Thursday, January 31, 2008

"นายกสมัคร" กับบทเรียนจาก "ไมค์ ไทสัน"

ในที่สุด ประเทศไทยก็ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ จะชอบใจหรือไม่ชอบใจเขาก็ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยมาอย่างถูกต้อง แถมยังเป็นกระบวนการเลือกตั้งที่ฝ่ายตรงข้ามเป็นผู้จัดการการเลือกตั้งเสียด้วย และมีผู้เปรียบเทียบนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศไทยกับหลายสิ่งหลายอย่าง แต่ในมุมมองของผู้เขียน มีความรู้สึกว่าท่านนายกรัฐมนตรีสมัคร สุนทรเวชน่าจะถูกเปรียบเทียบกับไมค์ ไทสัน ยอดนักมวยรุ่นเฮฟวี่เวทชาวอเมริกันเป็นอย่างมาก

ไมค์ ไทสัน มีชื่อเสียงไม่ดีในเรื่องของการควบคุมอารมณ์ และในที่สุดเขาก็เจอผลของอารมณ์ของตนเองย้อนกลับมาทำให้หมดตัวจากค่าทนายและค่าทำขวัญให้กับคนที่ถูกเขาทำร้าย เขากลายเป็นเหยื่อของอารมณ์ของตนเอง มีคนมากมายที่พยายามดักเจอเขา แล้วพูดจาหรือทำท่าทางล้อเลียนเหยียดหยาม เพื่อให้เขาโกรธจนเกิดการทำร้ายร่างกาย แล้วก็ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกทำร้ายนั้น ท่านนายกสมัครก็กำลังจะเจอสถานการณ์แบบเดียวกับที่ "ไมค์ ไทสัน" เจอ เพราะข่าวที่นายกฯ ฟิวส์ขาดด่าผู้สื่อข่าวเป็นเรื่องที่ขายได้ ประชาชนอยากรู้ อยากวิจารณ์ ฝ่ายค้านก็เห็นเป็นเรื่องที่จะทำลายความเชื่อมั่นของรัฐบาลได้ ดังนั้นนักข่าวก็จะจ้องที่จะถามในเรื่องที่ท่านนายกไม่อยากตอบ ถึงจะไม่ได้คำตอบก็ยังได้อารมณ์เสียซึ่งขายข่าวได้

ดังนั้น สิ่งที่ท่านนายกฯ ต้องเตรียมตัวที่จะเจอคือการยั่วยุ จากทั้งฝ่ายตรงข้ามและนักข่าวผู้กระหายต่อการขายสีสันของอารมณ์ จึงมี "โคลงโลกนิติ" ท่อนที่อ่านแล้วนึกถึงท่านนายกจับใจ
๏ ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร
มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ บอกร้ายแสลงดิน๚ะ๛

ขอให้ท่านนายกฯ จงมีแต่ความเจริญ ถ้าท่านคิดถึงความสุขของประชาชนเป็นหลัก และขอให้ท่านชิบหายด้วยประการทั้งปวงถ้าท่านบริหารบ้านเมืองด้วยการนึกถึงแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง สาธุ

Wednesday, January 30, 2008

กฎจราจรแสนสนุก ๘

ลักษณะ ๑๑ รถบรรทุกคนโดยสาร
มาตรา ๘๕ "เป็นเจ้าของรถหรือผู้ขับขี่รถบรรทุกคนโดยสารรับบรรทุกศพ หรือคนที่เป็นโรคเรื้อน โรคติดต่อร่วมไปกับคนโดยสารอื่น" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๕๒ ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท"
จากกฎหมายข้อนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่า "เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่รถสาธารณะ" ไม่ใช่เพียงแค่ขับขี่ยานพาหนะได้อย่างเดียว แต่จำเป็นที่จะต้องทราบถึงมาตรฐานความปลอดภัยสาธารณะอีกด้วย ซึ่งขัดแย้งกับความต้องการของสังคมไทยที่คิดว่าคนขับรถสาธารณะ "แค่" ขับรถเป็นก็พอแล้ว แต่สิ่งที่คนขับรถทำคือสิ่งที่เป็น "สาธารณะ" จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยต่อบุคคลอื่นด้วย

มาตรา ๘๖ "เป็นเจ้าของรถ ผู้ขับขี่รถ ผู้เก็บค่าโดยสาร หรือผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับรถบรรทุกคนโดยสาร เรียกคนขึ้นรถโดยสารส่งเสียงอื้ออึง เพื่อให้รถบรรทุกคนโดยสารคันใดคันหนึ่ง" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท"
แสดงว่า ไอ้ที่ทำกันอยู่จนเป็นปกติ ตะโกนบอกจุดหมายปลายทางเพื่อให้ผู้โดยสารทราบว่าไปไหนก็ผิดกฎหมาย คำถามสำคัญคือทำไมเขาต้องตะโกนเรียกผู้โดยสาร คำตอบก็ชัดเจนในตัวมันเองว่าวิธีการสื่อสารแบบอื่น ๆ ที่ไม่ต้องตะโกน เช่น ป้ายบอกจุดหมายปลายทางทั้งที่ตัวรถและที่ป้ายหยุดรถมันห่วย ไม่ได้เรื่อง สื่อสารไม่ได้ตามเป้าหมาย (ทั้งที่เปลืองบประมาณชาติไปมากมาย) เขาก็เลยต้องตะโกนกันน่ะสิ มีใครอยากจะตะโกนให้เจ็บคอบ้างถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ

มาตรา ๘๗ "เป็นเจ้าของรถ ผู้ขับขี่หรือผู้เก็บค่าโดยสารรถบรรทุกคนโดยสาร ปฏิเสธไม่รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร โดยไม่มีเหตุอันสมควร" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๔๘ ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท"
ซึ่งเป็นที่น่าสงสัยว่า ข้ออ้างของรถแท็กซี่ที่บอกว่า "จะไปส่งรถ" หรือ "รถติดมากไม่ไปหรอก" นี่มันนับเป็นเหตุอันสมควรหรือเปล่า ที่จริงแล้วกฎหมายข้อนี้ปฏิบัติยาก เพราะมีคนเกี่ยวข้องอยู่ ๒ คน ไม่มีพยานอื่น ๆ จะมายืนยันได้ว่าเหตุเกิดขึ้นจริง

มาตรา ๘๘ "ขับรถโดยสารไม่หยุดรถและส่งคนโดยสารที่มีเครื่องหมายหยุดรถประจำทาง หรือ ณ สถานที่ตามที่ตกลงกันไว้" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๔๘ ปรับไม่เกิน ๕๐๐ บาท"
มีคนขับรถเมล์คนไหนเคยโดนปรับข้อนี้บ้างล่ะ เอาง่าย ๆ ผู้โดยสารจะไปแจ้งให้จับ ตำรวจจะจับหรือเปล่า และถ้าจับแล้ว ผู้โดยสารจะยอมเสียเวลาทั้งวันเพื่อสอบปากคำกว่าคดีจะเสร็จไหมล่ะ มันปฏิบัติไม่ได้นี่หน่า

มาตรา ๙๑ (๒) "เป็นผู้ขับขี่หรือผู้เก็บค่าโดยสารกล่าววาจาไม่สุภาพ เสียดสีดูหมิ่น ก้าวร้าว หรือแสดงกิริยาในลักษณะดังกล่าวต่อผู้โดยสารหรือผู้อื่น" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๕๒ ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท"
เช่นกัน มีใครจะเสียเวลาแจ้งจับไหมล่ะ

มาตรา ๙๒ "เป็นผู้ขับขี่รถโดยสารไม่หยุดเครื่องยนต์และให้คนโดยสารลงจากรถทุกคนเมื่อจะเติมเชื้อเพลิงชนิดไวไฟที่มีจุดวาบไฟในอุณหภูมิ ๒๑ องศาเซลเซียสหรือต่ำกว่านั้น" มีบทกำหนดโทษตาม "มาตรา ๑๕๒ ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท"
สมมติว่าเชื้อเพลิงที่กล่าวถึงคือน้ำมันหรือแก๊สที่ใช้กันทั่วไปกับรถสาธารณะ สำหรับประเทศไทย ให้คนลงจากรถดูจะเป็นอันตรายกับเขามากกว่าอยู่ในรถ ลองคิดถึงปั้มน้ำมันหรือปั้มแก๊สของบ้านเรา ถ้ามีผู้โดยสารต้องลงไปยืนในปั้มตอนที่รถกำลังเติมน้ำมันสักสี่ห้าคน เขาคงเสี่ยงต่อการถูกรถชนมากกว่าไฟไหม้

Saturday, January 26, 2008

ความขัดแย้งระหว่าง "ความปลอดภัยสาธารณะ" กับ "วิถีไทย"

ในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา เราจะได้รับทราบข่าวที่ฟังดูแล้วก็รับทราบแล้วผ่านไป เช่น ผู้มางานเลี้ยงจำนวนมากกินโต๊ะจีนแล้วท้องร่วงต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นแถว หรือข่าวเมื่อเช้าวันนี้ (๒๖ มกราคม ๒๕๕๑) ที่ผู้เข้าประกวดธิดามะขามหวาน จังหวัดเพชรบูรณ์ ต้องเข้ารักษาอาการตาอักเสบจากการที่แสงสปอทไลท์บนเวทีประกวดมีความเข้มเกินกว่าที่สายตาจะรับได้ ข่าวพวกนี้ถูกเอามาขึ้นหน้า ๑ ของหนังสือพิมพ์เพราะเห็นเป็นเรื่องแปลก และเกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก แต่โดยนัยของวิถีไทยแล้ว จะพิจารณาเรื่องเหล่านี้ว่าเป็น "ความโชคร้าย" หรือ "คราวเคราะห์" ของคนเหล่านั้น คนอื่น ๆ เขากินอาหารโต๊ะจีนกันทุกวัน ไม่เห็นจะท้องร่วง หรือเวทีประกวดนางงามเขาก็มีไฟสปอทไลท์กันทั้งนั้น ไม่เห็นเวทีอื่นจะเกิดปัญหาอะไรเลย ด้วยวิธีคิดดังกล่าว ทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างถูกหลักการทางความปลอดภัยสาธารณะ (Public Safety) แต่กลับถูกละเลยไปด้วยคำที่ติดปากคนไทยอยู่เสมอว่า "คนอื่นก็ทำ ไม่เห็นเขาจะเป็นอะไรเลย"

ลองมาดูว่าถ้าเอาหลักการของ "ความปลอดภัยสาธารณะ" มาจับกับเรื่องตัวอย่างทั้งสองเรื่องจะเป็นอย่างไรบ้าง เรื่องความไม่สะอาดของอาหารโต๊ะจีน ซึ่งถ้าถามว่า เราต้องการอาหารที่สะอาดถูกหลักอนามัยหรือเปล่า คำตอบคือทุกคนต้องการ และทุกคนก็เชื่อว่า ผู้ที่ประกอบวิชาชีพทางการปรุงอาหารก็ต้องรับผิดชอบในเรื่องการรักษาความสะอาดและหลักอนามัย และคาดหวังว่าภาครัฐจะทำหน้าที่ควบคุมและกำหนดมาตรฐานในเรื่องเหล่านี้เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิให้กับประชาชน แต่ในความเป็นจริงแล้ว ทุกภาคีที่เกี่ยวข้องกลับไม่สนใจที่จะทำหน้าที่ของตนเอง ผู้ประกอบการโต๊ะจีนก็ต้องการประหยัดต้นทุน การเก็บรักษาอาหารหรือการเลือกอาหารสดใหม่จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น ผู้บริโภคเองแม้ว่าอยากได้อาหารที่ดีและสะอาด แต่ก็ต่อรองราคาทุกวิถีทางและเลือกผู้ประกอบการรายที่ถูกที่สุดมาทำการประกอบอาหารให้ ฝ่ายภาครัฐก็บอกว่าโต๊ะจีนไม่ได้ตั้งเป็นหลักแหล่งกับที่ แต่ย้ายไปตามสถานที่จัดงาน จะตามตรวจได้อย่างไร ซึ่งจริง ๆ แล้วมีวิธีการควบคุมมากมายที่ไม่ต้องตามไปตรวจกันทุกที่ แต่ไม่คิดจะทำต่างหาก

เรื่องที่สองคือเรื่องสปอทไลท์กับสุขภาพตาของน้อง ๆ นางงาม งานประกวดแบบท้องถิ่นต้นทุนไม่สูงนัก จะเอามืออาชีพมาจัดไฟก็คงไม่คุ้มค่าตั๋ว ช่างไฟทั่วไปก็พอแล้วหละ แต่นี่คือความปลอดภัยสาธารณะที่มีผลต่อทั้งสุขอนามัยของผู้ได้รับผลกระทบ และยังเสี่ยงต่อการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรและอัคคีภัยอีกด้วย ในมุมหนึ่งทุกคนก็อยากได้สิ่งทีดีที่สุด แต่ในเมื่อเป็นไปไม่ได้ทางการเงิน ก็เลยช่างมันไปซะ งานประกวดอื่น ๆ เขาก็ใช้กันไม่เห็นเขาจะเป็นอะไร ถ้าบังเอิญโชคร้ายเกิดปัญหาขึ้นมา ก็ค่อย "ล้อมคอก" กันแบบ "ไฟไหม้ฟาง" สักครั้ง

ปรากฎการณ์ตัวอย่างทั้งสอง สะท้อนความขัดแย้งระหว่างประเด็น "ความปลอดภัยสาธารณะ" กับ "วิถีไทย" ได้เป็นอย่างดี ลองมีใครตั้งต้นการจัดโต๊ะจีนท้องถิ่นหรือไฟสำหรับงานวัดด้วยการบอกว่า ฉันจะทำอย่างสะอาดและปลอดภัย แต่ฉันต้องคิดราคาสูงกว่าผู้ประกอบการรายอื่นที่ทำอย่างตามมีตามเกิด ไม่ปลอดภัยนะ รับรองได้ว่า ผู้ประกอบการที่คิดพิสดารอย่างนี้จะเจ๊งภายใน ๓ เดือน ในตลาดจึงเหลือแต่ผู้ประกอบการที่ต้องประหยัด ไม่ต้องสนใจเรื่องความสะอาด หลักอนามัย หรือปลอดภัยนัก เอาให้ราคาถูกไว้ก่อน พอเกิดปัญหาก็หนีหน้า หรือปิดบริษัท แล้วไปเปิดใหม่ในชื่อใหม่ซะ เท่านั้นก็สิ่้้นเรื่อง ไม่มีใครสนใจมาตามตรวจสอบย้อนหลังหรอก สถานการณ์อย่างนี้จึงกลายเป็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสาธารณะที่ "สมยอม" ที่จะเสี่ยงกันทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค ส่วนภาครัฐที่ควรจะเป็นหลักแห่งความถูกต้องให้กับสังคมก็ไม่อยากยุ่ง เพราะวันหนึ่งพนักงานของรัฐและญาติพี่น้องของเขาก็ต้องทำหน้าที่ "ผู้ผลิต" หรือ "ผู้บริโภค" ด้วยเช่นกัน สุดท้ายแล้วก็กลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ ไม่ใช่ "แก้ไม่ได้" เพราะไม่มีทางแก้ไข แต่ไม่มีใครสักคนสนใจที่จะแก้ไข เพราะกลัวว่าวันหนึ่งตัวเองจะต้องเป็นผู้เสียประโยชน์จากมาตรการแก้ไขนั้นเสียเอง เสี่ยงกันต่อไปแล้วกัน หวังว่าผู้อ่านทุกท่านจะ "โชคดี" ได้ตลอดไป

มี "จุดกลับรถ" แต่ทำไมจึง "ห้ามกลับรถ"

เคยสงสัยกันบ้างไหมว่า เวลาเราขับรถไปบนถนนสายประธานของประเทศ จะมีจุดกลับรถอยู่มากมายบนถนนเหล่านั้น แต่จุดกลับรถจำนวนมากกลับถูกปิดด้วยแท่งปูน บางแห่งก็มีป้าย "ห้ามกลับรถ" มาตั้งไว้ หรือบางแห่งก็อนุญาตให้กลับรถได้เพียงทิศทางเดียว อีกทิศทางหนึ่งไม่อนุญาต ทั้ง ๆ ที่จุดกลับรถนั้นได้ก่อสร้างมาให้สามารถกลับรถได้ทั้งสองทิศทาง

วันนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปจังหวัดราชบุรีผ่านถนนเพชรเกษม เมื่อรถผ่านสวนสามพรานวิ่งไปจนถึงทางเข้าตัวจังหวัดนครปฐมระยะทางประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ผู้เขียนก็ลองนับดูว่ามีจุดกลับรถอยู่กี่จุด จากการนับพบว่ามีจุดกลับรถที่ใช้การได้ทั้งสองทิศทางอยู่ ๕ จุด ใช้ได้ทิศทางเดียว อีกทิศทางหนึ่งปิดอยู่ ๒ แห่ง และมีจุดกลับรถที่อุตส่าห์ลงทุน ลงงบประมาณของประชาชนมาสร้างจนเสร็จแต่ต้องปิดไม่ให้ใช้งานอยู่ถึง ๗ แห่ง นั่นหมายความว่า ลงทุนไปแล้วเสียไปเปล่า ๆ ถึงครึ่งหนึ่งทีเดียว

ตัวอย่างจุดกลับรถที่ปิดไม่ให้ใช้งาน ก็เพราะไปตั้งอยู่ตรงทางโค้ง ถ้าปล่อยให้กลับรถตรงนี้ได้ก็จะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมาก เพราะคนขับรถอีกทิศทางหนึ่งจะมองไม่เห็นรถที่กลับรถ เนื่่องจากกว่าจะมองเห็นรถที่กลับรถก็ต้องขับพ้นโค้งมาก่อน แล้วก็เจอจุดกลับรถทันที


สองภาพบนนี้เป็นรูปแบบที่อนุญาตให้กลับรถแค่ทิศทางเดียว เป็นเพราะอีกทิศทางหนึ่งมีปริมาณรถทางตรงมากเกินกว่าที่จะกลับรถได้อย่างปลอดภัย จึงต้องให้ไปกลับรถในบริเวณที่ปลอดภัยกว่าแทน

เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า ตอนที่กำหนดจุดกลับรถในขั้นตอนการออกแบบถนน เขากำหนดจุดกลับรถที่ถูกปิดไม่ให้ใช้งานเหล่านี้มาได้อย่างไร มีการคำนวณทางวิศวกรรมจราจรที่ผิดพลาดหรือ แล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบความเสียหายทั้งจากต้นทุนการก่อสร้างที่เสียไปเปล่า ๆ และอุบัติเหตุอันเกิดจากจุดกลับรถไม่ปลอดภัย จนต้องปิดจุดกลับรถ ผู้เขียนมีคำตอบจากประสบการณ์ของตนเอง เมื่อสิบกว่าปีที่ผ่านมา ตอนเขาก่อสร้างถนนเส้นนี้ คนรู้จักของผู้เขียนก็มีบริษัทตั้งอยู่บนถนนเส้นนี้เช่นกัน เขาโทรศัพท์มาถามผู้เขียนว่า "ทางกรมทางฯ เขาถามมาว่าอยากได้จุดกลับรถหน้าบริษัทไหม ลูกค้าจะได้เข้าบริษัทได้สะดวก เขาขอสองหมื่นค่ากำหนดจุดตามที่เราต้องการ น้อง (หมายถึงผู้เขียน) ว่าพี่จะยอมจ่ายดีไหม" ผมนั่งดูแผนที่แล้วก็ตอบกลับไปว่า "อย่าเลยพี่ จุดกลับรถที่จะเข้าบริษัทพี่ได้ดีต้องอยู่ตรงทางโค้ง แม้ว่าจะมีจุดกลับรถใกล้ แต่อันตรายมาก ลูกค้าพี่อาจรถชนตายก่อน หรือรถทางตรงเขาหักหลบรถลูกค้าแล้วเข้ามาชนบริษัทพี่ พี่จะเอาไหมล่ะ" สุดท้ายพี่คนนั้นเขาก็ไม่ได้จ่ายสตางค์เพื่อมีสิทธิ์เลือกจุดกลับรถ ที่กลับรถเลยไปอยู่ไกลมาก เมื่อวันนี้มาเห็นสถานการณ์ที่เห็นอยู่ในรูป ผู้เขียนยังบอกพี่คนนั้นเลยว่า "ดีแล้วที่พี่ไม่จ่าย เพราะสุดท้ายถึงมีที่กลับรถที่เข้าบริษัทสะดวกก็ต้องถูกปิดอยู่ดีแหละ" แต่ต้นเหตุอันนี้กรมทางหลวงเองก็คงไม่อยากพูดถึง เพราะถ้าสอบสวนกันจริง ๆ ก็คงจะต้องมีคนผิดมากมาย แต่ละคนคงจะมีเส้นสาย เกี่ยวข้องโยงใยภายใต้ระบบอุปถัมภ์ของราชการไทยอย่างซับซ้อน สู้เอามือซุกหีบเสียดีกว่า สาธุประเทศไทย

ป้ายบอกทางที่บอกใครไม่ได้

เป้าหมายหลักของการแจ้งทิศทางและจุดหมายปลายทางในการเดินทาง คือ การช่วยชี้นำให้ผู้เดินทางสามารถเดินทางไปถึงจุดหมายได้อย่างสะดวก ดังนั้นป้ายบอกทางจึงต้องมีความชัดเจน เข้าใจง่าย ถูกต้อง และสื่อถึงบุคคลเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ป้ายบอกทางไปสถานีขนส่งสายใต้แห่งใหม่บนถนนบรมราชชนนีไม่รู้ติดไว้บอกใครกันแน่ ป้ายนี้อยู่บนเสาไฟฟ้าส่องสว่างของสะพานพระราม ๘ ขาออก (ป้ายสีฟ้าที่หันหน้าป้ายมาให้เห็นในรูป) ซึ่งกลุ่มเป้าหมายที่ป้ายนี้ต้องการจะสื่อสารถึงคือผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะขาออกจากกรุงเทพฯ แต่ด้วยความแข็งแรงมั่นคงของวัสดุติดตั้งทำให้ป้ายไม่สามารถตั้งอยู่ในลักษณะที่สามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ แต่กลับหันหลังให้กับทิศทางการเดินทางของกลุ่มเป้าหมาย ผู้ที่ได้รับข้อมูลจากป้ายนี้กลับเป็นคนที่เดินทางเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งก็เลยสถานีขนส่งสายใต้มาไกลแล้ว ผู้ที่พบเห็นปัญหาดังกล่าวมักคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เห็นเป็นเรื่องขำขันไปเสีย แต่จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เป็นการเปลืองงบประมาณโดยใช่เหตุ ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นกับประเทศที่ยากจนอย่างประเทศไทยเลย

ปล. เป็นที่น่าสงสัยมากว่าคนทั่วไปจะเรียกสถานีขนส่งสายใต้แห่งใหม่บนถนนบรมราชชนนีนี้ว่าอย่างไร เพราะคำว่า "สายใต้ใหม่" ก็ถูกใช้ไปแล้วกับสถานีขนส่งสายใต้บริเวณข้างร้านอาหารจวนทอง หรือแห่งใหม่นี้จะเรียกว่า "สายใต้ใหม่ใหม่" กันแน่

Friday, January 25, 2008

ไข้หวัดนกรอบใหม่ กับวิกฤติความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ผลิตอาหารไทย

เมื่อวานนี้ (๒๔ มกราคม ๒๕๕๑) ข่าวใหญ่สำหรับคนบางคนคือการตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกในฟาร์มไก่เนื้อแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ แล้ววันนี้ (๒๕ มกราคม ๒๕๕๑) ก็มีการพบเชื้อไข้หวัดนกอีกครั้งที่จังหวัดพิจิตร (ได้รับการยืนยันจากผลตรวจในห้องปฏิบัติการแล้ว) ซึ่งการตรวจพบดังกล่าวไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายแต่ประการใด เพราะข่าวของการตรวจพบไข้หวัดนกในปีนี้เข้าใกล้ประเทศไทยมาเรื่อย ๆ ทั้งทางเอเชียใต้และอินโดนีเซียก็ตรวจพบไปเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน การมาถึงของเชื้อไขัหวัดนกในปีนี้คงจะมีการเตรียมตัวรองรับกันอย่างดีพอสมควร พอมีไก่ตายมากผิดปกติขึ้นมาก็สามารถตรวจสอบและให้การแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที

แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ การค้นพบครั้งแรกของปีนี้ที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งกำลังจะขยายกลายเป็นประเด็นวิกฤติความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยของผู้ผลิตอาหารไทย เพราะฟาร์มที่ตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกได้โฆษณาตนเองว่าปลอดภัยจากเชื้อไข้หวัดนก เพราะเป็น "ฟาร์มปิด" และมีมาตรฐานความสะอาดและป้องกันการติดเชื้อและปนเปื้อนเป็นอย่างดี แต่เอาเข้าจริงกลับไม่เป็นอย่างที่โฆษณา กลายเป็นที่แรกที่พบเชื้อโรค สาเหตุสำคัญตามข่าวคือ โรงงานดังกล่าวเป็นระบบปิดจริง แต่มีมาตรฐานความสะอาดในระดับปานกลาง มีการสันนิษฐานว่าเชื้อโรคไข้หวัดนกน่าจะมาจากแหล่งน้ำ ที่ใช้บ่อน้ำขุดที่ไม่ได้มีการควบคุมความสะอาดเป็นอย่างดี ทำให้มีนกป่าไปกินและถ่ายมูลลงในน้ำ นำเชื้อโรคเข้าสู่ไก่ที่อยู่ในระบบปิด

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ผู้บริโภคเกิดคำถามและความกังวลมากมาย เช่น ตกลงว่าไอ้ที่โฆษณาว่าเนื้อไก่และไข่ไก่สะอาดเพราะเลี้ยงในฟาร์มปิด เชื่อถือได้แค่ไหน ใครเป็นคนควบคุมมาตรฐานของ "ฟาร์มปิด" และใครจะรับประกันเรื่องความสะอาดของอาหาร หรือว่าใครจะโฆษณาว่าตนเองมีกระบวนการผลิตให้สวยงามเลอเลิศอย่างไรก็ได้ ไม่มีใครมาตรวจสอบทั้งสิ้น จนมีปัญหาขึ้นมาถึงได้มาล้อมคอก ไล่ตรวจสอบกันเป็นครั้ง ๆ แบบไฟไหม้ฟาง สักแป๊บเดียวก็ลืมกันไป กลายเป็นวงจรอุบาทว์ต่อไปเรื่อย ๆ และไม่ใช่แค่การเลี้ยงสัตว์ปีกเท่านั้น อาหารอื่น ๆ เช่น ผักที่ปลูกด้วยเกษตรอินทรีย์ เชื่อถือได้แค่ไหน เอาดินมาจากไหน น้ำที่ใช้รดผักผลไม้มีการปนเปื้อนหรือเปล่า ซึ่งคำถามเหล่านี้จะจบลงที่ ใครเป็นผู้รับผิดชอบในการตรวจสอบ ซึ่งวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทย ก็ไม่ได้ส่งเสริมการตรวจสอบอย่างเข้มงวดเลยสักนิด

ที่น่าคิดไปไกลกว่านั้น ก็คือ การระบาดของไข้หวัดนก คือวิกฤติครั้งสำคัญและจุดจบของเกษตรกรรายย่อยหรือเปล่า เพราะกระแสในปัจจุบัน คนมุ่งหาอาหารสะอาดได้มาตรฐานมาบริโภค แล้วการที่จะผลิตด้วยวิถีพื้นบ้านแบบดั้งเดิม ให้ธรรมชาติ เช่น น้ำฝน ดินปกติเลี้ยงให้โตแล้วเอามาขายคงอยู่ไม่ได้อีกต่อไป เพราะของธรรมชาติเหล่านั้นมีโอกาสถูกปนเปื้อนด้วยสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมลง ส่งผลให้ต้องลงทุนสูงเพื่อให้ได้มาซึ่งวัตถุดิบในการผลิตที่สะอาด ได้มาตรฐาน ซึ่งเกษตรกรรายย่อยไม่สามารถแบกรับต้นทุนเหล่านั้นได้ ผลก็คือเกษตรกรรายย่อยจะอยู่ต่อไปไม่ได้ เพราะไม่สามารถผลิตอย่างสะอาดได้มาตรฐานได้ กลายเป็นเกษตรอุตสาหกรรมที่มีกำลังทรัพย์พอที่จะรองรับการผลิตแบบมีมาตรฐานได้ กลายเป็นเกษตรอุตสาหกรรมไปทั้งหมด แน่นอนว่าอาจจะมีเกษตรบางรูปแบบเพื่อตอบสนอง niche market อยู่บ้าง แต่ก็คงไม่มากนัก และ niche market นั้นได้รับความนิยม ก็จะปรับตัวเองเข้าสู่เกษตรอุตสาหกรรมในที่สุด ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดไม่ได้จบเท่านี้ เพราะจะเกิดการล้นของแรงงานเกษตร ซึ่งเป็นแรงงานด้อยคุณภาพ ที่จะต้องดิ้นรนหางานอื่นทำเพื่อความอยู่รอด และจะกลายเป็นปัญหาระดับประเทศในที่สุด

Wednesday, January 23, 2008

นึกว่าเหาะได้จริง

ตามสวนสนุก เรามักจะได้พบเห็นรูปเหมือนของตัวการ์ตูนต่าง ๆ ถูกนำมาใช้เป็นตัวดึงดูดความสนใจของผู้เข้าเยี่ยมชม ไม่ว่าจะทำเป็นรูปปั้นลอยตัวเฉย ๆ หรือจะใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องเล่นต่าง ๆ เช่น เป็นม้าหมุนให้เด็ก ๆ ขี่ แต่เคยสงสัยไหมว่า รูปเหมือนตัวการ์ตูนเหล่านั้นมาตั้งอยู่ในสวนสนุกได้อย่างไร เขาเหาะมาอย่างที่เราเห็นในทีวีหรือเปล่า

ผู้เขียนไปเจอซูปเปอร์ฮีโร่ตัวนี้ยืนยิ้มอยู่บนท้ายรถกระบะ ก็เลยเข้าใจได้ว่า ซูปเปอร์ฮีโร่เหาะไปสวนสนุกเองไม่ได้ แต่ที่น่าสนใจก็คือ เขาขนส่งรูปปั้นที่มีขนาดใหญ๋และน้ำหนักมากบนท้ายรถกระบะ โดยใช้เชือกผูกยึดแขนยึดขาเอาไว้ไม่ให้เคลื่อนที่หรือหลุดออกท้ายรถกระบะ ตกลงมาบนถนน หรือเหาะไปชนกับรถคันอื่น ๆ แล้วใครเป็นผู้ยืนยันความแข็งแรงของการยึดด้วยการผูกเชือกเหล่านั้นล่ะ เพราะซูปเปอร์ฮีโร่ตัวนี้มาเคลื่อนที่อยู่บนเส้นทางสาธารณะ อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อบุคคลอื่น ๆ ได้ จึงต้องมีการคำนวณทางวิศวกรรมอย่างถูกต้อง เพื่อมารับประกันว่า แบดแมนจะร่วงหล่นไปทำอันตรายกับบุคคลอื่น ซึ่งก็คาดเดาได้เลยว่า ไม่มีใครสนใจเรื่องของความปลอดภัยสาธารณะอันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หรือเจ้าของรถกระบะ หรือแม้กระทั่งผู้ผ่านไปมาซึ่งจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อนี้

Saturday, January 19, 2008

ฉี่เสร็จแล้วต้องล้างมือหรือเปล่า

หลายปีมาแล้ว ผู้เขียนเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง กล่าวถึงผลการวิจัยในประเทศอังกฤษเกี่ยวกับ การเข้าห้องน้ำเพื่อปัสสาวะของเพศชาย เมื่อกระทำกิจเสร็จแล้วมีกี่คนที่ล้างมือ ผลการวิจัยน่าสนใจมาก โดยแยกออกเป็น ๒ สถานการณ์คือ
สถานการณ์ที่ ๑ ถ้ามีคนอื่นอยู่ในห้องน้ำด้วย จะมีคนล้างมือหลังจากเสร็จกิจถึง ๘ จาก ๑๐ คน
สถานการณ์ที่ ๒ ไม่มีใครอยู่ในห้องน้ำด้วย คือผู้ประกอบกิจอยู่เพียงคนเดียว มีเพียง ๒ จาก ๑๐ คนเท่านั้นที่ล้างมือหลังเสร็จกิจ
จากผลการวิจัยทำให้สรุปได้ว่า การที่ผู้ชายล้างมือหลังปัสสาวะเสร็จ เป็นเพียง "การแสดงเพื่อภาพพจน์" เท่านั้น ไม่ได้เกิดจากการสำนึกในหลักอนามัยที่ดีแต่อย่างใด ผู้เขียนจึงคิดต่อไปว่า นี่คือสันดานของมนุษย์จริง ๆ เลยหละ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคม สิ่งที่มนุษย์ทำ (นอกเหนือไปจากความต้องการพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตเช่น กิน ขับถ่ายของเสีย สืบพันธุ์ และพักผ่อน) ล้วนแต่เป็นการกระทำเพื่อการยอมรับในสังคมทั้งสิ้น เช่น คุณต้องแต่งกายอย่างใดจึงเรียกว่า "สุภาพ" (จริง ๆ แล้วคุณไม่รู้สึกว่ามันสุภาพสักนิด) คุณต้องใช้มีดและส้อมกินไก่เคเอฟซีในร้าน (แต่ถ้าอยู่บ้านใช้มือได้) ฯลฯ แน่นอนว่า มารยาทและกฎระเบียบของการอยู่ร่วมกันเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้สังคมสงบสุข แต่ถ้ากฎเกณฑ์ต่าง ๆ มันไม่เหมาะสมกับมนุษย์มันก็ควรจะยกเลิกไปมิใช่หรือ ไม่ใช้ต้องมานั่นทนอยู่เพื่อรักษาหน้าตาของตนเองกันไปเรื่อย ๆ

ชีวิตคนสามารถตีราคาเป็นเงินได้หรือไม่นะ

ด้วยความที่ผู้เขียนเป็นคนที่ใช้ศัพท์ตรงไปตรงมาว่า "กวนตีน" จึงมักคิดหาช่องทางให้ผู้อื่นมาตกหลุมได้อยู่เสมอ ๆ อย่างเมื่อหลายวันก่อน ได้พบเพื่อน ๆ ผู้มีการศึกษาดีทั้งหลายในมื้ออาหารกลางวัน ทุกคนเป็นนักวางแผนการจราจรที่มีชื่อเสียงของประเทศ โครงการจราจรต่าง ๆ ของเราออกมาจากคนกลุ่มนี้แหละ
ผู้เขียนจึงตั้งคำถามที่หนึ่งว่า "พวกคุณคิดว่าชีวิตคนสามารถตีราคาเป็นงินได้หรือเปล่า"
แน่นอน คำตอบเป็นฉันทามติว่า "ไม่ได้"
คำถามที่สองคือ "นั่นหมายว่า เงินมากเท่าไหร่ก็เทียบไม่ได้กับชีวิตคนใช่ไหม"
ทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า "ใช่"
คำถามที่สามคือ "ถ้าเราต้องเอาภาษีของรัฐจำนวนมาก ไปเพื่อช่วยรักษาชีวิตประชาชนชาวไทยเอาไว้ก็ควรทำใช่ไหม จะมากเท่าไหร่ก็ต้องจ่ายใช่ไหม"
อีกครั้ง ทุกคนตอบว่า "ใช่"
คำถามที่สี่คือ "คนไทยตายเพราะอุบัติเหตุทางรถยนต์หลายพันต่อปี มากกว่าหนึ่งในสี่ของการตายมาจากการที่ถนนไฮเวย์ของเรา ไม่ได้เป็นแบบ limited access แต่เป็นอยากจะเข้าออกแปลงที่ดินตรงไหนก็ทำได้ จึงเกิดอุบัติเหตุให้คนตายมากมายทุกปี ถ้าจะลดอุบัติเหตุลงได้ครึ่งหนึ่ง โดยเสียค่าเวนคืนเพื่อปิดทางเข้า-ออกสู่แปลงที่ดินจากไฮเวย์ทั้งหมด แล้วใช้เงินภาษีจากรัฐหนึ่งหมื่นล้านบบาท จะยอมกันไหม ช่วยรักษาชีวิตคนได้มากเลยนะ ทำไมพวกคุณไม่เสนอเจ้านายของคุณกันล่ะ"
คราวนี้ไม่มีคำตอบ ทุกคนมองหน้าผู้เขียนแล้วทำปากขมุบขมิบด่ายาว ๆ
ผู้เขียนจึงสำทับสุดท้ายว่า "อ้าว ไหนบอกว่า จะต้องจ่ายแพงเท่าไหร่เพื่อรักษาชีวิตคนก็ต้องจ่ายไงล่ะ"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า สิ่งที่เป็น "อุดมคติ" กับ "ความเป็นจริง" แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ถ้าเราไม่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบหรือผู้จ่ายเงิน เราจะเรียกร้องให้คนอื่นทำตาม "อุดมคติ" แต่ถ้าเราต้องรับผิดชอบหรือจ่ายเงินเอง เราจะบอกว่า เราต้องทำตาม "ความเป็นจริง" สาธุ

ทำไมเราจึงไม่เป็นอย่าง "ประเทศอื่น ๆ" บ้างนะ

ด้วยหน้าที่การงานของผู้เขียนทำให้ต้องไปนั่งอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชนอยู่เสมอ ไอ้เรื่องความขัดแย้งนั่นคือเรื่องหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการที่ภาครัฐจัดทำโครงการหรือแผนพัฒนาต่าง ๆ โดยใช้มุมมองของภาครัฐเป็นที่ตั้ง นี่เป็นปัญหาสำคัญของการวางแผนพัฒนาที่ภาครัฐมีอำนาจมากเกินไป เอาความคิดของตนเองไปครอบประชาชน เป็นวิธีการวางแผนที่ล้าสมัยโดยให้นักวางแผน "สมมติตนเอง" ว่าเป็นประชาชน แล้วประชาชนต้องการอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งการสมมตินั้นไม่ประสบความสำเร็จ เหมือนกับการวางแผนด้วยการเล่นขายของแบบเด็ก ๆ เขาเล่นกัน คือสมมติให้ตนเองเป็นคนนู้นคนนี้ แต่ก็ไม่ได้รู้จริงหรอก ซึ่งก็พยายามแก้ไขด้วยการให้ประชาชนจริง ๆ เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นของการวางแผน แต่ก็ยังล้มลุกคลุกคลาน ต้องปรับแต่งกันอีกนานทีเดียว

แต่อีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนอยากอ้วกที่สุด คือ ความรู้สึกอยากมีอยากได้อย่างคนอื่น (ประเทศอื่น) ที่เขาเป็นกัน จะพบมากกับชนชั้นกลาง พวกเจ้าของกิจการเอกชน เมื่อเขาเข้ามาแสดงความเห็นในประเด็นต่าง ๆ เกือบทุกคนจะยกตัวอย่างว่า "ดิฉัน/ผม ไปประเทศนั้น ประเทศนี้มา เห็นว่าเขาดีดังนู้นดังนี้ ทำไมของเราไม่เป็นอย่างเขาบ้าง" บางครั้งผู้เขียนทนไม่ได้สวนกลับไปว่า "คุณอยากให้ประเทศเราเป็นอย่างเขา แล้วคุณให้ประเทศนี้อย่างที่คนของเขาให้หรือเปล่าล่ะ เช่น เสียภาษีในอัตราร้อยละ ๕๐ อย่างเขาได้ไหมล่ะ" พอเจอคำถามนี้กลับไปก็เงียบ เลี่ยงเป็นเรื่องอื่น หรือเอาความโกรธมาบังหน้า ก็ว่ากันไปตามเรื่อง ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญอย่างยิ่ง เพราะเรามักจะมองทุกอย่างที่เปลือก ว่าประเทศไทยไม่ดี คนนู้นคนนี้ไม่ดี ไม่ทำตามหน้าที่ แต่ไม่มองย้อนกลับมาที่ตนเอง ผู้ประกอบการนั่นแหละตัวดี เลี่ยงภาษีทุกวิถีทางที่จะเป็นไปได้ แต่กลับเป็นผู้เรียงร้องเอาประโยชน์จากภาครัฐมากที่สุด

ที่น่าสังเกตคือ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมมักจะทำตนเป็น "หมาหวงก้าง" ที่ประท้วงต่อต้านโครงการของภาครัฐที่จะไปลงในพื้นที่ตนเอง ผู้เขียนเคยทดสอบสมมติฐานนี้ ด้วยการปล่อยให้พวกเขายกประเด็นคัดค้าน ประเด็นไม่ดีของโครงการภาครัฐที่ถูกนำเสนอมาให้หมด เขียนบนกระดานหลายสิบข้อ ล้วนแต่เป็นข้อหาฉกรรจ์ทั้งนั้น สรุปได้ว่ายังไงจังหวัดนี้ก็ไม่เอาโครงการนี้แน่ ๆ พอได้ข้อสรุปแล้ว ผู้เขียนก็ถามว่า เมื่อประชาชนในจังหวัดนี้ไม่เอา แต่โครงการนี้มีมูลค่ามหาศาล แล้วถ้าผมไปถามจังหวัดข้าง ๆ คุณ แล้วประชาชนของจังหวัดข้าง ๆ เขายอมรับโครงการนี้ ส่งผลให้เม็ดเงินและการจ้างงานไปลงจังหวัดข้าง ๆ หมดเลย แล้วพวกคุณจะไม่ได้เงินเลยนะ จังหวัดข้าง ๆ จะมาเป็นคู่แข่งสำคัญของคุณเลยนะ" เจอคำถามนี้เข้าไป เสียงเปลี่ยนเลยหละ กลายเป็นว่า หัวข้อไม่ดีทั้งหลายบนกระดานที่ด่ากันมาทั้งหมด เป็นแค่ข้อสังเกต ให้เตรียมการล่วงหน้าเพื่อป้องกันไว้ก่อนเท่านั้น ถ้าวางแผนกันดี ๆ ปัญหาเหล่านั้นก็ไม่เกิด สุดท้ายก็คือ ช่วยเอาโครงการนี้มาลงทีเถอะ อย่าให้จังหวัดอื่น ๆ เอาไปเลยนะ อ้าว แล้วคัดค้านตั้่งแต่ต้นหาอะไรล่ะ

Wednesday, January 16, 2008

ผิดที่-ผิดทาง

ตามมาตรฐานการออกแบบระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ และระบบระบายน้ำ จะต้องจัดเตรียมพื้นที่สำหรับซ่อมบำรุงเอาไว้ เมื่อมีเหตุต่าง ๆ ก็สามารถเข้าไปซ่อมแซมปรับปรุงได้โดยสะดวก ซึ่งโดยมากมักจะจัดไว้บนทางเท้าด้วยเหตุผลที่เหมาะสมหลายประการ
วันหนึ่ง ประตูทางเข้าของมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในประเทศไทยก็ต้องปิดลงชั่วคราว เพราะฝาท่อระบายน้ำชำรุดอาจทำให้รถตกลงไปในท่อได้ เรามักเห็นเรื่องนี้ว่าเป็นเรื่องปกติ ฝาท่อใช้งานมาตั้งนานก็ต้องเสียหายบ้าง แต่เมื่อมองอีกมุมหนึ่งอาจมีความคิดที่เปลี่ยนไป เพราะนี่คือตัวอย่างของการออกแบบตำแหน่งท่อระบายน้ำที่ผิดที่ผิดทาง เอาท่อระบายน้ำไปไว้บนพื้นผิวการจราจรที่มีรถยนต์ที่มีน้ำหนักมากไปวิ่งอยู่บนฝาท่ออยู่ตลอดทั้งวัน ถ้าเอาฝาท่อระบายน้ำไว้ขอบทางเท้า แล้วทำถนนให้ลาดเอาน้ำไปลงข้าง ๆ เสีย ฝาท่อก็ไม่ต้องโดนรถวิ่งทับ วัสดุที่ใช้ก็ถูกลงเพราะไม่ต้องแข็งแรงเท่ากับที่ต้องมารับน้ำหนักรถยนต์ รถเองก็ไม่ต้องกระโดดกระเทือนเพราะพื้นผิวระดับไม่เท่ากัน เชื่อได้เลยว่าวิธีการแก้ปัญหาที่จะนำมาใช้ตรงนี้คือ "การเปลี่ยนฝาท่อ" เท่านั้น แล้ววันหนึ่งฝาท่อก็จะพังอีก ต้องปิดประตูไม่ให้ใช้งานอีก แล้วก็เปลี่ยนฝาท่อเป็นวัฏจักรนี้ต่อไป สามารถนำมาใช้เป็นตัวอย่างธรรมะเรื่อง "กงกรรมกงเกวียน" ได้อย่างชัดเจน

เหตุผลที่ระบบขนส่งมวลชนในเมืองต้อง "ไม่แสวงหากำไร"

เป็นเรื่องถกเถียงกันมากมายเกี่ยวกับเรื่องการจัดการงบประมาณและการเงินของระบบขนส่งมวลชน ว่าควรจะจัดการแบบใด แบบมุ่งให้ได้กำไรเพื่อให้องค์กรสามารถอยู่ได้ หรือจะขาดทุนแล้วเอารายได้จากด้านอื่น ๆ ที่เกิดจากการที่มีระบบขนส่งมวลชนที่มีราคาต่ำกว่าราคาจริงแล้วส่งผลให้สามารถทำรายได้เพิ่มมากขึ้น คำตอบอาจจะอยู่ในสองภาพข้างล่างนี้


ที่ป้ายรถเมล์และรถไฟฟ้าอารีย์ (พหลโยธิน ๗) ช่วงเวลาเร่งด่วนเย็นซึ่งมีการจราจรติดขัด จะพบรถตู้สาธารณะมาจอดรอรับผู้โดยสารที่ลงมาจากรถไฟฟ้า ซึ่งจะต้องจอดค้างไว้จนกว่าผู้โดยสารจะเต็มจึงจะออกรถได้ การจอดคาอยู่ที่ป้ายรถเมล์ก็ทำให้รถเมล์เข้าป้ายไม่ได้ ต้องจอดกันที่เลนกลาง ผลก็คือรถติดทั้งถนน เรามักจะมองว่ารถตู้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว คิดแต่ว่าตนเองต้องได้ผู้โดยสารเต็มรถถึงจะออกได้ แต่ลองมองให้ทะลุไปถึงรากของปัญหา ว่าระบบขนส่งมวลชนในเมืองไม่สามารถทำแบบ "แสวงหากำไร" ได้ต่างหาก รถตู้สาธารณะในฐานะที่เป็น Feeder ส่งถ่ายผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าที่เป็นระบบหลักของเมือง ตามหลักการที่ถูกต้อง รถที่เป็น Feeder จะต้องวิ่งวนอยู่ตลอดเวลาโดยไม่สนใจว่ามีผู้โดยสารเต็มหรือไม่เต็ม เพื่อส่งถ่ายผู้โดยสารเข้า-ออกจากระบบหลักให้เร็วที่สุด และไม่กีดขวางทางจราจร ดังนั้น Feeder จึงไม่สามารถจัดการแบบ "แสวงหากำไร" โดยตรงได้ แต่สำหรับกรุงเทพมหานคร หลักการนี้ถูกละเลยไป แม้แต่รถประจำทางขสมก. และรถร่วมสาธารณะที่หลักการบอกว่าไม่แสวงหากำไร แต่ก็ยังมีการแบ่งค่าโดยสารให้กับพนักงานขับรถและพนักงานเก็บค่าโดยสาร ในทางปฏิบัติจึงกลายเป็นระบบที่แสวงหากำไรกลาย ๆ ทำให้รถเมล์มีการจอดแช่รอผู้โดยสาร หรือขับเร็วแข่งกันเพื่อแย่งผู้โดยสาร ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงต้องการการพิจารณาอย่างเป็นระบบและบูรณากาเอาภาพรวมมาเป็นตัวตั้ง ตอนเริ่มต้นวางแผนต้องไม่สนใจว่า "ใครหรือองค์กรใด" เป็นผู้ให้บริการ แต่พิจารณาในภาพรวมทั้งหมด ให้ได้แผนการขนส่งและจราจรที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติมากที่สุด แล้วค่อยไปแบ่งเค้กการจัดการกันทีหลัง การแบ่งเค้กตั้งแต่ต้นประชาชนจะเป็นผู้เดือดร้อนสูงสุด

เป็นเสียเอง (ครั้งที่เท่าไหร่แล้วไม่รู้)

การขับขี่ยานพาหนะโดยไม่ติดป้ายทะเบียนเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างแน่นอน และผู้ที่มีหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายคือเจ้าหน้าที่ตำรวจ เกร่นเอาไว้แค่นี้เพราะภาพต่อไปจากนี้ก็ได้อธิบายทุกอย่างเอาไว้แล้ว
เหตุเกิดที่ถนนวิสุทธิ์กษัตริย์ รถของเจ้าหน้าที่ตำรวจคันนี้กลับไม่ติดป้ายทะเบียนเสียเอง ซึ่งก็คงจะเดากันได้ว่ากว่าจะถึงจุดหมายปลายทางคงต้องผ่านป้อมตำรวจและเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสถานี แต่ก็ไม่โดนจับหรอก เขาพวกเดียวกัน ผู้เขียนได้ขับไปข้าง ๆ รถคันนี้ เขาเขียนไว้ข้างรถชัดเจนว่า "สน.ดินแดง" สาธุ

ทำไม "ป้ายห้ามจอดรถ" มาอยู่บนถนน

ตามหลักการวางแผนการจราจร มาตรการ "ห้ามจอดรถ" มีไว้เพื่อทำให้สภาพการจราจรมีความคล่องตัวขึ้น เนื่องจากมีความต้องการในการใช้พื้นผิวการจราจรเพื่อการเดินทางมาก จนทำให้การจอดรถบนพื้นผิวการจราจรก่อให้เกิดการกีดขวางการจราจร วิธีการบอกให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะทราบว่าบริเวณใดห้ามจอดรถมีหลายวิธี เช่น การใช้สีขาวแดงทาบริเวณขอบทางเท้า หรือการแสดงด้วยป้าย ซึ่งทุกวิธีล้วนแต่แสดงโดยการ "ไม่กีดขวาง" การจราจรทั้งสิ้น
แต่บนถนนวิสุทธิ์กษัตริย์มีวิธีการบอกกล่าวว่าพื้นที่นี้ห้ามจอดรถบนผิวการจราจรด้วยวิธีที่ฉีกตำราการวางแผนการจราจรขาดกระจุย โดยการเอาป้ายห้ามจอดรถมาตั้งไว้บนพื้นผิวการจราจร ซึ่งการตั้งป้ายดังกล่าวก็เป็นการกีดขวางการจราจรเสียเอง ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ผู้เขียนจึงสอบถามพี่ตำรวจจราจรท่านหนึ่ง ท่านได้ให้คำตอบว่า ก็วิธีอื่นมันไม่ประสบความสำเร็จนี่หน่า ลองดูจากภาพสิ ป้ายห้ามจอดรถตามปกติก็ติดอยู่บนเสาไฟฟ้า แต่ไม่มีใครสนใจ เคยเอาป้ายแบบตั้งพื้นมาวางไว้บนทางเท้า ก็ถูกผู้ขับขี่รถยนต์ที่อยากจะจอดรถตีความว่า การเอาป้ายห้ามจอดรถไปวางบนทางเท้าคือการเก็บป้าย ไม่ใช้งาน ดังนั้นก็จอดได้สิ ด้วยเหตุผลห้าร้อยประการที่กล่าวมาข้างต้น จึงต้องเอาป้ายตั้งพื้นมาวางไว้บนพื้นผิวการจราจรมันเสียเลย เพื่อให้เป็นอุปสรรคต่อการจอดรถไปในตัว ปรากฏการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงวัฒนธรรม "ใครดีใครได้" ของสังคมไทยในปัจจุบันได้ชัดเจนจริง ๆ

Tuesday, January 8, 2008

กระบวนการการวางแผนภาคมหานครแบบบูรณาการ

ผู้เขียนนั่งฟุ้งซ่านไปเรื่อย ๆ ตามประสาคนจิตอยู่ไม่สุข แล้วก็นั่งคิดอะไรเล่น ๆ เกี่ยวกับภาคมหานครอันประกอบไปด้วย กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ก็เลยมีอะไรแปลก ๆ ออกมาบันทึกไว้เป็นหลักฐานตามเคย

กระบวนการวางแผนประกอบไปด้วย ๓ องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ โครงสร้างองค์กร อำนาจหน้าที่ขององค์กร และกระบวนการในการสร้างแผน โดยมีแนวทางในการดำเนินการดังนี้
๑. โครงสร้างองค์กร / คณะกรรมการ จะต้องประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ แต่เนื่องจากประเด็นดังกล่าวมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอยู่เป็นจำนวนมาก จึงต้องจัดลำดับความสำคัญของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ
๑. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก ซึ่งจะต้องจัดให้อยู่ในคณะกรรมการหลักและไม่ควรจะมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือสมาชิกคนอื่น ๆ โดยตรง คณะกรรมการหลักมีหน้าที่กำหนดวิสัยทัศน์ในการพัฒนาและอำนวยการการวางแผน ควรประกอบด้วยสมาขิก ๑๖ คน มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน อีก ๑๕ คนแบ่งออกเป็น ๕ ภาคี ภาคีละ ๓ คน เพื่อให้สะดวกและคล่องตัวในการทำงาน คณะกรรมการหลักประกอบด้วย
• ภาคีรัฐบาลกลาง – สำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กระทรวงมหาดไทย
• ภาคีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น – ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร, ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ๒ คน
• ภาคีเอกชน – ตัวแทนสมาคมธนาคารไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าไทย
• ภาคีประชาสังคม – ตัวแทนสมาคมหรือองค์กรภาคประชาสังคม ๓ คน
• ภาคีวิชาการ/วิชาชีพ – นักวิชาการการวางแผนพัฒนาระดับชุมชน, ระดับเมือง, ระดับภูมิภาค อย่างละ ๑ คน
๒. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอง เป็นผู้มีหน้าที่ดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ เช่น สนข. ผู้ให้บริการสาธารณูปโภคและสาธารณูปการต่าง ๆ ฯลฯ จึงควรจัดให้อยู่ในคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอง โดยคณะอนุกรรมการจะแบ่งเป็นด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
๓. ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสนับสนุน เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาภาคมหานคร เช่น ประชาชน กลุ่มประชาชน องค์กรต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคมหานคร ซึ่งจะต้องจัดให้มีการมีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมโดยผ่านการประชุมประชาชน, Technical Hearing, Focus Group หรือ Panel Meeting ซึ่งจะจัดให้มีอยู่ตลอดระยะเวลาในการวางแผนและดำเนินการพัฒนาภาคมหานคร

๒. อำนาจหน้าที่ขององค์กร / คณะกรรมการ หน้าที่หลักของคณะกรรมการคือการสื่อสารเพื่อประสานความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพื่อนำมากำหนดวิสัยทัศน์และแนวทางในการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ ดำเนินการวางแผนพัฒนา และอาจทำหน้าที่ในการบริหารการพัฒนาด้วย โดยมีทางเลือกในการกำหนดอำนาจหน้าที่ขององค์กร ๓ ทางเลือก โดยมีรายละเอียดดังนี้
๑. ทางเลือกที่ ๑ - Communication + Control ทำหน้าที่ประสานความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ แล้วทำแผนเพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี องค์กรแบบนี้ไม่มีอำนาจในการพัฒนาในตัวเอง แต่อาศัยอำนาจของคณะรัฐมนตรีในการดำเนินการตามแผน และทำหน้าที่ควบคุมการดำเนินการพัฒนาให้เป็นไปตามแผนซึ่งคณะรัฐมนตรีอนุมัติ
๒. ทางเลือกที่ ๒ - Communication + Control + Infrastructure Planning โดยทำหน้าที่เพิ่มเติมจากทางเลือกที่ ๑ คณะกรรมการนี้จะทำหน้าที่วางแผนพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นของภาคมหานครด้วย เพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงรอยระหว่างทิศทางการพัฒนาภาคมหานครในภาพรวมกับการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งทางเลือกนี้ควรจะมีการจัดตั้ง “วิสาหกิจ” และ “สหการ” เฉพาะสำหรับโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของภาคมหานคร โดยแยกออกมาจากหน่วยงานระดับชาติ เพื่อให้คณะกรรมการวางแผนภาคมหานครสามารถวางแผนได้อย่างบูรณาการ
๓. ทางเลือกที่ ๓ - Communication + Control + Infrastructure Planning + Development Management โดยทำหน้าที่เพิ่มเติมจากทางเลือกที่ ๒ คณะกรรมการนี้จะทำหน้าที่ในการดำเนินการพัฒนาภาคมหานครด้วย โดยโอนถ่ายความรับผิดชอบในโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นต่าง ๆ ในภาคมหานครเข้ามาอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของคณะกรรมการพัฒนาภาคมหานครทั้งหมด ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการมีอิสระในการดำเนินการและมีงบประมาณของตนเองในรูปของ “บรรษัทพัฒนาภาคมหานคร” (Metropolitan Development Corporation)

๓. กระบวนการในการสร้างแผน การสร้างแผนพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการควรจะมีพื้นฐานอยู่บนประชาธิปไตยภาคประชาชน โดยเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากแผนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเหมาะสมตั้งแต่เริ่มทำแผนพัฒนา กระบวนการที่เหมาะสมจึงมีขั้นตอนของการมีส่วนร่วมของประชาชนหลากหลายวิธีและขั้นตอน ดังนี้
๑. การกำหนดกรอบแนวคิด (Conceptual Framework) ของการวางแผนพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ – ทำโดยคณะกรรมการศึกษาฯ
๒. จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการ ซึ่งประกอบด้วยสมาชิก ๑๖ คน มีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน
๓. จัดประชุมประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนาภาคมหานครครั้งที่ ๑ เพื่อสร้างการรับรู้ความสำคัญของการวางแผนระดับภูมิภาคและสร้างความชอบธรรมของคณะกรรมการฯ
๔. นำเอาผลจากการประชุมประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากข้อ ๓ มาประมวลเป็นกรอบแนวความคิดและเป้าหมายในการวางแผนภาคมหานครแบบบูรณาการ โดยมีพื้นฐานอยู่บนความสมดุลของพัฒนาการด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคมเป็นหลัก
๕. จัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านต่าง ๆ เพื่อทำแผนพัฒนาภายใต้กรอบแนวความคิดและเป้าหมายจากข้อ ๔
๖. คณะอนุกรรมการดำเนินการวางแผนด้วยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างเหมาะสม ได้ผลออกมาเป็นร่างของแผนพัฒนาภาคมหานครแบบบูรณาการภายใต้การกำกับและอำนวยการของคณะกรรมการฯ
๗. จัดประชุมประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนาภาคมหานครครั้งที่ ๒ เพื่อรับฟังความคิดเห็นที่มีต่อร่างแผนพัฒนาภาคมหานคร
๘. นำผลที่ได้รับจากการประชุมตามข้อ ๗ มาปรับปรุงร่างแผนพัฒนาฯ และดำเนินการทำแผนพัฒนาภาคมหานครฉบับสมบูรณ์
๙. ประกาศแผนพัฒนาภาคมหานครฉบับสมบูรณ์
๑๐. ดำเนินการตามแผนพัฒนาภาคมหานครฉบับสมบูรณ์
กระบวนการ ๑๐ ขั้นตอนที่กล่าวมามีพื้นฐานมากจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการตามทางเลือกที่ ๑ ซึ่งถ้าคณะกรรมการจะมีอำนาจหน้าที่เพิ่มเติม เช่น ให้มีหน้าที่ดำเนินการพัฒนาตามแผนด้วย ก็อาจต้องปรับปรุงขั้นตอนการดำเนินงานไปตามความเหมาะสม โดยการนำขั้นตอนการจัดตั้งองค์กรรับผิดชอบโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นมาเพิ่มเติมต่อไป

Tuesday, January 1, 2008

"สมานฉันท์" สิ่งที่กำลังจะเป็น NATO (No Action Talk Only)

คำว่า "สมานฉันท์" กำลังเป็นกระแสสำคัญของสังคมไทยในปีใหม่ ๒๕๕๑ เนื่องจากปัญหาที่เรื้อรังในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาคือความขัดแย้งกันอย่างชัดเจนของ ๒ ขั้ว คือ ขั้วทักษิณ กับ ขั้วไม่เอาทักษิณ ซึ่งถ้าแยกเป็นพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ก็จะแบ่งเป็นขั้วภาคเหนือและอีสาน (ทักษิณ) และขั้วภาคกลางและภาคใต้ (ไม่เอาทักษิณ)นักวิชาการหลายคนถึงกับกล่าวว่าความขัดแย้งครั้งนี้เป็นความขัดแย้งที่รุนแรงที่สุดของสังคมไทยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ต่างฝ่ายต่างก็มีจุดยืนของตนเองที่ขัดผลประโยชน์กับอีกฝ่ายหนึ่ง นำมาซึ่งการแก้ปัญหาทางการเมืองด้วยการล้างไพ่ใหม่โดยผ่านการปฏิวัติของ คมช. การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการเลือกตั้งครั้งใหม่ แต่ความพยายามทั้งสามนั้นไม่ประสบความสำเร็จ สังคมไทยยังคงขัดแย้งกันอย่างรุนแรงต่อไป จึงเกิดแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ คือ การ "สมานฉันท์"

แต่การผลักดันเรื่อง "สมานฉันท์" ของคนไทยเป็นเพียงแค่การป่าวประกาศว่า ฉันต้องการสมานฉันท์นะจ๊ะ แต่ลืมไปว่า ไอ้ที่จะ "สมานฉันท์" กันได้ ก็ต้องก้าวเข้าไปถึง "ประเด็นความขัดแย้ง" ว่าขั้วของฉันขัดแย้งกับขั้วของเธอในประเด็นไหน ซึ่งไม่เห็นมีใครกล่าวถึงประเด็นนั้นเลย นับเป็นเรื่องที่น่าสงสัยมาก เพราะคนไทยที่ฉลาดก็มีเยอะ จะอ่านไม่ออกเชียวหรือว่าจะ "สมานฉันท์" กันได้จะต้องแก้ไข "ความขัดแย้ง" กันเสียก่อน ตริตรองไปเรื่อย ๆ คำตอบก็จบลงที่ว่า "ประเด็นความขัดแย้ง" สำคัญของสังคมไทยเป็นประเด็นที่ยอมลงกันให้ไม่ได้ จึงแก้ไขไม่ได้ด้วย "สมานฉันท์" เพราะถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งยอมลดความต้องการลง ตนเองจะแพ้หรือสูญเสียทันที ซึ่งภาษาเทคนิคของความขัดแย้งประเภทนี้ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Impasse นับเป็นประเด็นความขัดแย้งสูงสุด ปรองดองหรือเจรจาตกลงกันไม่ได้ ต้องให้คนกลางตัดสินว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด จะไกล่เกลี่ยก็ไม่ได้ด้วย ต้องมีคนถูกและคนผิดเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ขั้วเหนือ-อีสานบอกว่า ทักษิณดี ทักษิณถูก แต่ขั้วกรุงเทพฯ-ใต้บอกว่า ทักษิณไม่ดี ทักษิณผิด ความขัดแย้งตรงนี้จะไกล่เกลี่ย สมานฉันท์กันอย่างไร จะบอกว่าทักษิณกลาง ๆ ไม่ผิดไม่ถูก ไม่ดีไม่เลว ก็ไม่ได้

เมื่อเอาหลักวิชาการของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง (Conflict Resolution) มาจับกับประเด็นความขัดแย้งของสังคมไทยในปัจจุบัน ก็พบว่า จะต้องใช้เครื่องมือ ๒ ตัวซ้อนกันเพื่อแก้ปัญหา ตัวแรกคือ กฎหมาย คือต้องตัดสินไปตามตัวบทกฎหมายว่าใครถูกใครผิด ให้เป็นบรรทัดฐานของสังคม รวมถึงให้ลูกให้หลานไทยได้รับรู้ว่า "ถูก/ผิด" คิออะไร แล้วหลังจากนั้น ก็ค่อยมาทำการ "สมานฉันท์" คือการใช้มาตรการทางสังคมมาประสานผู้ทำผิดให้กลับมาเป็น "ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย" เหมือนกับที่เคยใช้กับคอมมูนิสต์เมื่อสองทศวรรตที่ผ่านมา สาระสำคัญมาก ๆ ของวิธีการ Conflict Resolution สำหรับประเด็นปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบันคือ ฝ่ายตุลาการต้องกล้าหาญและยึดมั่นในหลักการของความถูก/ผิด เพียงพอที่จะกล้าชี้ถูก-ผิดให้สังคมได้รับรู้ (ไม่ใช่แต่เรื่องของทักษิณกับ ทรท. (คอรัปชั่น) แต่ต้องรวมถึงฝ่ายพันธมิตร ปชป. และชท. (ใส่ร้ายป้ายสี ล้มการเลือกตั้ง) ด้วย) ผู้ผิดก็ต้องรับโทษไปตามสมควรต่อการกระทำ และให้ขั้วของผู้ทำผิดรับรู้ว่าฝ่ายของตนผิดนะ แล้วก็ค่อยมาสมานฉันท์กันต่อไป

จะเห็นได้ว่า ฝ่ายตุลาการคือเสาหลักแห่งการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงขอให้กำลังใจท่านผู้พิพากษาทุกท่าน ให้ตัดสินโดยหลักของกฎหมาย ไม่ต้องกลัวคำขู่ว่า ถ้าตัดสินให้คนนั้นคนนี้ผิดประเทศจะลุกเป็นไฟ หน้าที่ของท่านคือชี้ถูก/ผิด จะเกิดอะไรขึ้นก็ให้ฝ่ายบริหารบ้านเมืองเขาไปควบคุมจัดการทีหลัง กรุณาทำหน้าที่ของท่านให้สมกับที่สังคมไทยคาดหวังด้วยเถิด

หมายเหตุ - "สวัสดีปีใหม่" ผู้โชคร้ายที่หลงเข้ามาอ่านบล็อกบ้า ๆ นี้ ผู้เขียนมิได้ถือหางข้างใดทั้งสิ้น การเลือกตั้งทุกครั้ง ผู้เขียนจะการในช่อง "ไม่ลงคะแนน" ทุกครั้ง เพราะคิดว่า ไม่เห็นมี "คนดี" มาให้เลือกสักคน และถ้ามีคนเห็นด้วยกับผู้เขียนมาก ๆ เข้า พรรคการเมืองต่าง ๆ ก็จะรับรู้ว่า ประชาชนไม่ต้องการผู้แทนหน้าเดิม ๆ แล้วเขาก็คงส่งคนใหม่ที่ดีกว่ามาลงเองแหละ