Wednesday, January 16, 2008

เหตุผลที่ระบบขนส่งมวลชนในเมืองต้อง "ไม่แสวงหากำไร"

เป็นเรื่องถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับเรื่องการจัดการงบประมาณและการเงินของระบบขนส่งมวลชน ว่าควรจะจัดการแบบใด แบบมุ่งให้ได้กำไรเพื่อให้องค์กรสามารถอยู่ได้ หรือจะขาดทุนแล้วเอารายได้จากด้านอื่น ๆ ที่เกิดจากการที่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีราคาต่ำกว่าราคาจริงแล้วส่งผลให้สามารถทำรายได้เพิ่มมากขึ้น คำตอบอาจจะอยู่ในสองภาพข้างล่างนี้


ที่ป้ายรถเมล์และรถไฟฟ้าอารีย์ (พหลโยธิน ๗) ช่วงเวลาเร่งด่วนเย็นซึ่งมีการจราจรติดขัด จะพบรถตู้สาธารณะมาจอดรอรับผู้โดยสารที่ลงมาจากรถไฟฟ้า ซึ่งจะต้องจอดค้างไว้จนกว่าผู้โดยสารจะเต็มจึงจะออกรถได้ การจอดคาอยู่ที่ป้ายรถเมล์ก็ทำให้รถเมล์เข้าป้ายไม่ได้ ต้องจอดกันที่เลนกลาง ผลก็คือรถติดทั้งถนน เรามักจะมองว่ารถตู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว คิดแต่ว่าตนเองต้องได้ผู้โดยสารเต็มรถถึงจะออกได้ แต่ลองมองให้ทะลุไปถึงรากของปัญหา ว่าระบบขนส่งมวลชนในเมืองไม่สามารถทำแบบ "แสวงหากำไร" ได้ต่างหาก รถตู้สาธารณะในฐานะที่เป็น Feeder ส่งถ่ายผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าที่เป็นระบบหลักของเมือง ตามหลักการที่ถูกต้อง รถที่เป็น Feeder จะต้องวิ่งวนอยู่ตลอดเวลาโดยไม่สนใจว่ามีผู้โดยสารเต็มหรือไม่เต็ม เพื่อส่งถ่ายผู้โดยสารเข้า-ออกจากระบบหลักให้เร็วที่สุด และไม่กีดขวางทางจราจร ดังนั้น Feeder จึงไม่สามารถจัดการแบบ "แสวงหากำไร" โดยตรงได้ แต่สำหรับกรุงเทพมหานคร หลักการนี้ถูกละเลยไป แม้แต่รถประจำทางขสมก. และรถร่วมสาธารณะที่หลักการบอกว่าไม่แสวงหากำไร แต่ก็ยังมีการแบ่งค่าโดยสารให้กับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ในทางปฏิบัติจึงกลายเป็นระบบที่แสวงหากำไรกลาย ๆ ทำให้รถเมล์มีการจอดแช่รอผู้โดยสาร หรือขับเร็วแข่งกันเพื่อแย่งผู้โดยสาร ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงต้องการการพิจารณาอย่างเป็นระบบและบูรณากาเอาภาพรวมมาเป็นตัวตั้ง ตอนเริ่มต้นวางแผนต้องไม่สนใจว่า "ใครหรือองค์กรใด" เป็นผู้ให้บริการ แต่พิจารณาในภาพรวมทั้งหมด ให้ได้แผนการขนส่งและจราจรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด แล้วค่อยไปแบ่งเค้กการจัดการกันทีหลัง การแบ่งเค้กตั้งแต่ต้นประชาชนจะเป็นผู้เดือดร้อนสูงสุด