมบูรณ์
กระบวนการ ๑๐ ขั้นตอนที่กล่าวมามีพื้นฐานมากจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามทางเลือกที่ ๑ ซึ่งถ้าคณะกรรมการจะมีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติม เช่น ให้มีหน้าที่ดำเนินการพัฒนาตามแผนด้วย ก็อาจต้องปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานไปตามความเหมาะสม โดยการนำขั้นตอนการจัดตั้งองค์กรรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นมาเพิ่มเติมต่อไป