Saturday, April 14, 2007

ปรัชญาการออกแบบเมืองของโลกตะวันออกและโลกตะวันตก

บทความนี้เขียนซ่อนเก็บไว้นานแล้ว วันนี้ไปค้นข้อมูลเก่าในคอมพิวเตอร์ เจอมันเข้าพอดีก็เลยเอามาเก็บไว้ที่นี่ รวมไว้กับเรื่องอื่น ๆ เลย

วันนี้ (6 พฤษภาคม 2549) ได้นั่งถกปัญหาเรื่องปรัชญาการออกแบบเมือง ว่านักออกแบบชาวไทยยึดติดอยู่กับปรัชญาการออกแบบของโลกตะวันตกมากจนเกินไปหรือเปล่า และการยึดติดนั้นทำให้เกิดความไม่สอดคล้องระหว่างเมืองที่ได้รับการออกแบบกับวิถีชีวิตแบบไทย ซึ่งมีความเป็นตะวันออกอย่างชัดเจน

ปรัชญาการออกแบบที่ต่างกันระหว่างโลกตะวันออกกับโลกตะวันตกไม่มีใครถูกใครผิด เพราะทั้งสองปรัชญาล้วนเกิดมาจากวิถีชีวิตของคนในภูมิภาคที่ต่างกัน โลกตะวันตกมีความคิดว่า "มนุษย์อยู่เหนือธรรมชาติ" หรืออีกนัยหนึ่งคือมนุษย์สามารถควบคุมธรรมชาติได้อย่างเด็ดขาด งานออกแบบเมืองของโลกตะวันตกจึงมีลักษณะเป็นแบบที่แสดงออกถึงความมีอำนาจเหนือธรรมชาติของมนุษย์ องค์ประกอบทางธรรมชาติเช่น ต้นไม้หรือทางน้ำ จึงได้ถูกนำมาดัดแปลงให้เป็นรูปทรงที่ไม่เป็นธรรมชาติ อย่างเช่นรูปทรงเรขาคณิต อีกทั้งการออกแบบสภาพแวดล้อมของโลกตะวันตกจะมองในลักษณะขององค์รวมที่จะต้องมีความกลมกลืนและสมดุลกันขององค์ประกอบต่างๆ ซึ่งตามธรรมชาติแล้วความกลมกลืนและสมดุลมีความซับซ้อนและมีมิติมากกว่าที่มนุษย์จะนำมาเขียนลงในกระดาษเพื่อเป็นแบบก่อสร้าง หรือแบบที่นำเสนอกับเจ้าของงานได้ งานออกแบบเมืองของโลกตะวันตกจึงเป็นการสร้างและควบคุมสภาพแวดล้อมให้กลมกลืนและสมดุลในแบบที่มนุษย์ต้องการเท่านั้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคืองานออกแบบเมืองและสวนในยุคเรเนซองส์ (ดูตัวอย่างแนวความคิดแบบ Renaissance Formalism เช่น สวนในพระราชวังแวร์ไซล์ เมืองวอชิงตันดีซี เป็นต้น)

ส่วนปรัชญาการออกแบบเมืองของโลกตะวันออกกลับมองว่า "มนุษย์คือส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ" คือไม่ได้คิดว่าตนเองอยู่เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด และยอมรับว่ามนุษย์มีกำลังน้อยกว่าพลังของธรรมชาติ การออกแบบเมืองของโลกตะวันออก คือการทำให้มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกับสภาพแวดล้อมได้อย่างกลมกลืนและสมดุลโดยเอาธรรมชาติเป็นที่ตั้ง การออกแบบเมืองของโลกตะวันออกจึงให้ความเคารพต่อธรรมชาติเป็นอย่างมาก นำมาซึ่งหลักการอย่างฮวงจุ้ยที่ล้วนแต่มีเหตุผลทางธรรมชาติเป็นพื้นฐาน หรือการออกแบบสวนของญี่ปุ่นหรือจีน ที่ไม่ได้สนใจว่าแปลนจะน่าเกลียด ขาดความสมดุลทางการจัดวางองค์ประกอบ แต่สนใจว่า มนุษย์ที่ใช้งานในสวนมองจากมุมใดและจะเห็นอะไรจากตำแหน่งที่มนุษย์สามารถรับรู้งานออกแบบได้ ซึ่งปรัชญาการออกแบบดังกล่าว น่าจะสะท้อนให้เห็นถึงการที่โลกตะวันออกยอมรับว่ามนุษย์อยู่ในระดับเดียวกันกับธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านกายภาพ (ความสูงของตำแหน่งการมอง) หรือ ทางจิตวิญญาณ

ปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างปรัชญาการออกแบบของโลกตะวันออกกับโลกตะวันตก เกิดขึ้นเมื่อเกิดการติดต่อถึงกันทั่วโลก ทำให้มีการถ่ายทอดแนวความคิดระหว่างโลกที่แตกต่างกันสองภูมิภาค เมื่อพิจารณาถึงประเทศไทย เมืองในยุคหลังได้ถูกออกแบบด้วยปรัชญาของโลกตะวันตก มีแปลนที่สวยงาม แต่ไม่ได้สอดคล้องกับวิถีของคนไทยซึ่งเป็นมนุษย์ตะวันออกอย่างแท้จริง หลักฐานที่เห็นได้ชัดคือศาสนาพุทธที่เป็นศาสนาประจำชาติ ศาสนาพุทธสอนให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติ (ปรัชญาตะวันออก) ไม่ใช่เอาชนะธรรมชาติ (ปรัชญาตะวันตก) ด้วยความไม่สอดคล้องกันระหว่างปรัชญาในการออกแบบเมืองกับวิถีชีวิตของคนไทย ทำให้เมืองไม่สามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่น่าคิดกว่านั้นก็คือ คนไทยไม่ได้เรียกร้องให้นำเอาปรัชญาตะวันออกมาใช้ในการออกแบบเมืองให้กับคนไทยที่เป็นคนตะวันออก แต่กลับมีความยินดีที่จะปรับตัวเองให้เห็นดีเห็นงามตามปรัชญาตะวันตก