เมื่อวานนี้ (๒๔ มกราคม ๒๕๕๑) ข่าวใหญ่สำหรับคนบางคนคือการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในฟาร์มไก่เนื้อแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ แล้ววันนี้ (๒๕ มกราคม ๒๕๕๑) ก็มีการพบเชื้อไข้หวัดนกอีกครั้งที่จังหวัดพิจิตร (ได้รับการยืนยันจากผลตรวจในห้องปฏิบัติการแล้ว) ซึ่งการตรวจพบดังกล่าวไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายแต่ประการใด เพราะข่าวของการตรวจพบไข้หวัดนกในปีนี้เข้าใกล้ประเทศไทยมาเรื่อย ๆ ทั้งทางเอเชียใต้และอินโดนีเซียก็ตรวจพบไปเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน การมาถึงของเชื้อไขัหวัดนกในปีนี้คงจะมีการเตรียมตัวรองรับกันอย่างดีพอสมควร พอมีไก่ตายมากผิดปกติขึ้นมาก็สามารถตรวจสอบและให้การแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การค้นพบครั้งแรกของปีนี้ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งกำลังจะขยายกลายเป็นประเด็นวิกฤติความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ผลิตอาหารไทย เพราะฟาร์มที่ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกได้โฆษณาตนเองว่าปลอดภัยจากเชื้อไข้หวัดนก เพราะเป็น "ฟาร์มปิด" และมีมาตรฐานความสะอาดและป้องกันการติดเชื้อและปนเปื้อนเป็นอย่างดี แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นอย่างที่โฆษณา กลายเป็นที่แรกที่พบเชื้อโรค สาเหตุสำคัญตามข่าวคือ โรงงานดังกล่าวเป็นระบบปิดจริง แต่มีมาตรฐานความสะอาดในระดับปานกลาง มีการสันนิษฐานว่าเชื้อโรคไข้หวัดนกน่าจะมาจากแหล่งน้ำ ที่ใช้บ่อน้ำขุดที่ไม่ได้มีการควบคุมความสะอาดเป็นอย่างดี ทำให้มีนกป่าไปกินและถ่ายมูลลงในน้ำ นำเชื้อโรคเข้าสู่ไก่ที่อยู่ในระบบปิด
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคเกิดคำถามและความกังวลมากมาย เช่น ตกลงว่าไอ้ที่โฆษณาว่าเนื้อไก่และไข่ไก่สะอาดเพราะเลี้ยงในฟาร์มปิด เชื่อถือได้แค่ไหน ใครเป็นคนควบคุมมาตรฐานของ "ฟาร์มปิด" และใครจะรับประกันเรื่องความสะอาดของอาหาร หรือว่าใครจะโฆษณาว่าตนเองมีกระบวนการผลิตให้สวยงามเลอเลิศอย่างไรก็ได้ ไม่มีใครมาตรวจสอบทั้งสิ้น จนมีปัญหาขึ้นมาถึงได้มาล้อมคอก ไล่ตรวจสอบกันเป็นครั้ง ๆ แบบไฟไหม้ฟาง สักแป๊บเดียวก็ลืมกันไป กลายเป็นวงจรอุบาทว์ต่อไปเรื่อย ๆ และไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์ปีกเท่านั้น อาหารอื่น ๆ เช่น ผักที่ปลูกด้วยเกษตรอินทรีย์ เชื่อถือได้แค่ไหน เอาดินมาจากไหน น้ำที่ใช้รดผักผลไม้มีการปนเปื้อนหรือเปล่า ซึ่งคำถามเหล่านี้จะจบลงที่ ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบ ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทย ก็ไม่ได้ส่งเสริมการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเลยสักนิด
ที่น่าคิดไปไกลกว่านั้น ก็คือ การระบาดของไข้หวัดนก คือวิกฤติครั้งสำคัญและจุดจบของเกษตรกรรายย่อยหรือเปล่า เพราะกระแสในปัจจุบัน คนมุ่งหาอาหารสะอาดได้มาตรฐานมาบริโภค แล้วการที่จะผลิตด้วยวิถีพื้นบ้านแบบดั้งเดิม ให้ธรรมชาติ เช่น น้ำฝน ดินปกติเลี้ยงให้โตแล้วเอามาขายคงอยู่ไม่ได้อีกต่อไป เพราะของธรรมชาติเหล่านั้นมีโอกาสถูกปนเปื้อนด้วยสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง ส่งผลให้ต้องลงทุนสูงเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบในการผลิตที่สะอาด ได้มาตรฐาน ซึ่งเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถแบกรับต้นทุนเหล่านั้นได้ ผลก็คือเกษตรกรรายย่อยจะอยู่ต่อไปไม่ได้ เพราะไม่สามารถผลิตอย่างสะอาดได้มาตรฐานได้ กลายเป็นเกษตรอุตสาหกรรมที่มีกำลังทรัพย์พอที่จะรองรับการผลิตแบบมีมาตรฐานได้ กลายเป็นเกษตรอุตสาหกรรมไปทั้งหมด แน่นอนว่าอาจจะมีเกษตรบางรูปแบบเพื่อตอบสนอง niche market อยู่บ้าง แต่ก็คงไม่มากนัก และ niche market นั้นได้รับความนิยม ก็จะปรับตัวเองเข้าสู่เกษตรอุตสาหกรรมในที่สุด ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดไม่ได้จบเท่านี้ เพราะจะเกิดการล้นของแรงงานเกษตร ซึ่งเป็นแรงงานด้อยคุณภาพ ที่จะต้องดิ้นรนหางานอื่นทำเพื่อความอยู่รอด และจะกลายเป็นปัญหาระดับประเทศในที่สุด