ลักษณะ ๑๑ รถบรรทุกคนโดยสาร
มาตรา ๘๕ "เป็นเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่รถบรรทุกคนโดยสารรับบรรทุกศพ หรือคนที่เป็นโรคเรื้อน โรคติดต่อร่วมไปกับคนโดยสารอื่น" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๕๒ ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท"
จากกฎหมายข้อนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า "เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่รถสาธารณะ" ไม่ใช่เพียงแค่ขับขี่ยานพาหนะได้อย่างเดียว แต่จำเป็นที่จะต้องทราบถึงมาตรฐานความปลอดภัยสาธารณะอีกด้วย ซึ่งขัดแย้งกับความต้องการของสังคมไทยที่คิดว่าคนขับรถสาธารณะ "แค่" ขับรถเป็นก็พอแล้ว แต่สิ่งที่คนขับรถทำคือสิ่งที่เป็น "สาธารณะ" จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อบุคคลอื่นด้วย
มาตรา ๘๖ "เป็นเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ ผู้เก็บค่าโดยสาร หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับรถบรรทุกคนโดยสาร เรียกคนขึ้นรถโดยสารส่งเสียงอื้ออึง เพื่อให้รถบรรทุกคนโดยสารคันใดคันหนึ่ง" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท"
แสดงว่า ไอ้ที่ทำกันอยู่จนเป็นปกติ ตะโกนบอกจุดหมายปลายทางเพื่อให้ผู้โดยสารทราบว่าไปไหนก็ผิดกฎหมาย คำถามสำคัญคือทำไมเขาต้องตะโกนเรียกผู้โดยสาร คำตอบก็ชัดเจนในตัวมันเองว่าวิธีการสื่อสารแบบอื่น ๆ ที่ไม่ต้องตะโกน เช่น ป้ายบอกจุดหมายปลายทางทั้งที่ตัวรถและที่ป้ายหยุดรถมันห่วย ไม่ได้เรื่อง สื่อสารไม่ได้ตามเป้าหมาย (ทั้งที่เปลืองบประมาณชาติไปมากมาย) เขาก็เลยต้องตะโกนกันน่ะสิ มีใครอยากจะตะโกนให้เจ็บคอบ้างถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ
มาตรา ๘๗ "เป็นเจ้าของรถ ผู้ขับขี่หรือผู้เก็บค่าโดยสารรถบรรทุกคนโดยสาร ปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร โดยไม่มีเหตุอันสมควร" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๔๘ ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท"
ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่า ข้ออ้างของรถแท็กซี่ที่บอกว่า "จะไปส่งรถ" หรือ "รถติดมากไม่ไปหรอก" นี่มันนับเป็นเหตุอันสมควรหรือเปล่า ที่จริงแล้วกฎหมายข้อนี้ปฏิบัติยาก เพราะมีคนเกี่ยวข้องอยู่ ๒ คน ไม่มีพยานอื่น ๆ จะมายืนยันได้ว่าเหตุเกิดขึ้นจริง
มาตรา ๘๘ "ขับรถโดยสารไม่หยุดรถและส่งคนโดยสารที่มีเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง หรือ ณ สถานที่ตามที่ตกลงกันไว้" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๔๘ ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท"
มีคนขับรถเมล์คนไหนเคยโดนปรับข้อนี้บ้างล่ะ เอาง่าย ๆ ผู้โดยสารจะไปแจ้งให้จับ ตำรวจจะจับหรือเปล่า และถ้าจับแล้ว ผู้โดยสารจะยอมเสียเวลาทั้งวันเพื่อสอบปากคำกว่าคดีจะเสร็จไหมล่ะ มันปฏิบัติไม่ได้นี่หน่า
มาตรา ๙๑ (๒) "เป็นผู้ขับขี่หรือผู้เก็บค่าโดยสารกล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสีดูหมิ่น ก้าวร้าว หรือแสดงกิริยาในลักษณะดังกล่าวต่อผู้โดยสารหรือผู้อื่น" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๕๒ ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท"
เช่นกัน มีใครจะเสียเวลาแจ้งจับไหมล่ะ
มาตรา ๙๒ "เป็นผู้ขับขี่รถโดยสารไม่หยุดเครื่องยนต์และให้คนโดยสารลงจากรถทุกคนเมื่อจะเติมเชื้อเพลิงชนิดไวไฟที่มีจุดวาบไฟในอุณหภูมิ ๒๑ องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่านั้น" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๕๒ ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท"
สมมติว่าเชื้อเพลิงที่กล่าวถึงคือน้ำมันหรือแก๊สที่ใช้กันทั่วไปกับรถสาธารณะ สำหรับประเทศไทย ให้คนลงจากรถดูจะเป็นอันตรายกับเขามากกว่าอยู่ในรถ ลองคิดถึงปั้มน้ำมันหรือปั้มแก๊สของบ้านเรา ถ้ามีผู้โดยสารต้องลงไปยืนในปั้มตอนที่รถกำลังเติมน้ำมันสักสี่ห้าคน เขาคงเสี่ยงต่อการถูกรถชนมากกว่าไฟไหม้