ถ้าตั้งคำถามว่า "คุณอยากให้ถนนมีความสวยงามหรือไม่" คำตอบคงจะออกมาเป็นเอกฉันท์ว่าทุกคนต้องการ และความต้องการนี้ได้รับการตอบสนองให้เห็นกันโดยทั่วไป เช่นมีการปลูกต้นไม้ทั้งสองข้างถนนและบริเวณเกาะกลาง การออกแบบส่วนประดับตกแต่งถนน (Street Furniture) ให้มีความสวยงาม เป็นที่น่าชื่นชมต่อผู้ใช้เส้นทาง
อย่างไรก็ตาม สินค้าและบริการทุกอย่างล้วนมีต้นทุน ซึ่งการมีถนนสวยงามก็เช่นกัน ต้นทุนที่เราเห็นได้อย่างชัดเจนก็คือ ค่าพันธุ์พืช ค่าดูแลรักษา ค่าปลูกสร้าง เป็นต้น และยังมีอีกต้นทุนหนึ่งที่สังคมมักจะมองข้ามไปก็คือต้นทุนด้านความปลอดภัย ใครที่ใช้ถนนวิภาวดีรังสิตในช่วงกลางคืนคงจะเข้าใจประเด็นนี้ได้ดี เพราะในช่วงกลางคืนจะมีรถขนน้ำมารดน้ำต้นไม้ที่อยู่บริเวณเกาะกลางถนน รถขนน้ำเหล่านี้จะวิ่งด้วยความเร็วต่ำหรือหยุดนิ่งอยู่ในช่องทางวิ่งขวาสุด ซึ่งเป็นช่องทางวิ่งสำหรับรถที่มีความเร็วสูงที่สุด และในบางช่วงเวลาก็ยังต้องมีรถบรรทุกมาจอดอยู่ติดกับเกาะกลางถนนเพื่อการบำรุงรักษาต้นไม้และดินอีกด้วย ส่งผลให้เกิดอันตรายแก่ผู้สัญจรผ่านไปผ่านมาเป็นอย่างยิ่ง แถมน้ำบางส่วนก็นองที่พื้นถนน เมื่อน้ำเหล่านั้นผสมกับฝุ่นบนพื้นถนนก็ทำให้ถนนลื่น ก่อให้เกิดอันตรายในการใช้รถใช้ถนนเพิ่มขึ้นไปอีก
ถ้าพิจารณาถึงการใช้รถใช้ถนนแล้ว จะพบว่าความปลอดภัยต้องมาเป็นอันดับแรกเสมอ องค์ประกอบของถนนต่างๆ ไม่ว่า ป้ายสัญญาณ วัสดุพื้นผิว และภูมิทัศน์ต่างๆ ล้วนแต่มีไว้เพื่อสร้างหรือส่งเสริมให้การสัญจรมีความปลอดภัยสูงที่สุดที่จะเป็นไปได้ ดังนั้นต้นไม้และภูมิทัศน์สำหรับถนนควรจะมีความต้องการการดูแลรักษาน้อยที่สุด ไม่จำเป็นต้องมาตัดกิ่ง พรวนดิน หรือดูแลรดน้ำต้นไม้ เพราะกระบวนการดูแลรักษามีต้นทุนสูง และก่อให้เกิดอันตรายทั้งผู้ที่ต้องไปดูแลรักษาและผู้ใช้รถใช้ถนน การอยากได้ถนนสวยงามโดยไม่ได้คำนึงถึงความปลอดภัยจะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่สูงขึ้นตามมาด้วยเสมอ เรื่องที่น่าเศร้ากว่านั้นก็คือ ภาครัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านความปลอดภัยสาธารณะให้กับประชาชนกลับกลายเป็นผู้ทำลายความปลอดภัยสาธารณะนั้นเสียเอง
คำถามที่สองคือ "ท่านต้องการขนส่งสินค้าอย่างรวดเร็วหรือไม่" แน่นอนทุกคนย่อมอยากส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็คงไม่เร็วถึงขนาดต้องลดมาตรฐานความปลอดภัยลง ถ้าใครเคยใช้ถนนระดับไฮเวย์อย่างถนนบรมราชชนนี ในช่วงที่ฝนตกลงมาใหม่ๆ จะพบว่ามีรถกระบะหรือรถบรรทุกจอดบนไหล่ทางหรือพื้นผิวการจราจรด้านซ้ายสุดของช่องทางด่วน ซึ่งมีไหล่ทางแคบมาก รถบรรทุกจอดแล้วจะล้นเข้ามาในช่องทางวิ่งด้านซ้ายสุดอยู่ครึ่งคันเป็นอย่างน้อย แล้วคนขับรถก็ลงมาเอาผ้าใบคลุมสินค้าเพื่อไม่ให้เปียกฝน ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เพราะตามหลักการของการสัญจรบนไฮเวย์แล้วต้องไม่มีการหยุดหรือจอดรถยกเว้นในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น อีกทั้งในช่วงฝนตกทัศนวิสัยในการขับขี่ก็แย่ลงกว่าในช่วงสภาพอากาศปกติอีกด้วย ประเด็นเรื่องความปลอดภัยนี้ขัดแย้งกับความรวดเร็วในการขนส่งสินค้า เพราะเมื่อขนสินค้าขึ้นรถบรรทุกแล้วก็ควรออกเดินทางให้เร็วที่สุด แม้ว่าการคลุมผ้าจะมีข้อดีเรื่องลดความเสียหายของสินค้าจากการตกหล่นและสภาพอากาศ แต่ก็มีต้นทุนเรื่องเวลาและค่าวัสดุในการคลุมสินค้า แม้ว่ากฎจราจรจะระบุชัดเจนว่าต้องคลุมผ้าแต่ก็มักจะได้รับการละเลยทั้งจากเจ้าของรถและผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทางกฎหมายอยู่เสมอ สถานการณ์ดังกล่าวสามารถตีความโดยนัยว่าต้นทุนในการขนส่งถูกตีค่าให้อยู่เหนือกว่าความปลอดภัยสาธารณะ ทั้งในมุมมองของสังคมและผู้บังคับใช้กฎหมาย
คำถามที่สามคือ "คุณอยากมีรถสวยงามหรือไม่" คำตอบก็คงเป็นเอกฉันท์อีกเช่นกันว่าทุกคนต้องการรถสวยงาม แต่ความสวยงามตามที่เจ้าของรถต้องการมักจะไปลดระดับความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนของเจ้าของรถเองและคนอื่นๆ ลงด้วย ตัวอย่างเช่น ความนิยมในการติดฟิล์มกรองแสงที่มีความเข้มสูง เพื่อลดความร้อนจากแสงแดดและเพิ่มความเป็นส่วนตัวภายในตัวรถ แต่เมื่อพิจารณาถึงความปลอดภัยในการขับขี่แล้วพบว่าทัศนวิสัยของผู้ขับขี่แย่ลง อีกทั้งยังมีผลกับผู้ขับขี่ยานพาหนะคันที่อยู่ด้านหลังของรถที่ติดฟิล์มกรองแสงที่มีความเข้มสูงอีกด้วย เพราะผู้ขับขี่ยานพาหนะคันที่วิ่งตามมาไม่สามารถมองทะลุกระจกหน้าและหลังของรถคันข้างหน้าผ่านไปยังอีกคันหนึ่งได้ ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นบนพื้นผิวถนน รถคันที่วิ่งตามหลังรถที่ติดฟิล์มกรองแสงความเข้มสูงมีทัศนวิสัยที่จำกัดอยู่เพียงแค่รถคันหน้าเท่านั้น ทำให้คนขับมีเวลาในการตัดสินใจสั้นลง ส่งผลให้มีความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่สูงขึ้นตามมาด้วย กรณีของรถที่ติดฟิล์มความเข้มสูงสามารถเทียบเคียงได้กับกรณีของรถกระบะที่ต่อตู้บนกระบะให้มีความสูงมากขึ้นเพื่อให้บรรทุกสินค้าได้มากขึ้น เพราะผลที่ตามมาก็คือปัญหาด้านทัศนวิสัยของตัวผู้ขับขี่รถกระบะคันนั้นและรถที่วิ่งตามหลังเช่นกัน
ตัวอย่างที่สอง คือความนิยมในรถกระบะขนาดใหญ่ที่มีความสูงของตัวรถสูงกว่ารถยนต์ส่วนบุคคลปกติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อความสะดวกในการใช้งานในพื้นที่ทุรกันดาร และเพื่อความสวยงามตามความนิยมของยุคสมัย แต่การที่รถกระบะมีขนาดใหญ่หรือถูกยกให้สูงกว่ารถยนต์ส่วนบุคคลปกติส่งผลกระทบด้านความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น นอกจากเรื่องทัศนวิสัยเช่นเดียวกับกรณีของรถที่ติดฟิล์มกรองแสงความเข้มสูงแล้ว ยังมีปัญหาเรื่องความเสี่ยงด้านความรุนแรงในการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุอีกด้วย เมื่อเกิดอุบัติเหตุระหว่างรถที่มีความสูงเท่ากัน ส่วนที่ปะทะกันก็คือส่วนที่ได้รับการออกแบบมาให้แข็งแรงที่สุด แต่เมื่อรถกระบะขนาดใหญ่หรือยกสูงชนกับรถยนต์ส่วนบุคคลปกติ กันชนของรถกระบะยกสูงไม่ได้อยู่ระดับเดียวกันกับกันชนของรถยนต์ส่วนบุคคลปกติ แต่กลับอยู่สูงถึงระดับกระจกหน้า ซึ่งไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นตัวปะทะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำให้ความรุนแรงของอุบัติเหตุมีสูงขึ้น ในประเทศอเมริกา ค่าประกันอุบัติเหตุของรถกระบะสี่ล้อขนาดใหญ่หรือยกสูงจะมีอัตราสูงกว่ารถยนต์ส่วนบุคคลปกติ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วจะมีอัตราการความเสี่ยงของการบาดเจ็บกับรถคู่กรณีสูงนั่นเอง นี่คือเหตุผลหนึ่งที่กฎจราจรกำหนดให้รถบรรทุกตั้งแต่หกล้อขึ้นไปต้องวิ่งในช่องทางซ้ายสุด เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุระหว่างยานพาหนะต่างประเภทกัน เป็นที่น่าคิดว่าเราควรจะจัดประเภทรถกระบะขนาดใหญ่หรือยกสูงอยู่ในประเภทเดียวกับรถส่วนบุคคลปกติหรือไม่ หรือจะจัดอยู่ประเภทเดียวกับรถบรรทุกใหญ่ที่มีข้อจำกัดในการใช้รถเพื่อความปลอดภัยของส่วนรวม แต่แนวความคิดดังกล่าวแม้ว่าจะมีเหตุผลด้านความปลอดภัยเป็นพื้นฐานแต่ก็คงจะได้รับการคัดค้านจากผู้ใช้รถกระบะและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ผลิตรถกระบะอย่างแน่นอน
จากสามคำถามที่นำมาเป็นตัวตั้งในการวิเคราะห์ผลกระทบด้านความปลอดภัยทางการจราจร เห็นได้ชัดว่าคนสังคมมักจะมองข้ามผลกระทบของพฤติกรรมต่างๆ ที่มีต่อความปลอดภัยสาธารณะอยู่เสมอ แต่จะให้ภาคเอกชนหรือผู้ผลิตมารับผิดชอลความปลอดภัยสาธารณะเพียงฝ่ายเดียวคงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะเป็นการกระทำที่มีต้นทุน แต่การแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบันต้องพยายามลดต้นทุนให้มากที่สุด จึงไม่มีทางที่เอกชนหรือผู้ผลิตจะยอมรับต้นทุนด้านความปลอดภัยสาธารณะอย่างเต็มใจ จึงเป็นภารกิจที่สำคัญของภาครัฐที่จะให้ความรู้และทำความเข้าใจกับประชาชนในเรื่องความปลอดภัยสาธารณะ และยังต้องทำหน้าที่เป็นผู้ควบคุมดูแลให้เอกชนหรือผู้ผลิตคำนึงถึงความปลอดภัยสาธารณะอย่างเคร่งครัดอีกด้วย ในด้านของประชาชน ก็จะต้องยอมรับว่าการจะมีเมืองที่ปลอดภัยจะต้องมีต้นทุน และต้องยอมแบกรับต้นทุนนั้นเข้ามาอยู่ในราคาสินค้าและบริการด้วย ไม่ใช่แค่เรียกร้องหาเมืองที่ดี แต่กลับไม่ยอมที่จะจ่ายเงินเพื่อให้ได้มาซึ่งเมืองที่ดีอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน