เมื่อสองวันก่อน ได้นั่งคุยกับสถาปนิกวัยสูงอายุหลายท่าน แล้วเรื่องราวก็ไปถึงเกี่ยวกับ "งานกาชาด" ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า คนเขาไปเดินเที่ยวงานกาชาดได้อย่างไรในสภาพอากาศที่ร้อนขนาดนี้ สถาปนิกสูงอายุทั้งหลายบอกว่า เมื่อตอนพวกเขาเด็ก ๆ งานกาชาดก็จัดเวลาเดียวกันกับสมัยนี้แหละ แต่อากาศไม่ร้อนเท่าทุกวันนี้
สถาปนิกสูงอายุทั้งหลายมีความเห็นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันว่า ผู้ต้องหาของความร้อนในกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน คือ เครื่องปรับอากาศ พวกเขาสรุปว่า สมัยก่อนที่กรุงเทพฯ มีความร่มรื่นและร่มเย็น นอกจากจะเพราะมีต้นไม้มากแล้ว ก็ยังไม่มีเครื่องปรับอากาศอีกด้วย เพราะเครื่องปรับอากาศ มีหลักการว่าจะให้ความเย็นแก่ภายใน แต่ปล่อยอากาศร้อนที่เกิดจากการกระทำให้เกิดความเย็นเอาไว้ข้างนอกอาคาร โดยผ่าน Condensing Unit ตอนนี้อาคารเกินกว่าครึ่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ใช้เครื่องปรับอากาศ จึงมี condensing unit จำนวนมากที่ปล่อยความร้อนออกสู่พื้นที่สาธารณะในเมือง ทำให้คนไม่สามารถใช้พื้นที่สาธารณะกลางแจ้งได้ ผลก็คืองานสถาปัตยกรรมต้องแก้ปัญหาด้วยการเอาพื้นที่สาธารณะไปอยู่ในอาคาร แล้วก็เปิดเครื่องปรับอากาศให้พื้นที่สาธารณะเหล่านั้น ก็กลายเป็นการแก้ปัญหาแบบงูกินหาง เพราะการเอาพื้นที่ขนาดใหญ่เข้าไปอยู่ในอาคารก็จะต้องใช้เครื่องปรับอากาศจำนวนมาก ส่งผลให้ความร้อนในพื้นที่สาธารณะเพิ่มขึ้นมากอีก ประเด็นปัญหาตรงนี้ คือ การละเลยถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมสาธารณะ กลายเป็นว่าใครมีปัญหาซื้อเครื่องปรับอากาศมาใช้ก็ซื้อไปสิ แล้วก็ปล่อยความร้อนมาสู่พื้นที่สาธารณะ การกระทำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างไรก็ช่างมัน ไม่ได้มีการเตรียมการรองรับหรือป้องกันปัญหาไว้แต่อย่างใด