Friday, April 27, 2007

กรุงเทพฯ "เมืองแห่งมลภาวะ"

ขนาดของเมืองและจำนวนประชากรในเมืองกำหนดได้จากบริการพื้นที่ฐานที่เมืองสามารถให้บริการและจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ปริมาณน้ำใช้ที่สามารถผลิตให้กับเมืองได้ ก็เป็นตัวกำหนดว่าเมืองห้ามมีขนาดประชากรเกินเท่านั้นเท่านี้ เพราะถ้าเกินนี้แล้ว ไม่มีน้ำอุปโภคบริโภคนะ หรือถ้ามีก็แพงมาก เพราะต้องเอามาจากที่อื่น คุณภาพอากาศก็สามารถนำมาเป็นตัวชี้วัดขนาดประชากรและขนาดของเมืองได้เช่นกัน เช่น ถ้ามีรถยนต์เกินเท่านั้นเท่านี้คัน สภาพอากาศในเมืองจะแย่เกินกว่าที่มนุษย์จะอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่เรื่องอย่างนี้ผู้รับผิดชอบกรุงเทพฯ ไม่เคยคิดได้เลย

ภาพคนกรุงเทพฯ ที่ต้องทนใส่หน้ากากกันฝุ่นละอองกลายเป็นเรื่องปกติขึ้นเรื่อย ๆ แสดงว่าอากาศในกรุงเทพฯ มึคุณภาพแย่มากจนพลเมืองต้องยอมลำบากใส่หน้ากากกันแล้ว แต่หน่วยงานของรัฐกลับไม่สนใจที่จะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ปล่อยให้มีรถยนต์ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของมลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้นทุกวัน ส่วนรถเก่าที่ก่อควันดำ ก็ตรวจกับกันเป็นช่วง ๆ ที่จะได้หน้าได้ตาต่อประชาชนเท่านั้น พลเมืองกรุงเทพฯ จึงต้องทนกันต่อไป จนถึงวันหนึ่งที่ญาติพี่น้องของผู้รับผิดชอบได้รับผลกระทบนี้เมื่อไหร่ พลเมืองกรุงเทพฯ ก็จะได้มาตรการที่เข้มงวดขึ้นสักช่วงหนึ่ง สักพักพอชินแล้ว มาตรการก็ถูกยกเลิกไปอีก เราจะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า วัฏจักร หรือ สัจธรรมดีนะ

ตรงไหนบ้างที่ "ห้ามกลับรถ"

กฎจราจรระบุไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ขับขี่ยานพาหนะสามารถกลับรถได้ในบริเวณที่อนุญาตเท่านั้น นั่นหมายความว่า พื้นที่ที่ไม่มีป้ายอนุญาตให้กลับรถได้ เป็นบริเวณที่ห้ามกลับรถ แต่สำหรับกรุงเทพฯ ก็เห็นการกลับรถอยู่ทั่วไปทั้ง ๆ ที่ไม่มีป้ายอนุญาต

บริเวณเชิงสะพานหัวช้าง รถแท็กซี่คันนี้กำลังพยายามกลับรถโดยไม่สนใจว่าจะเสี่ยงอันตรายเพียงใด ผู้เขียนเคยลองสอบถามเจ้าของรถหลายคนถึงกฎหมายห้ามกลับรถ ได้คำตอบที่น่าตกใจว่า ผู้ขับขี่รถยนต์จำนวนมากเข้าใจว่าบริเวณใดที่ไม่มีป้ายห้ามกลับรถ ก็สามารถกลับรถได้ ซึ่งกลับกันกับที่ระบุไว้ในกฎหมาย ว่าให้กลับรถได้เฉพาะบริเวณที่อนุญาตเท่านั้น เพราะอะไรกฎหมายจึงเขียนไว้อย่างนั้น ก็เพราะบริเวณที่จะกลับรถได้อย่างปลอดภัยมีไม่มากนัก ต้องผ่านการคำนวณทางวิศวกรรมจราจร ว่าอยู่ในบริเวณที่มีที่กว้างเพียงพอต่อการกลับรถโดยไม่รบกวนกระแสการจราจรที่มีความเร็วสูงในอีกทิศทางหนึ่ง ต้องมีระยะมองเห็นทั้งจากรถที่จะกลับเองและจากรถคันอื่น ๆ ที่ชัดเจน ฯลฯ ไม่ใช่อยากกลับตรงไหนก็กลับได้ อย่าว่าแต่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเลย ผู้รักษากฎหมายเองก็ไม่เข้าใจหลักการแห่งความปลอดภัยซึ่งเป็นที่มาของกฎหมายตรงนี้หรอก จึงได้มีการปล่อยปละละเลยกันไปทั่วอย่างนี้

"คิดก่อนทำ" อย่า "ทำก่อนคิด"

การออกมาตรการเกี่ยวกับการจราจรจะต้องผ่านการ "คิดก่อนทำ" คือต้องคำนวณปริมาณการจราจรและประสิทธิภาพของมาตรการ ก่อนที่จะนำมาบังคับใช้ เพื่อให้มาตรการเหล่านั้นสามารถทำให้การจราจรและขนส่งในเมืองมีคุณภาพที่ดี

ป้ายนี้ติดอยู่บริเวณบนถนนพญาไท สี่แยกราชเทวี ระบุไว้ว่า ตั้งแต่วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๕๐ บริเวณแยกนี้ ห้ามเลี้ยวขวา และห้ามกลับรถ ยกเว้นรถประจำทาง แต่ดูที่บรรทัดล่างสุด ที่เอาสีแดงมาพ่นทับไว้ ข้อความเดิมคือ "และวันหยุดราชการ" คือวันหยุดราชการสามารถเลี้ยวขวาและกลับรถที่แยกนี้ได้ แต่เพราะเหตุใดข้อบังคับนี้ต้องยกเลิก และเอาสีแดงมาพ่นทับไว้ ทั้ง ๆ ที่มาตรการนี้เพิ่งนำมาบังคับใช้ได้แค่เดือนเดียว หรือว่านี่คือตัวอย่างของ "การคำนวณผิด" พอออกมาตรการมาไม่ถึงเดือน มาตรการดังกล่าวก็ใช้ไม่ได้ เพราะปริมาณรถยนต์ในวันหยุดราชการไม่ได้เบาบางจนอนุญาตให้เลี้ยวขวาหรือกลับรถได้ แล้วคำนวณผิดได้อย่างไรล่ะ ข้อมูลด้านการจราจรก็มีการเก็บอยู่เสมอ ๆ นี่หน่า

Monday, April 23, 2007

โลกร้อนเพราะคนร้อน

เมื่อสองวันก่อน ได้นั่งคุยกับสถาปนิกวัยสูงอายุหลายท่าน แล้วเรื่องราวก็ไปถึงเกี่ยวกับ "งานกาชาด" ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า คนเขาไปเดินเที่ยวงานกาชาดได้อย่างไรในสภาพอากาศที่ร้อนขนาดนี้ สถาปนิกสูงอายุทั้งหลายบอกว่า เมื่อตอนพวกเขาเด็ก ๆ งานกาชาดก็จัดเวลาเดียวกันกับสมัยนี้แหละ แต่อากาศไม่ร้อนเท่าทุกวันนี้

สถาปนิกสูงอายุทั้งหลายมีความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า ผู้ต้องหาของความร้อนในกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน คือ เครื่องปรับอากาศ พวกเขาสรุปว่า สมัยก่อนที่กรุงเทพฯ มีความร่มรื่นและร่มเย็น นอกจากจะเพราะมีต้นไม้มากแล้ว ก็ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศอีกด้วย เพราะเครื่องปรับอากาศ มีหลักการว่าจะให้ความเย็นแก่ภายใน แต่ปล่อยอากาศร้อนที่เกิดจากการกระทำให้เกิดความเย็นเอาไว้ข้างนอกอาคาร โดยผ่าน Condensing Unit ตอนนี้อาคารเกินกว่าครึ่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ใช้เครื่องปรับอากาศ จึงมี condensing unit จำนวนมากที่ปล่อยความร้อนออกสู่พื้นที่สาธารณะในเมือง ทำให้คนไม่สามารถใช้พื้นที่สาธารณะกลางแจ้งได้ ผลก็คืองานสถาปัตยกรรมต้องแก้ปัญหาด้วยการเอาพื้นที่สาธารณะไปอยู่ในอาคาร แล้วก็เปิดเครื่องปรับอากาศให้พื้นที่สาธารณะเหล่านั้น ก็กลายเป็นการแก้ปัญหาแบบงูกินหาง เพราะการเอาพื้นที่ขนาดใหญ่เข้าไปอยู่ในอาคารก็จะต้องใช้เครื่องปรับอากาศจำนวนมาก ส่งผลให้ความร้อนในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นมากอีก ประเด็นปัญหาตรงนี้ คือ การละเลยถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมสาธารณะ กลายเป็นว่าใครมีปัญหาซื้อเครื่องปรับอากาศมาใช้ก็ซื้อไปสิ แล้วก็ปล่อยความร้อนมาสู่พื้นที่สาธารณะ การกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างไรก็ช่างมัน ไม่ได้มีการเตรียมการรองรับหรือป้องกันปัญหาไว้แต่อย่างใด

Saturday, April 21, 2007

กล้าทำได้อย่างไร

ทางด่วนนับเป็นเส้นทางพิเศษที่รองรับการจราจรที่มีความเร็วสูงและมีปริมาณการจราจรมาก อุบัติเหตุบนทางด่วนจะมีสาเหตุหลักอยู่ ๒ ประการ คือ ความเร็วที่แตกต่างกัน กับทิศทางที่แตกต่างกัน ดังนั้น ทางด่วนจึงไม่มีกิจกรรมใด ๆ อันจะนำมาซึ่งการหยุดหรือเปลี่ยนความเร็วของรถยนต์เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุจากความเร็วที่แตกต่างกัน และให้รถวิ่งช้าอยู่ช่องซ้ายสุดเพื่อหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนช่องทางการจราจร

ป้าย "ห้ามหยุดรับส่งคน" นี้พบบริเวณใกล้กับทางขึ้นทางด่วนอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายยานพาหนะที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ การมีป้ายนี้สะท้อนให้เห็นว่า มีการจอดรับส่งผู้โดยสารตรงนี้จริง ๆ จนเจ้าหน้าที่ต้องนำป้ายมาติดขู่เอาไว้ สังเกตได้ว่าบริเวณทางขึ้นลงอื่น ๆ ไม่มีป้ายแบบนี้ติดอยู่ น่าสงสัยว่า คนขับรถเองกล้าทำอย่างนี้ได้อย่างไร เพราะการหยุดรถบนทางด่วน แม้ว่าจะเป็นช่องซ้ายสุดหรือบนไหล่ทางก็ตาม ก็เสี่ยงต่อถูกรถคันที่ตามหลังมาชนมากทีเดียว ส่วนตัวผู้โดยสารก็ยังกล้าขึ้นลงตรงนี้อีก (จริง ๆ แล้วก็คือลงจากรถ เพราะคงไม่มีผู้โดยสารคนไหนเดินขึ้นมารอบนทางด่วนหรอก) เพราะเขาต้องเดินฝ่ายานพาหนะความเร็วสูงลงไปจนถึงถนนปกติ ปรากฏการณ์นี้แสดงถึงความล้มเหลวในเรื่องสำนึกความปลอดภัยทั้งของตนเองและส่วนรวมในสังคมไทยอย่างแท้จริง

เตือนแล้วนี่หน่า

การห้ามยานพาหนะที่มีความสูงเกินกำหนดผ่านเข้าไปในบางพื้นที่ ก็เพราะในเขตพื้นที่ห้ามนั้นมีความจำกัดทางด้านความสูงเนื่องมากจากสถาปัตยกรรมหรือส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมที่มีความสูงจากพื้นถนนไม่มากนัก โดยป้ายห้ามส่วนใหญ่มักจะทำเป็นโครงสร้างที่มีความสูงเท่ากับข้อกำหนด เพื่อเป็นตัวกันชนเสียตั้งแต่ด้านนอกของพื้นที่ห้าม เพื่อป้องกันความเสียหายอันจะเกิดจากสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญภายในพื้นที่

บริเวณก่อนขึ้นสะพานข้ามแยกศรีอยุธยา ได้ติดตั้งป้ายจำกัดความสูงและขนาดของรถที่อนุญาตให้ใช้สะพานข้ามแยกได้ เพราะสะพานนี้ลอดได้ทางวิ่งของรถไฟฟ้า BTS ทำให้เหลือความสูงจำกัดไว้เพียง ๓.๑๐ เมตรเท่านั้น จึงต้องทำป้ายนี้ให้สูงเท่ากับที่กำหนดมาดักเอาไว้ ให้สังเกตดูตรงด้านล่างทางขวาของป้ายห้ามนี้ เห็นได้ชัดว่ามีคนเคยฝ่าฝืนคำแนะนำของป้ายนี้มาแล้ว จึงทำให้ป้ายนี้พังไปบางส่วน ลองนึกดูว่าถ้ารถคันนี้ผ่านขึ้นไปได้ แล้วไปชนกับรางของรถไฟฟ้า BTS คงทำความลำบากและก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้สัญจรทั้งบนถนนและบนรางเป็นจำนวนมาก ผู้เขียนเคยลองถามคนขับรถสิบล้อดูว่า เขาเคยรู้ไหมว่ารถเขาสูงเท่าไหร่ เขาบอกว่า ไม่รู้หรอก แต่ถ้าเจอป้ายจำกัดความสูงก็ไม่เข้าไปในเขตนั้นเท่านั้นแหละ ไอ้ที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นเพราะความสูงเกิน ก็เพราะมองไม่เห็นว่ามีป้าย

Thursday, April 19, 2007

ที่จอดรถหายไปไหน

กฎหมายเกี่ยวกับการควบคุมอาคารได้กำหนดพื้นที่จอดรถไว้ตามสัดส่วนของพื้นที่ใช้สอยและประเภทของอาคาร เช่น อาคารพาณิชย์จะต้องมีที่จอดรถ ๑ คัน ต่อพื้นที่พาณิชยกรรม ๖๐ ตารางเมตรเป็นต้น (ยกตัวอย่างเท่านั้น ตัวเลขเป็นการสมมติขึ้น) สถาปนิกหลายท่านยืนยันว่า ในการออกแบบอาคารแล้ว สถาปนิกจะพยายามออกแบบให้มีพื้นที่จอดรถน้อยที่สุดที่จะเป็นไปได้ คือทำให้ได้ตามกฎหมายเท่านั้น ไม่มีการทำเกินกว่ากฎหมาย เพราะพื้นที่จอดรถไม่ได้ทำผลประโยชน์ให้กับเจ้าของอาคารแต่อย่างใด เขาอยากได้พื้นที่ขายหรือพื้นที่ให้เช่า ที่สามารถทำรายได้ให้กับเจ้าของอาคารต่างหาก พื้นที่จอดรถจึงต้องมีน้อยที่สุด และแม้ว่าในแบบก่อสร้างจะมีน้อยทีสุดอยู่แล้ว เมื่อสร้างจริงก็ยังเอาที่จอดรถไปทำอย่างอื่นที่ทำกำไรมากกว่าการจอดรถอีก ทำให้ที่จอดรถที่มีน้อยอยู่แล้วลดน้อยลงไปอีก

ในโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ดูบริเวณหลังคาสีขาวที่มีเครื่องปรับอากาศตั้งอยู่ มองลงไปที่พื้นหน้าอาคารนั้น จะเห็นเส้นแบ่งแนวจอดรถหลงเหลืออยู่ จึงชัดเจนว่า โรงพยาบาลแห่งนี้เอาที่จอดรถที่มีน้อยอยู่แล้วมาจัดเป็นพื้นที่ให้เช่าสำหรับร้านสะดวกซื้อ ทำให้ที่จอดรถน้อยลงไปอีก การที่กฎหมายกำหนดจำนวนที่จอดรถเอาไว้ ก็เพื่อความสะดวกสบายและความปลอดภัยของผู้มาใช้อาคาร และกฎหมายเองก็กำหนดได้แต่ขั้นต่ำสุดอยู่แล้ว (ขั้นที่เลวที่สุดที่มนุษย์จะทนอยู่ได้) เจ้าของอาคารยังมาเอาที่จอดรถไปทำอย่างอื่นเสียอีก

ก็พระไม่ได้เป็น "อภิสิทธิ์ชน" นี่หน่า

วัดนับเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญกับวิถีชีวิตของคนไทยเป็นอย่างมาก ในอดีต วัดเป็นศูนย์รวมในหลาย ๆ ด้าน ทั้งทางด้านจิตใจ ความรู้วิทยาการ และการปกครอง ("แก่วัด" (สมภาร) คานอำนาจกับ "แก่บ้าน" (ผู้ใหญ่บ้าน)) วัดในอดีตจึงได้รับการเคารพศรัทธาทั้งทางจิดใจและทางกายภาพ อาคารในยุคก่อนจะไม่มีทางสร้างให้สูงเกินวัดโดยเด็ดขาด แต่ในปัจจุบันบทบาทของวัดลดลงไปอย่างมาก ส่งผลถึงลักษณะทางกายภาพด้วย

วัดแห่งหนึ่ง ข้างถนน local road ได้ถูกเสาส่งสัญญาณของสถานโทรทัศน์ของรัฐมาสร้างค้ำหัวเสียแล้ว แถมด้วยป้ายโฆษณาขนาดใหญ่อีกหนึ่งอัน ภาพนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี แสดงเห็นว่า การสื่อสารและการโฆษณาเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ได้มีความสำคัญมากกว่าศรัทธาแห่งศาสนาและมารยาทอันเป็นสิ่งที่เคยเป็นสิ่งดีงามในอดีตไปเสียแล้ว ยิ่งถ้าพิจารณาต่อเนื่องจากหัวข้อก่อนหน้านี้ เรื่อง "อภิสิทธิ์ชน" แล้วยิ่งสะท้อนใจ เพราะถ้าไปดูตามบ้านของท่านอภิสิทธิ์ชนทั้งหลาย จะพบว่าไม่มีเสาโทรทัศน์ เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือป้ายโฆษณามาค้ำหัวบ้านท่านเหล่านั้นโดยเด็ดขาด แต่วัดมีได้

อภิสิทธิ์ชน

ทางด่วนนับเป็นเส้นทางพิเศษที่มีการสัญจรด้วยความเร็วสูงและสำหรับยานพาหนะที่มีขนาดใหญ่ จึงมีกฎห้ามรถขนาดเล็ก เช่น รถจักรยานยนต์ หรือ สามล้อเครื่องขึ้นไปวิ่งบนทางด่วน เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่เองและคนอื่น ๆ ที่เดินทางบนเส้นทางเดียวกัน แต่กฎอันนี้ไม่สามารถใช้ได้กับอภิสิทธิ์ชน

ภาพนี้ถ่ายบนทางด่วนขั้นที่ ๑ มอเตอร์ไซค์คันนี้สามารถผ่านตำรวจที่ด่านและขึ้นมาวิ่งบนทางด่วนได้อย่างสะดวก เพราะมากับรถตรวจการณ์คันข้างหน้า โดยมีฐานะเป็นรถคุ้มกันของท่านผู้ใหญ่ผู้โตที่อยู่ในรถตรวจการณ์นั้น รถมอเตอร์ไซค์คันนี้สามารถวิ่งไปได้ทั่วกรุงเทพฯ โดยไม่ติดป้ายทะเบียน และไม่มีการจดทะเบียนเป็นรถฉุกเฉินของทางราชการแต่อย่างใด พวกเราคนธรรมดาจึงควรให้ความเคารพท่านเหล่านี้ให้มาก ๆ เพราะท่านเหล่านี้มีบารมีสูงพอที่จะสามารถทำผิดกฎหมายได้โดยตำรวจไม่กล้าจับ ถ้าคนธรรมดาอย่างเราทำอย่างนี้บ้าง อย่าว่าแต่ขึ้นทางด่วนเลย แค่ผ่านสี่แยกแรกก็โดนจับแล้ว ดังนั้น ถ้าเจอท่านผู้มีบารมีเหล่านี้เดินมากับพระ ขอให้ไหว้ผู้มีบารมีก่อน เพราะถ้าพระทำอย่างนี้ พระก็คงถูกจับเหมือนคนธรรมดาเช่นกัน สาธุ

ถ้าเขากลัวอย่างที่ป้ายขู่ เขาคงไม่ทำหรอกนะ

ปัญหาเรื่องภาระในการดูแลสัตว์เลี้ยงนับเป็นปัญหาสำคัญประการหนึ่งสำหรับเมืองขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เราจึงมักพบสัตว์เลี้ยงถูกนำมาปล่อยไว้ในสถานที่สาธารณะ เช่น วัด โรงเรียน หรือแม้แต่กระทั่งมหาวิทยาลัย ผู้ดูแลรับผิดชอบสถานที่เหล่านั้นจึงต้องออกมาทำป้ายเตือน

ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ใจกลางกรุงเทพฯ ต้องทำป้ายอย่างในภาพมาติดไว้ข้างอาคารเรียน ลองอ่านข้อความในป้ายแล้วรู้สึกตะขิดตะขวงใจเป็นอย่างมาก เพราะประเด็นที่เขานำมาขู่ไว้ คือสัตว์เลี้ยงที่ถูกนำมาปล่อยอาจถูก กทม. กำจัด แล้วถ้าเจ้าของสัตว์เลี้ยงนั้นเขากลัวสัตวเลี้ยงของเขาถูกกำจัด เขาจะเอามาปล่อยที่นี่เหรอครับ ที่เขาเอามาปล่อย ก็เพราะเขาต้องการ "กำจัด" สัตว์เลี้ยงของเขาอยู่แล้วหละ ใครจะเอาไป "กำจัด" ต่อ ด้วยวิธีการใด เขาคงไม่สนใจหรอกน่า

สีทนไม่ได้

หลักการของการทำป้ายบอกทางหรือแผนที่ จะต้องเอาความชัดเจนและเข้าใจง่ายเป็นที่ตั้ง แต่เรามักพบป้ายบอกทางหรือแผนที่จำนวนมากในกรุงเทพฯ ที่ไม่ได้อยู่บนหลักการนี้ หรือเคยอยู่ในสภาพที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายมาก่อน แต่เมื่อว้นเวลาผ่านไปป้ายหรือแผนที่เหล่านั้นก็หมดสภาพไปตามกาลเวลา โดยไม่มีผู้ใดสนใจดูแลหรือปรับปรุงให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้

ตัวอย่งเช่น หน้าคณะวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทย มีแผนที่บอกตำแหน่งของอาคารต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยตั้งอยู่ ภาพนี้ไม่ได้ผ่านการปรับสีใด ๆ ทั้งสิ้น แผนที่นั้น ณ วันนี้มองเห็นได้แต่เพียงตัวอักษรบอกชื่อถนนหรือชื่ออาคารเท่านั้น ตำแหน่งของถนนและอาคารที่เป็นเส้นต่าง ๆ ไม่เหลืออยู่แล้ว ใครอยากพึ่งพาป้ายอันนี้ในการนำทาง นอกจากจะต้องมีความเข้าใจตำแหน่งที่ตั้งของถนนและอาคารสำคัญต่าง ๆ ดีพอสมควรแล้ว (ถ้ารู้ดีแล้วคงไม่ต้องใช้แผนที่นี้หรอก) ยังต้องมีสายตาดีเยี่ยมพอที่จะตามหาเส้นต่าง ๆ ที่เป็นแนวถนนและแนวอาคารเจออีกด้วย

Tuesday, April 17, 2007

รู้จักแต่ปัญหา แต่ไม่รู้จักวิธีแก้ไข๒

ระยะสวิงของบานประตูนับเป็นรายละเอียดที่สำคัญอย่างหนึ่งในการออกแบบ เพราะจะต้องเผื่อระยะเอาไว้ เมื่อเวลาเปิดประตูก็ไม่ควรจะรบกวนการใช้สอยพื้นที่อื่น ๆ ที่อยู่ในระยะสวิง แต่ก็มักพบเห็นการออกแบบอย่างไม่ถูกต้องอยู่เสมอ ที่ร้ายกว่านั้น คือเมื่อรู้ว่าออกแบบผิดแล้วก็ยังไม่แก้ไข ปล่อยมันไว้อย่างนั้น แล้วเอาป้ายมาบอกให้คนอื่นระวังประตูกระแทกหน้าเอาเอง

ตัวอย่างเช่น ในห้องน้ำของโรงพยาบาลเอกชนที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่ง ประตูเข้าออกห้องน้ำเปิดสวิงเข้าสู่ด้านในห้องน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้การเปิดปิดประตูต้องไปกินที่ทางเดินที่อยู่หน้าห้องน้ำ แต่ก็มาเป็นปัญหาภายในห้องน้ำแทน จึงติดป้ายเอาไว้ว่า "ระวัง! ประตูเปิดเข้าชน" นี่คือการออกแบบที่ผิด แล้วมีผลต่อการใช้งานอย่างสะดวกของผู้ใช้งานอาคารซึ่งไม่ควรถูกละเลย ประตูมีเป็นร้อยเป็นพันแบบ แบบที่ไม่ต้องมีระยะสวิงก็มีอยู่ไม่น้อย ทำไมไม่เอามาใช้งานแทนการติดป้ายล่ะ

กลัวเข้าใจผิด

การรักษาความปลอดภัยสำหรับอาคารและทรัพย์สินของเอกชน มักจะต้องจ้างบริษัทรักษาความปลอดภัยมารับหน้าที่นี้อยู่เสมอ และบริษัทเหล่านั้นก็ช่างสรรหาและออกแบบเครื่องแบบของพนักงานรักษาความปลอดภัยของตนเองให้มีความคล้ายคลึงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มากที่สุดที่จะเป็นไปได้ ซึ่งในแง่ผลดีก็คือทำให้พนักงานรักษาความปลอดภัยเหล่านั้นดูมีอำนาจมากขึ้น แต่ในแง่ผลเสียก็อาจทำให้เกิดความสับสน และนำเครื่องแบบพนักงานรักษาความปลอดภัยไปใช้ในทางที่ผิดได้

ที่อาคารสำนักงานขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง มีโต๊ะและเก้าอี้ชุดหนึ่งตั้งอยู่บริเวณโถงชั้นล่างของอาคาร และต้องเอาป้ายมาตั้งไว้ว่า "เจ้าหน้าที่ตำรวจ" เพราะกลัวคนอื่นเข้าใจผิดว่าเป็นยามหรือพนักงานรักษาความปลอดภัย เคยมีคนตั้งข้อสังเกตว่า หมวกตำรวจมีความศักดิ์สิทธิ์ใช้ได้อยู่เหมือนกัน เพราะถ้าตำรวจไม่อยู่ที่ร้านทองหรืออาคารที่เขาเชิญมานั่งเป็นศาลพระภูมิอยู่ ก็จะวางหมวกทิ้งไว้ขู่ว่าเดี๋ยวฉันอาจจะกลับมาเอาหมวกเมื่อไหร่ก็ไม่รู้นะจ๊ะ ทำให้เกิดความสงสัยว่า ระเบียบของตำรวจเมื่อออกนอกอาคารต้องสวมหมวกเสมอ แล้วเอาหมวกมาทิ้งไว้ตรงนี้ ออกนอกอาคารก็แต่งกายผิดระเบียบน่ะสิ แต่ก็มีตำรวจนายหนึ่งเฉลยว่า ใครบอกว่าตำรวจต้องมีหมวกแค่ใบเดียวล่ะ ต้องไปนั่งประจำที่ไหน ก็มีหมวกทิ้งไว้ที่นั่นเลยดิ

Sunday, April 15, 2007

Roles of Temples in Thai Society

Buddhism has been Thailand's national religion for 700 hundred years. Temples, the house of monks and religious images, play a crucial role in Thai's lifestyle. In the past, temples were the places of education , because monks were the elites of Thai's society. Men at 21 years old got into monkhood, in order to study in both academically and morally. Also, temples were markets, hospitals, community centers, and temporary shelters in emergency cases. Today Thai's lifestyle was changed by the influence of the Western World's domination, but temples are still the community's center in the other ways. The establishing of schools, hospitals, markets or shopping centers outside the temples may alter Thai's behaviours, but not our believes in Buddhism. Therefore, temples are still the domain of our community in some aspects. The picture above showed the role of Wat Yai at Pisanulok Province. This temple became the tourist attraction place and the economic stimulation center for the province.

คิดว่าไม่ผิดใช่ไหม

พื้นที่เขตทางทั้งหมดถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ตามประเภทของผู้ใช้งาน คือส่วนสำหรับยานพาหนะแบบมีเครื่องยนต์ เช่น รถยนต์ จักรยานยนต์ รถบรรทุก เป็นต้น และส่วนสำหรับยานพาหนะแบบไม่มีเครื่องยนต์ เช่น คนเดินเท้าและจักรยาน ซึ่งทั้งสองส่วนต่างก็มีความสำคัญทัดเทียมกันในการสัญจรและคมนาคมขนส่งสำหรับเมือง แต่สำหรับประเทศไทย สิทธิของยานพาหนะแบบไม่มีเครื่องยนต์มักจะถูกเบียดเบียนโดยยานพาหนะแบบมีเครื่องยนต์อยู่เสมอ ๆ เพราะสังคมไทยคิดว่าถนนเป็นของรถไม่ใช่ของมนุษย์

ตัวอย่างเช่น บนถนนเพชรเกษมใกล้แยกนครชัยศรี เนื่องจากอยู่บนทางหลวงแผ่นดินสายหลักและใกล้ทางร่วมทางแยกจึงห้ามจอดยานพาหนะใด ๆ เพื่อความสะดวกและความปลอดภัยในการสัญจร รถกระบะคันที่เห็นอยู่ในภาพกลัวถูกตำรวจจับก็เลยหนีไปจอดอยู่บนทางเท้าเสียเกือบเต็มคันรถ ทิ้งเพียงด้านข้างรถเอาไว้บนถนน แถมยังกรวยยางมาตั้งไว้เป็นการเตือนว่านี่คือที่จอดรถส่วนตัวของฉันอย่างไม่ผิดกฎหมายเสียอีกด้วย จะไม่ผิดได้อย่างไร เมื่อท่านกำลังจอดรถกีดขวางการจราจรแม้ว่าจะเป็นเพียงหนึ่งในสี่ของคันก็ตามที อีกทั้งท่านยังจอดรถบนทางเท้าสาธารณะทำให้คนเดินผ่านไปมาได้อย่างไม่สะดวกและไม่ปลอดภัย แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะใจดีอยู่เสมอ เห็นว่าเขาได้พยายามหลีกเลี่ยงการจอดรถบนผิวการจราจรแล้วก็ปล่อยให้ทำไป คนเดินเท้าจะเดินไม่ได้ก็ช่างมันสิ

Saturday, April 14, 2007

Holidays make Bangkok "a lawless city"

Songkran Festival(Thailand's Water Festival) is a famous tourist attraction. Thai people take very long holidays (at least 4 to 5 days) and went back to their hometowns. The main celebration for this festival is water shooting. Most people ride motorcycles through out the city to play the water shooting with the others who stand in front of their homes. However, shooting water to the vehicle is against the law in the regular day, as well as riding motorcycles without wearing helmets. Unfortunately, policemen do not fully work on Songkran Festival. Those regulations are always neglected.



This motorcycle gang stolled along Patanakarn Road. Without wearing helmets, they went to play water shooting with the water station in front of the houses. Surely, they had to ride pass several police sub-stations at all intersections. Not even a policeman tried to exercise the law on public safety. This can be implied that during the holidays, Bangkok is a lawless metropolis, the dwellers should take care of yourself. Policemen need a vacation too.

น้ำจิ้มไก่ย่าง

โฆษณาขายน้ำจิ้มไก่ย่างบนรถขนส่งน้ำจิ้มไก่ย่างนั่นแหละ เห็นว่าออกแบบสัญลักษณ์ได้แปลกดี และสื่ออย่างตรงไปตรงมา (เกินไปหรือเปล่า) ว่าฉันนี่แหละคือน้ำจิ้มไก่ย่าง โดยเอาปีกไก่และน่องไก่ซึ่งเป็นตัวชูโรงของไก่ย่างมาประกอบกับขวดน้ำจิ้มไก่ ให้กลายเป็นรูปตัวไก่ทั้งตัว แล้วนำมาเป็นสัญลักษณ์เพื่อการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย ถ้าทำเป็นภาพเคลื่อนไหวให้ไก่ย่างนี้สามารถกระโดดไปมาได้ คงน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว :)

ปรัชญาการออกแบบเมืองของโลกตะวันออกและโลกตะวันตก

บทความนี้เขียนซ่อนเก็บไว้นานแล้ว วันนี้ไปค้นข้อมูลเก่าในคอมพิวเตอร์ เจอมันเข้าพอดีก็เลยเอามาเก็บไว้ที่นี่ รวมไว้กับเรื่องอื่น ๆ เลย

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2549) ได้นั่งถกปัญหาเรื่องปรัชญาการออกแบบเมือง ว่านักออกแบบชาวไทยยึดติดอยู่กับปรัชญาการออกแบบของโลกตะวันตกมากจนเกินไปหรือเปล่า และการยึดติดนั้นทำให้เกิดความไม่สอดคล้องระหว่างเมืองที่ได้รับการออกแบบกับวิถีชีวิตแบบไทย ซึ่งมีความเป็นตะวันออกอย่างชัดเจน

ปรัชญาการออกแบบที่ต่างกันระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกไม่มีใครถูกใครผิด เพราะทั้งสองปรัชญาล้วนเกิดมาจากวิถีชีวิตของคนในภูมิภาคที่ต่างกัน โลกตะวันตกมีความคิดว่า "มนุษย์อยู่เหนือธรรมชาติ" หรืออีกนัยหนึ่งคือมนุษย์สามารถควบคุมธรรมชาติได้อย่างเด็ดขาด งานออกแบบเมืองของโลกตะวันตกจึงมีลักษณะเป็นแบบที่แสดงออกถึงความมีอำนาจเหนือธรรมชาติของมนุษย์ องค์ประกอบทางธรรมชาติเช่น ต้นไม้หรือทางน้ำ จึงได้ถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นรูปทรงที่ไม่เป็นธรรมชาติ อย่างเช่นรูปทรงเรขาคณิต อีกทั้งการออกแบบสภาพแวดล้อมของโลกตะวันตกจะมองในลักษณะขององค์รวมที่จะต้องมีความกลมกลืนและสมดุลกันขององค์ประกอบต่างๆ ซึ่งตามธรรมชาติแล้วความกลมกลืนและสมดุลมีความซับซ้อนและมีมิติมากกว่าที่มนุษย์จะนำมาเขียนลงในกระดาษเพื่อเป็นแบบก่อสร้าง หรือแบบที่นำเสนอกับเจ้าของงานได้ งานออกแบบเมืองของโลกตะวันตกจึงเป็นการสร้างและควบคุมสภาพแวดล้อมให้กลมกลืนและสมดุลในแบบที่มนุษย์ต้องการเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืองานออกแบบเมืองและสวนในยุคเรเนซองส์ (ดูตัวอย่างแนวความคิดแบบ Renaissance Formalism เช่น สวนในพระราชวังแวร์ไซล์ เมืองวอชิงตันดีซี เป็นต้น)

ส่วนปรัชญาการออกแบบเมืองของโลกตะวันออกกลับมองว่า "มนุษย์คือส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ" คือไม่ได้คิดว่าตนเองอยู่เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด และยอมรับว่ามนุษย์มีกำลังน้อยกว่าพลังของธรรมชาติ การออกแบบเมืองของโลกตะวันออก คือการทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมได้อย่างกลมกลืนและสมดุลโดยเอาธรรมชาติเป็นที่ตั้ง การออกแบบเมืองของโลกตะวันออกจึงให้ความเคารพต่อธรรมชาติเป็นอย่างมาก นำมาซึ่งหลักการอย่างฮวงจุ้ยที่ล้วนแต่มีเหตุผลทางธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หรือการออกแบบสวนของญี่ปุ่นหรือจีน ที่ไม่ได้สนใจว่าแปลนจะน่าเกลียด ขาดความสมดุลทางการจัดวางองค์ประกอบ แต่สนใจว่า มนุษย์ที่ใช้งานในสวนมองจากมุมใดและจะเห็นอะไรจากตำแหน่งที่มนุษย์สามารถรับรู้งานออกแบบได้ ซึ่งปรัชญาการออกแบบดังกล่าว น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงการที่โลกตะวันออกยอมรับว่ามนุษย์อยู่ในระดับเดียวกันกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกายภาพ (ความสูงของตำแหน่งการมอง) หรือ ทางจิตวิญญาณ

ปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างปรัชญาการออกแบบของโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก เกิดขึ้นเมื่อเกิดการติดต่อถึงกันทั่วโลก ทำให้มีการถ่ายทอดแนวความคิดระหว่างโลกที่แตกต่างกันสองภูมิภาค เมื่อพิจารณาถึงประเทศไทย เมืองในยุคหลังได้ถูกออกแบบด้วยปรัชญาของโลกตะวันตก มีแปลนที่สวยงาม แต่ไม่ได้สอดคล้องกับวิถีของคนไทยซึ่งเป็นมนุษย์ตะวันออกอย่างแท้จริง หลักฐานที่เห็นได้ชัดคือศาสนาพุทธที่เป็นศาสนาประจำชาติ ศาสนาพุทธสอนให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติ (ปรัชญาตะวันออก) ไม่ใช่เอาชนะธรรมชาติ (ปรัชญาตะวันตก) ด้วยความไม่สอดคล้องกันระหว่างปรัชญาในการออกแบบเมืองกับวิถีชีวิตของคนไทย ทำให้เมืองไม่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่น่าคิดกว่านั้นก็คือ คนไทยไม่ได้เรียกร้องให้นำเอาปรัชญาตะวันออกมาใช้ในการออกแบบเมืองให้กับคนไทยที่เป็นคนตะวันออก แต่กลับมีความยินดีที่จะปรับตัวเองให้เห็นดีเห็นงามตามปรัชญาตะวันตก

ความปลอดภัยด้านการจราจรกับรสนิยมและความพอใจส่วนบุคคล

ถ้าตั้งคำถามว่า "คุณอยากให้ถนนมีความสวยงามหรือไม่" คำตอบคงจะออกมาเป็นเอกฉันท์ว่าทุกคนต้องการ และความต้องการนี้ได้รับการตอบสนองให้เห็นกันโดยทั่วไป เช่นมีการปลูกต้นไม้ทั้งสองข้างถนนและบริเวณเกาะกลาง การออกแบบส่วนประดับตกแต่งถนน (Street Furniture) ให้มีความสวยงาม เป็นที่น่าชื่นชมต่อผู้ใช้เส้นทาง

อย่างไรก็ตาม สินค้าและบริการทุกอย่างล้วนมีต้นทุน ซึ่งการมีถนนสวยงามก็เช่นกัน ต้นทุนที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ค่าพันธุ์พืช ค่าดูแลรักษา ค่าปลูกสร้าง เป็นต้น และยังมีอีกต้นทุนหนึ่งที่สังคมมักจะมองข้ามไปก็คือต้นทุนด้านความปลอดภัย ใครที่ใช้ถนนวิภาวดีรังสิตในช่วงกลางคืนคงจะเข้าใจประเด็นนี้ได้ดี เพราะในช่วงกลางคืนจะมีรถขนน้ำมารดน้ำต้นไม้ที่อยู่บริเวณเกาะกลางถนน รถขนน้ำเหล่านี้จะวิ่งด้วยความเร็วต่ำหรือหยุดนิ่งอยู่ในช่องทางวิ่งขวาสุด ซึ่งเป็นช่องทางวิ่งสำหรับรถที่มีความเร็วสูงที่สุด และในบางช่วงเวลาก็ยังต้องมีรถบรรทุกมาจอดอยู่ติดกับเกาะกลางถนนเพื่อการบำรุงรักษาต้นไม้และดินอีกด้วย ส่งผลให้เกิดอันตรายแก่ผู้สัญจรผ่านไปผ่านมาเป็นอย่างยิ่ง แถมน้ำบางส่วนก็นองที่พื้นถนน เมื่อน้ำเหล่านั้นผสมกับฝุ่นบนพื้นถนนก็ทำให้ถนนลื่น ก่อให้เกิดอันตรายในการใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้นไปอีก


ถ้าพิจารณาถึงการใช้รถใช้ถนนแล้ว จะพบว่าความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรกเสมอ องค์ประกอบของถนนต่างๆ ไม่ว่า ป้ายสัญญาณ วัสดุพื้นผิว และภูมิทัศน์ต่างๆ ล้วนแต่มีไว้เพื่อสร้างหรือส่งเสริมให้การสัญจรมีความปลอดภัยสูงที่สุดที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นต้นไม้และภูมิทัศน์สำหรับถนนควรจะมีความต้องการการดูแลรักษาน้อยที่สุด ไม่จำเป็นต้องมาตัดกิ่ง พรวนดิน หรือดูแลรดน้ำต้นไม้ เพราะกระบวนการดูแลรักษามีต้นทุนสูง และก่อให้เกิดอันตรายทั้งผู้ที่ต้องไปดูแลรักษาและผู้ใช้รถใช้ถนน การอยากได้ถนนสวยงามโดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยจะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่สูงขึ้นตามมาด้วยเสมอ เรื่องที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือ ภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยสาธารณะให้กับประชาชนกลับกลายเป็นผู้ทำลายความปลอดภัยสาธารณะนั้นเสียเอง


คำถามที่สองคือ "ท่านต้องการขนส่งสินค้าอย่างรวดเร็วหรือไม่" แน่นอนทุกคนย่อมอยากส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็คงไม่เร็วถึงขนาดต้องลดมาตรฐานความปลอดภัยลง ถ้าใครเคยใช้ถนนระดับไฮเวย์อย่างถนนบรมราชชนนี ในช่วงที่ฝนตกลงมาใหม่ๆ จะพบว่ามีรถกระบะหรือรถบรรทุกจอดบนไหล่ทางหรือพื้นผิวการจราจรด้านซ้ายสุดของช่องทางด่วน ซึ่งมีไหล่ทางแคบมาก รถบรรทุกจอดแล้วจะล้นเข้ามาในช่องทางวิ่งด้านซ้ายสุดอยู่ครึ่งคันเป็นอย่างน้อย แล้วคนขับรถก็ลงมาเอาผ้าใบคลุมสินค้าเพื่อไม่ให้เปียกฝน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะตามหลักการของการสัญจรบนไฮเวย์แล้วต้องไม่มีการหยุดหรือจอดรถยกเว้นในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น อีกทั้งในช่วงฝนตกทัศนวิสัยในการขับขี่ก็แย่ลงกว่าในช่วงสภาพอากาศปกติอีกด้วย ประเด็นเรื่องความปลอดภัยนี้ขัดแย้งกับความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า เพราะเมื่อขนสินค้าขึ้นรถบรรทุกแล้วก็ควรออกเดินทางให้เร็วที่สุด แม้ว่าการคลุมผ้าจะมีข้อดีเรื่องลดความเสียหายของสินค้าจากการตกหล่นและสภาพอากาศ แต่ก็มีต้นทุนเรื่องเวลาและค่าวัสดุในการคลุมสินค้า แม้ว่ากฎจราจรจะระบุชัดเจนว่าต้องคลุมผ้าแต่ก็มักจะได้รับการละเลยทั้งจากเจ้าของรถและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทางกฎหมายอยู่เสมอ สถานการณ์ดังกล่าวสามารถตีความโดยนัยว่าต้นทุนในการขนส่งถูกตีค่าให้อยู่เหนือกว่าความปลอดภัยสาธารณะ ทั้งในมุมมองของสังคมและผู้บังคับใช้กฎหมาย

คำถามที่สามคือ "คุณอยากมีรถสวยงามหรือไม่" คำตอบก็คงเป็นเอกฉันท์อีกเช่นกันว่าทุกคนต้องการรถสวยงาม แต่ความสวยงามตามที่เจ้าของรถต้องการมักจะไปลดระดับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของเจ้าของรถเองและคนอื่นๆ ลงด้วย ตัวอย่างเช่น ความนิยมในการติดฟิล์มกรองแสงที่มีความเข้มสูง เพื่อลดความร้อนจากแสงแดดและเพิ่มความเป็นส่วนตัวภายในตัวรถ แต่เมื่อพิจารณาถึงความปลอดภัยในการขับขี่แล้วพบว่าทัศนวิสัยของผู้ขับขี่แย่ลง อีกทั้งยังมีผลกับผู้ขับขี่ยานพาหนะคันที่อยู่ด้านหลังของรถที่ติดฟิล์มกรองแสงที่มีความเข้มสูงอีกด้วย เพราะผู้ขับขี่ยานพาหนะคันที่วิ่งตามมาไม่สามารถมองทะลุกระจกหน้าและหลังของรถคันข้างหน้าผ่านไปยังอีกคันหนึ่งได้ ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นบนพื้นผิวถนน รถคันที่วิ่งตามหลังรถที่ติดฟิล์มกรองแสงความเข้มสูงมีทัศนวิสัยที่จำกัดอยู่เพียงแค่รถคันหน้าเท่านั้น ทำให้คนขับมีเวลาในการตัดสินใจสั้นลง ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่สูงขึ้นตามมาด้วย กรณีของรถที่ติดฟิล์มความเข้มสูงสามารถเทียบเคียงได้กับกรณีของรถกระบะที่ต่อตู้บนกระบะให้มีความสูงมากขึ้นเพื่อให้บรรทุกสินค้าได้มากขึ้น เพราะผลที่ตามมาก็คือปัญหาด้านทัศนวิสัยของตัวผู้ขับขี่รถกระบะคันนั้นและรถที่วิ่งตามหลังเช่นกัน

ตัวอย่างที่สอง คือความนิยมในรถกระบะขนาดใหญ่ที่มีความสูงของตัวรถสูงกว่ารถยนต์ส่วนบุคคลปกติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะดวกในการใช้งานในพื้นที่ทุรกันดาร และเพื่อความสวยงามตามความนิยมของยุคสมัย แต่การที่รถกระบะมีขนาดใหญ่หรือถูกยกให้สูงกว่ารถยนต์ส่วนบุคคลปกติส่งผลกระทบด้านความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น นอกจากเรื่องทัศนวิสัยเช่นเดียวกับกรณีของรถที่ติดฟิล์มกรองแสงความเข้มสูงแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความเสี่ยงด้านความรุนแรงในการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย เมื่อเกิดอุบัติเหตุระหว่างรถที่มีความสูงเท่ากัน ส่วนที่ปะทะกันก็คือส่วนที่ได้รับการออกแบบมาให้แข็งแรงที่สุด แต่เมื่อรถกระบะขนาดใหญ่หรือยกสูงชนกับรถยนต์ส่วนบุคคลปกติ กันชนของรถกระบะยกสูงไม่ได้อยู่ระดับเดียวกันกับกันชนของรถยนต์ส่วนบุคคลปกติ แต่กลับอยู่สูงถึงระดับกระจกหน้า ซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวปะทะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ความรุนแรงของอุบัติเหตุมีสูงขึ้น ในประเทศอเมริกา ค่าประกันอุบัติเหตุของรถกระบะสี่ล้อขนาดใหญ่หรือยกสูงจะมีอัตราสูงกว่ารถยนต์ส่วนบุคคลปกติ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วจะมีอัตราการความเสี่ยงของการบาดเจ็บกับรถคู่กรณีสูงนั่นเอง นี่คือเหตุผลหนึ่งที่กฎจราจรกำหนดให้รถบรรทุกตั้งแต่หกล้อขึ้นไปต้องวิ่งในช่องทางซ้ายสุด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุระหว่างยานพาหนะต่างประเภทกัน เป็นที่น่าคิดว่าเราควรจะจัดประเภทรถกระบะขนาดใหญ่หรือยกสูงอยู่ในประเภทเดียวกับรถส่วนบุคคลปกติหรือไม่ หรือจะจัดอยู่ประเภทเดียวกับรถบรรทุกใหญ่ที่มีข้อจำกัดในการใช้รถเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม แต่แนวความคิดดังกล่าวแม้ว่าจะมีเหตุผลด้านความปลอดภัยเป็นพื้นฐานแต่ก็คงจะได้รับการคัดค้านจากผู้ใช้รถกระบะและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตรถกระบะอย่างแน่นอน

จากสามคำถามที่นำมาเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์ผลกระทบด้านความปลอดภัยทางการจราจร เห็นได้ชัดว่าคนสังคมมักจะมองข้ามผลกระทบของพฤติกรรมต่างๆ ที่มีต่อความปลอดภัยสาธารณะอยู่เสมอ แต่จะให้ภาคเอกชนหรือผู้ผลิตมารับผิดชอลความปลอดภัยสาธารณะเพียงฝ่ายเดียวคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำที่มีต้นทุน แต่การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบันต้องพยายามลดต้นทุนให้มากที่สุด จึงไม่มีทางที่เอกชนหรือผู้ผลิตจะยอมรับต้นทุนด้านความปลอดภัยสาธารณะอย่างเต็มใจ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของภาครัฐที่จะให้ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ และยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลให้เอกชนหรือผู้ผลิตคำนึงถึงความปลอดภัยสาธารณะอย่างเคร่งครัดอีกด้วย ในด้านของประชาชน ก็จะต้องยอมรับว่าการจะมีเมืองที่ปลอดภัยจะต้องมีต้นทุน และต้องยอมแบกรับต้นทุนนั้นเข้ามาอยู่ในราคาสินค้าและบริการด้วย ไม่ใช่แค่เรียกร้องหาเมืองที่ดี แต่กลับไม่ยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งเมืองที่ดีอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

Friday, April 13, 2007

เมื่อหน่วยงานของรัฐละเลยความเห็นของประชาชน

โครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ มีเป้าหมายเพื่อทำให้ประชาชนมีความสะดวกสบายและมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการเหล่านั้นด้วย การดำเนินโครงการโดยไม่ให้ความสำคัญกับความเห็นประชาชนก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศมาแล้วไม่รู้กี่ครั้ง แต่การละเลยต่อประชาชนก็ยังเกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ และผลเสียก็เกิดให้เห็นทันตาเสียด้วย


โครงการก่อสร้างสะพานรถยนต์ข้ามแยกนครชัยศรี จากถนนบรมราชชนนี ซึ่งบนถนนเพชรเกษมแต่เดิมรถขาออกจากกรุงเทพฯ ที่จะเลี้ยวเข้าอำเภอนครชัยศรีต้องรอสัญญาณไฟที่สามแยกนครชัยศรี ซึ่งทำให้เกิดการจราจรติดขัดและเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงดำเนินโครงการสร้างสะพานลอยรถยนต์เพื่อให้รถที่จะเลี้ยวขวาเข้าอำเภอนครชัยศรีไม่ต้องรอสัญญาณไฟ แต่โครงการดังกล่าวต้องหยุดกลางคัน และขึ้นป้ายไว้ดังในภาพบน โครงการที่ได้เปิดพื้นผิวการจราจรไปแล้ว ทางลงสะพานก็ทำไปแล้วบางส่วนก็ต้องถูกทิ้งเอาไว้ พื้นที่ถนนทิศทางละหนึ่งช่องทางไม่สามารถใช้งานได้ เหตุที่ต้องหยุดกลางคันก็เพราะต้องรอการสำรวจความเห็นจากประชาชนเสียก่อน อ้าว ทำไมก่อนดำเนินการก่อสร้างไม่ทำการสำรวจมาให้เรียบร้อยก่อน จะมามัดมือชกว่าดำเนินการไปแล้ว ประชาชนต้องยอมรับได้อย่างไร นี่คือตัวอย่างของความผิดพลาดของหน่วยงานภาครัฐ ที่คิดว่าตนเองมีอำนาจเหนือประชาชนอยู่เสมอ จะเอาโครงการอะไรมาใส่ประชาชนก็ต้องยอมรับ ซึ่งในโลกปัจจุบันทำอย่างนั้นไม่ได้แล้วหละ แล้วผลเสียที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงบประมาณที่ต้องเสียเพิ่มเติม ความล่าช้า การเกิดอุบัติเหตุจากผลของโครงการ ใครจะรับผิดชอบล่ะเนี่ยะ

สงกรานต์อันตราย

เทศกาลสงกรานต์นับว่าเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของคนไทย ประชาชนที่ไปทำงานนอกภูมิลำเนาเดินทางกลับไปเยี่ยมบ้าน มีการทำบุญ งานเลี้ยง เล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน ซึ่งมักจะมีการเลยเถิดจนเกิดอุบัติเหตุที่เสี่ยงภัยถึงชีวิตอยู่เป็นประจำ

วิธีการเล่นสาดน้ำเป็นต้นเหตุสำคัญของอุบัติเหตุทางถนน เป็นการสาดน้ำใส่กันระหว่างคนสองกลุ่ม คือ คนที่อยู่หน้าบ้านหรือร้านค้า ซึ่งอยูก่บที่แล้วมาตั้งสถานีบนผิวการจราจรช่องซ้ายสุด เพื่อสาดน้ำกับอีกฝ่ายหนึ่งคือผู้ที่ขับขี่จักรยานยนต์หรืออยู่บนท้ายรถกระบะ พฤติกรรมการเล่นสาดน้ำดังกล่าวก่อให้เกิดอันตรายทั้งกับผู้เล่นน้ำทั้งสองฝ่าย และคนที่ผ่านไปมาในบริเวณดังกล่าวด้วย ผู้เล่นน้ำที่อยู่หน้าบ้านก็เสี่ยงต่อการถูกรถชนเพราะมายืนอยู่บนผิวการจราจร ผู้เล่นน้ำที่อยู่บนจักรยายนต์หรือท้ายรถกระบะก็เสี่ยงภัยต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะถนนลื่นและต้องโดนสาดน้ำใส่ทำให้ควบคุมรถได้ลำบากขึ้น คนที่ผ่านไปมาในบริเวณดังกล่าวก็ต้องคอยหลบคนที่ไล่สาดน้ำแถมถนนก็ลื่นอีกด้วย จริง ๆ แล้วการเล่นสาดน้ำสามารถทำอย่างปลอดภัยก็ได้ เช่น ไปเล่นกันในสถานที่ที่จัดไว้อย่างปลอดภัย แต่การเล่นดังกล่าวคงไม่สะดวกสบายและสนุกเท่ากับการเล่นที่เสี่ยงภัย คนไทยส่วนหนึ่งจึงเอาชีวิตมาแลกกับความสนุกสนานอย่างไม่กลัวเกรง

ใครกันแน่ที่เป็น "ผู้มีอิทธิพล"

เรามักจะได้ยินกันอยู่เสมอ ๆ ว่าวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าคุ้มครองให้ผู้มีอิทธิพลในรูปแบบของค่าเสื้อกั๊ก เพื่อให้สามารถดำเนินการบริการได้อย่างสะดวกและปลอดภัยจากอันตรายและการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ป้องกันผู้ขับขี่จากเขตอื่นมาแย่งลูกค้าในพื้นที่ แต่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ออกมาร้องเรียนว่าถูกกดขี่ข่มเหงและรีดไถจากผู้มีอิทธิพล หน่วยงานของรัฐได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ด้วยการขึ้นทะเบียนผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เพื่อให้เป็นการบริการที่ผ่านการควบคุมโดยรัฐ และทำให้ไม่มีผู้มีอิทธิพลเข้ามาเรียกรับผลประโยชน์และควบคุมผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

รูปนี้สะท้อนความเป็นจริงแห่งมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ป้ายที่ติดอยู่บนต้นไม้บอกว่าถ้าถูกผู้มีอิทธิพลคุกคามให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างให้แจ้งความได้ ทำให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างปลอดภัยจากอิทธิพลมืด แต่ป้ายสีเหลืองที่ติดอยู่กับกรวยยางระบุว่า "คิวมอเตอร์ไซ ห้ามจอด" เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างนั่นแหละกำลังตั้งตัวเป็นผู้มีอิทธิพลเสียเอง โดยเอาพื้นที่จอดรถสาธารณะที่ทุกคนควรจะมีสิทธิ์ในการจอดเท่าเทียมกัน มาทำเป็นที่จอดมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ทั้ง ๆ ที่พื้นที่นี้อยู่ข้างสถานีตำรวจภูธรนครชัยศรี มอเตอร์ไซค์รับจ้างยังสามารถยึดพื้นที่สาธารณะมาประกอบธุรกิจได้โดยที่ตำรวจที่เข้าออกสถานีตำรวจวันละหลาย ๆ ครั้ง ไม่เห็นว่ามันเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

กันขโมย

อุปกรณ์ประกอบถนน (Street Furniture) เช่น เสาไฟฟ้าส่องสว่าง ต้นไม้ เก้าอี้ ฯลฯ มีไว้เพื่อทำให้ชุมชนมีถนนและทางเท้าที่มีคุณภาพดี เหมาะกับการใช้ชีวิตของมนุษย์ แต่อุปกรณ์ประกอบถนนสาธารณะที่มีความสวยงามมักจะมีคนอยากเอาไปเป็นของส่วนตัวเสมอ หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงต้องมีวิธีการที่รักษาของสาธารณะเหล่านี้เอาไว้

ตัวอย่างเช่น เทศบาลนครชัยศรีใช้วิธีการติดตราสัญลักษณ์ของเทศบาลเอาไว้บนเก้าอี้สาธารณะ เพื่อป้องกันเก้าอี้เหล่านี้จากขโมย ซึ่งก็เป็นต้นทุนสาธารณะที่เกิดขึ้นต่อสังคม ทำให้ต้นทุนของเก้าอี้แพงขึ้นโดยไม่จำเป็น แทนที่จะเอาเงินในส่วนทำตราสัญลักษณ์เพื่อป้องกันขโมยไปซื้อเก้าอี้เพิ่มเติม กลับต้องเอางบประมาณมาใช้เพื่อป้องกันคนเห็นแก่ตัวเอาของสาธารณะไปเป็นประโยชน์แก่ตัวเอง

ป้ายนี้ถูกต้องแล้วใช่ไหม

คุณภาพของน้ำในแม่น้ำลำคลองเป็นประเด็นด้านสภาพแวดล้อมที่กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง หน่วยงานภาครัฐได้ทำการตรวจสอบแหล่งน้ำตามธรรมชาติอย่างสม่ำเสมอ และมีการแสดงผลการตรวจสอบให้ประชาชนได้รับทราบด้วย เพราะประชาชนเป็นกลไกสำคัญทั้งในการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำและการเป็นตัวการในการทำลายทรัพยากรน้ำ

ที่ตีนสะพานรวมเมฆข้ามแม่น้ำท่าจีนก็มีการตรวจสอบและแสดงผลคุณภาพของน้ำไว้อย่างชัดเจน น่าเสียดายที่ป้ายนี้กลับไม่ได้แสดงข้อมูลที่ถูกต้องให้กับประชาชน ลูกศรที่ควรจะเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของน้ำชี้ไปที่ไหนก็ไม่รู้ ส่งผลเสียต่อระดับความน่าเชื่อถือของป้ายรวมไปถึงหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวด้วย

เขียนเสือให้วัวกลัว

หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรมีอยู่หลายประการ ได้แก่ ควบคุมและอำนวยการให้การจราจรมีความสะดวกและปลอดภัย แต่สำหรับสังคมไทยแล้ว หน้าที่ของตำรวจจราจรมีเพียงอย่างเดียวคือ จับกุมผู้ทำผิดกฎจราจร เพราะมีคนฝ่าฝืนกันอยู่ทั่วไป จะตามจับกันตลอดเวลาก็คงไม่ไหว จึงมีการสร้างรูปจำลองขนาดเท่าตัวจริงของตำรวจจราจรไปติดตั้งไว้ตามทางร่วมทางแยกต่าง ๆ เพื่อหลอกให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะให้ปฏิบัติตามกฎจราจร

ตัวอย่างเช่น หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอนครชัยศรี ก็มีรูปจำลองของตำรวจจราจรท่านนี้ตั้งอยู่ตรงตีนสะพานรวมเมฆ ความหมายโดยนัยของการใช้รูปจำลองสะท้อนถึงความบกพร่องของศีลธรรมและจริยธรรมของคนไทย แสดงให้เห็นว่าสังคมยอมรับว่าถ้าไม่มีเจ้าหน้าที่มาคอยจับกุม ผู้ขับขี่ยานพาหนะก็สามารถทำผิดกฎหมายได้ จึงต้องเอารูปจำลองมาตั้งขู่ไว้ เพื่อหลอกว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ตรงนี้นะ เลิกทำผิดกฎหมายตรงนี้ก่อนเถอะ พอพ้นจากสายตาเขาไปแล้วก็ค่อยทำผิดกฎหมายต่อไปได้

Thursday, April 12, 2007

ทางหลวงแผ่นดิน = ที่พักรอเวลาของรถสิบล้อ

มาตรการห้ามรถบรรทุกขนาดใหญ่เข้ามาวิ่งในกรุงเทพฯ ระหว่างช่วงเวลาเร่งด่วนตอนเช้าและเย็น มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ แต่กลับมีปัญหาอื่นที่ตามมา

ตามทางหลวงแผ่นดินในช่วงก่อนที่จะเข้ากรุงเทพฯ เราจะพบภาพนี้ในช่วงนอกเวลาเร่งด่วนเสมอ เช่น ถนนบรมราชชนนี ถนนพระราม๒ นั่นคือ รถสิบล้อจะมาจอดรถรอเวลาที่อนุญาตให้เขาเข้ากรุงเทพฯ ได้ โดยจะจอดรออยู่บนช่องทางวิ่งด้านซ้ายสุดของทางหลวงแผ่นดิน ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะรถบนทางหลวงแผ่นดินสายหลักจะวิ่งด้วยความเร็วสูง แถมในช่วงเวลาเร่งด่วนช่องทางจราจรยังต้องอุทิศไปให้กับรถสิบล้อเหล่านี้อีกหนึ่งช่องทาง แปลกที่ประชาชนเขาเห็นกันอยู่ทุกวัน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรจะเห็นว่าเป็นปัญหาเฉพาะช่วงใกล้สิ้นเดือนเท่านั้น

รางระบายน้ำฝน

ภาพนี้ถ่ายที่ Changdeokgung Palace กรุงโซล เกาหลีใต้ เห็นว่ารางระบายน้ำทำเป็นรูปหัวห่านแปลกตาดี แถมยังตอบสนองหน้าที่ใช้สอยได้อย่างถูกต้อง คือสามารถเบี่ยงทิศทางของน้ำไม่ให้ตกใกล้กับตัวอาคาร แต่ยื่นออกไปตามหัวของห่านให้น้ำฝนตกลงไกลอาคารออกไป ทำให้บริเวณรอบอาคารไม่เสียหายจากแรงตกของน้ำอีกด้วย

ข้าราชการ = อภิสิทธิ์ชน

สำหรับสังคมไทยแล้ว แม้ว่าทางกฎหมายจะบอกว่าไม่มีชนชั้น ทุกคนเท่าเทียมกัน กฎระเบียบต่าง ๆ มีไว้เพื่อความปลอดภัยสาธารณะเป็นสำคัญ จึงไม่มีการยกเว้นสำหรับผู้หนึ่งผู้ใดว่าจะอยู่เหนือกฎหมายได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ข้าราชการมักได้รับสิทธิพิเศษหรืออภิสิทธิ์อยู่เสมอ ๆ จนกลายเป็นเรื่องปกติในสังคม

ภาพแบบนี้เห็นกันจนชินตา ข้าราชการแต่งเครื่องแบบเต็มยศ ให้เห็นว่า "ฉันนี่แหละ ข้าราชการ" จึงสามารถขับขี่จักรยานยนต์ได้โดยไม่ต้องสวมหมวกกันน็อค เหมือนกับว่าการเป็นข้าราชการช่วยให้ไม่เกิดอุบัติเหตุได้ หรือมีบุญบารมีพอที่จะไม่ได้รับอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ พอดีว่าผู้เขียนขับรถบนเส้นทางเดียวกันข้าราชการผู้มีบุญหนักศักดิ์ใหญ่ท่านนี้ไปเป็นระยะทางไกลพอสมควร ผ่านหลายสี่แยกที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนปฏิบัติหน้าที่อยู่ตรงสี่แยก แต่ไม่เห็นว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจท่านใดมองเห็นข้าราชการท่านนี้ หรือว่าชุดข้าราชการจะทำให้ล่องหนได้ด้วยเช่นกัน

ใช้ไม่ได้แล้วก็เอาออกไปเสียสิ

เมื่อประมาณสิบปีที่ผ่านมา มีแนวความคิดที่จะแก้ปัญหาจราจรด้วยการส่งเสริมให้ยานพาหนะที่ขนส่งคนจำนวนมากได้สิทธิพิเศษในการสัญจร จึงได้มีการสร้างช่องทางพิเศษสำหรับ "รถมวลชน" หรือที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า High Occupancy Vehicle Lane (HOV Lane) แต่โครงการนั้นไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากเป็นการนำเอาช่องทางที่มีอยู่เดิมสำหรับรถยนต์ปกติ มาเปลี่ยนเป็น HOV Lane ทำให้ช่องทางวิ่งสำหรับรถปกติลดน้อยลง ทั้ง ๆ ที่สภาพการจราจรก็แย่มากอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการขาดความเข้าใจในการนำเอาแนวความคิด HOV Lane มาใช้ เพราะหลักการนี้มีกฎที่สำคัญที่สุด คือ จะต้องจัดหาช่องทางวิ่งใหม่สำหรับ HOV Lane ไม่ใช่เอาทางวิ่งเดิมสำหรับรถปกติมาเปลี่ยนเป็น HOV Lane เพราะการจะสร้างช่องทางรถมวลชน ก็เพราะว่าถนนเดิมไม่พอ การแก้ปัญหาจึงไม่ใช่การลดพื้นที่ถนนปกติลงแล้วเอามาทำช่องทางพิเศษ แต่จะต้องแก้ไขด้วยการเพิ่มช่องทางพิเศษ เสริมกับช่องทางปกติจำนวนเท่าเดิม

แต่เมื่อมาตรการช่องทางรถมวลชนล้มเลิกไป กลับไม่มีการเอาป้ายของมาตรการนี้ออก ตัวอย่างเช่น บนถนนบำรุงเมือง จากแยกแม้นศรีจนถึงสะพานกษัตริย์ศึก ป้ายช่องทางรถมวลชนยังคงถูกทิ้งไว้อย่างนั้น มีแต่งบประมาณจะสร้างและติดตั้งป้ายใหม่ แต่ดันไม่มีงบมาถอดถอนของเก่าออกไป ถนนและทางเท้าจึงกลายเป็นที่ทิ้งขยะโดยกรุงเทพมหานครเสียเอง แถมยังสร้างความสับสนให้กับคนที่ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่อีกด้วย

Wednesday, April 11, 2007

คลองสวยน้ำใส

แม่น้ำลำคลองเคยเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของคนกรุงเทพฯ เพราะเป็นทั้งเส้นทางคมนาคมสายหลัก เป็นแหล่งน้ำอุปโภคบริโภค ที่ระบายและบำบัดของเสีย และเป็นที่ตั้งของกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ของเมือง ทำให้แม่น้ำลำคลองถูกดูแลอย่างดี แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป การสัญจรทางบกเข้ามาเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักแทน แม่น้ำลำคลองจึงถูกลดบทบาทลงเป็นเพียงที่ระบายของเสียเท่านั้น ทำให้คุณภาพของน้ำลดลงเป็นอย่างมาก กรุงเทพมหานครจึงได้มีโครงการ "คลองสวยน้ำใส" เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองให้มีคุณภาพดี นำไปสู่ความเป็นเมืองที่ดีอีกครั้ง


แต่นี่คือคลองข้างวัดราชนัดดาผ่านหลังศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ดูที่สีของน้ำสิ จะเห็นความสกปรกและมีขยะลอยอยู่ทั่วไป

ที่น่าแปลกใจคือ ข้าง ๆ คลองนี้มีป้าย "คลองสวยน้ำใส" ติดอยู่อย่างภาคภูมิใจ นี่ขนาดคลองนี้อยู่ในโครงการและตั้งอยู่ข้างศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเองด้วยซ้ำ ยังสกปรกได้ขนาดนี้ แล้วที่ไม่อยู่ในโครงการจะสกปรกขนาดไหน

เหตุเกิดที่หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

กรุงเทพมหานครเป็นองค์กรท้องถิ่นที่มีหน้าที่รับผิดชอบพื้นที่สาธารณะส่วนใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ดังนั้น ประชาชนจึงคาดหวังว่ากรุงเทพมหานครจะเป็นผู้นำและเป็นตัวอย่างที่ดีในลักษณะทางกายภาพที่มีคุณภาพดี อันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามไปด้วย แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น แม้แต่หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเองก็ตามที

ภาพบริเวณทางเท้าฝั่งตรงข้ามศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ทางเท้าควรถูกใช้เป็นช่องทางสัญจรสาธารณะ ที่คนเดินเท้าสามารถสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัย แต่ทางเท้าหน้าศาลาว่าการฯ เองแท้ ๆ กลับถูกใช้เพื่อกองสินค้าของเอกชน ซึ่งมีลูกค้าหลักก็คือข้าราชการและพนักงานของกรุงเทพมหานครเองนั่นแหละ

ป้ายบอกชื่อร้านและสรรพคุณของร้านค้า ฝั่งตรงข้ามกับศาลาว่าการฯ อีกเช่นกัน ป้ายนี้ติดตั้งอยู่ใต้กันสาดของตึกแถวซึ่งอยู่เหนือช่องทางสัญจรสาธารณะ ส่วนประกอบของอาคารต้องไม่ล้ำเข้ามาในพื้นที่สาธารณะ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อคนเดินเท้าได้ ผู้มีหน้าที่ตรวจสอบ ควบคุม และบังคับใช้กฎหมายตัวนี้ก็คือ กรุงเทพมหานคร ถ้าอยู่ตรงหน้าสำนักงานใหญ่ของกรุงเทพมหานครเองยังเป็นอย่างนี้ จะหวังว่าที่อื่น ๆ ที่อยู่ห่างไกลจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีคงจะไกลเกินฝัน

Monday, April 9, 2007

มีมาตรฐาน

ใครว่าผู้บริโภคในประเทศไทยไม่ได้ถูกปกป้องด้วยมาตรฐานที่ดี ขอให้ไปดูที่ศาลท้าวมหาพรหม สี่แยกราชประสงค์ คุณจะได้พบกับการขายสินค้าเพื่อใช้บูชาพระพรหมที่มีมาตรฐานเดียวกันหมด ไม่ว่าจะซื้อจากร้านไหนก็ราคาเดียวกัน การจัด Display เพื่อแสดงสินค้าก็เป็นแบบเดียวกัน เพื่อให้ทุกร้านไม่มีความเหลื่อมล้ำกันทางด้านราคา ประเภท และคุณภาพของสินค้า แต่น่าเสียดายที่การกำหนดมาตรฐานนี้เกิดจากการตกลงกันของผู้ขาย เพราะถ้าไม่มีมาตรฐานเดียวกัน ก็จะแข่งขันกัน ตัดราคากันจนขาดทุนกันไปทุกร้าน กลับไม่ใช่การตกลงกันระหว่างร้านค้ากับผู้มีหน้าที่ปกป้องสิทธิของลูกค้า จึงกลายเป็นการผูกขาดในรูปแบบที่มีผู้ขายน้อยรายและสามารถควบคุมตลาดได้ทั้งหมด แทนที่ลูกค้าจะได้ประโยชน์ว่าผู้ขายแข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อให้ได้ลูกค้า กลับเป็นว่า ผู้ขายฮั้วกันตั้งราคา และควบคุมพื้นที่การขายไว้ทั้งหมด ลูกค้าไม่มีทางเลือกใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากก้มหน้าก้มตารับราคาที่ผู้ซื้อตั้งมาให้โดยดุษฎี

รูปแบบของร้านค้าและประเภทของสินค้าเป็นแบบเดียวกันทั้งหมด

ราคาสินค้า มีป้ายที่เหมือนกันทุกร้านติดไว้หน้าร้าน เพื่อไม่ให้เกิดการแข่งขันกันด้านราคา

เพราะมีคน "ปล่อยนก" จึงมีคน "จับนก"

ตามศาสนสถาน และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีคนเคารพบูชาเป็นจำนวนมาก เรามักพบร้านขายสัตว์ เช่น นก ปลา เต่า เอาไว้ให้คนปล่อยเพื่อทำบุญอยู่เสมอ เคยคิดกันบ้างไหมว่า ก็เพราะมีคนอยากจะปล่อยสัตว์เหล่านี้เพื่อเป็นบุญกุศลกับตนเอง ก็เลยมีพ่อค้าแม่ค้าเห็นช่องทางดังกล่าว แล้วก็จับสัตว์เหล่านั้นมาทรมานอยู่ในกรงเพื่อให้ท่านทั้งหลายได้เป็นผู้มีบุญ ได้ปล่อยสัตว์เหล่านั้นให้พ้นทรมานจากการถูกกักขัง บางตัวก็ทนทรมานไม่ไหวตายไปก่อนที่ท่านทั้งหลายจะได้บุญ ก็ถ้าท่านไม่อยากทำบุญด้วยวิธีที่ต้องให้สัตว์ตัวอื่นทรมานก่อน แล้วตัวเองเป็นนางเอกพระเอกมาจ่ายเงินเพื่อปล่อยเขาไป เขาก็คงไม่ต้องถูกจับมาขังเอาไว้อย่างนี้หรอก

"ถนนปลอดขุด" แล้วทำไมเขาต้องขุดล่ะ

การพัฒนาเมืองต้องการการก่อสร้างเสมอ แต่เราเคยสงสัยไหมว่า ทำไมจึงมีการก่อสร้างไม่รู้จักจบจักสิ้นเสียที พอไฟฟ้าสร้างเสร็จได้แป๊บเดียว การประปาก็เริ่มขุดอีกแล้ว พอคืนพื้นผิวการจราจรได้เดือนเดียว ระบบน้ำเสียก็มาเริ่มขุดอีกแล้ว ที่น่าสงสัยมากคือ หน่วยงานเหล่านี้ล้วนแต่เป็นหน่วยงานของรัฐ หรือได้รับสัมปทานจากหน่วยงานของรัฐและอยู่ภายใต้กำกับของรัฐทั้งสิ้น ทำไมเขาจึงไม่ประสานกันให้ดีแล้วทำไปพร้อมกันล่ะ

ป้าย "ถนนปลอดขุด" ติดอยู่บนถนนหลายสายทั่วกรุงเทพฯ ป้ายนี้ติดโดยกทม. ซึ่งเป็นเจ้าของถนน เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับว่า หน่วยงานของรัฐไม่สามารถประสานกันได้ กทม. ไม่สามารถไปตกลงกับการประปา ไฟฟ้า โทรศัพท์ ระบายน้ำ ฯลฯ ว่าให้ทำพร้อมกันไปทีเดียวให้ได้ หน่วยงานอื่น ๆ มักแอบมาขุดโดยที่กทม. ไม่รู้อยู่เสมอ จึงต้องติดป้ายนี้เอาไว้ มันย้อนกลับไปจึงถึงการวางแผนพัฒนาเมืองว่าบริเวณใดจะมีกิจกรรมและการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างไร แล้ววางแผนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอต่อการรองรับ การที่จะห้ามขุด จะทำได้ก็ต่อเมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานเพียงพอต่อความต้องการแล้ว แต่ถ้าไม่พอ มันก็ต้องขุดแหละ เช่น ผังเมืองรวมบอกให้มีการพัฒนาเพิ่ม มีคนเพิ่ม ก็ต้องการโครงสร้างพื้นฐานเพิ่ม จะมาห้ามพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างไร ดังนั้น การวางแผนพัฒนาเมืองจะต้องประสานกันทั้งหมด แต่ก็มีเรื่องที่น่าสนใจอย่างหนึ่งว่า ถ้าขุดพร้อมกันทุกระบบ ต้นทุนของค่าขุดเริ่มต้นจะลดลงไปมาก คงจะมีผู้เสียประโยชน์ตรงนี้ไปไม่น้อยทีเดียวหละ

Friday, April 6, 2007

Flower seats

Public spaces need nice sitting places. There are a lot of designs for the good quality seats for public uses.


The example is at Inchoen International Airport. Sitting places require the good support from environment, such as shading, trees, flowers, and viewpoints. Seats at Incheon Airport serve two functions; the sitting places and flower beds. These two elements were integrated into a nice seat in front of the public toilet.

Thursday, April 5, 2007

Who are the owners of public roads???

It is clear that public goods, such as roads, are for public uses, and should be not allowed for permanent private purposes. They may be allowed for very temporary public uses, like drop the passengers off. However, public roads in Thailand have been mainly used for permanent private purposes for a long long time. Unfortunately, the responsible authorities have never take this issue seriously. The rights of public is always invaded by persons who have influence enough to make the authorities turned their eyes to the other ways.




These four pictures were taken around Yaowarat (China Town of Bangkok) and Wang Burapa. Vendor shops are located on footpaths where pedestrians walk pass-by. But the footpaths are too small for the sitting places for the shop owners. So, they put their seats on the roads. This action is very dangerous to both shop owners and drivers. Shop owners may be crashed by vehicles on the roads and drivers have smaller drive ways for their vehicles. These roads are the major transportation routes and nodes of Bangkok. In every peak hour period, policemen come to facilitate and monitor the traffic on these roads. However, they happened not to detect this problem.

Wednesday, April 4, 2007

Where should Airport Bus Stops be located???

International airports also played a role of intermodal interchange node of metropolises. Therefore, the appropriate location for local bus stop should be prepared. Conceptually, changing mode should be as convenient as possible. That means local buses should be able to pick up and drop off their passengers right at the terminal.

This is the good example. Incheon International Airport (South Korea) places local bus' stops in front of the terminals. Passengers can get in or get out off the buses and walk just 50 meters to the check in or check out desks. This concept is widely accepted and applied, for example at Frankfurt Airport, Germany. Unfortunately, Suvarnabhumi Airport of Thailand did the totally different thing. Bus Terminal is located at the fringe of the airport area, around 2 kilometers from the terminals. Passengers have to get off local buses and take the shuttle buses, operated by the company who get the concession from the airport authority. It takes two times of changing mode from buses to airplanesl and it is less convenient for passengers than what Incheon and Frankfurt do. Furthermore, there are additional costs to the airport authority, such as maintenance and operation of shuttle buses (through the concession). Those additional costs are pushed to the passengers. The result is the increasing of airport tax from 500 Bahts to 700 Bahts.

Tuesday, April 3, 2007

waiting area outside walkway

It is quite normal in Thailand that activities next to walkways do not provide waiting areas in their buildings, but push waiting lines on walkways instead. Pedestrians cannot pass by those areas freely, but they have to walk through groups of waiting people who suppose to stand inside the activities premises. However, Chulalongkorn Hospital does the good practice on this aspect. The waiting areas for the activities next to the walkways are separated from and connected to the walkways.

The ATM kiosk with waiting area that is separated from the walkways let the passer-bys walk conviniently.

The fastfood shop provides the areas in front of the shop for their customers without using the spaces of walkways.