ตามมาตรฐานการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และระบบระบายน้ำ จะต้องจัดเตรียมพื้นที่สำหรับซ่อมบำรุงเอาไว้ เมื่อมีเหตุต่าง ๆ ก็สามารถเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงได้โดยสะดวก ซึ่งโดยมากมักจะจัดไว้บนทางเท้าด้วยเหตุผลที่เหมาะสมหลายประการ
วันหนึ่ง ประตูทางเข้าของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยก็ต้องปิดลงชั่วคราว เพราะฝาท่อระบายน้ำชำรุดอาจทำให้รถตกลงไปในท่อได้ เรามักเห็นเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องปกติ ฝาท่อใช้งานมาตั้งนานก็ต้องเสียหายบ้าง แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่งอาจมีความคิดที่เปลี่ยนไป เพราะนี่คือตัวอย่างของการออกแบบตำแหน่งท่อระบายน้ำที่ผิดที่ผิดทาง เอาท่อระบายน้ำไปไว้บนพื้นผิวการจราจรที่มีรถยนต์ที่มีน้ำหนักมากไปวิ่งอยู่บนฝาท่ออยู่ตลอดทั้งวัน ถ้าเอาฝาท่อระบายน้ำไว้ขอบทางเท้า แล้วทำถนนให้ลาดเอาน้ำไปลงข้าง ๆ เสีย ฝาท่อก็ไม่ต้องโดนรถวิ่งทับ วัสดุที่ใช้ก็ถูกลงเพราะไม่ต้องแข็งแรงเท่ากับที่ต้องมารับน้ำหนักรถยนต์ รถเองก็ไม่ต้องกระโดดกระเทือนเพราะพื้นผิวระดับไม่เท่ากัน เชื่อได้เลยว่าวิธีการแก้ปัญหาที่จะนำมาใช้ตรงนี้คือ "การเปลี่ยนฝาท่อ" เท่านั้น แล้ววันหนึ่งฝาท่อก็จะพังอีก ต้องปิดประตูไม่ให้ใช้งานอีก แล้วก็เปลี่ยนฝาท่อเป็นวัฏจักรนี้ต่อไป สามารถนำมาใช้เป็นตัวอย่างธรรมะเรื่อง "กงกรรมกงเกวียน" ได้อย่างชัดเจน