วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปจังหวัดราชบุรีผ่านถนนเพชรเกษม เมื่อรถผ่านสวนสามพรานวิ่งไปจนถึงทางเข้าตัวจังหวัดนครปฐมระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ผู้เขียนก็ลองนับดูว่ามีจุดกลับรถอยู่กี่จุด จากการนับพบว่ามีจุดกลับรถที่ใช้การได้ทั้งสองทิศทางอยู่ ๕ จุด ใช้ได้ทิศทางเดียว อีกทิศทางหนึ่งปิดอยู่ ๒ แห่ง และมีจุดกลับรถที่อุตส่าห์ลงทุน ลงงบประมาณของประชาชนมาสร้างจนเสร็จแต่ต้องปิดไม่ให้ใช้งานอยู่ถึง ๗ แห่ง นั่นหมายความว่า ลงทุนไปแล้วเสียไปเปล่า ๆ ถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว
เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า ตอนที่กำหนดจุดกลับรถในขั้นตอนการออกแบบถนน เขากำหนดจุดกลับรถที่ถูกปิดไม่ให้ใช้งานเหล่านี้มาได้อย่างไร มีการคำนวณทางวิศวกรรมจราจรที่ผิดพลาดหรือ แล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบความเสียหายทั้งจากต้นทุนการก่อสร้างที่เสียไปเปล่า ๆ และอุบัติเหตุอันเกิดจากจุดกลับรถไม่ปลอดภัย จนต้องปิดจุดกลับรถ ผู้เขียนมีคำตอบจากประสบการณ์ของตนเอง เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ตอนเขาก่อสร้างถนนเส้นนี้ คนรู้จักของผู้เขียนก็มีบริษัทตั้งอยู่บนถนนเส้นนี้เช่นกัน เขาโทรศัพท์มาถามผู้เขียนว่า "ทางกรมทางฯ เขาถามมาว่าอยากได้จุดกลับรถหน้าบริษัทไหม ลูกค้าจะได้เข้าบริษัทได้สะดวก เขาขอสองหมื่นค่ากำหนดจุดตามที่เราต้องการ น้อง (หมายถึงผู้เขียน) ว่าพี่จะยอมจ่ายดีไหม" ผมนั่งดูแผนที่แล้วก็ตอบกลับไปว่า "อย่าเลยพี่ จุดกลับรถที่จะเข้าบริษัทพี่ได้ดีต้องอยู่ตรงทางโค้ง แม้ว่าจะมีจุดกลับรถใกล้ แต่อันตรายมาก ลูกค้าพี่อาจรถชนตายก่อน หรือรถทางตรงเขาหักหลบรถลูกค้าแล้วเข้ามาชนบริษัทพี่ พี่จะเอาไหมล่ะ" สุดท้ายพี่คนนั้นเขาก็ไม่ได้จ่ายสตางค์เพื่อมีสิทธิ์เลือกจุดกลับรถ ที่กลับรถเลยไปอยู่ไกลมาก เมื่อวันนี้มาเห็นสถานการณ์ที่เห็นอยู่ในรูป ผู้เขียนยังบอกพี่คนนั้นเลยว่า "ดีแล้วที่พี่ไม่จ่าย เพราะสุดท้ายถึงมีที่กลับรถที่เข้าบริษัทสะดวกก็ต้องถูกปิดอยู่ดีแหละ" แต่ต้นเหตุอันนี้กรมทางหลวงเองก็คงไม่อยากพูดถึง เพราะถ้าสอบสวนกันจริง ๆ ก็คงจะต้องมีคนผิดมากมาย แต่ละคนคงจะมีเส้นสาย เกี่ยวข้องโยงใยภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของราชการไทยอย่างซับซ้อน สู้เอามือซุกหีบเสียดีกว่า สาธุประเทศไทย